ความสำเร็จกับคุณธรรม*

ความนำ

Charles Darwin (1809-82) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษนามอุโฆษของโลกผู้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์ (Evolutionary Theory) ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural Selection) โดยต่อมา Herbert Spencer (1820-1902) ได้พัฒนาไปเป็นแนวความคิดของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ว่า "Survival of the Fittest" ซึ่งอาจจะถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า "รอดอยู่ด้วยสู้ชนะ" หรือ "ผู้ที่เหมาะสมและแข็งแรงที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอดได้" ถ้ามนุษย์ทุกคนต่างมีเป้าหมาย (ends) ของชีวิตอันเดียวกันคือ การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างผู้ชนะ ผู้ที่เข้มแข็ง หรือผู้ที่มีความสำเร็จในทุก ๆ อย่างโดยที่ทุกคนต่างก็พยายามทุกวิถีทาง (means) ที่จะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยไม่คำนึกถึงคุณธรรมและความถูกต้องแล้ว สังคมและโลกนี้คงจะเต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัวแก่งแย่งแข่งกันดี ไม่มีใครปราณีใคร ต่างดึงดื้อถือแต่ใจของตัวเองเป็นสำคัญ ท่านลองจินตภาพดูซิว่าสภาพสังคมโดยทั่วไปจะเป็นอย่างไร

ความสำเร็จกับคุณธรรม ถนนสายเดียวกันหรือคู่ขนาน

ความสำเร็จที่ทุกคนไขว่คว้าและแสวงหากันอยู่โดยทั่วไปนั้น หมายความว่าอย่างไรอะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จ

ความสำเร็จ หมายถึง ระดับของการบรรลุถึงเป้าหมายขององค์การหรือของบุคคลตามที่เป็นจริง (Etzioni, 1964 : 8) หรือตามที่องค์การหรือแต่ละบุคคลกำหนดไว้ อาทิต้องการสำเร็จเป็นบัณฑิต ต้องการเป็นผู้จัดการหรือเป็นเศรษฐี และสามารถบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการเหล่านี้ เป็นต้น

อะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนี้ Steers (1977 : 1) ได้เสนอว่าตัวชี้วัดความสำเร็จนั้น อาจจะมองได้หลายมิติ เช่น มิติทางเศรษฐศาสตร์ ความสำเร็จ คือ ผลกำไร (profit) หรือประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุน มิติของผู้จัดการฝ่ายผลิต ความสำเร็จหมายถึง คุณภาพหรือปริมาณของผลผลิตที่เป็นสินค้าหรือบริการ มิติของนักวิทยาศาสตร์การวิจัย ความสำเร็จหมายถึงจำนวนของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ หรือผลผลิตใหม่ ๆ และในมิติของนักสังคมศาสตร์ ความสำเร็จจะพิจารณาจากคุณภาพชีวิตของมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร

คุณธรรม หมายความว่าอย่างไร และสำคัญขนาดไหน

คุณธรรม โดยทั่วไปหมายถึง สภาพคุณงามความดี แต่เมื่อพิจารณาในมิติของปรัชญาซึ่ง Aristotle (Roth and Sontag, 1988 : 212-214) ได้กล่าวไว้ว่า คุณธรรม คือ สภาพของคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเลือกกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยใช้สติปัญญาและบนพื้นฐานของศีลธรรม คุณธรรมเป็นเรื่องของการกระทำความดีต่อมนุษยชาติการเชื่อและปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของความดี และการแสวงหาความสุขที่นิรันดร์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงคุณธรรมพิเศษของชนชาติไทย ไว้ว่า ชนชาติไทยมีคุณธรรมที่สำคัญอยู่ 3 ประการจึงสามารถธำรงความเป็นไทยมาได้จนถึงปัจจุบันนี้ คือ (1) ความจงรักอิสระของชาติ (2) ความปราศจากวิหิงสา และ (3) ความฉลาดในการประสานประโยชน์ 

ในบริบทของคุณธรรมในปัจจุบันนี้จะเน้นเรื่องหน้าที่เป็นสำคัญ นั่นคือ การปฏิบัติให้ถึงพร้อมในหน้าที่ต่อตัวเอง ต่อผู้อื่นและต่อความดีอันสูงสุด ซึ่งเป็นพันธกิจทางด้านศีลธรรม (Castell & Borchert, 1983 : 239-240) คุณธรรมตามทัศนะนี้เป็นการสอดคล้องกับคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ท่านได้พร่ำสอนมานานแล้วว่า การปฏิบัติหน้าที่ให้ถึงพร้อมสมบูรณ์โดยไม่บกพร่องย่อมถือเป็นการปฏิบัติธรรม อันเป็นศีลธรรมและคุณธรรมที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง และท่านยังสอนต่อไปอีกว่า ถ้าเราไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามศีลธรรมโลกเราก็จะประสบกับความปั่นป่วน ดังคำสอนที่ว่า "ถ้าศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ ถ้าศีลธรรมกลับมาโลกาจะร่มเย็น"

จากความหมายของคำทั้งสองดังกล่าวข้างต้นนั้น เมื่อเราได้พิเคราะห์และพิจารณาโดยละเอียดลึกซึ้งแล้ว ก็จะพบว่า ถ้าเราต้องการให้สังคมนี้มีความสุข ความสงบร่มเย็นและเกิดสันติประชาธรรมโดยทั่วไป ความสำเร็จกับคุณธรรมจะต้องเป็นถนนสายเดียวกันประกอบและเอื้อซึ่งกันและกัน คุณธรรมจะต้องควบคุมและควบคู่ไปกับความสำเร็จเสมอ เพราะต่างก็มีความสำคัญที่จะขาดมิได้ เปรียบเสมือนเหรียญที่สมบูรณ์จะต้องมีสองด้าน ความสำเร็จกับคุณธรรม ก็เช่นกัน ต่างก็ประกอบกันให้เกิดเป็นเหรียญที่สมบูรณ์ฉันนั้น

เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของความสำเร็จและคุณธรรมอาจจะพิจารณาได้จากข้อเสนอของศาสตราจารย์ Dr. Hahn Been Lee ที่ได้กล่าวถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (desirable attributes) ของผู้ที่จะประสบความสำเร็จได้ว่าจะต้องมีคุณลักษณะดังนี้คือ

  1. มีความรู้และสติปัญญาดี (Intellectual attributes)

  2. มีทักษะ (skills) เกี่ยวกับคน การติดต่อสื่อสาร และการประกอบการ

  3. มีค่านิยมและทัศนคติที่ดี (values and attitudes) มีทัศนภาพที่กว้างไกล

  4. มีจริยธรรมและคุณธรรม (ethical qualities)


        จากลักษณะดังกล่าวนี้เป็นการยืนยันได้ว่าจริยธรรมและคุณธรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขาดไม่ได้สำหรับผู้ที่แสวงหาและต้องการความสำเร็จในชีวิต

ความสรุป

  • ความสำเร็จบนความทุกข์และความเดือดร้อนของผู้อื่น ย่อมไม่ใช่ความสำเร็จอันนำมาซึ่งความสุขที่เป็นนิรันดร์

  • ความสำเร็จบนความเสื่อมโทรมและสิ้นสลายของสังคมและสภาพสิ่งแวดล้อม จะนำแต่ความวิบัติฉิบหายของมนุษย์ พืช สัตว์ และของโลกในที่สุด

  • ความสำเร็จที่ประกอบด้วยคุณธรรมและบนพื้นฐานของความสุขของผู้อื่น คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และจีรังกาล

5 สิงหาคม 2535

Etzioni, A. Modern Organizations. (Englewood Cliffs, N.J. : Prentice Hall, 1964).

Steers, R. Organizational Effectiveness : A Behavioral View. (Santa Monica, CA : 

Goodyear Publishing Co., 1977). 

Roth, J.K. and Sontag, F. The Questions of Philosophy. (Belmont, CA: Wadsworth 

Publishing Company, 1988).

Castell, A., and Borchert, D.M. An Introduction to Modern Philosophy : 

Examining the Human Condition. 4th ed. (New York : Macmillan Publishing Co., Inc., 1983).


*บทความในโครงการสัปดาห์อาชีพ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เดือนกันยายน 2535
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ