ความเป็นไปได้ของการศึกษาเอกชน*

ในโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนในปีนี้ผมขอเชิญชวนและเสนอว่าเราควรมองไปยังทศวรรษหน้าโดยไม่ต้องพะวงถึงอดีต ซึ่งน่าจะดีกว่าเหลียวหลังเพื่อแลหน้าอย่างที่เป็นอยู่ ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามทิศทางที่เสนอ ผมจึงของแสดงความคิดเห็นประกอบพอเป็นสังเขป ดังนี้ 

อนาคตที่รออยู่เบื้องหน้า เต็มไปด้วยความหวังสำหรับการศึกษาเอกชน ทั้งนี้เพราะนักการศึกษาไทยโดยทั่วไปแล้ว มีความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงบทบาทของเอกชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของชาติ เหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้นักการศึกษาไทยยอมรับบทบาทของเอกชนเพราะว่า รัฐบาลในยุค 4-5 ปีมานี้ ยอมรับนโยบาย “PRIVATIZATION” เป็นนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติที่ต้องการแปรสภาพการบริหารเข้าสู่เชิงธุรกิจ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่นั่นเอง 

ยิ่งกว่านั้น สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบข้างเรา อันมีผลกระทบต่อระบบการศึกษาของไทยในอนาคต ได้บ่งบอกถึงบทบาทใหม่ของภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกด้วย เช่น

  1. แนวโน้มของการเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากเกษตรกรรมเป็นหลักไปสู่การผลิตทางอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น

  2. ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูงขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้นว่า ระบบเทคโนโลยuข้อมูลข่าวสาร และสื่อมวลชน

  3. วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย ตลอดจนความคิดเห็น ความเชื่อ ค่านิยม เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็ว อันเป็นลักษณะแบบแผนการดำเนินชีวิตของสังคมเมือง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อปัญหาสังคมมากมาย

  4. การตื่นตัวในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ความหวงแหนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของคนไทย ซึ่งได้แสดง โดยพฤติกรรมทางการเมือง อันมีนัยที่หมายถึงการกระจายอำนาจไปสุ่ท้องถิ่นและมวลชนมากขึ้น

  5. สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่กำลังถดถอยเสื่อมลง และการเกิดสภาวะมลพิษกำลังเป็นปัญหารุนแรง 

แรงกดดันจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ จึงได้วางหลักการจัดการศึกษาในอนาคตเอาไว้ ซึ่งพอจะสรุปได้เป็น 4 ประการดังนี้คือ

  1. การจัดการศึกษาอย่างกว้างขวางและเป็นธรรมสำหรับประชากรทั้งประเทศ

  2. ให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่สมดุล ทั้งในด้านคุณลักษณะความเป็นมนุษย์กับความรู้และทักษะสำหรับการประกอบอาชีพ

  3. การจัดการศึกษา ที่สอดคล้อมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

  4. การจัดการศึกษา ที่หลากหลายเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม กับสภาพของแต่ละบุคคล

ยิ่งกว่านั้น ถ้าใครได้อ่านวารสาร “The Economist” ฉบับเดือนมีนาคม 1991 จะพบว่านักการศึกษาระดับโลกจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีความเห็นว่าโลกของการศึกษากำลังเผชิญกับการท้าทาย 2 ประการ คือ

  1. การที่โลกของเราแปรสภาพกลายเป็นชุมชนเดียวกัน ในเรื่องของการตลาด การสื่อสาร และแหล่งทรัพยากร

  2. อัตราเร่งของการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 

ปรากฏการณ์ทั้ง 2 อย่างนี้ คือการท้าทายต่อระบบการศึกษา ต่อโครงสร้างของการศึกษา ต่อระบบการจัดการศึกษานานาประการ เช่น

  • มีความจำเป็นที่จะต้องปรับหลักสูตร เนื่องจากมีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ใหม่ ในเมื่อระบบการเงินของโลกเปลี่ยนไป ทฤษฎีว่าด้วยการจัดการการบริหารและการให้บริการแบบตะวันออก เช่น แบบของญี่ปุ่น เป็นต้น

  • การศึกษามีความเป็นสากลมากขึ้น อันมีนัยที่หมายถึงความสำคัญและความจำเป็นของการเรียนรู้ภาษาและ วัฒนธรรมของชนชาติอื่น ๆ ฯลฯ

  • ความจำเป็นที่จะต้องมีหลักสูตรใหม่ ๆ เช่น EDU-COMMUNICATION วิทยาการเชิงวิทยาศาสตร์อื่น ๆ และการผลิตเชิงอุตสาหกรรม และความสมดุลทางสภาวะแวดล้อม สำหรับผู้บริโภคในอนาคตที่มีจิตสำนึก ในเรื่องมลภาวะเป็นพิษอันมีผลต่อการผลิตและการใช้เทคโนโลยีการผลิต ฯลฯ 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการเรียนการสอนอย่างเห็นได้ชัด เช่น ได้มีการรายงานใน Asian Wall Street Journal ฉบับวันที่ 11 กันยายน 1990 ว่า Hudson Institute ออกแถลงการณ์ท้าทายนักการศึกษาว่าเขามีเทคโนโลยีที่สามารถทดแทนครูที่เป็นมนุษย์ได้ ซึ่งสามารถให้ผลดีกว่าและราคาถูกกว่าใช้ครูสอน เหตุผลที่เขาอ้างก็คือในสหรัฐนั้นห้องเรียนและครูราคาแพงเกินไปและเชื่องช้าที่จะสนองความต้องการของ Information Age ทั้งนี้ เพราะสังคมยิ่งวันยิ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อระบบการผลิตและผลิตผลเพื่อบริโภค ผู้อำนวยการสถาบันดังกล่าว ยังอ้างอีกว่าเขาได้พิสูจน์แล้วว่า การสอนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และระบบ telecommunications ผู้เรียนเรียนรู้ได้ไวกว่าและได้ผลดีกว่าเรียนจากครูอาจารย์ที่เป็นมนุษย์ 

วงการศึกษาทั่วไปในปัจจุบันที่ยึดระบบการเรียนการสอนแบบ chalk and talk ไม่ยอมรับความคิดเห็นดังกล่าว ซึ่งระบบการจัดการการศึกษาแบบนี้เป็นระบบผูกขาด ไม่มีคู่แข่งผู้แสวงหาควารู้ไม่มีทางเลือก ซึ่งความจริงแล้ว ในโลกของการศึกษาควรมี alternatives อื่นให้ทดลองเพื่อแสวงหาสัจจธรรมความจริง เป็นต้น นักการศึกษาจำนวนมากเริ่มเห็นพ้องกันว่า "กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน สำคัญกว่ากระบวนการสอนของครู" ซึ่งตามมโนคตินี้แล้วบทบาทของครูจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยครูจะทำตนเป็นผู้ชี้นำชี้แนะแหล่งข้อมูลทรัพยากรทั้งหลายให้แก่ผู้เรียน มากกว่าจะทำตนเป็นศูนย์รวมสรรพวิชาความรู้ทั้งปวง

ยังมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย ที่น่าจะพูดถึงและอภิปรายกัน พร้อมด้วยสาธยายยกตัวอย่าง จึงจะเข้าใจขอบข่ายของความรู้ และโอกาสแสวงหาความรู้นั้นในทศวรรษหน้าและต่อไปที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ถ้าเอกชนได้มีอิสรภาพในการจัดการศึกษาตามรูปแบบหลากหลายต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ 

เมื่อมองไปยังทศวรรษหน้าดังกล่าวแล้วจะเห็นว่าเต็มไปด้วยการท้าทายและความหวังก็จริง แต่พวเราทั้งหลายจะต้องตั้งสติให้มั่นอยู่ในความไม่ประมาทด้วย ทั้งนี้เพราะความไม่แน่นอนของอนาคตว่า

  • รัฐบาลที่มาใหม่นั้น จะมีความจริงใจและมีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของการศึกษาในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาประเทศชาติแค่ไหน?

  • นโยบาย "PRIVATIZATION" ของรัฐบาลชุดก่อน ๆ จะได้รับการสานต่อหรือไม่?

  • ระบบราชการยังคงเป็นแบบอนุรักษ์นิยมอีกมาก ในหลายระดับหรือไม่? 

อย่างไรก็ดี อนาคตของการศึกษาเอกชนในระดับสายสามัญและอาชีวะ จะรุ่งโรจน์พัฒนาได้ไกลแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผุ้ที่มีบทบาทสามารถดลบันดาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกที่ควร ดังที่ได้เคยปฏิบัติมาให้เห็นประจักษ์พยานแล้วในอดีต 4-5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนทั้งหลายรู้สึกซาบซึ้งและประทับใจตลอดมา 

ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสร่วมเฉลิมฉลองครบรอบทวิทศวรรษของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ด้วยข้อเขียนนี้และขออวยพรให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามั่นคงยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อจักได้เป็นที่พึ่งและเป็นผู้นำในการพัฒนาการศึกษาของเอกชนให้สามารถปฏิบัติภารกิจของประเทศชาติในด้านการจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อมในทศวรรษหน้านี้


*หนังสือที่ระลึกฉลองครบ 20 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน 2535
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ