การประกันคุณภาพการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน* 

         การประกันคุณภาพการศึกษาในสถานการศึกษาเอกชนมีความเป็นมาช้านาน เป็นต้นในสหรัฐอเมริกาซึ่งจัดในรูปแบบของ Accreditation โดยกลุ่มวิชาชีพต่างๆ นับตั้งแต่ภาคธุรกิจเอกชนได้คิดมาตรฐานสากล ISO 9000 ขึ้นมาสถาบันระดับอุดมศึกษาเช่นในประเทศอังกฤษมีการตื่นตัวมากที่จะนำหลักการของ ISO 9000 มาใช้ประกันคุณภาพการอุดมศึกษา โดยที่หลายสถาบันได้เปลี่ยนจุดเน้นจาก TQM (Total Quality Management) ไปใช้ BS 5750-BS EN ISO 9000 ในการประกันคุณภาพทางการศึกษา (Quality Assurance in Education) แทน

    ส่วนในประเทศไทยเรานั้น ทบวงมหาวิทยาลัยได้พยายามสร้างระบบเพื่อประกันคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนขึ้นมาเช่นเดียวกับกระแสความคิดในประเทศอังกฤษ ออสเตรเลียฯ หลักการใหญ่ของทบวงมหาวิทยาลัย คือ เน้น

  • กระบวนการจัดตั้งสถาบัน

  • กระบวนการผลิตบัณฑิต และ

  • กระบวนการประเมินผล

การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

        ทบวงมหาวิทยาลัยถือเป็นนโยบายหลักที่จะเน้น

  • ความมั่นคงของสถาบัน

  • การพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

  • คุณภาพมาตรฐานทางวิชาการ

        โดยกำหนดเกณฑ์ต่างๆ เอาไว้ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

1. เกณฑ์การจัดตั้ง

        ทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดเกณฑ์การจัดตั้ง การรับรองวิทยฐานะ และการเปลี่ยนประเภทไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะประกอบด้วย

1.1 วัตถุประสงค์และภารกิจ

  • ผู้รับใบอนุญาตจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา

  • ต้องปฏิบัติภารกิจ 4 ประการ คือ

    • การเรียนการสอน

    • การวิจัย

    • การให้บริการสังคม

    • การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ

1.2 ความพร้อมขั้นต่ำด้านกายภาพ ตามเกณฑ์ที่ทบวงมหาวิทยาลัยกำหนด (ตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ)

  • มีหลักฐานแสดงทุนประเดิมการจัดตั้ง

  • ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทบวงกำหนดที่ว่าด้วยเรื่องชื่อสถาบันเครื่องหมาย กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ขอจัดตั้ง ฯลฯ

  • ถ้าเป็นมหาวิทยาลัย ต้องเปิดดำเนินการสอนอย่างน้อย 2 กลุ่มสาขาวิชาหลัก และ 5 สาขาวิชาย่อย และต้องมีบัณฑิตศึกษาด้วย

  • ถ้าเป็นมหาวิทยาลัย ต้องมีที่ดินเป็นผืนเดียวกัน 100 ไร่ขึ้นไป

  • ถ้าเป็นวิทยาลัยหรือสถาบันต้องมีที่ดิน 6-8 ไร่

  • มีแผนผังแสดงบริเวณและแผนผังการก่อสร้าง รวมทั้งรายการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ฯลฯ

2. มาตรฐานทางวิชาการ (กำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานโดยคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ)

  • หลักสูตร ทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดเกณฑ์การขอเปิดดำเนินการสาขาวิชาและการพิจารณาหลักสูตรระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาในสถาบัน

  • ศักยภาพและความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน

  • มีโครงสร้างวิชาการของหลักสูตร ตามที่ทบวงกำหนด

  • มีบุคลากรที่มีวุฒิการศึกษาตามที่ทบวงกำหนด เช่น วุฒิของผู้บริหารสถาบัน หัวหน้าสาขาวิชา อาจารย์ประจำ และสัดส่วนของอาจารย์ประจำต่อนักศึกษา รวมถึงสัดส่วนคุณวุฒิของอาจารย์ประจำ: ตรี: โท: เอก

  • มีแผนพัฒนาอาจารย์และบุคลากรทั่วไป ฯลฯ

        2.2 การวัดผลทางการศึกษา ทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณารัรบรองมาตรฐานการศึกษา และการพิจารณาประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาสาขาวิชาหลักสูตร ระดับอุดมศึกษาที่ไม่สูงกว่าระดับปริญญาตรี และหลักสูตรระดับบัณฑิตในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยมีสาระสำคัญในเรื่องต่อไปนี้

  • หลักการวัดผลเป็นไปตามข้อกำหนดที่ทบวงเป็นผู้อนุมัติ

  • มีคณะอนุกรรมการแต่งตั้ง โดยทบวงคอยตรวจสอบกระบวนการวัดผล และอนุมัติผลการสอบ

  • วุฒิอาจารย์และสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาต้องเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทบวงกำหนด

        2.3 ห้องสมุดและห้องปฏิบัติการ

  • มีการตรวจสอบจำนวนหนังสือในห้องสมุดตามสาขาวิชาที่จะมีการรับรองมาตรฐาน

  • มีการตรวจสอบห้องปฏิบัติและเครื่องมือตามเกณฑ์ที่ทบวงกำหนด ทุกครั้งที่มีการตรวจรับรองมาตรฐานในสาขานั้นๆ

  • จำนวนที่นั่งในห้องสมุดต้องได้สัดส่วนกับจำนวนนักศึกษาทั้งหมด

3. งบดุลประจำปี

        สถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องส่งดุลประจำปีที่ได้รับการตรวจสอบจาก

  • สภาสถาบันซึ่งมีผู้แทนทบวงเป็นกรรมการรวมอยู่ด้วย

  • ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

        นอกจากนี้ ทบวงยังมีคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่กำลังศึกษา เพื่อหารูปแบบและมาตรการที่จะออกเป็นระเบียบปฏิบัติต่อไป โดยหวังที่จะให้เกิดการประกันคุณภาพอุดมศึกษาของเอกชนต่อผู้บริโภคและสังคมไทยต่อไป

        อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่นักการศึกษาพึงตระหนักคือ กลไกการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพของการศึกษาที่แท้จริงนั้น ขึ้นอยู่กับ

  • กลไกภายในสถาบันที่แต่ละสถาบันกำหนดสำหรับ Self-regulation และ

  • ปณิธาน (Institutional Will) อันแน่วแน่ของผู้บริหารสถาบันทุกระดับ

        สิ่งที่น่าจะพิจารณาและตั้งเป็นประเด็นคำถามคือ

  1. แต่ละสถาบันต่างก็ประกาศว่าสถาบันของตนยึดหลัก “Academic Excellence” แต่ในทางปฏิบัตินั้น สถาบันเคยนิยามหรือให้คำจำกัดความของ Academic Excellence หรือไม่ และ Standard of Excellence นั้นเป็นอย่างไร

  2. สถาบันมี Operational Guidelines ให้แก่คณบดี หัวหน้าภาควิชา และคณาจารย์ผู้สอนหรือไม่

  3. วินัยการเรียนของนักศึกษา และวินัยการถ่ายทอดวิชาของอาจารย์เป็นอย่างไร

  4. และอื่นๆ

        การประกันคุณภาพการศึกษายังเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทย ISO 9000 อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง (Prof. G.D. DOHERTY) ปัญหาที่ต้องพิจารณาก็คือ

        1) Autonomy และ Accountability

        2) Standard ของใคร

        3) Whether it is worth it?