การกีฬาเพื่อการศึกษา*
ภราดาประทีป ม.โกมลมาศ
16 มกราคม 2531
ถ้าหากจะมีวัยรุ่น คนหนุ่มคนสาวคนใดในสมัยนี้ ไม่สนใจการกีฬาเอาเลยคงจะเชยเต็มทน เพราะสังคมจะถือเอาว่าเขาเป็นคนไม่ทันสมัยเสียแล้ว เกือบจะเป็นพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปีหรืออะไรทำนองนั้น ทั้งนี้ ก็เพราะว่า การกีฬาได้กลายเป็นเครื่องวัดถึงความเจริญของคนและของประเทศไปแล้ว จริงอยู่การกีฬาไม่ใช่เป็นเครื่องวัดที่ดีที่สุดก็ตาม แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนให้เห็นลักษณะเด่นพิเศษของคนในชาตินั้นๆ ได้ เช่น มวยไทย ปิงปองของจีน วิ่งมาราธอนของอาฟริกา เป็นต้น
การกีฬาระดับนานาชาติ เช่น กีฬาซีเกมส์และกีฬาโอลิมปิค ยังช่วยวัดความเจริญของจิตใจคน วัดฐานะเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพของประเทศเจ้าภาพอีกด้วยเพราะการจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬานานาชาติได้นั้น ประเทศเจ้าภาพจะต้องมีฐานะเศรษฐกิจมั่นคงพอสมควร ต้องมีศักยภาพของการบริหารและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูง การที่คณะกรรมการโอลิมปิคสากลมีมติให้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในปีนี้ ก็แสดงว่าประเทศเกาหลีใต้นั้นมีฐานะเศรษฐกิจและมีสมรรถภาพการจัดการ เป็นที่เชื่อถือของประชาคมโลกได้ และมีความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ (เราจะคอยดูซิว่านักเรียนนักศึกษาเกาหลีจะออกมาเดินขบวนในฤดูแข่งขันกีฬาโอลิมปิคหรือไม่ซึ่งก็เป็นการวัดความเจริญของจิตใจคนด้านหนึ่งเหมือนกัน)
นอกจากจะช่วยวัดความเจริญทางวัฒนธรรม ฐานะเศรษฐกิจและสมรรถภาพในการจัดการแล้ว การกีฬายังสามารถวัดความเจริญเชิงศีลธรรมของคนทุกชั้นวรรณะได้ดีอีกด้วย ผู้ที่ขาดสปิริตของการกีฬาไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาเองหรือผู้จัดการกีฬาก็ตาม ถือได้ว่าเขาผู้นั้นยังขาดวุฒิภาวะเชิงศีลธรรมอยู่ เพราะไม่รู้จักคำว่า “รู้แพ้รู้ชนะ” การรู้จักข่มสติเมื่อแพ้สามารถแสดงความเป็นสุภาพบุรุษต่ออีกฝ่ายหนึ่งได้ ถือได้ว่าเขาผู้นั้นรู้จักบังคับตนเองเป็น ซึ่งก็คือคุณธรรมของความอดกลั้นอดทนมีสติสัมปชัญญะ
ในบ้านเมืองเรา เรายังคงได้ยินได้อ่านกันบ่อยๆ ว่านักเรียนนักศึกษาหลายคนมักใช้เล่ห์เหลี่ยมคดโกงเพื่อหวังจะกำชัยชนะอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ยิ่งถ้าการใช้เล่ห์เหลี่ยมนั้นส่อพิรุธของความด้อยปัญญาด้วยแล้วยิ่งน่าสลดใจและน่าสมเพช ไม่สมที่จะเป็นปัญญาชน เช่น โกงกันในเรื่องของความเป็นนักศึกษาบ้าง สับตัวนักกีฬาเข้าแข่งขันบ้าง โกงอายุบ้าง เปลี่ยนชื่อบ้างอะไรทำนองเชยๆ เช่นนั้น ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ที่เป็นนักกีฬาแท้จริง เขาจะใช้เทคนิค ใช้ปัญญาประหัตประหารคู่ต่อสู้ด้วยเชิงกลยุทธและไหวพริบถูกต้องตามกติกา ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ควรให้การส่งเสริม เพราะใช้การศึกษาวิจัย ใช้ปัญญาคิดค้นเพื่อหาความได้เปรียบเชิงกลโดยวิธีวิทยาศาสตร์ และทักษะของการฝึกซ้อม
เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ยังมีคนจำนวนมากสนใจกีฬา ชอบกีฬา แต่ยังไม่มีสปิริตของการกีฬา เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่แล้วทั้งในต่างประเทศและภายในประเทศ เป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจของนักกีฬา (อ้างตัวเป็นนักกีฬา) และผู้จัดการกีฬาว่าเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางศีลธรรมมากน้อยเพียงใด เช่น ในการแข่งขันซีเกมส์ ผู้จัดการแข่งขันกีฬาได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาบางประเภทที่ประเทศของตนเล่นเป็นแต่ผู้เดียว เพื่อหวังทำสถิติการได้เหรียญทองมากกว่าผู้อื่น ผลปรากฏว่าต่างฝ่ายต่างรู้สึกกระอักกระอ่วน และไม่มีใครภูมิใจต่อเหรียญที่ได้รับนั้น ทำให้การแข่งขันไร้ความหมายในหลายประเภทกีฬา ในปีการศึกษานี้เอง กีฬามหาวิทยาลัยของไทยเราได้แสดงให้เห็นว่า สปิริตของการกีฬาที่แท้จริงยังหาได้ซาบซึมเข้าไปในหัวใจของเยาวชนและครูบาอาจารย์ไม่ เพราะยังมีนักศึกษาและประชาชนที่อ้างเป็นนักศึกษาเข้าแข่งขันจำนวนไม่น้อยจงใจใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง จนถึงกับทำให้คณะกรรมการจัดการแข่งขันต้องตัดสิทธิ์ห้ามเข้าแข่งขันไป สถาบันการศึกษาบางแห่งถูกตัดสิทธิ์เป็นทีมก็มี
เมื่อสองปีที่แล้ว บังเอิญข้าพเจ้ากำลังเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย Georgia State University อยู่ ได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ว่า ศาลได้สั่งให้มหาวิทยาลัยแห่งนั้นรับอาจารย์ผู้หนึ่งเข้าเป็นอาจารย์ตามปกติและให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายให้แก่อาจารย์เรื่องมีอยู่ว่าคณบดีได้สั่งปลดอาจารย์ออกเพราะไม่ยอมให้คะแนนช่วยในวิชาที่อาจารย์สอนแก่นักศึกษาผู้หนึ่งซึ่งเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย ซึ่งผลปรากฏว่านักกีฬาผู้นั้นสอบตก ชาวเมืองต่างสรรเสริญอาจารย์ผู้นั้นว่าเป็นอาจารย์ที่แท้จริง เพราะไม่หวั่นไหวต่ออิทธิพลมืดใดที่ยังมีหลงเหลืออยู่ในสถาบันการศึกษา เรื่องน่าเศร้าทำนองนี้ยังคงเกิดขึ้นประปรายอยู่ในวงการการศึกษา เป็นเรื่องน่าเสียดายที่นัการศึกษาหรืออาจารย์บางคน หรือสถาบันบางแห่งมีความเข้าใจผิด คิดจะหาชื่อเสียงให้แก่สถาบันของตนโดยการแสวงหาชื่อเสียงทางกีฬาด้วยวิธีการคดโกง ข้าพเจ้าคิดว่ามีแต่ผู้ปกครองที่ด้อยปัญญาเท่านั้นที่ตัดสินคุณค่าและคุณภาพของการศึกษาโดยใช้การกีฬาเป็นเครื่องวัด
ในปัจจุบันการกีฬาของสถาบันจึงค่อยๆ แปรสภาพจากการกีฬาเพื่อเชื่อมความสามัคคีกลายเป็นกีฬาเพื่อทะเลาะกันแตกแยกความสามัคคีกัน ผู้ใหญ่ที่ปกครองสถาบันต่างๆ น่าจะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ เพราะภาพที่ปรากฏในจอทีวี และในหน้าหนังสือพิมพ์นั้น ทำให้เกิดภาพพจน์เชิงลบต่อวงการกีฬา และวงการศึกษา
ดูเหมือนว่าเราจะต้องอบรมนักเรียนนักศึกษา รวมทั้งครูบาอาจารย์กันอีกนานให้รู้ซึ้งถึงเจตนารมณ์ของการกีฬา เราต้องไม่ย่นย่อท้อถอยหมดกำลังใจ ถ้าเราปรารถนาที่จะเห็นการกีฬามีไว้เพื่อเสริมการศึกษาของนักเรียนนักศึกษา เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อ “เจตนารมณ์ของการมีส่วนร่วม” และเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและความเข้าใจอันดีระหว่างมวลมนุษย์ แต่ถ้าเราอยากเห็นการกีฬามีไว้เพื่อการค้า เพื่อธุรกิจ เพื่อการโฆษณาจอมปลอมสำหรับผู้ด้อยปัญญา เราก็ยังคงดื้อรั้นใช้วิธีการคดโกงแบบคนด้อยปัญญากันต่อไปอีก เมื่อนั้นเราก็ทำตนเป็นผู้ทำลายเจตนารมณ์ของผู้ริเริ่มรื้อฟื้นการกีฬาโอลิมปิคว่า “จุดประสงค์ของกีฬา มิใช่เพื่อชัยชนะ แต่เพื่อการมีส่วนร่วม ดุจดังชีวิต จุดประสงค์ของชีวิตมิใช่ความสำเร็จแต่คือการต่อสู้” และ “โดยนัยนี้ มนุษย์จะมีโอกาสหาประสบการณ์ของชีวิตในฐานะที่เป็นมนุษย์”
*จุลสารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC NEWSLETTER ปี่ที่ 9 ฉบับ 40 เดือนมีนาคม - เมษายน 2531