โบสถ์ประจำมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ : St. Louis Marie de Montfort* 

เมื่อเดินทางเข้าสู่บริเวณมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ที่มีความหมายว่า “ที่อยู่ของ ปัญญาความรู้” – อาศรม + ชญ) วิทยาเขตบางนา ผู้มาเยือนที่เดินทางข้ามสะพาน “ทวีปวิทยา” จะเห็น “อาสนะวิหารแห่งการเรียนรู้” (Cathedral of Learning) ตั้งตระหง่านเด่นอยู่หลังทิวปาล์ม และถ้าเดินต่อไปอีกสักหน่อยก็จะถึงสะพาน “มรรคาอัมรินทร์” ณ บนสะพานแห่งนี้ ถ้าท่านมองตรงไป ท่านจะเห็นศาลาไทยทรงจัตุรมุขอันงามสง่าตั้งอยู่ริมทะเลสาบน้อยที่ดาษดื่นไปด้วยดอกบัวหลากสีและท่ามกลางพฤกษชาตินานาชนิด

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อศาลาไทยนี้ว่า “ศาลาจัตุรมุขไพจิตร” หลังจากได้สร้าง The Cathedral of Learning และอาคารบริวารเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าจงใจที่จะสร้างศาลาไทยทรงจัตุรมุขที่งดงามตระการตานี้ ให้อยู่ในใจกลางของทุกสิ่งที่ได้สร้างขึ้นมาท่ามกลางธรรมชาติให้เสมือนดังดาวล้อมเดือนกระนั้น ทั้งนี้เพราะศาลาไทยจะต้องเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะและวัฒนธรรมไทยที่โดดเด่นท่ามกลางบรรยากาศของความเป็นสากลอันเป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัวของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ข้าพเจ้าจึงพยายามสรรหาช่างศิลป์ที่สามารถดลบันดาลให้ลักษณะศาลาไทยนี้เป็นเสมือนเพชรเม็ดงามที่ห้อมล้อมไปด้วยพลอยหลากสีฉันนั้น

และเมื่อผู้มาเยือนยืนอยู่บนสะพาน “มรรคาอัมรินทร์” โดยแลไปทางชวาก็จะเห็นโบสถ์ที่สวยงามตั้งตระหง่านเหนือยอดสวนปาล์มทอดเงาสะท้อนแสงสีทองของโดมในทะเลสาบน้อย ดูแล้วประทับใจยิ่งนัก

วัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง

โบสถ์หลังนี้สร้างขึ้นเป็นโบสถ์ประจำมหาวิทยาลัยตามคติ ประเพณีของมหาวิทยาลัยคาทอลิกทั่วโลกที่จะต้องมีโบสถ์ประจำมหาวิทยาลัย สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับมนัสการพระเจ้าและเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตฝ่ายจิตสำหรับปัญญาชนในมหาวิทยาลัย

วัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งของการสร้างโบสถ์หลังนี้ ก็เพื่อเป็นการฉลองศตวรรษสมโภชของการเข้ามาแพร่ธรรมในแผ่นดินสยามของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล เมื่อปี ค.ศ. 1901 โดยได้ตั้งชื่อโบสถ์หลังนี้ว่า St. Louis Marie de Montfort เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านนักบุญผู้สถาปนาภราดาคณะเซนต์คาเบรียลขึ้นในโลกในปี ค.ศ. 1705 ณ ประเทศฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีพิธีเสกเมื่อวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2545 โดย ฯพณฯ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจ-บุญชู

รูปแบบสถาปัตยกรรม

ข้าพเจ้าได้ใช้เวลาคิดอยู่นานว่าโบสถ์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ควรจะมีลักษณะอย่างไร มีสถาปัตยกรรมแบบไหนดี ครั้นจะสร้างโบสถ์แบบศิลปะไทยทั้งหมด ก็ดูจะไม่เหมาะสม เพราะเกรงว่าจะเป็นการแข่งความงดงามกับศาลาจัตุรมุขไพจิตร ซึ่งตั้งใจสร้างเพื่อเชิดชูคุณค่าของความเป็นไทยในด้านศิลปวัฒนธรรมไทย และเป็นศูนย์กลางด้านภูมิสถาปัตย์ของมหาวิทยาลัย

ในอดีตที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโบสถ์และวิหารมากมายของโลกตะวันตกและตลอดเวลาที่ได้เห็นก็ครุ่นคริดถึงการสร้างโบสถ์ประจำมหาวิทยาลัยตลอดเวลา ในที่สุดจึงได้ตัดสินใจที่จะสร้างโบสถ์ตามแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย คือ การผสมผสานระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอารยธรรมตะวันออกของคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ทั้งนี้เพื่อให้กลมกลืนเข้ากับอาคารอื่นๆ ที่ได้สร้างไปแล้ว

ดังนั้น โบสถ์หลังนี้จึงมีรูปแบบกางเขนดังเช่นโบสถ์และวิหารใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 13-15 มีหน้ามุขทางเข้าโบสถ์เป็นเชิงชั้นซ้อนกันแบบไทย มีประตูลงรักปิดทองแบบไทยซ้อนกันอยู่ในซุ้มประตูแบบสถาปัตยกรรม Romanesque เหนือซุ้มประตูขึ้นไปคือ Rose Window นี่คือ FaÇade ของโบสถ์หลังนี้ ซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกตามคตินิยมของโบสถ์ในยุคแรกๆ ทั้งนี้เพื่อจะได้เห็นแสงอาทิตย์ส่องผ่าน Rose Window ลงมายัง nave ของโบสถ์ไปยังพระท่าน

เมื่อเดินเข้าไปในโบสถ์แล้ว จะเห็นโครงสร้างภายในเป็นศิลปะแบบ Romanesque มีหน้าต่างทรงสูงแบบ Gothic ประดับด้วยกระจกสี มี Vault ใหญ่แบบโรมันประดับด้วยฝ้าหลุมลงรักปิดทอง รองรับด้วยเสาเหลี่ยมตรงกลางโบสถ์ (main crossing) มีเสา Column ทรงกลมใหญ่ 8 ต้นแบบกรีก แต่ละต้นขนาบข้างโดยเสาเหลี่ยม สำหรับรองรับโดมทองเหนือพระแท่นทำพิธีบูชามิสซา ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของโบสถ์ ณ main crossing นี้จะเห็น principal gothic window ขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของโบสถ์เป็น background ของแท่นพระประธานที่สร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมแบบไทย คือ มีบุษบกสูงตระหง่านอันเป็นที่ประดิษฐานรูปพระแม่ “อาสน์แห่งปรีชาญาณ” ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัย

        ภายได้ Rose Window ทางทิศใต้เหนือประตูมีคำจารึกว่า

        “To mark the centenary of the Montfort Brothers of St. Gariel in Thailand, on the 20 October 1901,

        This University chapel was erected inhonour of St. Louis Marie de MONTFORT, Their founder,

        As a testimony of Brothers’ Faith in God and their commitment to Him in educative evangelization.

        May those who enter here find inspiration, peace of mind, comfort and consolation for their souls!”

ทางขวาของโบสถ์ด้านหน้า มีหอระฆังรูปทรง Gothic มีหลังคาทรงแหลมชะลูดขึ้นไปที่ยอดหอระฆังประดับด้วย fleur de lis สีทอง ระฆัง 4 ใบ แขวนในหอระฆัง จะก้องกังวานเป็นเสียงเงินป่าวประกาศแจ้งให้รู้ว่ามีพิธีในโบสถ์เสียงระฆังดังก้องกังวานครั้งใดเหมือนจะบอกว่า

“May those who enter here find inspiration, peace of mind, comfort and consolation for their souls!”