การอภิบาลในบริบทของสันติศึกษา*

“จะมีอะไรสำคัญกว่าการฝึกสติปัญญาของเด็กและสร้างนิสัยของเยาวชน? สัจธรรมก็คือผู้ยิ่งใหญ่กว่าจิตรกรใดๆ ยอดยิ่งกว่าปฏิมากร หรือศิลปินใดๆ ในความเห็นของข้าพเจ้านั้นคือ ครูผู้ปั้นสร้างลักษณะนิสัยของเยาวชน” (St. John Chysostom จากบทเทศน์ที่ 40)

บทเทศน์เตือนใจของท่านนักบุญ ยอห์น คริสโซสตอม เมื่อเกือบสองพันปีมาแล้ว ยังคงเป็นความจริง ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ครูในสมัยใหม่จะมีเทคโนโลยีสำหรับช่วยถ่ายทอดวิทยาความรู้ที่ก้าวหน้าเลิศเลอปานใดก็ตาม แต่บทบาทในการให้การศึกษาและอบรมคนให้เป็นคน รวมทั้งบทบาทผู้อภิบาลให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่นและเยาวชนยังเป็นหน้าที่หลักของครูและผู้บริหารหรือบุคลากรทางการศึกษาอยู่

บุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิกคือ ผู้อภิบาล

ปัจจุบันนักการศึกษาคาทอลิกทั่วไปมีความเห็นว่า นักการศึกษาคาทอลิกทุกคนรวมทั้งผู้บริหารและนักวิชาการ ตลอดจนครูทุกคนที่สอนในโรงเรียนคาทอลิกมีภารกิจที่จะต้องให้การอภิบาลด้วยคำปรึกษาแก่ เด็ก วัยรุ่นและเยาวชน การอภิบาลให้คำปรึกษา (Pastoral Counseling) มีความหมายแตกต่างไปจากการแนะแนวที่ได้ปฏิบัติกันมาช้านานในวงการศึกษาทั่วไป การอภิบาลให้คำปรึกษามีมิติ ของชีวิตฝ่ายจิตเป็นแกนสำคัญสำหรับวัยรุ่นและเยาวชนจะได้ใช้เป็นหลักยึดมั่น ด้วยเหตุนี้ จึงควรจัดให้มีการศึกษาอบรม บุคลากรทางการศึกษา ในเรื่องดังกล่าวในโรงเรียนคาทอลิก เพราะว่าโรงเรียนคาทอลิกมีลักษณะพิเศษที่เอื้อต่อการ “สรรค์สร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาด้วยจิตตารมณ์เสรีภาพและความรักแบบพระวรสารลักษณะพิเศษดังกล่าว จะช่วยให้วัยรุ่นและเยาวชนได้พัฒนาบุคลิกภาพของตนเจริญเติบโตตามศักยภาพของตน ในฐานะที่ตนได้รับพระหรรษทานจากศีลล้างบาป และในที่สุดวัยรุ่นและเยาวชนนั้น จะรู้จักผสมผสานวัฒนธรรมของความเป็นมนุษย์กับคุณค่าที่ได้จากความรอด (Salvation)” – Lay Catholic in School No. 38

ความหมายของการอภิบาลให้คำปรึกษา

Rev. Dr. Prentice Kinser III ให้ความเห็นว่า การอภิบาลให้คำปรึกษา (Pastoral Counseling) คือรูปแบบของการแนะนำแนะแนว ซึ่งผู้อภิบาลในฐานะตัวแทนของประเพณีปฏิบัติทางศาสนารู้จักใช้วิจารณญาณและหลักการของจิตวิทยาศาสนศาสตร์ และเทววิทยา ในการทำงานอภิบาลในหมู่ประชากรของพระเจ้าไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น เยาวชน หรือผู้ใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชากรของพระเจ้านั้นได้รับการบำบัดรักษา มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายสมบูรณ์

สิ่งที่เป็นเอกสิทธิ์ของผู้อภิบาลให้คำปรึกษา คือ การมีความเชื่อว่า การแปรผัน และวิกฤตการณ์ของชีวิตมนุษย์ ย่อมพบหนทางเยียวยาบำบัดรักษาให้เป็นปกติได้โดยวิธีการรู้จักใช้ความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ เช่น จิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) จิตภาพบำบัด (Psychotherapy) และรู้จักใช้ภูมิปัญญาของศาสนา และคำสอนทางจิตวิญญาณ (Spirituality) มาประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษา ทำไมเราจึงเชื่อว่ามิติทางจิตวิญญาณมีความสำคัญในการทำจิตภาพบำบัดรักษา? ผลการวิจัยโดยทั่วไปในลักษณะโลกตะวันตกมีความเห็นในแนวเดียวกันว่า เมื่อบุคคลใดมีปัญหาชีวิตและต้องการความช่วยเหลือทาง Counseling ร้อยละ 66 ของบุคคลเหล่านั้น ต้องการให้ผู้รักษา (Therapist) หรือจิตแพทย์เป็นผู้ที่เชื่อในคุณค่าฝ่ายจิตและความเชื่อในศาสนา และร้อยละ 81 ต้องการให้ผู้รักษา (Therapist) ใช้หลักการของคุณค่าฝ่ายจิต (Spiritual Values) และความเชื่อทางศาสนา รวมเข้าในกระบวนการรักษา เป็นต้น จิตแพทย์ที่ได้รับการอบรมในทางศาสนา และวิทยาศาสตร์สาขาพฤติกรรมศาสตร์ มักเป็นที่ต้องการของผู้มีปัญหาทางจิต Dr. Kinser III ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ที่แสวงหาผู้ให้การอภิบาลด้วยคำปรึกษาหรือจิตแพทย์และผู้รักษาด้วยจิตบำบัดหรือจะด้วยวิธีอื่นใดก็ตาม จะพบว่าผู้อภิบาลให้คำปรึกษาที่มีความเชื่อในศาสนาและคุณค่าฝ่ายจิตของชีวิต รักษาได้ผลดีกว่าการใช้หลักการของวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาเพียงอย่งเดียว คำอธิบายเรื่องการอภิบาลให้คำปรึกษาข้างต้นนี้อาจทำให้เราสงสัยถามว่า บุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก รู้เรื่องของจิตของเวชศาสตร์ หรือเรื่องของจิตภาพบำบัดหรือไม่? จริงอยู่เราอาจจะไม่ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาโดยตรง แต่วิชาครูที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนกันมาก็พอเพียงสำหรับความรู้และทักษะขั้นพื้นฐานที่จะช่วยให้บุคลากรทางการศึกษาทำหน้าที่เป็นผู้อภิบาลได้ในระดับหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ การศึกษาอบรมเพิ่มเติมด้วยความรู้ และวิธีปฏิบัติด้วยเรื่องของจิตวิทยา จึงจำเป็นสำหรับทุกคนและทุกโรงเรียนที่มุ่งให้บริการทางการศึกษาสมบูรณ์ขึ้น 

การอภิบาลและการเรียนรู้วิธีควบคุมอารมณ์ของตน

เนื่องจากอารมณ์มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์มาก โดยเฉพาะต่อผู้เยาว์วัย การฝึกวิธีควบคุมอารมณ์เป็นภารกิจของการศึกษาอบรม ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาอบรมที่บ้านหรือโรงเรียน การฝึกอบรมไม่ได้หมายความว่า การเก็บกดทางอารมณ์ หรือการขจัดอารมณ์ให้หมดไป โลกมนุษย์จะเป็นสถานที่ไม่น่าอาศัยอยู่ถ้าไม่มีความรัก หรือความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ประสบเคราะห์ร้าย ความรักคืออารมณ์ เป็นความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน คือการให้สิ่งที่ดีต่อกันด้วยความเสียสละเราไม่ได้ควบคุมอารมณ์ความรักด้วยวิธีขจัดความรู้สักนี้ให้หมดไป อารมณ์และความรู้สึกไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวเอง มันจะมีศักยภาพทำลายก่อให้เกิดผลร้ายก็ต่อเมื่อ มันไม่ถูกควบคุมให้อยู่ในสภาพสมดุลพอดี Rev. Fr. Mc Carthy, D.J. กล่าวไว้ตอนหนึ่งในหนังสือเรื่อง “การฝึกอบรมวัยรุ่น” ว่า “We are never train anything by killing it” เราจะไม่ฝึกอะไรได้เลยโดยการฆ่าสิ่งนั้น “The emotions are educated not by being crushed but by being controlled”

“อารมณ์ต้องได้รับการฝึกอบรม ไม่ใช่ด้วยการบดขยี้ให้ดับไป แต่โดยการควบคุม...” คุณพ่อ Mc Carthy, S.J. แนะว่าการควบคุมอารมณ์ ต้องได้รับการฝึกตั้งแต่เด็กและควรได้รับการปฏิบัติบ่อยๆ เมื่อยังเยาว์วัย การฝึกการควบคุมอารมณ์ต้องปฏิบัติตั้งแต่เล็กและไม่ควรเลยอายุวัยรุ่น (adolescence) ตามนัยดังกล่าวท่านปรมาจารย์ฝ่ายจิตมักแนะนำให้คริสตชนวัยรุ่นทำการเสียสละ พลีกรรม เช่น รู้จักอดทนต่อความยากลำบาก รู้จักควบคุมสายตาตนเองไม่เป็นคนสอดรู้สอดเห็นในเรื่องที่ไม่ควรรู้ รู้จักข่มสติด้วยการทำสมาธิ และด้วยการภาวนา รู้จักลืมความผิดของผู้อื่น และรู้จักอภัย เป็นต้น นักจิตวิทยาบางท่านให้ความเห็นว่าอารมณ์เป็นพื้นฐานของสัญชาตญาณสนองตอบของมนุษย์ คือ ความโกรธ ความกลัว ความรัก และความเกลียด เมื่อมีอะไรไปกระตุ้นเด็กและวัยรุ่น สัญชาตญาณสนองตอบจะตอบรัก กลายเป็นประสบการณ์ที่เขาจะเรียนรู้และจดจำ โดยนัยดังกล่าวนี้เราจะเห็นว่าเด็กและวัยรุ่นสามารถฝึกให้รู้จักควบคุมอารมณ์และความรู้สึกให้อยู่ในความพอดี โดยวิธีการปฏิบัติสม่ำเสมอภายใต้คำแนะนำของบุคลากรทางการศึกษา

การอภิบาลและ Reflective Pedagogy ในบริบทของสันติศึกษา

Reflective Pedagogy คือ จิตวิทยาครูที่ว่าด้วยการไตร่ตรอง เป็นวิธีหนึ่งซึ่งวงการศึกษาคาทอลิกนำมาใช้อย่างได้ผลในโรงเรียนคาทอลิก ในบริบทของสันติศึกษา ครูอภิบาลต้องรู้จักนำข้อคิดจากพระวรสารมาให้เด็กคิดและไตร่ตรอง เป็นต้น ข้อคิดที่เป็นพื้นฐานแข็งแกร่งของผู้ใฝ่สันติ เช่น ข้อคิดจากปฐมเทศนาของพระเยซูเจ้า ในพระวรสารโดยนักบุญมัทธิว บทที่ 5

        - “มหาบุญลาภจงมีแด่ผู้มีจิตใจสุภาพอ่อนโยน เขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก”

        - มหาบุญลาภจงมีแด่ผู้มีใจเมตตากรุณา พระเจ้าจะทรงให้ความเมตตาดุจเดียวกัน

        - มหาบุญลาภจงมีแด่ผู้สร้างสันติ เขาจะได้เป็นบุตรของพระเจ้า

        - มหาบุญลาภจงมีแด่ผู้ที่ถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรมอาณาจักรสรรค์เป็นของเขา

        - มหาบุญลาภจงมีแด่บุคคลที่ถูกติเตียนใส่ร้าย ข่มเหง และนินทาว่าร้ายเพราะเขาเป็นศิษย์ของพระองค์ รางวัลอันยิ่งใหญ่ในสวรรค์เป็นของเขา

การแนะนำวัยรุ่นและเยาวชนให้รู้จักคิดและไตร่ตรองด้วยสัจธรรมที่เป็นฐานหลักของสันติภาพจะช่วยให้วัยรุ่นสามารถควบคุมอารมณ์อันไม่พึงปรารถนาได้ ทั้งนี้เพราะว่า ความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน ความเมตตากรุณาเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นผู้สร้างสันติ ความอดทนอดกลั้นเมื่อถูกติเตียน ข่มเหง อันเนื่องมาจากการทำความดี ก็ไม่ย่นย่อท้อถอยและเพียรทำความดีต่อไป สิ่งเหล่านี้เป็นคุณธรรมที่จะช่วยให้ผู้ใฝ่สันติมีพละกำลัง มีความกล้าหาญ ที่จะทำสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ต่อไป ยิ่งปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนติดเป็นนิสัยยิ่งทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถควบคุมอารมณ์และเป็นนายของอารมณ์และความรู้สึกเหนือความโกรธ ความกลัว และความเกลียดชังได้โดยง่าย

ในบริบทของสันติศึกษา วัยรุ่นและเยาวชนของเราควรได้รับการอบรมและการฝึกให้รู้จักแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในกลุ่มเพื่อนฝูงและกับเพื่อนบ้านด้วยสันติวิธีพระธรรมคำสอนที่พระเยซูเจ้าทรงมอบไว้ให้ในพระวรสารโดยนักบุญมัทธิวบทที่ 5 ข้อที่ 22-24 น่าจะเป็นบทเรียนและการไตร่ตรองที่ดี สำหรับเรื่องนี้พระองค์ทรงตรัสสอนว่า “ถ้าท่านกำลังนำของกำนัลไปถวายแด่พระผู้เป็นเจ้าในพระวิหาร หากท่านึกขึ้นได้ว่า ท่านมีข้อข้ดแย้งกับเพื่อนบ้านของท่าน จงวางของถวายนั้นไว้หน้าพระแท่น แล้วรีบกลับไปคืนดีกับเพื่อนบ้านเสียก่อน จึงค่อยกลับมาถวายของกำนัลนั้นบนพระแท่น” คำสอนนี้แสดงให้เห็นว่า การคืนดีกับเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านการรู้จักอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติ มีความสำคัญมากกว่าการถวายของกำนัลใดๆ ในพระวรสารโดยนักบุญมัทธิว บทเดียวกันนี้ พระเยซูเจ้าทรงสอนให้ผู้ติดตามพระองค์รู้จักรักศัตรู พระองค์ทรงกล่าวว่า :

“ท่านได้ยินคนเขากล่าวกันว่า จงรักเพื่อน จงเกลียดชังศัตรู แต่เราขอบอกกับท่านทั้งหลายว่า จงรักศัตรูของท่าน จงภาวนาอุทิศให้คนที่ข่มเหง ประทุษร้ายท่าน ถ้าท่านทำดังนี้ ท่านจะได้ชื่อว่า เป็นบุตรของพระเจ้าในสวรรค์ พระบิดาเจ้าในสวรรค์ ทรงโปรดให้พระอาทิตย์ขึ้นเหนือคนชั่วและคนดี ให้ฝนตกเหนือผู้ที่ทำความดี และผู้ที่ทำความชั่ว พระบิดาในสวรรค์จะให้รางวัลท่านได้อย่างไร ถ้าท่านรักเฉพาะเพื่อนเท่านั้น คนบาปอื่นก็ทำเช่นเดียวกันไม่ใช่หรือ? ฉะนั้น ท่านจงรักศัตรูของท่าน และทำความดีตอบแทนผู้ที่ประทุษร้าย ข่มเหงท่าน!” นี่คือเงื่อนไขของผู้ใฝ่สันติภาพ วัยรุ่นของเราจะยอมรับคำสอนนี้ได้หรือไม่? นี่คือการท้าทายต่อครูอภิบาล ต่อครูคาทอลิก และผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิก

ครูอภิบาลกับสันติศึกษาในยุคโลกาภิวัฒน์

UNESCO กล่าวไว้ในธรรมนูญสหประชาชาติว่า “Since WARS begin in the minds of men; it is the minds of men that the defenses of peace must he constructed”

เนื่องจากสงครามเริ่มขึ้นจากความนึกคิดของมนุษย์ ฉะนั้นการจะหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามต้องเริ่มจากความนึกคิดของมนุษย์ ฉะนั้นการจะหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดสงครามต้องเริ่มจากความนึกคิดของมนุษย์ดุจเดียวกัน นั่นคือ การปูรากฐานความนึกคิดของมนุษย์ด้วยการให้การศึกษาแก่เด็ก วัยรุ่น และเยาวชน ด้วยเรื่อง “สันติศึกษา”

สมัชชาใหญ่ขององค์การ UNESCO ได้ประกาศเมื่อปี ค.ศ. 1995 ว่าสันติศึกษา คือ “การศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย” (Education for Peace, Human Rights and Democracy)

ครูอภิบาลในโรงเรียนคาทอลิก ควรรวมตัวกันจัดให้นักเรียนของเราได้มีการศึกษาด้วยเรื่องสันติภาพกันอย่างจริงจัง โดยมีหลักสูตรเฉพาะ และให้มีวันฉลองสันติภาพขึ้นในโรงเรียนเป็นประจำทุกปี

       UNESCO ได้ให้คำนิยาม วัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย ไว้โดยสังเขปดังนี้

        - การศึกษาต้องสามารถพัฒนามนุษย์ให้หวงแหนคุณค่าของเสรีภาพ และทักษะที่จะเผชิญกับการท้าทายอันเนื่องมาจากคุณค่านั้น

        - การศึกษาต้องทำให้ผู้ที่ได้รับการศึกษายอมรับคุณค่าทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของมนุษย์โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ

        - การศึกษาต้องทำให้ผู้ที่ได้รับการศึกษา รู้จักแก้ปัญหาข้อขัดแย้งด้วยสันติวิธี

        - การศึกษาต้องสามารถปลูกฝังความเป็นพลเมืองดีของประเทศ และให้รู้จักเคารพสิทธิ และวัฒนธรรมของชาติอื่น

        - การศึกษาต้องสามารถสร้างความรู้สึกร่วมกันเป็น “Solidarity” และความเสมอภาคเท่ากันของชนชาติต่างๆ ฯลฯ

จิตตารมณ์ แห่งสันติภาพที่แท้จริง

บทภาวนาท่านักบุญฟรังซิสแห่งอาซิซี ควรเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับครูอภิบาล ที่จะมอบให้แก่เด็ก วัยรุ่น และเยาวชน ได้ทำการไตร่ตรองภาวนาร่วมกัน และร้องเพลงด้วยกันคือ

                ผู้นำสันติ*

ในโลกที่เศร้าใจ

ในโลกที่สิ้นหวัง

ขอข้านำพลัง

รักของพระแพร่ไป

ที่ได้เคืองขัดใจ

ขอข้าได้อภัย

สงสัยอยู่หนใด

ข้านำความมั่นใจ

ในโลกที่เศร้าใจ

ในโลกที่สิ้นหวัง

ขอข้านำพลัง

วางใจในพระองค์

ซึ่งแสงมืดมน

ขอเป็นเช่นแสงเทียน

ความทุกข์สุดจะทน

ความสุขในบัดดล

ขอข้าเป็นคนที่นำไปให้

 

ขอพระองค์จงบันดาลให้ข้าเจ้า

เป็นผู้เฝ้าดังเครื่องมือทุกแห่งหน

ด้วยพลังรักสันติภาพแห่งพระองค์

เพื่อผจญความเกลียดชังให้สิ้นไป


Reference:

1. Lay Catholics in School : Witnesses to Faith
2. Training the Adolescent by R.C. McCarthy, S.J.
3. Evangelii Nuntiandi by His Holiness Paul VI
4. Peace on Earth by Pope John XXIII
5. Integrated Framework of Action on Education for Peace: UNESCO, Paris November 1995
6. Pastoral Counseling by the Rev. Dr. Prentice Kinser III Blue Ridge Pastoral Counseling Center