เทคนิคการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ โดย วิธีการปรับปรุงภาวะแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนการสอน*
โรงเรียนที่มีคุณภาพจะต้องมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนการสอน บรรยากาศที่ดังกล่าว หมายถึง ความรู้สึกที่ประชาชนหรือชุมชนมีต่อโรงเรียนว่าเป็นสถานที่ ๆ มีการเรียนเกิดขึ้นจริงอย่างได้ผล โรงเรียนที่มีบรรยากาศน่าอยู่ดังกล่าว จะทำให้ทั้งครูและนักเรียนอยากจะมีชีวิตร่วมกันในโรงเรียน
วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงบรรยากาศภายในโรงเรียนมี 2 ประการคือ
-
การพัฒนาขบวนการผลิต (Productivity) โรงเรียนจะต้องสร้างภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน การพัฒนานักเรียนทุกด้านตามวัยและวุฒิภาวะ ขบวนการผลิตยังรวมความถึง ความสัมฤทธิผลทางความรู้และทักษะพื้นฐานการรู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น รู้จักสอบถามโดยวิธีการของเหตุผล
-
ความพึงพอใจ (Satisfaction) โรงเรียนมีบรรยากาศและภาวะแวดล้อมที่น่าอยู่ น่าพึงพอใจเป็นบรรยากาศในที่ซึ่งเด็กและเยาวชนจะเรียนรู้ชีวิต และวิทยาการ ความพึงพอในนี้ยังรวมหมายถึง ทัศนคติที่ดีของ บุคลากรในโรงเรียน นักเรียนและครู รวมทั้งบุคลากรอื่น ๆ มีความภูมิใจที่ตนมีส่วนในความสำเร็จของโรงเรียนในหน้าที่การงาน สนุกเพลิดเพลินกับงานที่ทำ เขารู้สึกว่าชีวิตของเขามีความหมายในโรงเรียน
ความต้องการขั้นมูลฐาน (basic human needs) และบรรยากาศของโรงเรียน
ความต้องการขั้นมูลฐานที่ควรกล่าวถึงในการปรับปรุงภาวะแวดล้อมของโรงเรียน คือ
-
ความต้องการด้านกายภาย
ความต้องการด้านกายภาพหมายถึง อาคารเรียน สถานที่พักผ่อน และภาวะแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย
-
ความต้องการด้านความปลอดภัย ทั้งภายในและภายนอกบริเวณโรงเรียน
นักเรียน และคณะครูไม่หวาดระแวงต่อภัยที่อาจจะมาจากภาวะแวดล้อมภายนอกโรงเรียน
-
ความเข้าใจอันดีและการยอมรับ
มีความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างนักเรียน คณะครูและผู้บริหาร
-
ความต้องการด้านสัมฤทธิผลและการรับรู้
ความสำเร็จของนักเรียนคนใดและบุคลากรคนใด ได้รับการรับรู้และให้เกียรติ
-
ความต้องการที่จะมีโอกาสพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคลถึงขีดสูงสุด
ถ้าโรงเรียนใดต้องการเป็นโรงเรียนทีมีคุณภาพเชิงการผลิต (productive) และเป็นโรงเรียนที่ให้ขวัญกำลังใจ (satisfying) แก่ผู้ร่วมงานผู้บริหารจำเป็นต้องยึดหลักดังกล่าวข้างต้นซึ่งวางบนพื้นฐานของ Maslow’s Theory of Needs
ปัจจัยการสร้างบรรยากาศภายในโรงเรียน
-
การเจริญเติบโตโดยไม่ขาดสายทั้งทางด้านวิชาการและสังคม
นักเรียนแต่ละคนมีการพัฒนาทั้งครบ ทั้งสติปัญญา ทักษะ อารมณ์ ร่างกาย จิตใจและความรู้
คณะครูมีการพัฒนาเชิงทักษะและวิธีการสอน การค้นคว้า วิจัย
ทั้งครูและนักเรียนมีทัศนคติทีถูกต้องต่อการศึกษา และทั้งสองฝ่ายช่วยกันเสริมสร้างบรรยากาศและศักยภาพของโรงเรียน
-
การเคารพในสิทธิของกันและกัน
นักเรียนค้นพบว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีความหมายในโรงเรียน ความคิดเห็นของตนได้รับการส่งเสริมจากคณะครู
คณะครูและคณะผู้บริหาร เคารพและให้เกียรติต่อกันและกัน โรงเรียนเป็นสถานที่ ๆ มี การให้เกียรติ และบุคคลที่ร่วมงาน self-esteem
-
ความไว้เนื้อเชื่อใจ
บุคคลภายในโรงเรียนมี personal integrity เป็นคนจริงใจ รักษาความสัตย์
-
ขวัญกำลังใจดี
บุคลากรในโรงเรียนมีขวัญกำลังใจดี
-
ความมั่นคงของโรงเรียน
คุณสมบัตินี้จะเป็นได้จากที่บุคลากรในโรงเรียนมีความสามัคคีหรือ esprit de corps ทั้งครูและนักเรียนรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของโรงเรียน (a sense of belonging)
-
การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็น
ถึงแม้ว่าทุกคนไม่มีโอกาสเป็นผู้ร่วมตัดสินใจในการบริหารโรงเรียนได้ก็จริง แต่ทุกคนอยากจะแสดงความคิดเห็นด้วยเรื่องของโรงเรียนเหมือนกัน ผู้บริหารควรทำใจกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็น ใครก็ตามที่รู้ความคิดของตนได้รับการพิจารณา เขาผู้นั้นย่อมมีความภูมิใจและพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายของโรงเรียน
-
การฟื้นฟูชีวิตโรงเรียน (school-renewal)
โรงเรียนใดที่มีกลไกที่เรียกว่า self-renewing mechanism โรงเรียนนั้นจะมีการแก้ไข การปรับตนเข้ากับสถานการณ์ การปรับปรุง การพัฒนาอยู่ตลอดเวลาบุคลากรในโรงเรียนจะมั่นใจว่าเขาสามารถปรับตัวเองเข้ากับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงได้เสมอ
-
การสนใจ และการเอาใจใส่
บุคลากรในโรงเรียนรู้สึกว่า ครูใหญ่และครูอื่นสนใจเขา เอาใจใส่เขา ถามถึงทุกข์สุขของเขา ในบรรยากาศดังกล่าว ความร่วมมือ การประสานงาน เป็นไปได้อย่างอบอุ่นเกินคาดหมาย
เครื่องหมายที่แสดงว่าท่านต้องรีบปรับปรุงโรงเรียนของท่าน
ต่อไปนี้คืออาการ (Symptoms) ที่แสดงว่าโรงเรียนมีปัญหาในเรื่องของบรรยากาศและภาวะแวดล้อม
-
มีนักเรียนขาดเรียนมาก
-
นักเรียนมีปัญหาเรื่องระเบียบวินัยมาก
-
นักเรียนจับกลุ่มเป็นแก๊ง
-
ครูขาดบ่อย
-
ในห้องพักครูมีการพูดวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบมาก
-
บริเวณโรงเรียนคับแคบ
-
มีการทำลายสมบัติของโรงเรียน
-
นักเรียนก่อความไม่สงบ
-
โรงเรียนขาดสปิริต ร่วมมือ ร่วมใจ
-
คณะครูแบ่งแยกกันเป็นกลุ่ม
-
มีการขโมยของกันบ่อยระหว่างนักเรียน
-
นักเรียนลาออกมาก
-
นักเรียนสอบตกมาก หรือเรียนระดับได้ต่ำมาก
-
ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ต่ำ
-
ขวัญกำลังใจของคณะครูต่ำ
-
นักเรียนไม่ร่วมมือกับโรงเรียน
-
ภาพพจน์ของโรงเรียนแย่มากในสายตาครู
-
ครูจำนวนมากไม่ชอบนักเรียน
-
นักเรียนถูกให้ออกจากโรงเรียนบ่อย
ตัวกำหนด (determinants) การปรับปรุงบรรยากาศของโรงเรียนที่มีคุณภาพ
โปรแกรมการเรียน
-
นักเรียนมีโอกาสเรียนโดยวิธีปฏิบัติ ซึ่งหมายถึงภายในโรงเรียนที่มีคุณภาพนักเรียนจะมีโอกาสแสดงความสามารถของตน แสดงความรู้และทักษะ
-
ความคาดหวังของเอกตบุคคล ได้รับการอาใจใส่ ซึ่งหมายความว่า นักเรียนแต่ละคนมีความแตกต่างส่วนบุคคลซึ่งได้รับการยอมรับโดยครูผู้ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่ละคนสามารถกำหนดเป้าหมายการเรียนของตนได้ นั่นคือ คณะครูยอมรับว่านักเรียนแต่ละคนมี Learning Styles ไม่เหมือนกัน
-
ภาวะแวดล้อมของการเรียนมีหลากหลาย ซึ่งหมายความว่าโรงเรียนแห่งนี้ ใช้วิธีการเรียนรู้หลายแบบหลายวิธี นักเรียนจะทราบว่ามีคำตอบหลายคำตอบ สำหรับคำถามหนึ่ง ขบวนการสอนและวิธีการจัดกลุ่มมีหลายรูปแบบ
-
หลักสูตรเปิดกว้าง และกิจกรรมเสริมหลักสูตรมีมาก โดยนัยนี้นักเรียนทุกคนในชั้นเดียวกันอาจจะเรียนสำเร็จไม่พร้อมกัน
-
โครงสร้างของหลักสูตรและขบวนการบริหารหลักสูตร ถูกจัดตามวัยและวุฒิภาวะความพร้อมของนักเรียน
-
กฎ ระเบียบ วินัย ที่ถูกเขียนขึ้นมีใจความชัดเจน ครู และนักเรียนมีความเข้าใจเป็นอย่างดีและมีโอกาสร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามกาลเทศะ มีผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิผลและประสิทธิภาพของโรงเรียนที่มีคุณภาพว่า กฎระเบียบ วินัย ชัดเจน สอดคล้องกัน และเคร่ง ซึ่งช่วยทำให้นักเรียนประพฤติตนภายนอกโรงเรียนเสมือนดังในโรงเรียน
-
ระบบให้รางวัล คุณ และโทษ เสริมพฤติกรรมเชิงบวกเสมอ โรงเรียนมีวิธีที่ทำให้นักเรียนและครูที่ทำความดี ได้รับการยอมรับและรับรู้
-
นโยบายและกลวิธีบริหารหลักสูตร ผู้บริหาร เป็นต้น ครูใหญ่ หรือกรรมการฝ่ายวิชาการรู้จักใช้กลวิธี ในการบริหารหลักสูตร ตามความต้องการของผู้ปกครอง และตลาดแรงงานขบวนการจัดการ
-
ความสามารถในการแก้ปัญหา โรงเรียนมีวิธี identify ปัญหา หาวิธีแก้ไข และดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ในปัจจุบันมีเทคนิคและเครื่องมือหลายอย่างที่สามารถช่วยผู้บริหารเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ดี
-
รู้จักปรับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของโรงเรียน คณะผู้บริหาร คณะครู และนักเรียนเข้าใจปรัชญา วัตถุประสงค์นโยบาย เป้าหมายของโรงเรียนตรงกัน บุคลากรได้รับการส่งเสริมให้ปรับเป้าหมายส่วนตัว เข้ากับนโยบายของโรงเรียน
-
วิธีค้นหาและจัดการกับข้อขัดแย้งภายในโรงเรียน การมีข้อขัดแย้งภายในโรงเรียเป็นเรื่องธรรมดา แต่การรู้จักค้นหาสาเหตุของปัญหา และรู้จักจัดการกับปัญหาให้ลุล่วงไปด้วยดีเป็นเทคนิคและศิลป์ที่ผู้บริหารจำเป็นต้องมีเครื่องมือช่วย
-
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โรงเรียนที่มีคุณภาพ จำต้องมีระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อว่าการสื่อความหมายจากผู้บริหารไปยังคณะครูและนักเรียน และจากนักเรียน คณะครู ไปยังผู้บริหาร จะได้เป็นไปตามความหมายที่แท้จริงและถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อกำจัดความเข้าใจผิดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ยิ่งกว่านั้น บุคลากรในโรงเรียนต้องมีช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริหารได้อีกด้วย
-
ขบวนการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตย นักเรียน คณะครู ผู้ปกครอง และผู้สนใจ มีโอกาสที่จะให้ข้อคิดเห็นแก่ผู้บริหาร ขบวนการนี้ควรได้รับการปรับให้เป็นปัจจุบัน มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ
-
เสรีภาพทางวิชาการและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความสมดุลระหว่างอิสรภาพในการปกครองตนเอง กับความรับผิดชอบส่วนบุคคลต้องดำเนินไปเคียงข้างกัน อิสรภาพในการปกครองตนเองมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบต่อหน้าที่ส่วนตัวที่คณะครูควรมี ผู้บริหารเป็นผู้ที่ใช้วิจารณญาณ รู้จักผ่อนหนัก ผ่อนเบา
-
รู้จักวางแผนระยะสั้น และระยะยาว โรงเรียนที่มีคุณภาพ รู้จักวางแผนไปสู่อนาคตมีคณะทำงานช่วยวิเคราะห์และวางแผนการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ควรจะเป็นทรัพยากรของโรงเรียน
-
มีแหล่งทรัพยากรพอเพียง อันได้แก่ ห้องสมุด ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องวิชาการ อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนการกีฬา ฯลฯ
-
ประสิทธิภาพของฝ่ายบริการ ฝ่ายบริการของโรงเรียนมักประกอบด้วย แผนกจัดซื้อ วัสดุ อุปกรณ์ การเรียนการสอน แผนกซ่อมบำรุง แผนกการเงิน การเบิกจ่ายของเพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอน ตลอดจนการซ่อมบำรุงโดยเร็วฉับพลัน ย่อมทำให้ขบวนการจัดการเกิดประสิทธิภาพ
-
บริเวณโรงเรียน อาคารเรียน และสถานที่ประกอบการเรียน บริเวณโรงเรียนตลอดจนอาคารสถานที่ทุกแห่งภายในโรงเรียนสะอาด เรียบร้อย จัดไว้เป็นระเบียบ นักวิจัยที่ได้ทำการวิจัย เรื่องประสิทธิผลของโรงเรียนมีความเห็นว่าโรงเรียนที่ขาดคุณภาพมักจะมีเศษขยะเรี่ยราดเศษกระดาษกลาดเกลื่อน มีรอยขีดเขียนคำหยาบคายตามฝาผนังห้องน้ำและฝาผนังตึก มีร่องรอยที่แสดงว่ามีการทำลายสมบัติของโรงเรียนสิ่งสาธารณูปโภคอยู่ในสภาพใช้การไม่ได้เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม โรงเรียนที่มีคุณภาพ มักจะเห็นได้ชัดจากความสะอาดทั่ว ๆ ไปเป็นจุดเด่น บริเวณน่าอยู่น่าอาศัย ซึ่งแสดงว่ามีการเอาใจใส่ที่จะสร้างบรรยากาศของความสะอาดขึ้นโรงเรียนประเภทดังกล่าวมักจะมีต้นไม้สีเขียวขจีไปทั่วทำให้เกิดความร่มเย็น
วิธีดำเนินการปรับปรุงภาวะแวดล้อมและบรรยากาศของโรงเรียน
ในปี 1985 Eugene Howard ได้ทำโครงการ 5 โครงการ เพื่อศึกษาวิธีการดำเนินการปรับปรุงบรรยากาศโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ และพบว่ามีขั้นตอนในการดำเนินการปรับปรุงจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งพอสรุปได้ 8 ขั้นตอน ดังนี้
-
ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ
คณะกรรมการเฉพาะกิจเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ซึ่งจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะทำงานเป็นชุด ๆ ไป โครงการนี้ควรได้รับความเห็นชอบจากคณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง มีการประเมินผลเป็นระยะ ผู้ปกครอง นักเรียน และครู ที่สนใจควรได้รับเชิญร่วมเป็นกรรมการได้
-
รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการผิดปกติของโรงเรียน ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ หาได้จากคณะครู นักเรียน ผู้ปกครอง การออกแบบสอบถามเป็นเทคนิคที่สำคัญเพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง (โรงเรียนอาจจ้างผู้เชี่ยวชาญ หรือนักทำวิจัยการศึกษา ช่วยออกแบบสอบถาม และเก็บข้อมูลก็ได้)
-
ปลุกจิตสำนึกของคณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง ควรจัดให้มีการทำ workshop เป็นชุด ๆ ไป สำหรับคณะครู และผู้ปกครอง นอกจากนี้แล้วควรจัดกิจกรรมนอกสถานที่ เช่น เยี่ยมโรงเรียนที่เคยประสบปัญหาดังกล่าวมาแล้วแต่บัดนี้ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพขึ้น
-
การประเมินบรรยากาศของโรงเรียน มีการประเมินบรรยากาศของโรงเรียนในด้านลบและด้านบวกตามหลักเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนดมาให้ในตอนต้น
-
ระดมสรรพกำลังความคิด และจัดหาอันดับความสำคัญ พร้อมทั้งวางแผน เมื่อมีการทำ workshops เกิดขึ้นตามข้อ 3 แล้ว คณะครู นักเรียน และผู้ปกครองควรใช้ข้อมูลที่ได้มาจาก workshop นั้น ๆ และจัดอันดับความสำคัญ เพื่อวางแผนปรับปรุงไปทีละขั้น
-
แต่งตั้งคณะทำงาน เมื่อมีการจัดอันดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วนแล้ว จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานเป็น ชุด ๆ ไป หัวหน้าคระทำงานแต่ละชุดควรอยู่ในคณะกรรมการเฉพาะกิจที่กล่าวถึงในข้อ 1
-
วิธีการจัดการของคณะทำงาน คณะทำงาน ต้องรายงานเป็นประจำต่อครู่ใหญ่ หรือผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะกรรมการเฉพาะกิจถึงความก้าวหน้าในงานที่รับมอบหมาย
-
การประเมินผล คณะกรรมการเฉพาะกิจจะรวบรวมข้อมูล การรายงาน และตีความหมายผลการวิเคราะห์พร้อมกับสังเกตการปรับปรุงบรรยากาศของโรงเรียนที่กำลังเกิดขึ้น
ข้อสังเกต
ขั้นตอนทั้ง 8 ขั้นตอนนั้น ควรจะมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของโรงเรียนในประเทศไทยตามกรณี และสภาพความพร้อมของท้องถิ่น เช่น บทบาทของผู้ปกครอง ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะไม่มีบทบาทอย่างออกหน้าออกตาในสังคมไทยในชนบทหรือในบางท้องที่ การที่ผู้ปกครองบางโรงเรียนยังไม่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการปรับปรุง ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนไม่อยู่ในฐานะที่จะปรับปรุงคุณภาพของตน ผู้บริหารและคณะครูยังเป็นแกนสำคัญที่สุดที่จะดลบันดาลให้มีการปรับปรุงแก้ไข และเพิ่มประสิทธิภาพ ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดี
อีกประการหนึ่ง ขั้นตอนทั้ง 8 ขั้นตอนนั้น อาจจะมีการปรับให้ลดน้อยลงหรือเพิ่มมากขึ้นตามกรณี สิ่งที่ควรเน้นในเรื่องนี้คือ โรงเรียนต้องมีคณะกรรมการเฉพาะกิจรับผิดชอบการปรับปรุงบรรยากาศของโรงเรียน และมีวิธีเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้
*เป็นการบรรยายตอนหนึ่ง ในการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิก วันที่ 29 สิงหาคม 2531.
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ