ปัญหาการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน ป. 1*
นักการศึกษาหลายคนมีความเห็นว่า วิธีการสอบคัดเด็กเข้าเรียน ป. 1 เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ยุติธรรมต่อเด็กแล้ว ยังก่อให้เกิดความวุ่นวายแก่ผู้ปกครองอีกมากมาย การรับเด็กเข้าเรียน ป. 1 ได้กลายเป็นปัญหาสำหรับสังคมของคนกลุ่มหนึ่งไปเพราะเรื่องของ “ค่านิยม” และอุปสงค์กับอุปทาน
ตราบใดที่ยังไม่มีที่เรียนเพียงพอกับความต้องการของผู้ปกครองกลุ่มที่มี “ค่านิยม” พิเศษกว่าคนอื่น ตราบนั้นการเข้าเรียน ป. 1 จะยังคงเป็นปัญหาอยู่ตลอดไป
เราลองหันมาพิจารณาดูโรงเรียนที่เป็นตัวปัญหาว่าเขามีวิธีการรับเด็กเข้าเรียน ป. 1 อย่างไร บางทีจะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาและหาทางแก้ไขได้บ้าง หรือช่วยให้เรา “ทำใจ” ได้
โรงเรียนที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย มักมีวิธีการหรือนโยบายรับเด็กด้วยเหตุผลต่าง ๆ หลายประการ อาทิ
-
โรงเรียนดังกล่าวเหล่านั้นมักเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งมานานนับสิบปี บางแห่งเป็นร้อยปีก็มี จึงมีภาระผูกพันมากมายกับบรรดาศิษย์เก่า
-
โรงเรียนมีภาระผูกพันกับผู้มีอุปการคุณต่อโรงเรียน เช่น บริจาคเงินสร้างอาคารเรียน สมทบทุนสวัสดิการครู ให้อุปกรณ์การสอนการเรียนแก่โรงเรียน และอื่น ๆ เพราะลำพังค่าเล่าเรียนตามที่ สช. อนุญาตให้เก็บได้ไม่พอกับรายจ่ายของโรงเรียน
-
โรงเรียนให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่มีพี่เรียนอยู่แล้ว
นอกจากนี้ โรงเรียนจะพิจารณาเด็กที่ผู้ใหญ่บางท่านฝากมา “ผู้ใหญ่” ในที่นี้หมายถึงผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมือง และฝ่ายศาสนจักร นี่คือธรรมชาติของสังคมไทยโดยทั่วไป เพราะผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองสามารถดลบันดาลให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นได้ และเป็นไปได้
ในกรณีที่โรงเรียนมีที่ว่างเหลือ โรงเรียนก็จะสอบคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถทั้งการเขียนและเชาว์ปัญญา ถ้าหากจำนวนที่เรียนมีมากกว่าความต้องการแล้วปัญหาทั้งหลายที่นักการศึกษาบางคนและคนบางกลุ่มชอบวิพากษ์วิจารณ์ถูกบ้าง ผิดบ้าง โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงก็คงไม่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นปัญหาที่น่าจะพิจารณากันก็คือ ควรใช้วิธีการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน ป. 1 แบบใด จึงจะดีที่สุด ถูกวิธีที่สุด ยุติธรรมที่สุด? ควรใช้วิธีจับฉลากดังที่โรงเรียนบางแห่งปฏิบัติกันอยู่หรือ? หรือใช้วิธีสัมภาษณ์เด็กเพื่อวัดความพร้อมของเด็กอย่างเดียว ถ้าจะใช้วิธีวัดความพร้อม ควรวัดความพร้อมด้านใดบ้าง? ด้านสังคมอย่างเดียว หรือวัดด้านวิชาการด้วย?
บางคนได้เสนอให้เลิกระบบ “สิทธิพิเศษ” ในการคัดเด็กเข้า ป. 1 ข้อเสนอนี้เป็นไปได้แค่ใด? เป็นไปได้ไหมถ้าจะไม่พิจารณาบุตรของศิษย์เก่าเป็นพิเศษ? เป็นไปได้ไหมถ้าจะเลิกระบบสิทธิพิเศษแก่ลูกผู้มีอุปการคุณ? ถ้าเลิกพิจารณาลูกของผู้มีอุปการคุณในไม่ช้าโรงเรียนก็ต้องปิดตัวเอง เพราะไม่มีเงินพอที่จะดำเนินการหรือถ้าจะดำเนินการต่อไป ก็จะต้องประสบกับปัญหาเรื่องคุณภาพและในที่สุดก็ถึงวาระต้องปิดตัวเองไปโดยปริยาย
เพราะฉะนั้นปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ใช่จะหาคำตอบได้ง่าย นักการศึกษาที่มีเจตนาบริสุทธิ์ ควรจะมองปัญหาต่าง ๆ ให้รอบคอบ ก่อนที่จะเขียนประนามใครต่อใคร เราก็ทราบดีว่าไม่มีผู้บริหารคนใดที่ยังมีสติสัมปชัญญะอยู่ ยอมรับนโยบายที่จะนำไปสู่จุดอวสานของตนเองในที่สุด
คราวนี้ ลองมาพิจารณาการอนุบาลศึกษา ซึ่งมีผลสนองตอบรับการคัดเลือกเด็กเขา ป. 1 ในปัจจุบัน เรายังไม่มีรูปแบบอนุบาลศึกษาที่แน่ชัด ผลการวิจัยของนักวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับโดยเด็ดขาด ใครที่เคยอ่านหนังสือ “กว่าจะถึงอนุบาลก็จะสายเสียแล้ว” คงชอบให้ลูกของตนเรียนหนังสือโดยเร็วที่สุด คนประเภทนี้ชอบ ร.ร.อนุบาลที่สอนอ่าน สอนเขียน สอนคิดเลขเป็น และยังสอนภาษาต่างประเทศอีกด้วย ใครที่ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีดังกล่าว ก็ชอบ ร.ร.อนุบาล แบบสอนเฉพาะชีวิตสังคม ไม่มีการเรียนวิชาใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีเหตุผลน่าฟังทั้งนั้น เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผู้เขียนเคยพาผู้ใหญ่ของ สช. ไปดูการอนุบาลศึกษา ณ นครสิงคโปร์ สิ่งที่นักการศึกษาของ สช. รู้สึกพิศวงงงงวยก็คือ ได้พบว่าเด็กอนุบาลที่โรงเรียนแห่งที่ไปดูนั้น พูดภาษาอังกฤษกับครูเวลาคุยกับเพื่อนในชั้นพูดภาษามาเลย์ และพูดภาษาจีนเมื่ออยู่บ้าน เด็กอนุบาลเหล่านั้นสับสนไหม? งงไหม? ครูของเด็กตอบปฏิเสธ ตามความเห็นของผู้เขียนแล้วเด็กนักเรียนสิงคโปร์มีมาตรฐานวิชาการสูงกว่าของไทย เมื่อเทียบอยู่ในระดับเดียวกัน นักเรียนมัธยมปลายของเขาสอบเทียบ G.C.E. A level ของกรุงลอนดอนด้วย
เราหาคำตอบได้หรือยังว่าวิธีคัดเลือกเด็กเข้า ป. 1 วิธีที่ดีที่สุดคืออะไร? ข้าพเจ้าเข้าใจว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือวิธีของวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักวิชาการจะต้องแสวงหาให้พบ คงจะต้องใช้เวลาอีกนานพอควร ในขณะนี้วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรให้ผู้ปกครองมีอิสรภาพเป็นผู้ตัดสินใจเลือกระบการศึกษาให้ลูกของตน
*หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ