บทบาทของสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทยในการพัฒนาการศึกษาของชาติ*
ในแวดวงการศึกษาเรามักจะได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษา ผู้ปกครองวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรซึ่งส่วนใหญ่มักจะออกมาในรูปหลักสูตรเก่าดีกว่าหลักสูตรใหม่ หลักสูตรใหม่ไม่คำนึงถึงด้านคุณลักษณะหรือหลักสูตรใหม่ทำให้เด็กแย่ลงไม่มีการพัฒนาทางด้านสติปัญญาเนื้อหาวิชาอ่อน
จากคำกล่าวดังกล่าว ทำให้เราได้ทราบความรู้สึกความคิดเห็นว่า ยังมีครูบาอาจารย์และผู้ปกครองอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรซึ่งเป็นปัญหาทำให้มองดูว่าระบบการศึกา หลักสูตร การเรียนการสอนตามแนวใหม่ไม่บรรลุผลตามที่ต้องการ
ในหลักสูตรได้วางหลักการและจุดหมายไว้อย่างชัดเจนซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ แต่เราจะมาพิจารณากันว่า หลักสูตรในแต่ละระดับมีจุดเน้นอะไรบ้างและมีปัญหาอย่างไรเพื่อที่ว่าเราจะได้พิจารณาว่า สภาฯ ควรจะมีบทบาทเข้าไปร่วมแก้ไขและพัฒนาอย่างไรบ้างซึ่งจะขอแยกกล่าวเป็นระดับดังนี้
-
ระดับประถมศึกษา หลักสูตรประถมศึกษามีจุดเน้นพิเศษที่น่าสนใจก็คือ การเรียนของกลุ่มวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ซึ่งเป็นวิชาบังคับสำหรับนักเรียนทุกคน เนื้อหาที่เรียนจะประกอบด้วย งานบ้าน งานเกษตร งานประดิษฐ์ และงานช่าง อันจะเป็นผลจงใจให้เด็กหันมาสนใจเรียนวิชาชีพ มีลักษณะนิสัยและเจตคติที่ดีต่ออาชีพและรักการทำงาน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับเด็กในการประกอบอาชีพต่อไป ซึ่งกลุ่มวิชานี้เป็นปัญหามากสำหรับผู้ปกครอง ผู้ปกครองส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า การเรียนวิชานี้จะทำให้เด็กหญิงกลายเป็นชาย เด็กชายกลายเป็นหญิง ควรจะยกเลิกหลักสูตรนี้เสีย เพราะงานที่ครูมอบหมายให้เด็กทำนั้นไม่ได้ส่งเสริมเอกลักษณ์ของตัวเด็กเอง เช่น ให้เด็กผู้ชายทำงานใบตอง งานเย็บปักถักร้อย งานปรุงอาหาร ซึ่งเป็นงานของผู้หญิง และยังเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ปกครองในการที่จะต้องช่วยบุตรหลานทำงานที่ครูมอบหมายให้เพราะเด็กไม่สามารถทำได้ ถ้าไม่ทำให้เด็กก็ไม่ยอมไปโรงเรียนกลัวครูลงโทษ จะเห็นได้ว่าเด็กไม่ได้ฝึกทักษะอะไรเลยแต่ความจริงแล้วหลักสูตรไม่ได้มุ่งเน้นที่จะฝึกอาชีพอย่างจริงจังหรือจนมีฝีมือดีเยี่ยมตามที่ครูและผู้ปกครองเข้าใจ หลักสูตรเพียงแต่ต้องการฝึกเด็กของเราทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงที่จะเป็นพลเมืองดีมีคุณค่าของชาติให้สามารถทำงานอะไรก็ได้ เพื่อปลูกฝังให้เขามีนิสัยรักงานไม่ดูถูกเหยียดหยามงานเสียตั้งแต่เด็ก ปัญหาการใช้หลักสูตรกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพแตกต่างจากปัญหาการใช้หลักสูตรกลุ่มอื่นก็ตรงเรื่องค่านิยมของคนในสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง คนส่วนมากมักมองเห็นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงฐานะทางสังคมประกอบกับสังคมก็ยอมรับผู้จบการศึกษาระดังสูงให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานดีกว่าผู้จบการศึกษาระดับต่ำ ฉะนั้นเมื่อผู้ปกครองส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียนในโรงเรียนจึงมุ่งหวังที่จะให้ลูกหลานได้เรียนต่อในระดับสูง เพื่อออกไปเป็นเจ้าคนนายคนหรือทำงานที่สบาย อีกทั้งผู้ปกครองยังไม่เข้าใจเรื่องหลักสูตร จึงไม่ยอมรับการจัดการเรียนการสอนของกลุ่มประสบการณ์ที่มิใช่วิชาหนังสือ อย่างไรก็ตามขอให้เข้าใจว่าหลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 นั้นเป็นหลักสูตรที่จัดทำเพื่อมวลชนหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่ง 81% อยู่ตามชนบท และประมาณกว่า 50% ที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา ความคาดหวังของหลักสูตรต้องการให้ผู้เรียนที่เรียนจบการศึกษาระดับนี้แล้วเป็นคนดีมีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ รวมทั้งมีประสบการณ์และความชำนาญในการทำงานที่จะเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตต่อไป แต่ขอให้ทุกท่านอย่าลืมนึกถึงความสำคัญของกลุ่มอื่น ๆ ที่จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาภูมิปัญญา เช่น กลุ่มทักษะ ซึ่งประกอบด้วย ภาษาไทย คณิตศาสตร์ สำหรับภาษาไทยนั้น เรามักจะได้ยินว่าเด็กจบ ป. 6 แล้วอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จุดที่เราควรจะพิจารณานั้นก็คือว่ามีสาเหตุมาจากอะไร มาจากหลักสูตรหรือผู้นำหลักสูตรไปใช้ ซึ่งก็คือตัวครูนั่นเอง อย่างไรก็ตามขอให้เราคำนึงถึงคุณภาพของประชากร เพราะถ้าประชากรของชาติขาดความรู้ความสามารถก็เป็นการยากที่เราจะพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าตามอารยประเทศ
-
ระดับมัธยมศึกษา หลักสูตรของระดับมัธยมแบ่งวิชาออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ วิชาบังคับและวิชาเลือก ซึ่งหลักสูตรนี้มีข้อดีและข้อจำกัดของการใช้ดังนี้
ข้อดีของหลักสูตร
-
นักเรียนมีโอกาสเลือกเรียนวิชาตามความต้องการของตน แล้วถ้าการเลือกนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องก็จะทำให้เด็กประสบความสำเร็จในการเรียน
-
นักเรียนจะได้เรียนอย่างสนุก และมีความหมายเพราะเป็นการเรียนตามความสนใจของตนเอง และวิชาที่เลือกเรียนนั้นสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตสามารถนำไปใช้ได้ทันทีไม่ต้องรอจบการศึกษา
-
นักเรียนจะมีเป้าหมายในการเรียนมากขึ้น เพราะได้มีโอกาสคิดตลอดเวลาว่าตนควรจะเลือกเรียนวิชาอะไร เพราะเหตุใด
-
เป็นการเตรียมให้เด็กรู้จักลู่ทางในการประกอบอาชีพอย่างจริงจังหลังจากจบการศึกษา
ข้อจำกัดของการใช้หลักสูตร
-
ผู้ใช้หลักสูตรยังไม่สามารถปรับสภาพความเคยชินที่ได้รับแต่คำสั่งหรือความเคยชินที่เคยปฏิบัติมานานปีได้ ไม่สามารถวินิจฉัยแม้ว่าจะมีโอกาส ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะให้กระทรวงเป็นผู้ตัดสินให้
-
โรงเรียนของเรามีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดเล็กขาดความพร้อมหลายอย่าง เช่น ครูไม่พอ ไม่มีครูเฉพาะทำให้เปิดวิชาให้นักเรียนเลือกได้น้อย
-
โรงเรียนมักจะตัดสินในเองว่าวิชาใดไม่สำคัญ จึงละทิ้งหลักการให้นักเรียนเลือกโรงเรียนมักจะเลือกแล้วบังคับให้นักเรียนเลือกเรียน
-
การจำกัดเขตการศึกษา เป็นการเปิดโอกาสนักเรียนในการเลือกสถานศึกษาเลือกแผนการเรียนเพราะโรงเรียนในเขตที่นักเรียนเรียนอยู่นั้นอาจไม่มีวิชาเลือกที่เขาต้องการเลย
-
โรงเรียน ไม่เปลี่ยระบบให้สอดคล้องกับการเลือกเรียน เช่น ให้นักเรียนทุกคนเรียนเท่ากันหมด
จากข้อดีและข้อจำกัดของหลักสูตรทำให้เรามองเห็นถึงปัญหาของหลักสูตรในระดับนี้ว่าขึ้นอยู่สิ่งต่อไปนี้
-
โรงเรียน การที่โรงเรียนมักจะจัดแผนการเรียนที่ประกอบด้วยวิชาสามัญเป็นส่วนใหญ่ให้นักเรียนเรียนโดยอ้างว่าเพื่อเป็นประโยชน์ของนักเรียนที่จะไปสอบเข้าในระดับสูงขึ้นไป เพราะวิชาที่โรงเรียนเลือกให้เป็นวิชาที่ต้องใช้ในการสอบเข้าศึกษาต่อ ซึ่งเป็นความจริงตามที่โรงเรียนอ้างแต่มีผลเสียเกิดตามมาก็คือ ทำให้โรงเรียนกวดวิชาเข้ามามีบทบาทและดูเหมือว่า ผู้ปกครองก็พร้อมและพยายามที่จะให้ลูกของตนได้เรียนพิเศษหรือกวดวิชาเพื่อที่จะได้แข่งขันกับผู้อื่นได้ แทนที่โรงเรียนจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้กลับมีทีท่าส่งเสริม ซึ่งแท้จริงแล้วการศึกษาในระบบปกติวันหนึ่ง 6-7 ชั่วโมงนั้น นับว่ามากเพียงพอกับชีวิตทางหนังสือของเด็กปรกติแล้ว เวลาที่เหลือควรเป็นทบทวนทำการบ้านและพักผ่อน ทำงานอดิเรกที่จะให้คนมองเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น
-
ครู ในที่นี้จะกล่าวถึงวิธีการสอน ครูซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลักสูตรไม่บรรลุจุดมุ่งหมายคือวิธีการสอนของครูในโรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่ยังยึดถือการสอนแบบเก่า ไม่เชื่อว่าการสอนแบบใหม่จะทำให้การเรียนประสบผลสำเร็จอีกทั้งเป็นกลวิธีที่ง่าย ๆ ทำให้ไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้เหนื่อยและเสียเวลา ประกอบกับการเตรียมการสอนที่ดีก็ไม่ทำให้ได้ดี สู้คนที่สอนน้อยแต่มีเวลาว่างทำกิจกรรมที่จะทำให้ผู้อ่นมองเห็นผลงานได้ชัดเจนกว่าไม่ได้จึงทำให้กลวิธีการสอนใหม่ ๆ ไม่ค่อยได้รับการขานรับเท่าที่ควร การวัดผลประเมินผลของครูก็กำลังจะออกนอกลู่นอกทาง จะขอยกตัวอย่างประกอบ นักเรียนที่สอบวิชาภาษาไทยไม่ผ่านจุดประสงค์ ครูให้นักเรียนซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด นักเรียนสอบวิทยาศาสตร์ไม่ผ่านให้ซื้ออุปกรณ์วิทยาศาสตร์มาส่ง และถ้านักเรียนสอบวิชาตะกร้อไม่ผ่านก็ให้ซื้อตะกร้อมาส่งเหล่านี้เป็นต้น ซึ่งตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง การวัดผลและประเมินผลกระทำเพื่อจะดูความรู้พื้นฐานของผู้เรียน
-
ผู้ปกครอง ก็พ่อแม่นั่นเอง ผู้ปกครองนักเรียนจำนวนมากหรือเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ ตั้งความหวังไว้ว่าจะให้บุตรหลานของตนเรียนต่อในระดับสูง จึงทำให้โรงเรียนต้องจัดแผนการสอนในลักษณะที่จัดวิชาสามัญมากกว่าวิชาชีพ เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ปกครอง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าครูเป็นผู้ที่มีบทบาทและเป็นผู้ที่สร้างสรรค์และพัฒนานักเรียน ผู้ปกครองนั้นคือผู้เสริมสร้างทางชีวิตที่ถูกต้องให้กับบุตรหลานอย่างถูกทางครูจะสร้างสรรค์และพัฒนาชีวิตของผู้อื่นได้ เมื่อใจได้พัฒนาให้เจริญเต็มที่ หัวใจครูจึงควรเป็นเช่นนี้
-
หัวใจครู คือหัวใจเพชร มุ่งมั่น มานะ เด็ดเดี่ยวต่อสู้ ฯลฯ
-
หัวใจครู คือหัวใจแก้ว เมตตา กรุณา อ่อนโยน สุภาพ ละมุน ละไม คอยประคับประคอง ชักจูงปกป้องเป็นที่พึ่งของศิษย์รัก ฯลฯ
-
หัวใจครู หรือหัวใจทองคำ ความทนทาน เที่ยงแท้ มั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย ใฝ่ดี ฯลฯ
-
หัวใจของครู คือ หัวใจมรกต สีเข้ม วาวซึ้งเป็นประกาย ให้ความชื่นบาน มีแต่ความรัก ความรู้ความเอาใจใส่ ความเข้าใจ ฯลฯ
ครู คือคนทำสวน โรงเรียน คือสวนบุปผชาติที่งามสะพรั่ง
เด็ก ๆ คือต้นไม้ที่มีค่าแต่ละต้น เขาเป็นมนุษย์มีชีวิต มีหัวใจ
ครูกำลังสร้างสรรค์ ความรู้ ความคิด ความดีงาม ความสามารถ ความสมบูรณ์พูนสุข ให้แก่เด็ก ๆ เหล่านี้
ข้อความข้างต้น ศาสตราจารย์ สุมน อมรวิวัฒน์ ได้กล่าวไว้อย่างรู้ซึ่งถึงธรรมชาติและจิตใจของเด็ก ซึ่งขอฝากเป็นข้อคิด เพื่อสร้างจิตครูสู่ศิษย์รัก
*บทความใน วารสาร สารสัมพันธ์ ฉบับพิเศษ สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย, 2530.
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ