คนอย่างไรที่สังคมไทยต้องการ

เราอาจจะกล่าวโดยไม่ต้องพิสูจน์เลยก็ได้ว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยชมชอบคนที่มีหน้ามีตา มียศฐาบรรดาศักดิ์ จนถึงกับมีคนบ้างกลุ่มพยายามจะขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้ม ประดับเกียรติของตนดังที่เป็นข่าวในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น มี ส.ส.บางคนถึงกับลงทุนซื้อตำแหน่งรัฐมนตรีกันเป็นล้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนไว้ในคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า เคยมีคนมากราบแทบเท้าท่านขอเป็นรัฐมนตรีสักวันเดียวก็พอ เพื่อเป็นเกียรติเป็นชื่อเสียงแก่วงศ์ตระกูลก็มีคนประเภทดังกล่าวนี้คงไม่ใช่คนในอุดมคติของเราที่จะมาพูดกันในวันนี้แน่

ในปัจจุบัน สังคมไทยเราดูเหมือนชมชอบและให้ความเชื่อถือคนที่มีความรู้สูงซึ่งมักจะวัดกันด้วยปริญญาเอก มีความคลั่งไคล้อยากได้ปริญญาเอกไว้เพื่อประดับบารมี เพื่อสร้างความเชื่อถือให้แก่ตนเองโดยไม่ต้องลงทุนเรี่ยวแรงเรียนมา จนเป็นผลทำให้เกิดการซื้อขายปริญญาเอกเก๊ๆ กันขึ้น และจัดให้มีพิธีมอบปริญญาเก๊ดังกล่าวในสถานที่อันหรูหราจนเป็นข่าวครึกโครมไปถึงต่างประเทศก็เคยมีให้เห็นกันคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง คนหลอกตนเอง และหลอกประชาชนเช่นนี้คงไม่ใช่คนในอุดมคติที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้เช่นกัน
      ยังมีตัวอย่างทำนองนี้อีกมากมายซึ่งผมไม่ขอนำมากล่าว ณ ที่นี้
แล้วคนอย่างไรเล่าที่สังคมไทยต้องการ
      ตามความเห็นของผมนั้น คนที่สังคมไทยต้องการก็คือ

1. คนไทยธรรมดาๆ นี่แหละเป็นคนที่มีการศึกษาสูงสักหน่อยถ้าจบมัธยมศึกษาตอนต้นได้ก็จะดี หรือเราจะเรียกกันตามศัพท์สมัยใหม่ว่า ควรมีการศึกษาขั้นมูลฐานสัก 9 ปี เป็นคนที่ประกอบสัมมาชีพอย่างสุจริต ไม่มั่วสุมหรืองมงายในอบายมุขและการพนันทุกประเภท (แม้แต่การเล่นหุ้นก็ไม่เอาเพราะการเล่นหุ้นนั้นในหลายกรณีก็คือการพนันอีกประเภทหนึ่งสำหรับปัญญาชนไม่ใช่การลงทุนอย่างที่โฆษณา) 

2. เป็นคนที่มีความภูมิใจในตัวเองในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เขาควรเป็นพลเมืองดีของชาติ รู้จักสิทธิหน้าที่ รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและต่อสังคม ด้วยการผนึกกำลังกันทำความดี และรู้จักเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อพัฒนาชุมชนที่ตนอยู่อาศัย เช่น ช่วยกันรักษาความสะอาดและสภาพแวดล้อม ควรเป็นคนใฝ่รู้ใฝ่เจริญศึกษาหาความรู้ทั้งโดยการอ่าน การฟังและการปฏิบัติอยู่เสมอ เป็นคนที่มีตรรกะทางความคิด รู้จักคิด รู้จักใช้วิจารณญาณศึกษาปัญหาต่างๆ และเหตุการณ์ทีเกิดขึ้น ด้วยวิธีการไตร่ตรอง วิเคราะห์ และสังเคราะห์เพื่อหาเหตุผลควรเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกใครชักนำหรือครอบงำได้โดยง่าย

3. เป็นคนที่สามารถเข้าสังคมได้ รู้จักวางตัวในสังคมได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับกาลเทศะ มีความสามารถในการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม รู้จักวิธีการเข้าถึงปัญหาโดยวิธีการอภิปรายและประชุมกลุ่ม รู้จักแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธีด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนทรรศนะความคิดเห็นหรือด้วยวิธีการฟังอย่างสนใจต่อปัญหาของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อแสวงหาความถูกต้องและความยุติธรรม และเพื่อเสนอแนวทางแก้ไข 

4. เป็นผู้มีวัฒนธรรม มีสุนทรียภาพในทางศิลปะ วรรณกรรมและดนตรี มีความรู้ความเข้าใจพอควรว่า วัฒนธรรมคือกระบวนการถ่ายทอดความรู้ ความคิดความเชื่อประเพณีนิยมของมนุษย์ชาติ ซึ่งมีการแสดงอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะต่างๆ ทั้งในทางสังคม การเมือง ศาสนาและศิลปะ รู้จักชมชอบวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นของชาติเราและของชนชาติอื่นรู้คุณค่าว่าสิ่งใดควรอนุรักษ์ สิ่งใดไม่ควรอนุรักษ์ และรู้จักช่วยกันพัฒนาวัฒนธรรมที่มีอยู้ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อให้วัฒนธรรมเหล่านั้นมีความกลมกลืนกับวิถีชีวิต (Life Style) ที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ยังสามารถคงคุณค่าเชิงวัฒนธรรมต่อไปได้ 

5. เป็นคนที่ยึดมั่นในหลักธรรมของศาสนา รู้จักทำหน้าที่ประจำของตนให้ดีที่สุดซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ดังคำสอนของท่านพุทธทาสที่ว่า การปฏิบัติธรรมที่สูงส่งก็คือการปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องครบถ้วนเต็มความสามารถ หรือกล่าวโดยสรุปว่าหน้าที่ก็คือธรรมะนั่นเองคนที่สังคมไทยต้องการ จะต้องเป็นคนที่รู้จักถือและปฏิบัติตามแก่นของศาสนาไม่ใช่กระพี้ของศาสนา กล่าวคือ เขาผู้นั้นต้องมีวัตรปฏิบัติที่ดีงาม หรือการทำความดีเป็นโล่ เป็นเกราะป้องกันตน โดยไม่ต้องอาศัยวิธีการปฏิบัติภายนอกแบบแปลกพิสดารอะไร ที่คิดว่าจะทำให้ตนเองวิเศษกว่าคนอื่นๆ เช่น ต้องนุ่งขาวห่มขาววันโน้นบ้างวันนี้บ้าง ต้องไม่กินอาหารชนิดนั้นชนิดนี้บ้าง เพื่อให้คนเขาสรรเสริญเยินยอว่าตนอยู่ในธรรมปฏิบัติอ้นเคร่งครัด เพราะวิธีการดังกล่าวเหล่านั้นพวกสับปลับกลับกลอกหลอกลวงประชาชนได้เคยนำมาใช้กันอยู่เนืองๆ จนเป็นที่ฉงนสนเทห์และเป็นที่สะดุดตาแก่เยาวชนที่พบเห็นมาก็มาก ในบางกรณีเป็นเหตุทำให้เยาวชนเสื่อมศรัทธาต่อศาสนา ดังนั้นคนที่สังคมไทยต้องการต้องเป็นคนที่มีความจริงใจ มีน้ำใจ ไม่หน้าซื่อใจคด หรือปากปราศรัยแต่ใจเชือคอ ต้องเป็นคนที่พูดตรงไปตรงมาเชื่อถือได้

6. เป็นคนที่รักและหวงแหนในสิทธิและเสรีภาพ รวมถึงการใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นอย่างถูกต้องและเป็นธรรม จึงทำให้ประเทศของเราสามารถรักษาเอกราชมาได้จนทุกวันนี้ ในขณะที่ประเทศรอบบ้านของเราต้องมีอันเป็นไปตามยถากรรมของการเมือง ความหวงแหนในสิทธิ ความรักในเสรีภาพและอิสรภาพยิ่งชีวิตของคนไทยนั้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่ต้องรักษาไว้ฉะนั้น คนที่สังคมไทยต้องการ ควรเป็นคนที่เข้าใจในเรื่องเสรีภาพและอิสรภาพอย่างถูกต้อง หรืออีกนัยหนึ่ง ควรเป็นคนที่ยึดถือและปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และจรรยาบรรณของอาชีพที่ตนสังกัดอยู่ คนเหล่านี้แหละ จึงจะสามารถถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้แก่ลูกหลานได้ตามเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ทั้งนี้เพราะเสรีภาพที่แท้จริงมิได้หมายความถึงอิสรภาพที่จะทำอะไรได้ตามอำเภอใจแต่ทว่าหมายถึงอิสรภาพที่จะทำแต่สิ่งที่ถูกที่ควรเท่านั้น และโดยข้อเท็จจริงแล้ว เสรีภาพของเราเองนั้นถูกจำกัดโดยเสรีภาพของผู้อื่นอยู่แล้ว

7. เป็นคนที่บรรลุถึงวุฒิภาวะเชิงศีลธรรม คือ มี maturity in moral development ตั้งแต่เยาว์วัยจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเจริญชีวิตแบบผู้บรรลุนิติภาวะคนไทยที่เราปรารถนาจะเห็นก็คือ คนที่ค่อยๆ พัฒนาตนเอง เจริญในคุณธรรมจนถึงมีความสามารถที่จะบรรลุถึงวุฒิภาวะเชิงศีลธรรม

     โดยนัยดังกล่าว ในวัยเด็กอาจจะถือระเบียบวินัยถือ norms ที่สังคมกำหนดโดยดีแต่เด็กอาจจะถือปฏิบัติตามระเบียบวินัยและกติกาสังคมด้วยความกลัวจะถูกลงโทษหรือเพราะอยากได้รางวัลตอบแทน จึงแสดงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคม แต่เมื่อเขาค่อยๆ เจริญชีวิตเติบใหญ่ขึ้น สิ่งที่ดลบันดาลใจให้เขาถือปฏิบัติตามระเบียบวินัยดังกล่าว ควรจะพัฒนาให้อยู่ในขั้นสูงขึ้นไป คือ ให้อยู่ในหลักของเหตุและผล ด้วยการถือกฎระเบียบ เช่น กฎจราจร ก็เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสงบสุขในสังคม และเขาควรจะได้รับการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นไปอีกจนเขาสามารถกล้ายืนหยัดเพื่อความถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในสังคมแม้จะด้วยการเสียสละชีวิตก็ตาม เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว “อัตตา” หรือ “ตัวตน” ของเขาก็หมดไป เหลือแต่อุดมการณ์อันสูงส่ง คือ ธรรมะ ซึ่งเราอาจจะเรียกบุคคลดังกล่าวว่า เป็นผู้ที่ได้บรรลุถึงวุฒิภาวะเชิงศีลธรรม คนไทยประเภทเช่นว่านี้ ย่อมเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติเขาสามารถเป็นเสียงมโนธรรมของสังคมได้ในยามที่ประเทศชาติต้องการ คนเช่นว่านี้จะสามารถสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพต่างๆ ได้ดี เพราะเขาเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “universal ethical principles”

    ถ้าเยาวชนของเรามีการพัฒนาจิตใจเป็นขั้นเป็นตอนเช่นว่านี้แล้ว สังคมของเราก็จะวางอยู่บนพื้นฐานที่มั่นคง คำเปรียบเปรยที่ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” นั้นก็จะหมดไป เพราะคำดังกล่าวนี้เป็นความเข้าใจผิดของผู้ที่ยังไม่บรรลุถึงวุฒิภาวะเชิงศิลธรรม เขาเหล่านั้นแม้จะเจริญชีวิตมายาวนาน แต่ลักษณะนิสัยไม่ได้รับการพัฒนาเลยคงอยู่ในระดับปฐมวัยเหมือนเด็กๆ ที่ทำอะไรเพราะกลัวหรือเพราะอยากได้รางวัลอยู่นั้นเอง

คนที่สังคมไทยต้องการมีอยู่ที่ไหนเล่า?
       ท่านทั้งหลายหากมองรอบตัวของท่านท่านคงเห็นและยอมรับว่า สังคมของเรายังมีคนดีอยู่อีกมากมาย เพราะมิฉะนั้นประเทศชาติของเราคงไม่พัฒนาเจริญก้าวหน้าเทียมบ่าเทียมไหล่กับนานาอารยประเทศดังที่เห็นกันอยู่นี้ได้ ผมยังเชื่อโดยสนิทใจว่าในทุกวงการของข้าราชการ พลเรือนหรือเอกชนใดก็ตาม เรายังมีคนที่เราสามารถเอาเยี่ยงอย่างเป็นแบบฉบับได้ ผมคงไม่สามารถยกตัวอย่างวงการอื่นๆ มาให้ฟังแต่ถ้าในวงการศึกษาแล้ว ผมสามารถนำตัวอย่างมาเล่าสู่กันฟังได้ เช่น ท่านศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ปรมาจารย์แห่งสถาบันครู หรือศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล ประธานกรรมการดูแลการเลือกตั้งเป็นต้น ยังมีอีกมากมายหลายท่านที่ผมไม่ได้เอ่ยถึง ในทำนองเดียวกันนี้ ผมเข้าใจว่าในวงการข้าราชการพลเรือนของท่านทั้งหลายคงมีข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ เพื่อมุ่งสนองนโยบายและรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อีกเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน 

      นั่นก็คือ คนที่สังคมไทยต้องการนั้นยังคงมีปรากฏกระจายอยู่ในทุกส่วนทุกภาคของประเทศ เพียงแต่ท่านเหล่านั้นมิได้แสดงตัวให้ปรากฎ และเพราะสังคมไทยเรายังไม่ได้ให้คุณค่า ให้ความสำคัญที่จะยกย่องเชิดชูและสรรเสริญท่านเหล่านั้นอย่างจริงจังเท่านั้น

      ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรจะมาให้คุณค่า ให้ความสำคัญยกย่องเชิดชูและสรรเสริญบุคคลที่ประพฤติดีปฎิบัติชอบ มีวัตรปฏิบัติที่ดีงาม ถึงพร้อมด้วยจริยธรรมและคุณธรรมให้ปรากฏเป็นตัวอย่างแก่สังคม แก่อนุชนและเยาวชนที่จะเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมารับผิดชอบในภารกิจอันใหญ่หลวงของชาติในอนาคต นั่นก็คือภารกิจในการสร้างไทยและธำรงไทยให้เจริญและวัฒนาถาวรต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งนั่นเอง

      บทความนี้ เป็นการอภิปรายของ ดร.ประทีป ม. โกมลมาศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในโอกาสที่ได้รับเชิญเป็นวิทยากร ในการประชุมเชิงวิชาการเรื่อง “คนอย่างไรที่สังคมไทยต้องการ” ซึ่งได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จัดโดย สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมการพัฒนาจิตใจและคุณธรรม ณ ห้องประชุมไทยประกันชีวิต เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2535


*จุลสาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC NEWSLETTER ปีที่ 13 ฉบับที่ 62 เดือนมีนาคม-เมษายน 2535 หน้า 16,12-13