ฉลองครบรอบปีที่ 5 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16* 

ในวโรกาสฉลองครบรอบปีที่ 5 ในสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน นี้ ณ อาสน-วิหารอัสสัมชัญ เวลา 17.00 น. ได้มีพิธีสหบูชา มิสซาขอบพระคุณ โดยมีพระอัครสังฆราช หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ประธานสภาพระสังฆราชและประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นประธานในพิธีร่วมด้วย ฯพณฯ ท่านพระอัครสังฆราชซัลวาโตเร เปนนักคิโอ เอกอัครสมณฑูตวาติกันประจำประเทศไทย พระคาร์ดินัล ไมเคิล มีชัย กิจบุญชู และบรรดาพระสังฆราชประมุขของทุกสังฆมณฑล

ภายในอาสนวิหารแน่นขนัดไปด้วยมวลสัตบุรุษ นักบวชชายหญิงและบรรดาทูตานุทูตมากหน้าหลายตา

ถึงแม้ผมได้ไปถึงโบสถ์ก่อนพิธีเกือบครึ่งชั่วโมงก็ไม่มีที่ว่างเสียแล้ว อาศัยเก้าอี้เสริมบริเวณหน้าโบสถ์ แต่ยังคงได้ยินเสียงเพลงของคณะขับร้องได้ชัดเจน โดยเฉพาะบทเพลง PontificalMarch เป็นภาษาไทยที่ดังกระหึ่มเร้าใจ เป็นการต้อนรับคณะสงฆ์ราวครึ่งร้อยที่ทยอยเดินเข้าโบสถ์ด้วยท่วงท่าสง่างามชวนศรัทธายิ่ง

ตามที่เซนต์มาลาคี (Malachy) ได้ทำนาย “เอกลักษณ์” ของโป๊ป ตั้งแต่สมัยของท่านคือ ในปี ค.ศ.1139 จนถึงสิ้นยุคจะมีโป๊ปทั้งสิ้น 112 องค์ แล้วจะถึงอวสานกาล โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 นี้ ถือเป็นองค์ที่ 111 ซึ่งมี “เอกลักษณ์” ว่า Gloria Olivae ชัยชนะของต้นมะกอก เนื่องจากพระองค์ทรงใช้พระนาม BENEDICTUS ซึ่งเป็นนักบุญที่ก่อตั้งคณะนักบวชเบเนดิกติน เมื่อปี ค.ศ.529 สมาชิกคณะนักบวชของท่านใช้ชีวิตในอารามเลี้ยงชีพด้วยการปลูกต้นองุ่นเพื่อทำไวน์และปลูกต้นมะกอกเพื่อทำน้ำมันมะกอก นักบวชเบเนดิกตินเป็นชาวไร่มะกอก หรือ Olivae ฉะนั้นโป๊ปผู้ทรงใช้พระนาม BENEDICTUS ก็เป็นชาวไร่มะกอก นั่นก็คือชัยชนะของ BENEDICTUS หรือชาวไร่มะกอก หรือ Gloria Olivae

โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 15 ทรงได้รับการคัดเลือกให้เป็นโป๊ประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ.1914 มีผู้ทำนายหลายท่านก็กล่าวว่าโป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16 ก็จะได้รับชะตากรรมเช่นเดียวกัน กล่าวคือ จะต้องเผชิญกับสงครามใหญ่ขนาดต้องหนีไปจากกรุงโรม ในระยะนี้ใครอ่านข่าวสารจากต่างประเทศก็จะรู้ว่าพระองค์ทรงแบกภาระหนักเหลือเกิน เป็นหน้าที่ของมวลสัตบุรุษที่จะต้องร่วมกันวิงวอนพระเจ้าประทานพละกำลังให้พระองค์สามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปได้อย่างราบรื่น ถือโอกาสที่พวกเราฉลองครบรอบปีที่ 15 ในสมณสมัยของพระองค์ ขอนำเสนอพระประวัติและพระภารกิจที่ได้ทรงปฏิบัติตลอด 5 ปีที่ผ่านมาดังนี้:

 พระประวัติสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16

สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 มีพระนามเดิมว่า โยเซฟ รัตซิงเกอร์ประสูติวันที่ 16 เมษายน ค.ศ.1927 เป็นชาวเยอรมัน เป็นบุตรชายของโจเซฟ และมาเรีย รัตซิงเกอร์ ประสูติในหมู่บ้านมาร์เคลท์ อัม อินน์ (Marktl am Inn) ในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี ติดกับชาวแดนออสเตรีย ทรงมีพี่น้อง 2 คน คนหนึ่งเป็นหญิงชื่อมาเรีย อีกคนหนึ่งเป็นพี่ชายคนโตชื่อ จอร์จ (บวชเป็นบาทหลวงเช่นเดียวกับพระองค์) พระองค์ได้เข้าไปศึกษาเพื่อเตรียมตัวเป็นบาทหลวงในบ้านเณร ในเมืองเธราน์ชไตน์ เมื่อปี ค.ศ. 1939

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1941 กองทัพเยอรมันต้องการกำลังทหาร พระองค์จึงถูกเกณฑ์เข้าร่วมเป็นสมาชิกของหน่วยยุวชนฮิตเลอร์ พระองค์เข้าไปเป็นพลปืนต่อต้านอากาศยานมีหน้าที่ดูแลเครื่องบิน และต่อมาย้ายไปประจำศูนย์สื่อสารทางโทรศัพท์ ต่อมาในปี 1944 พระองค์และเพื่อนร่วมชั้นก็ออกจากกองต่อต้านอากาศยาน แต่กลับถูกเกณฑ์อีกครั้งเพื่อไปประจำที่ชายแดนซึ่งติดต่อกับฮังการี พระองค์มีหน้าที่ติดตั้งอุปกรณ์ไว้ป้องกันกองทัพรถถังโซเวียต ในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น พระองค์ก็ออกจากกองทัพและมุ่งหน้ากลับบ้าน สามสัปดาห์ผ่านไปพระองค์ได้รับหมายเรียกให้เข้ารับการฝึกเป็นทหารราบ แต่ไม่เคยต้องออกไปยังแนวหน้า

ในเดือนเมษายน 1945 (ก่อนหน้านาซีจะยอมแพ้ไม่นาน) พระองค์หนีทัพและกลับไปยังหมู่บ้านของพระองค์ แต่ภายหลังสงคราม พระองค์ถูกจับในฐานะเชลยเนื่องจากฝ่ายทัพพันธมิตรสรุปว่าพระองค์เป็นทหาร พระองค์ต้องไปเข้าค่ายกักกันเชลยศึก ทรงออกจากค่ายเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1945 ต้องเดินเท้าเป็นระยะทาง 120 กิโลเมตรเพื่อกลับหมู่บ้าน แต่ได้รับการช่วยเหลือจากรถส่งนมที่พาไปส่งที่เมืองเธราน์ชไตล์ เมื่อพระองค์กลับถึงบ้าน ก็ได้พบกับพี่ชายซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากค่ายเชลยศึกในอิตาลีเช่นเดียวกัน

 การศึกษา

ในปี 1945 หลังจากที่พระองค์กลับถึงบ้าน พระองค์ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่บ้านเณรแห่งหนึ่งในเมืองไฟร์ซิงก์ หลังจากนั้นก็ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยลุดวิกแม็กซิมิเลียน ในเมืองมิวนิก ในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1951 พระองค์ได้บวชเป็นบาทหลวงโดย พระคาร์ดินัลเฟาฮาเบอร์ แห่งเมืองมิวนิก เป็นผู้บวชให้ ระหว่างนั้นพระองค์ยังทรงเขียนวิทยานิพนธ์ขึ้น 2 ฉบับ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักบุญออกัสติน เสร็จเมื่อ ค.ศ. 1956 และเกี่ยวกับนักบุญโบนาเวนตูรา เสร็จเมื่อ ค.ศ. 1957 และในปี 1958 พระองค์ได้เป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยไฟร์ซิงก์

 งานทางศาสนา

ต่อมาพระองค์เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยบอนน์ ตั้งแต่ ค.ศ.1902 ถึง ค.ศ. 1963 เมื่อพระองค์ย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยมุนสเตอร์ ในปี 1966 พระองค์ได้เป็นอาจารย์สอนวิชาเทววิทยา ณ มหาวิทยาลัยตูบิงเกน ในปี 1969 พระองค์ก็กลับไปยังบาวาเรีย แคว้นเกิดของพระองค์เพื่อไปสอนที่มหาวิทยาลัยเรเกนส์เบริก

ในปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) พระองค์ได้ร่วมกับฮันส์ เอิร์ส วอน บาลธาซาร์, อองริ เดอ ลูบัค และวอลเตอร์ แกสแปร์ ก่อตั้งวารสารทางศาสนาขึ้นมาชื่อว่า คอมมูนิโอ ปัจจุบันวารสารนี้ตีพิมพ์ใน 17 ภาษา และเป็นวารสารคาทอลิกฉบับหนึ่งที่สำคัญที่สุด) พระองค์ยังเป็นผู้เขียนบทความลงในวารสารนี้อีกด้วย

สมณศักดิ์พระคาร์ดินัล

ในเดือนมีนาคม 1977 ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสังฆราชแห่งเมืองมิวนิก และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 6
25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1981 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 แต่งตั้งท่านให้เป็นสมณมนตรีของสมณกระทรวงพระสัจธรรม นอกจากนี้ยังทรงเคยดำรงตำแหน่ง
• ประธานสมณกรรมาธิการพระคัมภีร์
• สมณกรรมาธิการเทววิทยานานาชาติ
• ผู้ประสานงานการจัดประชุมสมัชชาพระสังฆราช สมัยสามัญ ครั้งที่ 5 (ค.ศ.1983)
• ประธานของผู้แทนการประชุมสมัชชาพระสังฆราช สมัยสามัญ ครั้งที่ 6 (ค.ศ.1983)
• 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1998 ได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าคณะพระคาร์ดินัล
• 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 ได้รับเลือกเป็นหัวหน้า (Dean) คณะพระคาร์ดินัล
• ค.ศ. 1986-1992 เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำหนังสือคำสอนพระศาสนาจักรคาทอลิก
• 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 ได้รับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมาเรีย ซานติสสิมาอัสสุนตา
• 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2000 ได้รับเกียรติเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสถาบันวิทยาศาสตร์ในสันตะสำนัก

ทรงเคยเป็นสมาชิกในคณะกรรมการต่างๆ ของสมณกระทรวงของสันตะสำนัก

• สมณกระทรวงพระศาสนาจักรตะวันออก
• สมณกระทรวงพิธีกรรม
• สมณกระทรวงประกาศพระวรสารสู่ปวงชน
• สมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิกและเลขาธิการของรัฐวาติกัน (Second Section) ฝ่ายความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ
พระสมณสาส์น
• พระเจ้าคือความรัก – Deus caritas est (25 ธันวาคม ค.ศ. 2005)
• รอดพ้นด้วยความหวัง – Spe Salvi (30 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007)
• ความรักในความจริง – Caritas in Veritate (29 มิถุนายน ค.ศ. 2009)

พระดำรัสเตือน

ศีลมหาสนิท ศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งความรัก – Sacramentum Caritatis : พระดำรัสเตือนหลังการประชุมสมัชชาพระสังฆราช เรื่องศีลมหาสนิทบ่อเกิดและจุดสูงสุดแห่งชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร (22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007)
ธรรมจาริกประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่ออภิบาลคริสตชน
• ประเทศเยอรมนี – โคโลญ (18-21 สิงหาคม ค.ศ. 2005)
• สาธารณรัฐโปแลนด์ (25-28 พฤษภาคม ค.ศ. 2006)
• ราชอาณาจักรสเปน-วาเลนเซีย-การปะชุมครอบครัวโลกครั้งที่ 5 (8-9 กรกฎาคม ค.ศ. 2006)
• ประเทศเยอรมนี – มุมเชน, อัลเติทติง และเรเกนส์บรูก (9-14 กันยายน ค.ศ. 2006)
• สาธารณรัฐตุรกี (28 พฤศจิกายน-1 ธันวาคม ค.ศ. 2006)
• สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล-การประชุมสมัชชาสภาพพระสังฆราชคาทอลิกแห่งลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (9-14 พฤษภาคม ค.ศ. 2007)
• สาธารณรัฐออสเตรีย-ฉลองครบรอบ 850 ปี สักการะสถานแห่งมาเรียเซล (7-9 กันยายน ค.ศ. 2007)
• ประเทศสหรัฐอเมริกา (15-21 เมษายน ค.ศ. 2008)
• เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย-งานชุมนุมวันเยาวชนโลก ครั้งที่ 23 (12-21 กรกฎาคม ค.ศ. 2008)
• สาธารณรัฐฝรั่งเศส-ฉลอง 150 ปี แม่พระประจักษ์ที่เมืองลูรด์ (12-15 กันยายน ค.ศ. 2008)
• สาธารณรัฐแคเมอรูน และสาธารณรัฐแองโกลา (17-23 มีนาคม ค.ศ. 2009)
• รัฐอิสราเอล-แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (8-5 พฤษภาคม ค.ศ. 2009)
• สาธารณรัฐเช็ก (26-28 กันยายน ค.ศ. 2009)
• สาธารณรัฐมอลตา (17-18 เมษายน ค.ศ.2010)
• สาธารณรัฐโปรตุเกส (11-14 พฤษภาคม ค.ศ. 2010)
• สาธารณรัฐไซปรัส (4-6 มิถุนายน ค.ศ. 2010)

หลังพิธีสหบูชามิสซาขอบพระคุณอันสง่างามตามจารีตอันเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมากว่าสองสหัสวรรษสิ้นสุดลงก็มาถึงวาระสำคัญที่ ฯพณฯ ท่านสมณฑูตวาติกันประจำประเทศไทยได้ทำพิธีมอบเครื่องอิสริยาภรณ์แห่งสันตะสำนัก ซึ่งคริสตชนชาวไทยทุกคนคงจะรู้สึกชื่นชมในเกียรติที่พวกเขาได้รับเป็นแน่นอน รวมทั้งตัวผมเองด้วย ซึ่งมีความสนิทสนมเป็นพิเศษคือ คุณพอล แมรี่, สุวิช สุว รุจิพร, คุณอาเดรียโน กวี อังศวานนท์, คุณหญิงเทเรซา ปัทมา ลีสวัสดิ์ ตระกูล, ดร.เทเรซา วิรัชนี พรหมสุนทร และ ภราดา ดร.ประทีป (มารติน) โกมลมาศ
บุคคลที่ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์แห่งสันตะสำนักประจำปี 2553 (ค.ศ. 2010) ดังนี้

เครื่องประดับเกียรติยศพระสันตะปาปานักบุญเกรโกรีผู้ยิ่งใหญ่ ชั้นผู้บัญชาการใหญ่ (Knight Commamder of the Order of St. Gregory the Great)
• คุณพอล แมรี่ สุวิช สุวรุจิพร
• คุณอาดรีอาโน กวี อังศวานนท์
เครื่องประดับเกียรติยศพระสันตะปาปานักบุญเกรโกรีผู้ยิ่งใหญ่ (Knight of the Order of St.Gregory the Great)
• ดร.นิโคลาส นิติ ไมเยอร์
• คุณโยเซฟ ปราโมทย์ พูลโภคพล
• ดร.คริสโตเฟอร์ อภิชาต อินทรวิศิษฏ์
เครื่องประดับเกียรติยศพระสันตะปาปานักบุญเกรโกรีผู้ยิ่งใหญ่ อัศวินหญิง (Dame of the Order of St.Gregory the Great)
• คุณหญิงเทเรซา ปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล
• คุณมารีอา อรอนงค์ ซื่อเพียรธรรม
• ดร.เทเรซา วิรัชนี พรหมสุนทร
• คุณอักแนส พัชรา พูลโภคพล
เหรียญพระสันตะปาปา (Pontifical Cross “Pro Ecclesia et Pontifice”)
• คุณพ่อชาร์ล เวลาร์ โด, คณะซาเลเซียน
• ภราดา ดร.ประทีป ม.โกมลมาศ, คณะเซนต์คาเบรียล
• เซอร์ลอเรตตา โยเซฟ แซมโบ, คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ดร

 

*หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (3 กรกฎาคม 2553) หน้า 4