การเดินทางรอบโลกครั้งล่าสุด*

โดย ภราดาประทีป ม. โกมลมาศ 

           การไปเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ควรถือ เป็นเหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้บริหารระดับอธิการ โดยทั่วไปแล้วสถาบันการศึกษาระดับสูง เช่น วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย มักถือกำเนิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้มีกุศล เจตนาที่จะส่งเสริมการศึกษาให้เกิดประโยชน์แก่สังคมตามอุดมการณ์ของตน หลายมหาวิทยาลัยได้รับการสถาปนาขึ้นมาก็เพื่อรับภารกิจ เป็นแสงสว่างแก่มนุษยชาติ เป็นมโนธรรมของสังคม เพราะฉะนั้น การไปเยี่ยมเยียนสถานที่ดังกล่าว ย่อมจะก่อให้เกิดปัญญา เนื่องจากสิ่งที่พบ เห็นนั้น เป็นผลงานของสติปัญญา เป็นผลสะท้อนของเจตนารมณ์อันแน่วแน่และอุดมการณ์อันสูงส่งที่ได้รับถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคน ข้าพเจ้าเองมักถือเป็นกิจปฏิบัติที่จะหาโอกาสไป เยี่ยมชมสถาบันการศึกษา เสมอ จากประสบการณ์ที่ได้รับก็คือ ทุกครั้งที่ได้ไปพบเห็นสถาบันใด ก็มักจะได้กำไรความคิดกลับมาทุกครั้งไป

        วัตถุประสงค์ในการเดินทางของข้าพเจ้ารอบโลกภายในเวลา 2 สัปดาห์คราวนี้ก็เพื่อ

  • ติดต่อธุรกิจกับ California State University ที่ Dominguez Hills และ St.Mary’s College of California, Moraga

  • เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเท่าที่เวลาจะอำนวยให้

  • ไปร่วมประชุม Board of Directors ของการศึกษาคาทอลิกสากล ณ กรุงมาดริดประเทศสเปน

  • และแวะไปกรุงโรมเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องก่อสร้างของวิทยาลัย

         ข้าพเจ้าออกเดินทางไปทางทิศตะวันออกโดยมุ่งไปยังประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศแรก เพื่อแวะเยี่ยมเพื่อนร่วมงานเก่า คือ ท่านศาสตราจารย์ Hans Hellweg แห่ง Sophia University 2 กรุงโตเกียว มหาวิทยาลัยแห่งนี้ดำเนินการสอนโดยคณะนักบวชเยซูอิต มหาวิทยาลัยโซเฟีย เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก แน่นอนละมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ชั้นยอดเยี่ยมของญี่ปุ่น ไม่มีใครเทียมได้ในดินแดนซากระ แต่มหาวิทยาลัยโซเฟียเป็นของเอกชน และดำเนินกิจการได้ผลสำเร็จดีมาก มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีผลงานวิจัยซึ่งองค์การยูเนสโกให้ความเชื่อถือมาแล้ว ความจริงนั้นคณะ เยซูอิต เป็นนักการศึกษาชั้นยอดของโลก มีชื่อเสียงมากกว่า 4 ศตวรรษ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกมาแล้ว เช่น Georgetown University, Washington เป็นต้น ระบบการศึกษาของเขาเน้นความดีเลิศทางวิชาการ และการมีวินัยต่อตนเอง ความจริงนั้นระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยประเภทนี้ถือกำเนิดมาจากอิทธิพลของยุค Renaisance humanistic ideals

มหาวิทยาลัยโซเฟียในโตเกียว

อธิการและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโซเฟีย ที่กรุงโตเกียว 

      ในปัจจุบันอิทธิพลดังกล่าวยังหาหมดไปไม่ เพราะฉะนั้น การสอนภาษากรีก ภาษาละติน เทววิทยา และวิชาศิลปศาสตร์ ในสถาบัน เช่นว่านี้ จึงยังเป็นจุดเด่นที่ปราชญ์ทั้งหลายยอมรับ มหาวิทยาลัยโซเฟียมีนักศึกษาประมาณหนึ่งหมื่นคน มีคณาจารย์มาจากประเทศต่างๆ จึงทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีลักษณะการเป็นสากลอยู่มากๆ

      มหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ที่แวะเยี่ยมก็คือ California State University ณ Dominguez Hills มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีวิทยาเขตหลายแห่ง แต่ละวิทยาเขตก็มีการบริหารเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ทำนองเดียวกันกับมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียที่ลอสแอลเจรีส และที่เบอดเล่ย์ ซึ่งมีความเด่นเป็นเลิศทางวิชาการไม่เหมือนกัน แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

อธิการบดีของ Cal. State University ถ่ายรูปร่วมกับอธิการของ ABAC

   เมื่อข้าพเจ้าได้เดินทางมาถึงลอสแอลเจลิส ดร. เชิดชัย เชี่ยวธีรกุล ได้กรุณามารับที่สนามบินและพาไปพักที่บ้าน วันรุ่งขึ้น ดร. เชิดชัย พาข้าพเจ้าไปพบท่านอธิการบดีของ Cal. State University ตามที่ได้นัดหมายไว้ก่อนแล้ว

      การเยี่ยมพบท่านอธิการบดีและคณบดี คณะบริหารธุรกิจพร้อมทั้งคณาจารย์ครั้งนี้ นับว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์เป็นทางการ Cal. State University มีความสนใจที่จะร่วมมือกับ ABAC เป็นอันมาก คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราคงจะได้ทำงานร่วมกัน

วิทยาลัยชุมชนแห่งหนึ่งใน L.A.

      จากนั้น ข้าพเจ้าก็ถือโอกาสไปชม Rio Hondo Community College ซึ่งอยู่แถวตำบล Whittier ไม่ไกลจากที่พัก วิทยาลัยชุมชนแห่งนี้มีอาณาเขตสวยงาม สะอาด อาคารเรียน และอาคารบริหารต่างๆ ถูกจัดอยู่ในรูปแบบดูแล้วเจริญตาเจริญใจ สรุปแล้ว ก็คือ วิทยาลัยชุมชนแห่งนี้ใช้สถาปัตยกรรมและศิลปการตกแต่งทำให้เกิดบรรยากาศน่าเรียนสมกับเป็นสถาบันการศึกษา วิทยาลัยแห่งนี้ให้บริการแก่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มีวิชาที่เราเรียกว่า “การศึกษาต่อเนื่อง” มากมายพอที่จะให้ใครๆ แม้ผู้ที่จบปริญญาเอกแล้ว มาหาความรู้เพื่อการศึกษาได้เสมอ ข้าพเจ้าเข้าไปชมแผนกทะเบียน และขอดูรายชื่อวิชาที่เปิดภาคฤดูร้อน ก็พบว่ามีวิชาเป็นร้อยๆ วิชาซึ่งทางวิทยาลัยจัดไว้เพื่อสนองความต้องการของผู้ที่สนใจหาความรู้ใส่ตัว สมกับเป็นวิทยาลัยชุมชนโดยแท้ 

      ในนคร Los Angeles มีมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง คือ University of Southern California (U.S.C.) ความจริงนั้น ในนคร Los Angeles เอง U.C.L.A. และ U.S.C. นับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เด่นที่สุดของนครแห่งนี้ เมื่อได้เยี่ยมชมวิทยาลัยชุมชนแล้ว ข้าพเจ้าก็เลยแวะมาเยี่ยมชม U.S.C. วันนั้นบังเอิญเป็นวันที่ทางมหาวิทยาลัยจัดพิธียกยอเกียรติอาจารย์ผู้มีผลงานดีเด่น ข้าพเจ้าเลยมีโอกาสได้อยู่ร่วมในพิธีดังกล่าว และฟังวาทศิลป์ของบรรดาอาจารย์ที่ได้รับรางวัลทางการวิจัยและวรรณกรรม ตลอดเวลาที่อยู่ร่วมในพิธีอันทรงเกียรตินี้ ข้าพเจ้าได้แต่นึกฝันว่าสักวันหนึ่ง ABAC ของเราคงจะได้มีโอกาสจัดพิธีเยินยอเกียรติอาจารย์ของเราบ้าง

หอสมุดของมหาวิทยาลัย U.S.C.

      วันต่อมา ข้าพเจ้าก็มาถึงนครซานฟรานซิสโก และก็รีบไปพบ Rev. Brendan Madden และคณบดีคณะบริหารธุรกิจ ณ St. Mary’s College of California ภราดา Brendan ได้กรุณาเชิญบุคคลสำคัญของ St. Mary’s เข้าร่วมประชุม เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะกำหนดมาตรการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ABAC กับ St. Mary’s และ De La Salle University ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราคงจะได้ร่วมมือทำให้โครงการหลายโครงการใน ABAC สัมฤทธิ์ผล

Rev. Brendan อธิการ และ Dr.Burhe ณ St. Mary’s College of California

      เมื่อมาถึงนครซานฟรานซิสโกแล้วก็อดที่จะแวะไปเยี่ยมชมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไม่ได้ พอท่านศาสตราจารย์ Robert B. Textor ซึ่งเป็นอาจารย์เก่าทราบว่าข้าพเจ้ามาถึงแคลิฟอร์เนียท่านได้กรุณาเชิญข้าพเจ้าเข้าร่วมฟังในชั้นที่ท่านสอน ข้าพเจ้าได้ตอบรับคำเชิญทันทีและดีใจมากที่ได้รับเกียรติให้เป็นนักศึกษาอีกครั้ง ชั้นนี้มีนักศึกษาเพียง 15 คนเท่านั้น วันนั้นเป็นวันที่นักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่งเสนอผลงานวิจัยของเขาซึ่งฟังดูแล้วน่าพิศวงชวนคิด วิชาที่เข้าร่วมฟังนี้เป็นวิชาที่ว่าด้วย “อารยธรรมในอนาคตกาล” วิธีดำเนินสอนในชั้นแบบนี้ก็คืออาจารย์ผู้สอนเสนอทฤษฎีสั้น ๆ แล้วแนะผู้เรียนไปค้นคว้าจากการอ่านหนังสือบ้าง สัมภาษณ์บ้าง ประชุมกลุ่มบ้าง และเสนอผลงานของตนเป็นรูปวิจัย และสรุปผลเป็นสมมุติฐานหรือทฤษฎีใหม่ นักศึกษาทั้ง 15 คนในชั้นดังกล่าวนี้มาจากคณะต่างๆ กัน อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นความคิดเห็นก็ดี สมมุติฐานที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็ดี ล้วนแตกต่างกันออกไปตามคติภูมิหลังที่แต่ละคนได้เล่าเรียนมา การสอนวิธีนี้เป็นการเสริมความคิดสร้างสรรค์มาก เป็นวิชาที่สนุกมากวิชาหนึ่ง

HOOVER TOWER AND TANNER FOUNTAIN, STANFORD UNIVERSITY

      เมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยแห่งนี้ สิ่งที่น่าประทับใจสิ่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ “ความดีเลิศทางวิชาการ” เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี นับแต่มหาวิทยาลัยได้เปิดประตูรับนักศึกษารุ่นแรกมหาวิทยาลัยได้สร้างความเป็นเอกทางวิชาการเป็นผู้นำทางความคิดสร้างสรรค์ เป็นที่ยอมรับนับถือโดยทั่วไป มีอาจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบิลสอนประจำอยู่หลายคน มหาวิทยาลัยนี้ มีสถาบันหลายสถาบัน แต่ที่มีชื่อเสียงดังที่สุดเห็นจะได้แก่ Hoover Institution on War, Revolution, and Peace นักปราชญ์เรืองนามของโลกหลายคนประจำอยู่ที่นี่ เช่น A. SOLZHENITSYN ปราชญ์รัสเซียผู้ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาวรรณกรรม เป็นต้น

โรงเรียนกฎหมายของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
(LAW SCHOOL, STANFORD UNIVERSITY)

      เมื่อตอนที่นายสแตนฟอร์ด ข้าหลวงใหญ่รัฐแคลิฟอร์เนียสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมา ท่านได้สั่งให้อธิการบดีคนแรกไปสรรหาปรมาจารย์มาสอน ท่านอธิการบดีคนแรกเขียนบันทึกไว้ว่า “นายสแตนฟอร์ดต้องการให้ข้าพเจ้าแสวงหาอาจารย์ชั้นยอดเท่านั้นมาสอน เขาไม่ต้องการโปรเฟสเซอร์ประเภทไม้ประดับ ไม่ทำอะไร” ด้วยเจตนารมณ์นี้เองกระมัง อธิการบดี Richard W. Lyman (1970-1980) จึงกล่าวว่า “มหาวิทยาลัยที่มีความเป็นอยู่อย่างสบายๆ ก็คือความขัดแย้งในตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ก็เพื่อกระตุ้นและยั่วยุให้ผู้มีปัญญาเกิดความคิด...”

วังแห่งศิลปะและเทคโนโลยี ในนครซานฟรานซิสโก

      จากนครซานฟรานซิสโกก็ตรงไปยังนครซิคาโก ณ นครใหญ่ศูนย์กลางธุรกิจของโลกแห่งนี้ มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คือ “The University of Chicago” อาคารเรียนและตึกต่างๆ ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้สร้างตามศิลปะแบบโคธิคทั้งสิ้น ดูไปแล้วก็ทำให้นึกถึงภาพของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกระนั้น ความจริงสถาปนิกที่ออกแบบมหาวิทยาลัยแหงซิคาโก ก็มีเจตนาที่จะสร้างบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นแบบศิลปะโคธิค เลียนแบบมหาวิทยาลัยในอังกฤษ มหาวิทยาลัยแห่งนครซิคาโกก็เหมือนกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คือ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี ก็สามารถเป็นผู้นำทางวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีผู้สอนหรือกำลังสอนอยู่ได้รับรางวัลโนเบิลถึง 42 คน จึงเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของนักวิจัย นักค้นคว้า และปราชญ์ทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า “Scholars”จากทุกทิศานุทิศ

มหาวิทยาลัยแห่งซิคาโก

      มหาวิทยาลัยซิคาโก เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสหรัฐที่ตั้งคณะสังคมวิทยา (Sociology) ขึ้นในปี ค.ศ. 1892 หลังจากเริ่มกิจการได้เพียงปีเดียวเท่านั้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสตราจารย์ ENRICO FERMI ได้ค้นพบหลังงานนิวเคลียปรมาณูขึ้นเป็นคนแรกของโลก การค้นพบนี้ได้ทำให้ มหาวิทยาลัยซิคาโกมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยซิคาโกยังคงรักษาความดีเลิศทางวิชาการของตนไว้ โดยสามารถช่วยชิงรางวัลโนเบิล สาขาเศรษฐศาสตร์มาได้บ่อยครั้ง

ห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัยแห่งซิคาโก ซึ่งสร้างตามแบบศิลปะโคธิคประยุกต์


 * ๑. อธิการวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ

 * ๒. SOPHIA เป็นภาษากรีกซึ่งมีความหมายว่า "ความปรีชาญาณ" หรือ Wisdom ในภาษาอังกฤษ


        เมื่อพูดถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่น่าสังเกตสิ่งหนึ่งก็คือ กาแข่งขันหาความดีเด่นและความดีเลิศทางวิชาการ บางคนอาจถามว่าทำไมคนอเมริกันจึงชอบแข่งขันกันนัก ต้องมี 10 อันดับแรกของสิ่งต่างๆ มากมายก่ายกองคำตอบง่ายๆ ก็คือ Spirit of Competition เป็นผลของ Spirit of Private Enterprise นั่นเอง เป็นธรรมดาอยู่เองที่ระบบการปกครองที่ส่งเสริมธุรกิจเอกชนย่อมเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันโดยเสรี ซึ่งก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ในระบบการแข่งขันโดยเสรีนี้ ผู้ที่ไม่รู้จักขวนขวายย่อมเป็นผู้พ่ายแพ้และในที่สุดอาจต้องสูญหายไปจากเวทีของโลกมนุษย์ก็ได้ ในระบบเช่นว่านี้ ทุกคนมีโอกาสเท่ากันที่จะประสบความสำเร็จ หรืออีกนัยหนึ่ง ทุกคนสามารถบรรลุถึงความดีเลิศได้ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่ง ในระบบดังกล่าวนี้ ทุกคนต้องมีปรัชญาของชีวิตในหลักที่ว่า ตนเป็นที่พึงของตนเองภายใต้กฎหมายเดียวกัน ตนต้องผลิตจึงจะได้ผลมา การทำงานหนักเป็นค่านิยมที่ต้องได้รับการยกย่องว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีสำหรับมนุษย์

      มหาวิทยาลัยที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น แม้จะมีอายุน้อยกว่าหลายร้อยมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่ก็สามารถถีบตัวขึ้นมา เทียมเท่า หรือในบางครั้งดีกว่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่กว่า 360 ปี เช่น มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นต้น แน่นอนละสำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว ฮาวาร์ดถือได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ยอดที่สุด แต่ก็ไม่ยอดที่สุดในทุกสาขาวิชา มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยอื่นๆ มีโอกาสที่จะเป็นเลิศดังที่ได้ประจักษ์เห็นกันแล้ว เพราะฉะนั้นภายในบรรยากาศของการแข่งขันกันโดยเสรีนี้ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหรัฐ จึงมีการพัฒนาและวิวัฒนาการอยู่เสมอก้าวหน้าไปได้ไกลกว่าของยุโรป ซึ่งเป็นต้นกำเนิดมหาวิทยาลัยของโลกตะวันตก แต่ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งแรกของยุโรป 3 ได้เสื่อมลงและอันตรธานไปจากเวทีของโลกนี้แล้ว เช่น มหาวิทยาลัย REGGIO (ค.ศ. 1040 - 1772) มหาวิทยาลัย SALERNO (ค.ศ. 1059 – 1811) มหาวิทยาลัย PALENCIA (ค.ศ. 1212 – 1250) เป็นต้น คงเหลือไว้แต่ชื่อเป็นเสมือนซากหักพังในประวัติศาสตร์การศึกษาเท่านั้น


* ๓. New Catholic Encyclopedia published by the Catholic University of America.