การปฏิรูปการศึกษา : จากอดีตสู่ปัจจุบัน*

ภราดามาร์ติน ประทีป โกมลมาศ

บทนำ

การเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งในโลกนี้ย่อมเป็นนิรันดร์ ไม่ว่าจะในด้านกายภาพของ บ้านเมือง ดินฟ้าอากาศ วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของคนในสังคม ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และด้านอื่นๆ ด้านการศึกษาในประเทศไทยก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับมา มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ที่ผู้ปกครองหรือผู้บริหารในยุคสมัยนั้นๆ จะเห็นว่าอะไรเหมาะสมที่จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและทันสมัยขึ้นในประเทศ

การศึกษาแนวใหม่ของไทยในอดีต ได้รับอิทธิพลอย่างสำคัญจากชาวตะวันตก ที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะคณะมิชชันนารีที่ได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่ธรรมและสอนหนังสือไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในปี ค.ศ. 1665

การปฏิรูปการศึกษาของไทยในอดีต

ปี ค.ศ. 1665 มีความสำคัญต่อการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย เพราะเป็นปีที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงพระราชทานที่ดินแก่คณะมิชชันนารีฝรั่งเศสแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ณ ตำบล “บางปลาเห็ด” เพื่อสร้างโรงเรียนสอนเด็กชาววังและคนทั่วไป ตามหลักฐานที่มีบันทึกไว้ในหนังสือ “Historic de la Mission de Siam เขียนโดย A. Launay”

ท่านสมณฑูต Luigi Bressan ได้เขียนไว้ในหนังสือ “A Meeting of Worlds” (2000 : 11 : 25) โดยอ้างคำรายงานปี ค.ศ. 1666 ของพระคุณเจ้า Lambert de la Motte ว่าเมื่อพวกมิชชันนารีได้รับพระราชทานที่ดินแล้ว ได้จัดตั้งวิทยาลัยชื่อว่า “College General” อันประกอบด้วย

        - สำนักสามเณราลัย สำหรับผู้ที่เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์

        - โรงเรียนสอน Moral Theology แก่คริสตัง และครูสอนคำสอน

        - โรงเรียนสำหรับนักเรียนที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมอบหมายให้มารับการศึกษา

        - โรงเรียนประถมสำหรับคนทั่วไป

        - เปิดหลักสูตรสำหรับผู้ที่เตรียมตัวเป็นคริสตัง

        - และโรงเรียนสำหรับเด็กกำพร้า

ในหอจดหมายเหตุของคณะมิชชันนารี M.E.P. ในกรุงปารีส มีหลักฐานยืนยันว่า มิชชันนารีฝรั่งเศส ที่ทำงานเผยแผ่ธรรมในประเทศไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่มสำหรับใช้ในการศึกษา ณ College General เช่น 

        - หนังสือเกี่ยวกับเทวศาสตร์ และหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาและคริสตศาสนา

        - หนังสือเกี่ยวกับกฎหมายไทย และกฎหมายพระศาสนจักร (Cannon Law)

        - หนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นต้น

        - วรรณคดีไทย และการเรียนภาษาไทย

        - ประวัติศาสตร์ไทย และประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ฯลฯ

ต่อมาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ Msgr. Pallegoix ได้เขียนพจนานุกรม 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส และลาติน ซึ่งเป็นผลงานอันน่าพิศวงอย่างยิ่ง พจนานุกรมฉบับนี้ตีพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศส ปีค.ศ. 1854 และยังมีให้เห็นในทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังมีวรรณกรรมอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งหนังสือวัดหรือหนังสือไทยเขียนด้วย Romanised characters ที่มิชชันนารีในยุคกรุงศรีอยุธยาและยุคเริ่มต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เขียนขึ้นไว้สำหรับใช้ในโรงเรียนคาทอลิกตามหลักฐานที่มีบันทึกไว้โดยท่านสมณทูต Luigi Bressan

ระบบการศึกษาที่พวกมิชชันนารีนำมาใช้ในกรุงศรีอยุธยา อาจถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ของการปฏิรูปการศึกษาก็ว่าได้ เพราะเป็นการนำการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาเผยแผ่ในแผ่นดินสยาม เป็นต้น การนำวิทยาการใหม่ในเรื่องวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมทั้งภาษาต่างประเทศเข้ามาเรียนและสอนอีกด้วย

ในโอกาสที่เราจะทำการฉลองครบรอบ 336 ปี ของการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย มีคำถามที่น่าคิด คือ ทำไมมิชชันนารีจึงจัดตั้งโรงเรียนพร้อมๆ กับการเผยแผ่ธรรม

ในขณะเดียวกันเราก็ทราบกันดีว่า นับแต่สุโขทัยเป็นราชธานี สืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ศาสนากับการศึกษาเป็นของคู่กันในสังคมไทย วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา และได้กลายเป็นเสาหลักที่ก่อให้เกิดความมั่นคงแก่สังคมไทยมาจนบัดนี้ จนถึงกับ มีการกล่าวว่า ว.วัด และว.วัง นี้ มีความสำคัญต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่ขณะนี้เรากำลังจะปฏิรูปการศึกษาให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยแยกการศึกษาให้ห่างไกลวัด ไกลศาสนา และวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ด้วยการแยกกระทรวงศึกษาธิการออกจากศาสนาอย่างชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหวังให้ผลผลิตจากระบบการศึกษาตามแนวคิดใหม่นี้บรรลุเป้าหมาย “ความรู้คู่คุณธรรม” หรือให้เด็กไทย “เก่ง ดี มีความสุข” และ “มีวุฒิภาวะเชิงศีลธรรม” ได้อย่างไร

กระแสความต้องการให้มีการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยเสียใหม่ได้ดังกระหึ่มทั่วประเทศและหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องปฏิรูประบบการศึกษานี้แต่ประเด็นสำคัญที่ถกเถียงกันก็คือว่า “อะไรคือหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา” ตามความเห็นของข้าพเจ้า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าเป็นการปฏิรูประบบและกระบวนการเรียนรู้ โดยมีนัยสำคัญหลายประการ เช่น นักเรียนหรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา

 “การจัดการศึกษา ต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด” (มาตรา 22)

ในอดีตที่ผ่านมาการให้การศึกษามักจะเน้น “ครูเป็นศูนย์กลาง” คือ ครูเป็นพหูสูต เป็นปราชญ์ เป็นผู้รู้แต่ผู้เดียว ถ้าปราศจากครูแล้วนักเรียนก็เรียนไม่ได้ แต่ในปัจจุบันนักการศึกษาจำนวนมากเริ่มมีความคิดว่า นักเรียนหรือผู้เรียนต่างหากน่าจะเป็นศูนย์กลางของการศึกษา ทั้งนี้เพราะผู้เรียน “มีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้” ครูเป็นผู้ช่วย (facilitator) เป็นผู้ชี้นำ ชี้แนะให้นักเรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้ หาแหล่งสรรพวิชาและปรมาจารย์

นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา

เมื่อปี ค.ศ. 1990 ดร.เมนโดซา อธิการบดีสถาบันการจัดการแห่งเอเซีย (Asian Institute of Management) ได้กล่าวไว้ในหนังสือวารสาร World Executive’s Digest ว่า : “การสอนที่ดีเลิศเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่า การเรียนรู้ของนักเรียนสำคัญกว่าการสอนของครู” โดยนัยดังกล่าว ครูเก่งคือครูที่สามารถสอนให้เด็กรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง รู้จักพัฒนาตนเอง ไม่ว่าจะโดยวิธีใด ยิ่งเด็กเรียนรู้ได้มากเท่าใดครูยิ่งเป็นคนเก่งมากเท่านั้น

        สิ่งที่น่าจะถามคือ “นักเรียนได้เรียนรู้อะไร” ถ้านักเรียนยังไม่ได้เรียนรู้อะไร การศึกษาก็ยังไม่เกิดขึ้น

ในอดีต กระบวนการศึกษาเน้นที่ตัวครูเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเน้นที่วุฒิครู ความรู้ทักษะ ทัศนคติ และค่านิยมของครู นอกจากนี้ยังเน้นที่หลักสูตรการเตรียมการสอน วิธีสอนและระเบียบวินัยในการเรียน ซึ่งยังคงเป็นความจำเป็นในปัจจุบันและอนาคตอีกไกล แต่จุดเน้นกำลังเปลี่ยนไป

ด้วยเหตุนี้ นักเรียนควรเป็นศูนย์กลางของการศึกษา เพราะนักเรียนสามารถ “พัฒนาตนเอง” ได้ และครูเป็น facilitator ครูเป็นผู้จัดการกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน หรือ manager of the learning process ความรับผิดชอบของครูคือการเรียนรู้ของนักเรียน

บทบาทของเทคโนโลยีกระบวนการเรียนรู้ 

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยผู้เรียนให้เรียรู้ได้ด้วยตนเองและสามารถพัฒนาตนเองได้คือ เทคโนโลยีทางการศึกษา เกี่ยวกับเรื่องนี้หนังสือพิมพ์ Asian Wall Street Journal ฉบับเดือนกันยายน 1990 มีบทความเรื่อง Project Learning 2001 โดยผู้อำนวยการสถาบัน HUDSON มีสาระสำคัญว่า บัดนี้ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีล้ำยุคสมัยใหม่สามารถสอนนักเรียนไม่ว่าวิชาใด ชั้นใด ได้ผลดีกว่าครู และความเชื่อที่ว่า “เทคโนโลยีจะไม่มีวันทดแทนครูได้นั้น กลายเป็นนิยายปรัมปราไปแล้ว” ผู้อำนวยการสถาบัน HUDSON ยังทำนายว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะมีบทบาทต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าครูและทดแทนครูได้ ทั้งนี้เพราะ “ห้องเรียนและครูเป็นของฟุ่มเฟือยและมีราคาแพงเกินไป” จริงอยู่ความเห็นของผู้อำนวยการสถาบัน HUDSON อาจจะเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ในบริบทของวัฒนธรรมไทยและในยุคปฏิรูปของการฝึกหัดครูในสังคมโลกก็ตามแต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องคิดและชั่งใจถึงบทบาทของเทคโนโลยี ซึ่งมีทั้งคุณและโทษต่อการศึกษาในอนาคต ยิ่งนับวันดูจะยิ่งมากขึ้นทุกที

        เพราะฉะนั้น ศูนย์กลางของการศึกษาจึงไม่ใช่ตัวครู แต่เป็นผู้เรียน คือ นักเรียน

เนื้อหาสาระที่ผู้เรียนในสังคมไทยควรเรียนรู้

        มาตรา 23 เน้น “ความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้ และบูรณาการ ตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษาในเรื่องต่อไปนี้

1) ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัวชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2) ความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลยั่งยืน

3) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา

4) ความรู้ และทักษะด้านคณิตศาสตร์ และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง

5) ความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

จุดมุ่งหมายของ “ความรู้ (knowledge) คืออะไร 

ในบริบทของมาตรา 23 มีการเน้นเรื่อง “ความรู้คู่คุณธรรม” และ “ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง หรือ self knowledge” และ “ทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข” จึงเป็นการเหมาะสมที่จะศึกษาว่าจุดมุ่งหมายของ “ความรู้” คืออะไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ Peter Drucker ได้วิเคราะห์ว่า ในทัศนะของปราชญ์โซคราติส (Socrates) นั้น จุดมุ่งหมายของความรู้คือ “การรู้จักตนเอง (self knowledge) และการพัฒนาตนเอง (self development)” โดยเน้นผลลัพธ์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงภายในอุปนิสัยของผู้เรียนให้เป็น refined person ส่วนโปรแทคโกรัส (Protagoras) เห็นว่าผลลัพธ์อยู่ที่ความสามารถที่จะรู้จักพูด รู้จักเขียน อย่างคนมีปัญญา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวิชาศิลปศาสตร์ (liberal arts education) ตั้งแต่นั้นมาจนบัดนี้ ทัศนะเกี่ยวกับ “ความรู้” ของโซคราติสและโปรแทคโกรัสครอบงำ (dominate) ความคิดและระบบการศึกษาในโลกตะวันตกเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับโลกตะวันออกทัศนะของ Zen และขงจื้อ เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของ “ความรู้ (knowledge)” ก็คือ “self knowledge” ทัศนะของ Zen และขงจื้อได้แผ่อิทธิพลต่อระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของโลกตะวันออกมาเป็นพันปี ตามนัยดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่ได้รับการศึกษามาอย่างดีพร้อมสมบูรณ์แบบตามระบบ liberal arts education ย่อมได้ชื่อว่าเป็นบุคคลที่ “มีการศึกษา” หรือ “educated person” ซึ่งเป็นบุคคลที่มุ่งแสวงหาสัจธรรมความจริงของชีวิต

แต่ในยุคโลกาภิวัฒน์ จุดมุ่งหมายของ “ความรู้” เริ่มมีความหมายเปลี่ยนไปอย่างน้อยในโลกตะวันตก ซึ่งเน้นว่า “ความรู้” ต้องพิสูจน์ด้วยตัวมันเอง คือ ด้วยการกระทำ คนที่มีความรู้ คือคนที่รู้ว่าจะต้องทำอะไรและทำเป็น ในบริบทนี้ Perter Drucker นิยาม “ความรู้ (knowledge)” ว่าเป็น

        “information effective in action หรือ information focused on results”

นี่คือ ความหมายของความรู้ในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมระบบเศรษฐกิจ และความก้าวหน้าของวิทยาการความรู้เอง โดยเน้นผลลัพธ์ที่การอยู่ดีกินดี มีความสุขในโลกนี้ อันเป็นสัจธรรมความจริงของชีวิตของคนยุคใหม่ (a new man for a new world) ในยุค New Economy ความคิดดังกล่าวนี้ ดูจะสอดคล้องกับถ้อยแถลงขององค์การยูเนสโก ว่าด้วยเรื่องเสาหลักของการศึกษา 4 ประการ สำหรับศตวรรษที่ 21 คือ เรียนรู้เพื่อ “to know, to do, to be and to live”

ในบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงทางความหมายของ “ความรู้” นี้ คนยุคโลกาภิวัฒน์เริ่มกล่าวเชิงล้อเล่นว่า เราไม่อยากไปไหนกับคนที่ได้ชื่อว่าเป็น educated man เพราะถ้าเกิดเราหลงทางเข้าไปในป่าแล้ว educated man ผู้เป็นเพื่อนร่วมทางคงไม่สามารถพาเราออกจากป่าได้

เพราะฉะนั้น จุดมุ่งหมายของ “ความรู้ (knowledge)” กำลังเปลี่ยนความหมายไป โดยเน้นการเรียนเพื่อรู้ รู้แล้วแก้ปัญหาเป็น ทำเป็น คือ รู้แล้ว “สามารถประกอบอาชีพได้ และสามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุข” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเชิงความหมายแบบ paradigm shift ส่วนการบรรลุถึงสัจธรรมความจริงของชีวิตในโลกหน้าหรือโลกฝ่ายจิตวิญญาณเป็นเรื่องไกลตัวที่นักปรัชญา นักการศาสนา จะถกเถียงกันต่อไป ส่วนกระบวนการเรียนรู้แบบของไทยเรานั้น เราถือเป็นความถูกต้องที่จะเน้น “ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชนชาติ และสังคมโลก” (มาตรา 23)

ในบริบทแห่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ครูต้องเตรียมนักเรียนเพื่อชีวิต 

1) โดยช่วยพัฒนาสติปัญญาขั้นพื้นฐานของเด็กอันจะช่วยให้เขาสามารถแสวงหาความรู้ต่อไป เพื่อเด็กจะได้มีทักษะ รู้จักมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างสันถวไมตรี

2) โดยช่วยให้เขาได้เข้าใจ และรับรู้ความคิดใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ ตลอดจนวิธีการสร้างกระบวนการ และรูปแบบการเรียนรู้จากข้อมูลใหม่ที่ได้เรียนรู้

3) โดยสอนให้นักเรียนรู้จักไตร่ตรอง และมีสติ สามารถมี concentration of mind อันจะก่อให้เกิดปัญญาเพื่อช่วยในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด อย่างผู้รู้จักรับผิดชอบ และมีคุณธรรม

วิชาการจัดกระบวนการเรียนรู้

        มาตรา 24 เน้น “วิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างสมบูรณ์

1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา

3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงฝึกการปฏิบัติให้ทำได้คิดเป็นทำเป็นรักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง

4) จัดการเรียนการสอนโดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา

5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ

6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ”

บทบาทของครูในกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน และการปฏิสัมพันธ์ของครู 

        การเรียนรู้ที่ดีที่สุด ก็คือเมื่อนักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้นั้นและเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสำเร็จในสิ่งที่ตนได้เรียนรู้

ความยิ่งยวดของการเรียนรู้โดยวิธีดังกล่าวอยู่ที่ความเข้มข้นของการฝึกบ่อยๆ ทำนองฝึกปรือ เช่น ในการคิด (thinking) การรู้สึก (feeling) และการตัดสินใจ (deciding) และการได้กระทำสิ่งที่มีความหมายสำหรับตนเอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ครูจะต้องเรียกร้องและกระตุ้นเร้าให้นักเรียนรู้จักทำงานหนัก เรียนหนัก รู้จักสละเวลาเพื่อแสวงหา เพื่อเรียน เพื่อค้นคว้า นั่นคือ เป็นผู้ใฝ่รู้ และเป็นผู้รู้จักควบคุมตนเอง

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ครูจะต้องขวนขวายหาวิธีการที่จะให้เด็กได้มีโอกาสฝึก โดยวิธีปฏิบัติที่จะออกแรงให้ถึงขีดสุดที่จะพัฒนาศักยภาพของตนในด้านสติปัญญา ร่างกาย จิตใจ และ Will Power

ในฐานะที่ครูเป็น “ผู้จัดการกระบวนการเรียนรู้” ของนักเรียน จึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะชี้นำ ชี้แนะแหล่งสรรพวิชาความรู้ เสนอวิธีเรียน กำหนดอุปกรณ์การเรียน และการรู้จักใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิธีการปฏิสัมพันธ์เพื่อนักเรียนจะได้รู้จักเรียนรู้จากครู จากเพื่อน จากชุมชนรอบข้างและสิ่งแวดล้อม

ครูจะต้องคอยเงี่ยหูฟังว่านักเรียนมีทัศนะอะไรต่อโลกปัจจุบัน และสิ่งรอบข้างมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของตนอย่าง ครูควรเสียสละเวลาเพื่อช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาและเจริญในคุณวุฒิ คุณธรรม รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

ครูจะต้องใช้วิจารณญาณที่จะตัดสินใจว่า ความต้องการในการเรียนของนักเรียนคืออะไร มีอะไรที่นักเรียนจะได้ประโยชน์เพื่อจะช่วยค้นพบว่าวิธีที่นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดคืออะไร เขาจะได้สามารถเก็บไว้ในขุมทรัพย์แห่งปัญญาสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ และเป็นเจ้าของสิ่งที่ตนแสวงหา มาได้เพื่อเขาจะได้รู้จักวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อการสร้างความรู้ใหม่มีความคิดใหม่ เป็นต้น นั่นคือ เรียนรู้วิธีเรียน หรือ learn how to learn

การที่ครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนโดยวิธีดังกล่าว จะช่วยให้ครูได้ฟื้นฟูและปรับเนื้อหาสาระหลักสูตรและวิธีการตามความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ของนักเรียนรุ่นใหม่

การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน ครู นักเรียนและชุมชนสังคมรอบข้างและส่วนรวม เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการสร้างอุปนิสัย (character formation) เพราะโดยวิธีการเหล่านี้จะทำให้ผู้เรียนหรือนักเรียนเกิดปัญญา (wisdom) อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาลักษณะนิสัยบรรลุถึงการมีวุฒิภาวะเชิงศีลธรรม

บทส่งท้าย

จริงอยู่หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาอยู่ที่การปฏิรูประบบและกระบวนการเรียนรู้ แต่สิ่งที่ดีงามนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าไม่มีการปฏิรูประบบการบริหารการศึกษา ซึ่งระบบปัจจุบันไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์เชิงความคิด ขาดอิสรภาพของการจัดการ และเสรีภาพของการเลือกและการแสวงหาความรู้

อย่างไรก็ดี การแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าต้องดำเนินต่อไป โดยไม่ลืมว่าการศึกษาของมนุษย์เป็นกระบวนการที่ไม่รู้จบของการเรียนรู้และการปรับตัวสู่ความครบครัน 


  * คณะกรรมการจัดทำหนังสืออนุสรณ์ 336 ปี การศึกษาคาทอลิกไทย (หน้า 286-293).

  * กรุงเทพฯ : สภาการศึกษาคาทอลิก (ประเทศไทย).