จีนในยุคปัจจุบัน : การถ่ายทอดวัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชน*

ในระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ศุกนี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปศึกษาเรื่องการศาสนา การเมือง-เศรษฐกิจและการศึกษา ณ สถาบัน MISSIOLOGIE ET DE SCIENCE DES RELIGIONS (IMR) แห่งมหาวิทยาลัยฟรีบูรค์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องหนึ่งซึ่งสถาบันแห่งนี้สนใจเป็นพิเศษก็คือ เรื่องการปลูกฝังและการถ่ายทอดวัฒนธรรมของประเทศจีน Prof. Richard FRIEDLI ผู้อำนวยการสถาบันได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมอภิปราย ประจำสัปดาห์เช่น Dr. Iso KERN จากมหาวิทยาลัยเบอร์น Prof. Jean GOLFIN จากมหาวิทยาลัยตูรูส ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น รวมทั้งทูตวัฒนธรรมของจีนประจำกรุงเบอร์น ปัจจุบันอาจารย์เหล่านี้ยังมีการติดต่อกับมหาวิทยาลัยของจีนเป็นประจำ

ประเทศจีนอยู่ในความสนใจของชาวยุโรปตะวันตกมาเป็นเวลาช้านาน มิชชันนารีสมัยแรก ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 635 ได้พยายามนำคริสตศาสนาเข้าไปเผยแพร่ในประเทศจีน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ต่อมา Matteo RICCI (1552-1610) มิชชันนารีคณะเยซูอิตชาวอิตาเลียนได้เดินทางเข้าประเทศจีนในปี ค.ศ. 1584 ท่านเป็นผู้ที่นับได้ว่าเข้าใจวัฒนธรรมของชาวจีนได้ดีกว่ามิชันนารีคนอื่น ท่านผู้นี้ได้เคยศึกษาและพักกินอยู่ที่วัดพุทธศาสนาแห่งหนึ่งของจีนเป็นเวลานานถึง 12 ปี จึงได้ออกมาตั้งสำนักของตนเองเพื่อเผยแพร่คริสตศาสนา ตลอดระยะเวลา 26 ปีที่อยู่ในประเทศจีนท่านแต่งตัวแบบซินแสชาวจีน เพื่อหาโอกาสทำการเสวนากับนักปราชญ์และประชาชนทั่วไป RICCI ได้พยายามที่จะปรับคริสตศาสนาให้เข้ากับวัฒนธรรมของจีน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากพวกมิชชันนารีเองมีความคิดแตกแยกกับท่านด้วยเรื่องของจารีต พิธีกรรม และประเพณีบางอย่าง RICCI ได้ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1610

ระหว่างปี ค.ศ. 1634-1704 ความคิดแตกแยกของพวกมิชชันนารีด้วยเรื่องการปรับความศรัทธาให้เข้ากับวัฒนธรรมจีน (INCULTURATION) ได้ถูกนำสู่เวทีอภิปรายในยุโรป การถกเถียงได้เป็นไปอย่างเผ็ดร้อน ใน 4 เรื่องคือ 1) การไหว้เจ้าและความคิดเรื่องพระเจ้า 2) คำสอนของขงจื้อ 3) การกราบไหว้บรรพบุรุษ 4) ปรัชญาของจีน การถกเถียงได้เป็นไปอย่างดุเดือดเป็นเวลานานเกือบร้อยปี โดยหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์อะไรมิได้เลย ทั้งนี้เพราะชาวยุโรปสมัยนั้นดื้อรั้นอยู่กับปรัชญาความคิดแบบของตน และมักจะมองข้ามคุณค่าทางวัฒนธรรมของชนชาติอื่น ๆ

ระหว่างที่มีการถกเถียงกันอยู่นี้ สันตะปาปาอาเล็กซานเดอร์ที่ 7 ได้มีสาส์นถึงหัวหน้ามิชชันนารี ในเขตอ่าวตังเกี๋ย และแหลมอินโดจีน ในปี ค.ศ. 1659 ความว่าดังนี้

จงหลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนรนใด ๆ หรือการถกเถียงใด ๆ เพื่อยุให้ประชาชนเปลี่ยนพิธีกรรม (ทางศาสนา) ประเพณี และวิถีชีวิตของเขา ยกเว้นเสียแต่ว่าพิธีกรรมนั้น ประเพณีนั้น และวิถีชีวิตแบบนั้น ขัดต่อศาสนา และศีลธรรมเป็นสิ่งที่น่าสมเพชสักปานใด ถ้าจะนำวัฒนธรรมแบบฝรั่งเศส หรือสเปน หรืออิตาเลี่ยน หรือประเทศยุโรปหนึ่งใดไปถ่ายทอดสู่ประเทศจีน? จงอย่าได้นำวัฒนธรรมประเทศของเราไปสู่ประเทศจีนเป็นอันขาดยกเว้นแต่ความเชื่อศรัทธาที่ไม่ขัดต่อ หรือไม่ทำลายพิธีกรรมแบบจีนของคนจีนกลุ่มใดแต่ควรจะเป็นความเชื่อศรัทธาที่ช่วยให้ประชาชนจีนรักษาปกป้องวัฒนธรรมของเขาได้ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนย่อมมีความรักหวงแหนและเทอดทูนประเพณีนิยม และประเทศชาติของตนไว้เหนือสิ่งใด ยิ่งกว่านั้นจะมีแรงผลักดันอันใดที่ทำให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังมากกว่าการนำความเปลี่ยนแปลงไปสู่ประเพณีนิยมของประเทศหนึ่งประเทศใด ที่เคยถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาล อะไรจะเกิดขึ้นถ้าพวกท่านนำวิถีชีวิตแบบยุโรปไปยัดเยียดให้เขา เป็นต้นนำมาจากภายนอก? จงอย่านำวิถีชีวิตของชาวยุโรปมาปฏิบัติเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตของชาวจีน แต่จงรีบปรับตัวของท่านให้เข้ากับชาวจีน." (ดูฉบับภาษาฝรั่งเศส)

Ne mettez aucun zele, n'avancez aucun argument pour convaincre ces peuples de changer leurs rites, leurs coutumes et leurs moeurs, a moins qu'elles ne soient evidemment contraires a la religion et a la morale. Quoi de plus absurde que de transporter chez les Chinois la France, l'Espagne, l'Italie ou quelque autre pays d'Europe? N'introduisez pas chez eux nos pays mais la foi qui ne repousse ni ne blesse les rites et les usages d'aucun peuple pourvu qu'ils ne soient pas detestables, mais bien au contraire veut qu'on les garde et les protege. It est pour ainsi dire inscrit dans la nature de tous les hommes d'estimer, d'aimer, de mettre audessus de tout au monde les traditions de leur pays et ce pays lui-meme. Aussi n'y a-t-il pas de ;lus puissante cause d'eloignement et de haine que d'apporter des changements aux coutumes propres a une nation, pricipalement a celles qui ont ete pratiquees aussi loin que remontent les souvenirs anciens. Que sera-ce si, les ayant abrogees, vous cherchez a mettre a la place les moeurs de votre pays, introduites du dehors? Ne mettez donc jamais en parallele les usages de ces peuples avec ceux de I'Europ; bien au contraire, empressez-vous de vous-y habituer.

ในทศวรรษนี้ มิชชันนารีคนใดก็ตามที่อ่านสาส์นฉบับนี้คงมีความเห็นพ้องกันว่าสันตะปาปา อาเล็กซานเดอร์ที่ 7 ทรงเข้าใจเรื่องการปรับความศรัทธาให้เข้ากับวัฒนธรรม (INCULTULATION) ได้ดีที่สุด พระองค์ได้ให้คำตอบแก่พวกเขาแล้ว แต่เหตุใดนักปรัชญาศาสนาเหล่านั้นยังหาข้อยุติไม่ได้ และยังคงเถียงกันต่อไป จากนั้นเรื่องนี้ก็หายเงียบไปถึง 200 กว่าปี จากเวทีการอภิปราย และกลายเป็นเรื่องศึกษาส่วนตัวของผู้สนใจ เพิ่งมาได้รับการสนใจใหม่อย่างเป็นทางการในสังคายนาวาติกันที่ 2 (1962-1967) นี่เอง

ความเชื่อศรัทธาช่วยเสริมวัฒนธรรมให้มีความหมายยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแสดงออกซึ่งความเข้าใจในสิ่งที่มนุษย์เชื่อศรัทธาด้วยเหตุนี้ชาวตะวันตกจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อขบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมของจีนซึ่งถือว่าเป็นชนชาติยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเซีย

ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการถ่ายทอดวัฒนธรรมอีกแง่หนึ่งที่ IMR สนใจก็คือ เสรีภาพในการถือศาสนาในประเทศจีนมีมากน้อยเพียงใด และรัฐบาลจีนปัจจุบันมีปรัชญาความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างใดบ้าง? พระคาร์ดินัลซิน แห่งมานิลาเคยยืนยันเมื่อปีที่แล้วหลังจากกลับจากเยือนประเทศจีนว่า รัฐบาลจีนปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้มีการสร้างวัดและปฏิสังขรวัดเก่า ๆ ของคริสตศาสนาถึง 1,000 กว่าแห่ง อนุญาตให้เปิดสำนักอบรมเตรียมคนเป็นสงฆ์เป็นนักบวชได้ ในขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าบางท้องถิ่นยังมีการต่อต้านการปฏิบัติศาสนกิจอยู่

นายจึง กวนซุน และนายหวัง เหวยฝัน นักวิจัยทางศาสนาและสังคม ได้แถลงเกี่ยวกับความสำคัญของศาสนาที่สำนักแถลงข่าวปักกิ่ง (CPPCC) เมื่อเดือนมีนาคม 2532 ซึ่งพอสรุปได้ว่า ปัญหาศาสนาอยู่ที่นโยบายการปกครอง ก่อนที่จะมีการให้เสรีภาพชนชั้นบางกลุ่มใช้ศาสนาเพื่อมอมเมาประชาชน สิ่งที่แน่นอนคือศาสนาทุกศาสนายังมีมิติเชิงลบอยู่ นักค้นคว้านักวิจารณ์ของจีนยังคงใช้ศัพท์ที่ว่า "ศาสนา คือ ยาเสพติด" แต่อธิบายความหมายอย่างเป็นกลางไม่รุนแรงเหมือนของเฮเกล นอกจากนี้ นักวิจัยของจีนได้ชี้ให้เห็นส่วนดีของศาสนา โดยแถลงว่าในโรงงานใดถ้ามีคนนับถือศาสนามากที่นั่นมักจะมีวินัยและมีการปฏิบัติศีลธรรมดีกว่า เพราะคนเหล่านั้นเชื่อในศาสนา แต่ละศาสนามีวิธีสอนให้คนของตนเป็นคนดีเคารพและช่วยเหลือผู้อื่น แม้แต่ในบางท้องถิ่นที่มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่ ผู้มีศาสนามักมีวินัย และถือกฎหมายของรัฐดีกว่า ปัญหาเยาวชนก็เช่นกัน อาชญากรรมที่เกิดขึ้นมักจะก่อขึ้นโดยเยาวชนที่ไม่มีศาสนา สุดท้ายนักวิจัยของจีนได้บอกว่าศาสนามีอิทธิพลต่อผู้สูงอายุกลางคน มากกว่าพวกหนุ่มสาว

เมื่อเดือนมีนาคม ศกนี้ หนังสือพิมพ์ภาษาจีนในฮ่องกงตีพิมพ์ว่า นายเซา ปูจื้อ ผู้นำชาวพุทธคนหนึ่งได้แถลงต่อที่ประชุมสำนักงานแถลงข่าวปักกิ่ง (CPPCC) ว่าผู้รับผิดชอบฝ่ายบ้านเมืองไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ว่าด้วยเรื่องศาสนาและร้องทุกข์ว่าผู้ใหญ่บางคนกลับขัดขวางการดำเนินงานขององค์การศาสนาในหลายท้องที่

เรื่องของธิเบต เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ใคร ๆ สนใจมาก บุคคลที่ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับธิเบตมากที่สุดคนหนึ่งก็คือ ปิงกัง ซิเรนดุงซู ซึ่งมาจากตระกูลไดลา ลามะ ที่ 11 ปัจจุบันเป็นรองประธานบริหารเมืองลาซา (ธิเบต) และยังเป็นรองประธานในคณะกรรมการ CPPCC อีกด้วย ปิงกัง ซิเรนดุงซู ได้ให้สัมภาษณ์ผู้แทนต่างประเทศที่กรุงปักกิ่งว่า นโยบายการปกครองธิเบตของจีนนั้นถูกต้องดีแล้ว ข้อเสียอยู่ที่ว่ากลไกการบริหารธิเบตของรัฐบาลจีนนั้นล้มเหลว เพราะขาดประสิทธิภาพ ถ้าธิเบตมีความสงบและมีการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ธิเบตจะเจริญรุ่งเรือง ปิงกัง ซิเรนดุงซู ยังบอกอีกว่า กฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในเมืองลาซานั้นจำเป็น เพื่อความสงบเรียบร้อยของเมืองลาซาเอง แต่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนและคนต่างประเทศเป็นพวกที่ยุยงก่อปัญหา สิ่งที่น่าแปลกก็คือ ปิงกัง ซิเรนดุงซู ไม่พูดถึงประมุขของพุทธศาสนาที่ลี้ภัยอยู่ในอินเดียเลย แต่กลับเน้นว่าธิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน

เรื่องของศาสนาเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับเรื่องของ "สิทธิมนุษยชน" (Human Rights of Man) ปีนี้เป็นปีที่ประเทศฝรั่งเศสจัดงานมโหฬารฉลองครบรอบ 200 ปี แห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ฉะนั้นจึงเป็นปีที่ปัญญาชนตามมหาวิทยาลัยในยุโรปให้ความสนใจกับเรื่องของ "สิทธิมนุษยชน" เป็นพิเศษ คำถามที่ใคร ๆ ต้องการจะถามรัฐบาลจีนในเวลานี้ก็คือรัฐบาลเคารพและเชื่อในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่สหประชาติได้ประกาศนั้นแค่ไหน? นายฝาง หลีจือ นักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ได้ตอบคำถามนี้เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ศกนี้ ในโอกาสฉลองครบรอบการก่อตั้ง "ขบวนการประชาธิปไตย" ณ กำแพงประชาธิปไตยที่ ซือคาน นครปักกิ่ง โดยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพฮ่องกงสแตนดาร์ดว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยประสบแต่ความผิดหวังสมาชิกบางคนยังติดคุกอยู่ อย่างไรก็ดีประชาชนส่วนใหญ่เริ่มให้ความสนใจกับการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทุกวันนี้ไม่มีใครที่จะปฏิเสธได้ว่า เรื่องของสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศจีน ทั้งนี้เพราะประชาชนทราบว่า "เรื่อง สิทธิมนุษยชน" เป็นเงื่อนไขของความสำเร็จในการปฏิรูปการปกครอง ถ้าไม่มีการยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชนกันแล้วการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือการนำประเทศไปสู่ความเจริญ (modemization) ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นายฝาง หลีจือ ยังเสริมต่ออีกว่า ปรากฎการณ์คอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศจีนชี้ให้เห็นว่า เอกสิทธิพิเศษทางการเมืองที่ฝ่ายปกครองมีอยู่ได้ทำลายการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าปราศจากความเสมอภาคทางการเมือง และเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนแล้ว การที่จะกำจัดคอร์รัปชั่น หรือการปฏิรูปเศรษฐกิจย่อมไม่สำเร็จการปฏิรูปเศรษฐกิจต้องการภาวะแวดล้อมที่มีเสถียรภาพมั่นคงประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งที่แล้วพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกครั้งที่สิทธิมนุษยชนถูกย่ำยีประเทศจีนก็จะอยู่ในสภาพที่ขาดเสถียรภาพมากที่สุด เพราะฉะนั้นการเคารพในสิทธิมนุษยชนจึงเป็นหลักประกันที่จำเป็นสำหรับความสงบสุขของสังคม นายฝาง หลีจือ ยังให้ความเห็นเพิ่มอีกว่า การเคารพในสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการผดุงไว้ซึ่งภาวะสันติภาพของนานาประเทศ ไม่มีใครยอมเชื่ออย่างง่าย ๆ ว่า ประเทศที่ไม่เคารพและยอมรับเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศของตน จะเป็นผู้ถือหลักการของสันติภาพและการคืนดี (Reconciliation) ในเมื่อตนทำการดต่อกับต่างประเทศ นอกจากนี้ นายฝาง หลีจือ เสริมต่ออีกว่า มันเป็นเหตุผลที่เห็นได้ชัดในตัวเองว่าการเคารพในสิทธิมนุษยชนยังเป็นเงื่อนไข (prerequisite) ของการพัฒนาการศึกษา และวิทยาศาสตร์อีกด้วย

นายฝาง หลีจือ บอกว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านไป ทุกวันนี้ประชาชนให้ความสนใจกับ "กำแพงประชาธิปไตย" เป็นพิเศษ ถึงแม้มันจะเป็นกำแพงที่ไม่ใหญ่โตอะไรก็จริง แต่เราทั้งหลายก็ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกัน ณ จุดนี้

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ศกนี้ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักศึกษาจีน ซึ่งเพิ่งออกมาจากประเทศจีนเมื่อปลายเดือนเมษายน ปัจจุบันกำลังทำปริญญาเอกสาขาเคมีอยู่ที่มหาวิทยาลัยเยนีวา นักศึกษาผู้นี้ให้ความเห็นตรงกับนายฝาง หลีจือ ว่าในระยะที่มีการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนการติดต่อกับประเทศจีนถูกตัดขาดหมดสำหรับประชาชนเขาเพิ่งโทรศัพท์ไปยังพ่อแม่ได้ไม่กี่วันนี้เอง เพื่อถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปักกิ่ง และก็ทราบว่า นายฝาง หลีจือ นักวิทยาศาสตร์ของจีนกำลังลี้ภัยการเมืองอยู่ในสถานทูตสหรัฐอเมริกา

คราวนี้เราลองมาพิจารณาเรื่องการศึกษาของจีนดูบ้าง Prof. Jean GOLFIN แห่งมหาวิทยาลัยตูรูส เพิ่งกลับจากประเทศจีนบอกว่า การศึกษาของจีนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ผู้บริหารของรัฐบาลจำนวนมากเป็นพวกหัวเก่า อายุมาก ไม่มีความเข้าใจทั้งเรื่องเศรษฐกิจและการศึกษาอย่างแท้จริง เราก็ทราบกันดีว่ารัฐบาลจีนชุดปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่เป็นคนชุดเดิมที่ได้นำระบบคอมมิวนิสต์มาสู่ประเทศ และได้ทำการปฏิวัติโดยใช้วิธีการรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนจำนวนมาก ปัจจุบันรัฐบาลชุดนี้ได้เริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอก เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจ และการปกครองใหม่

เติ่ง เซี่ยวปิง ผู้นำอาวุโสของจีน ได้ให้สัมภาษณ์กับชาวต่างชาติเมื่อเดือนมีนาคม ศกนี้ ว่า (การสัมภาษณ์ครั้งนี้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือภาษาจีนของฮ่องกงด้วย) ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดของจีนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือ การขาดการพัฒนาการศึกษา ข้อสังเกตของ เติ่ง เซี่ยวปิง ทำให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในสภาแห่งชาติและในคณะกรรมการ CPPCC ฝ่ายบริหารของจีนตั้งคำถามว่า ความผิดพลาดนี้มีรากเหง้าอยู่ที่ใด?

ตั้งแต่ได้เริ่มมีการปฏิรูปสังคมใหม่ และรัฐบาลจีนเริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอก ผู้รับผิดชอบในรัฐบาลได้ปรับปรุงเงื่อนไขในระบบการศึกษา ซึ่งได้ถูกทำลายโดยการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งที่แล้ว อย่างไรก็ดีประชาชนเชื่อกันว่าผู้ใหญ่ฝ่ายรัฐบาลเน้นแต่คำพูด แต่ไม่มีการปฏิบัติ และไม่เคยตัดสินใจทำอะไรขึ้นเป็นชิ้นเป็นอัน ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลเองไม่เข้าใจว่าระบบการศึกษาของจีนทั้งระบบอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่างบประมาณสำหรับการศึกษานั้นต่ำที่สุดเป็นระดับรองสุดท้ายของโลก คือ 11.2 ดอลล่าร์ ต่อรายหัวต่อปี

ประชาชนวิจารณ์ต่อไปว่า รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ 1) ผู้นำชั้นสูงในระดับตัดสินใจไม่เข้าใจความสำคัญของการศึกษา จึงไม่มีนโยบายอะไรที่แน่ชัดเกิดขึ้น 2) ประเทศจีนขาดระบบนิติบัญญัติ ที่จะให้หลักประกันต่อการศึกษา ในหลายประเทศงบประมาณประจำปีสำหรับการศึกษาภาคบังคับสำหรับเยาวชน วุฒิของครู อาคารเรียนและอุปกรณ์การศึกษา ได้ถูกกำหนดด้วยตัวบท กฎหมาย และระเบียบ ส่วนในประเทศจีนนั้น กฎหมายและระเบียบดังกล่าวไม่มีหรือในบางกรณีที่มีก็ไม่มีการปฏิบัติตาม 3) ผู้ใหญ่ของรัฐไม่มองการณ์ไกลเวลาแก้ปัญหาการศึกษา ผู้รับผิดชอบเหล่านั้นไม่เคยวางแผนระยะยาวและไม่เข้าใจอิทธิพลลึกซึ้งของการศึกษาต่อคุณภาพของคน ผู้ใหญ่เหล่านั้นเข้าใจแต่การพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นการพัฒนาทางวัตถุในประเทศจีนเกิดขึ้นทันตาเห็นภายใน 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่พอพูดถึงการพัฒนาการศึกษา ไม่เห็นมีแผนที่จะทำอะไรอย่างจริงจังห้องเรียนอยู่ในสภาพทรุดโทรม อุปกรณ์การเรียนการสอนขาดครูที่ทรงคุณวุฒิก็ไม่มี ฯลฯ

หลี เปง นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ณ ศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมื่อต้นเดือนเมษายน ศกนี้ว่า CPPCC จะเรียกประชุมด่วนเรื่องการศึกษา จะมีการศึกษาปัญหาสำคัญ ๆ และจะวางมาตรการแก้ไข และนายกรัฐมนตรีได้ตอบผู้แทนต่างประเทศว่าท่านเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ เติ่ง เซี่ยวปิง ที่ว่าด้วยการศึกษา แต่เข้าใจเองว่า เติ่ง เซี่ยวปิง เองคงจะไม่ได้หมายความถึงการศึกษาโดยเฉพาะ คงจะหมายความถึงการให้การศึกษาเรื่องการเมืองแก่ประชาชน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และข้าราชการมากกว่า จะได้รู้จักทำงานหนักขึ้น และรู้จักประหยัด และท้ายสุด นายกรัฐมนตรีของจีนก็สรุปว่า "นั่นคือการให้อุดมการณ์สังคมนิยมแก่ประชาชนทั้งประเทศ"

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นการได้ยินได้ฟัง เรื่องการปลูกฝังและถ่ายทอดวัฒนธรรมของจีนตามแนวความคิดและการวิพากษ์วิจารณ์ข่าวของปัญญาชนตามสถาบันการศึกษาในยุโรปตลอดระยะเวลาที่มีการเดินขบวนเพื่อประชาธิปไตย โดยนักศึกษาและประชาชน ประเทศจีนกลายเป็นข่าวใหญ่ทุกชั่วโมง และทุกวันของวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ นิตยสารบางฉบับถึงกับลงจ่าหน้าว่า "จุดจบของลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มแล้ว" เมื่อมีการปราบปรามนักศึกษาและประชาชนเกิดขึ้น ผู้นำของประเทศหลายแห่งในโลกตะวันตกได้ออกทีวีให้ความเห็นต่อต้านการกระทำของรัฐบาลจีนทันที อาจารย์นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้แสดงออกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว (Solidarity) กับนักศึกษาและประชาชนจีนโดยทั่วไป

บทเรียนจากประเทศจีนคงจะเป็นบทเรียนที่ทุกคนจะจำกันไปอีกนาน ในยุคที่เทคโนโลยีของการสื่อสารมีการพัฒนาจนมีประสิทธิภาพสูงอย่างปัจจุบัน กอปรกับการที่มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศบ้าบิ่นและไม่กลัวตาย การปิดข่าวหรือบิดเบือนข่าวทำได้ยากขึ้น และก็มีแต่รัฐบาลที่ไม่ฉลาดเท่านั้น ที่จะกล้าล่วงเกินและย่ำยีสิทธิมนุษยชน โดยไม่ใยดีต่อเสียงประณามของชาวโลก


 *สมาคมเกียรตินิยมการศึกษาแห่งประเทศไทย (กันยายน 2532).
 *ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ
 *จุลสาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC NEWSLETTER ปีที่ 10 ฉบับที่ 48 เดือน มิถุนายน-กรกฏาคม 2532 หน้า 6-9