ค่านิยมพื้นฐานและค่านิยมสัมพันธ์ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 

ภราดาประทีป ม.โกมลมาศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

เราคงคิดว่าโลกมันจะสิ้นกระมังเพราะว่าเราแต่ละคนสับสน คนเคร่งศาสนาซึ่งใครๆ ถือว่าต้องมีศีลธรรม แต่ก็มาฆ่าตัวตายและเรายังได้ยินว่าคนเคร่งศาสนาในอินเดียคลั่งศาสนาทะเลาะกัน และฆ่าตัวตาย นอกจากนี้เรายังเคยเห็นหนังสือพิมพ์พาดหัวว่า สมภารท่านหนึ่งไปฟ้องตำรวจให้มาจับพระลูกวัดเพราะว่าไปขโมยของของท่าน เราได้ยินได้เห็นแล้วเราก็เศร้าใจ เรื่องอะไรทำนองนี้มีให้เห็นให้ได้ยินมากมายในสังคมโลกของเราที่ผ่านมา ซึ่งเราคงคิดว่าสังคมโลกของเรานี้คงไม่สบายมากๆ หรือโลกจะสิ้นกระมัง เราฟังแล้วรู้สึกสลดใจ เยาวชนฟังแล้วรู้สึกสับสน นี่เป็นแค่เพียงตัวอย่างแปลกๆ ที่มีนัยเชิงจริยธรรมและศีลธรรมทั้งสิ้น 

การกล่าวถึงค่านิยมทางจริยธรรมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมก็คงจะต้องพูดถึงเรื่องการให้การศึกษาเรื่องค่านิยมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผู้เขียนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะได้มาพูดเรื่องนี้กันใหม่ ในวงการศึกษาทั่วๆ ไป ในเวลานี้หลายประเทศหันมาเน้นเรื่อง Value Education เรื่องค่านิยมศึกษากันใหม่ เมื่อสมัย 10 ปีก่อนนี้ คนก็โจมตีว่าการศึกษาที่ดีไม่ควรสอนเรื่องค่านิยม เพราะเมื่อ 10 กว่าปีแล้วคนคัดค้านมากกว่าจะเป็นวิทยาการศึกษาที่แท้จริงแล้วมันต้องเป็น Value Free เขาถามว่า Is education value free or not? นักวิชาการกลุ่มดังกล่าวจะแนะว่าการศึกษาที่บริสุทธิ์ต้องไม่เจือด้วยลัทธิความเชื่อถือของชนกลุ่มใด นักวิชาการกลุ่มหนึ่งก็คิดว่า ครูบาอาจารย์ต้องวางตนเป็นกลาง ไม่ต้องสอดแทรกค่านิยมอะไรหรือความนึกคิดของตนใส่ลงไป เพราะถือว่าสิ่งนั้นเป็นอคติ ซึ่งในโลกของวิชาการนี้ถือเรื่องของความเป็นกลางมาก แต่ในชีวิตจริงนั้นความเป็นกลางควรมีหรือไม่? เช่น สมมติว่าเราชอบเรื่องของพิธีไหว้ครู เราชอบเราก็เห็นว่านี่คือ Value ของเรา นี่คือค่านิยมของฉัน เพราะฉะนั้นสถาบันใดชอบเรื่องการไหว้ครู ก็ถือเป็นเรื่อง สำคัญเป็นค่านิยมแบบ absolute ไม่ทำไม่ได้ สถาบันนั้นก็ต้องหาวิธีการถ่ายทอดและปลูกฝังค่านิยมแบบนี้ให้แก่สังคมของตน โดยนัยนี้ เราเห็นว่ามีคนสองกลุ่มเกิดขึ้น กลุ่มที่ยึดถือค่านิยมแบบนี้ก็พยายามบังคับให้คนอีกกลุ่มหนึ่งถือตามนักวิชาการบางกลุ่มในอดีตมีความเห็นว่า การบังคับให้ถือตามปฏิบัติตามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การศึกษาที่บริสุทธิ์ต้องเป็น value free education การศึกษาที่ดีนั้นต้องสามารถสอนเยาวชนหรือคนที่รับการศึกษานั้นไปคิดเอาเองว่า อะไรควรจะมี อะไรควรจะไม่มีมากกว่า อะไรควรถือ อะไรไม่ควรถือ 

แต่ในปัจจุบันผู้เขียนสังเกตว่าในหลายประเทศเป็นต้นภาคพื้นเอเชีย เมื่อคนรู้สึกว่าอารยธรรมของตนถูกรุกรานด้วยอารยธรรมตะวันตก เขาก็เริ่มตื่นตัวกันใหม่ด้วยเรื่องการให้การศึกษาด้านจริยธรรม ผู้ใหญ่ของเรามักพูดเสมอว่าอารยธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศเรามากมาย ทำให้เด็กของเราเสีย คือ คนไทยของเราจำนวนมากคิดอย่างนั้นผู้ใหญ่ก็คิดว่าเด็กไทยเสีย เพราะอารยธรรมตะวันตกหลั่งไหลมาสู่เรา ในขณะเดียวกันมีคนบางคนเริ่มสงสัยว่าที่อ้างอย่างนั้นถูกหรือเปล่า ว่าอารยธรรมของเขาหลั่งไหลเข้ามาทำให้เด็กของเราเสียจริงหรือเปล่า? แต่ส่วนใหญ่คิดว่าเด็กเราเสียหรือสังคมเราเปลี่ยนแปลงไปในทางไม่ดี เพราะอารยธรรมของภายนอกหลั่งไหลเข้ามา เราจึงเห็นว่ามีคนหลายกลุ่มหาวิธีการป้องกันไม่ให้อารยธรรมของคนอื่นหลั่งไหลเข้ามาเพื่อป้องกันไม่ให้อารยธรรมของเราเปื้อนหมองไป

ด้วยเหตุนี้กระมังในยุคนี้นักการศึกษาจึงเริ่มกลับมาใหม่ กลับมาพูดถึง Value Education กันอีกว่าเป็นสิ่งที่น่าจะศึกษากันอย่างจริงจัง เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมมนาที่ประเทศฟิลิปปินส์ และพบว่าเขากำลังสนใจเรื่องนี้มาก ความจริงนั้นในสมัยหนึ่ง เมืองไทยเราเคยสนใจเรื่องนี้กันมาก ในภูมิภาคเอเชียดูเหมือนนักการศึกษาจำนวนมากเริ่มสนใจกันอีก พวกเราวันนี้ก็พูดเรื่องค่านิยมทางจริยธรรมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะเห็นว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปและมีอะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่คนในสังคมของเราสับสนไม่แน่ชัด เหตุนี้กระมังจึงทำให้เราต้องพูดเรื่องค่านิยมเชิงจริยธรรมกันใหม่หรือเปล่า? เช่น เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต หรือเรื่องของความถูกต้อง เมื่อเร็วๆ นี้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวว่าปลัดกระทรวงผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการสอบสวนพฤติกรรมอันมิชอบของข้าราชการคนหนึ่ง และท่านประธานในที่ประชุมได้ตัดสินให้ข้าราชการคนนั้นถูกลงโทษถูกออกจากราชการ แต่แล้วไม่กี่วันต่อมา รัฐมนตรีสั่งให้สอบสวนประธานที่ตัดสิน และดูเหมือนถูกสั่งย้ายไปแล้วเราก็สับสนว่าเพราะเหตุใดประธานที่มาสอบสวนเรื่องพฤติกรรมอันมิชอบของข้าราชการกลับถูกรัฐมนตรีสั่งย้าย พฤติกรรมมันแปลก ตัวผู้พิพากษากลับถูกพิพากษาเองเพราะกล้าตัดสินใจ เราอ่านแล้วฟังแล้วก็สับสน ในสังคมเช่นนี้ความถูกต้องอยู่ที่ไหน? อย่างนี้เป็นต้น 

ก่อนที่จะกล่าวถึงประเด็นต่างๆ เรื่องค่านิยมทางจริยธรรมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไป ผู้เขียนขอทำความเข้าใจในเรื่องของค่านิยมเสียก่อน เพราะถ้าเราไม่ตีความหมายเรื่องค่านิยมให้ถูกต้องแล้วเราจะสับสน เช่นเมื่อเราพูดถึงเรื่องคอร์รัปชั่น มันก็มีความหมายเชิงศีลธรรม บาปหรือไม่บาป? ผิดหรือถูกประการใด? แต่ถ้าเราพูดถึงการไหว้ครูนี่ก็เป็นค่านิยมเหมือนกัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องผิดหรือบาป มันเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือไม่ควรปฏิบัติ เมื่อเราพูดถึงว่าเมื่อสมัย 50 ปีก่อนหญิงไทยเราใครเป็นสาว พอแตกเนื้อสาวก็ต้องกินหมาก เพื่อบอกให้ชาวบ้านทราบว่าฉันเป็นสาวแล้ว เมื่อ 50 ปีก่อนค่านิยมคืออะไร? กินหมากให้ปากแดง แต่เดี๋ยวนี้ค่านิยมไม่ใช่กินหมาก ผู้หญิงแตกเนื้อสาวนิยมใช้ลิปสติกทาปาก ค่านิยมกินหมากได้เปลี่ยนไปเป็นทาปากแล้ว เป็นต้น 

         ค่านิยมนี้ในบางครั้งมันมีความหมายเชิงศีลธรรม แต่ในบางครั้งมันมีความหมายเชิงประเพณี 

สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยสมัยนี้ มันเหมือนกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอเมริกาเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว ในอเมริกาเมื่อยุคเกือบ 100 ปีที่แล้วจอห์น ดิวอี้ นักการศึกษาคนดังของอเมริกาได้เสนอทฤษฎีเรื่อง progressive education ขึ้นมา และดิวอี้ตั้งคำถามว่า education คืออะไร โดยดิวอี้ให้คำตอบว่า Education is Growth คือการเจริญเติบโต การพัฒนาขึ้นไป คนที่ยึดถือประเพณีนิยมในยุคนั้นก็โจมตีและคัดค้านไม่เห็นด้วยกับพวกหัวยุคใหม่ และไม่ว่าปัญหาอะไรจะเกิดขึ้นในสังคม พวกที่ยึดประเพณีนิยมหรือพวกหัวเก่านี้ก็จะโทษการศึกษาว่า เพราะจะไปนำระบบสมัยใหม่มาใช้คือ Modern Education หรือที่เรียกว่า Progressive Education เป็นเหตุให้สังคมวุ่นวาย พวกหัวเก่าคือพวก Traditionalist ซึ่งจะเห็นว่าแบบเดิมดีอยู่แล้ว เพราะค่านิยมแบบเดิมนี้ถูกกำหนดมาโดยไม่มีใครกล้าถาม เช่น เรื่องของการไหว้ครู ประเพณีไหว้ครูผิดหรือถูกคนจะไม่กล้า Question เพราะถูกกำหนดมาแล้วเป็นร้อยปีพันปีเถียงไม่ได้ เช่นนี้ เป็นต้น

เมื่อพูดถึง progressive education หรือการศึกษาสมัยใหม่ก็จะพูดถึงเรื่องการศึกษาที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงการก้าวหน้าไม่เหมือนเดิม และเมื่อพูดถึงการพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นไปก็หมายถึงการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน สังคมเราเหมือนกัน เมื่อก่อนทำแบบหนึ่งแต่แสดงว่าทุกสิ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เดี๋ยวนี้ทำอีกแบบหนึ่งแล้วค่านิยมเชิงจริยธรรมนั้นมันควรจะเปลี่ยนแปลงไปไหม? 

เมื่อพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมกับค่านิยมก็มีประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์และวิพากษ์มาก กล่าวคือสังคมที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงต้องยึดค่านิยมของตนเอาไว้อย่างเหนียวแน่นเด็ดขาด สิ่งที่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงนี้มันจึงอยู่อย่างนี้จริงหรือเปล่า? ทุกยุคทุกสมัยเป็นอย่างนี้หรือเปล่า? บางคนก็อ้างว่าประเพณีของเขาอยู่มาพันกว่าปี จริงหรือ? เมื่อ 2000 ปีที่แล้วอาจไม่เคยเกิดขึ้นมาก็ได้ เพิ่งเกิดมา 1000 ปีนี้เอง เพราะฉะนั้นถ้าการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ความจริง ค่านิยมก็เป็นสิ่งที่กำหนดมาแต่ดึกดำบรรพ์ เถียงไม่ได้ต้องปฏิบัติ ทีนี้ลองพิจารณาประเพณีโกนจุกเป็นกรณีศึกษาดู มีอยู่สมัยหนึ่งเราถือประเพณีโกนจุก เดี๋ยวนี้เราถือประเพณีนี้อีกหรือไม่? สมัยก่อนเขาทำอย่างนั้นแต่สมัยนี้ไม่มีคนโกนจุกกันอีก บางประเทศถือประเพณีเคร่งครัดมากใครไม่ถือจะถูกอเปหิจากสังคม ประเพณีของเขากลายเป็นค่านิยมเด็ดขาด (absolute value) มัน fixed ตั้งแต่ 1000 ปี ชั่วนิรันดรก็ว่าได้ เขาถือเขาอย่างนั้น เช่น แขกซิกต้องโพกศีรษะ ไม่โพกไม่ได้ เป็นตัดลูกตัดพ่อกัน ผมรู้จักเด็ก ABAC คนหนึ่งเป็นพวกแขกซิก เมื่อพบเขาที่อเมริกา ก็เห็นว่าเขาเลิกโพกศีรษะแล้ว จึงถามและได้ความว่าเขาพบความอิสระในอเมริกาก็เลยไม่โพกเพราะมันรำคาญ เขาขอร้องไม่ให้ถ่ายรูปของเขาเพราะเกรงพ่อจะเห็น เพราะพ่อบอกถ้าเลิกโพกหัวเมื่อไหร่ จะถูกตัดออกจากกองมรดกไม่ต้องเป็นพ่อเป็นลูกกันอีก เพราะสำหรับเขาการโพกศีรษะเป็นเครื่องหมายแสดงว่า เขาเป็นผู้นับถือพระเจ้า นี่คือ value คือค่านิยมที่ไม่มีใครเหนืออีกแล้ว เพราะฉะนั้นค่านิยมของเขาเป็น absolute value เป็นค่านิยมสูงสุด อย่ามา question ใครที่ question ต้องตายลูกเดียว คนประเภทนี้ถือว่า change ต้องไม่เกิด 

ค่านิยมแบบนี้เป็นสิ่งที่ทางปรัชญาเรียกว่า Metaphysically Determine คือ ถูกกำหนดมาแล้วชั่วนิรันดรและเป็น absolute แย้งไม่ได้ ถ้าสังคมถืออย่างนี้ก็ต้องวางระบบการศึกษาให้มันสอดคล้องกัน เรื่องอื่นก็เป็นอย่างนั้นในสังคมเช่นว่านี้ ถ้าการศึกษาถูกจัดระบบอย่างนี้เพื่อยืนหยัดถึง value หรือค่านิยมอันนี้แล้วสังคมประเภทนี้จะเปลี่ยนแปลงน้อยมาก สังคมประเภทนี้จะเกลียดคนที่จะเปลี่ยนแปลงค่านิยมของเขา เขาต้องทำทุกอย่างเพื่อป้องกันลูกหลานไม่ให้ถูกอิทธิพลจากสังคมอื่นครอบงำ สังคมแบบนี้มีข้อห้ามมาก ห้ามไอ้โน่น ห้ามไอ้นี่ ในสหรัฐอเมริกาคนบางหมู่บ้านเป็นแบบนี้ก็มี และถือเคร่งประเพณีมาก เช่น พวก Amish ที่รัฐเพนซิลวาเนีย เป็นต้น พวกนี้ห้ามแม้แต่ไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน เพราะถือว่าไฟฟ้านั้นเป็นผลผลิตคิดค้นของผีปีศาจมารร้าย เขายึดพระคัมภีร์เป็นหลัก ในพระคัมภีร์ไม่มีพูดถึงเรื่องไฟฟ้าไว้ พระคัมภีร์พูดถึงตะเกียง พูดถึงเทียนไข เพราะนั้นในสังคมของพวกนี้ ทุกวันนี้พวกชาว Amish ไม่มีไฟฟ้าใช้และไม่ต้องการใช้ ใช้เทียนไขแทน ทุกวันนี้สังคมของเขาห้ามรัฐบาลมาตั้ง Public School ในหมู่บ้าน เพราะเกรงจะมาเสี้ยมสอนลูกหลานให้หัวเป๋ไป การศึกษาของเขาเป็นเรื่องของพ่อแม่ให้เอง เป็นสังคมเกษตรแบบ extreme เวลาไปขายของที่ตลาด เขาห้ามลูกไปอยู่นานเพราะเกรงลูกจะไปเห็นสิ่งไม่ดีไม่งามเอาอย่างคนเมือง แล้วสังคมเขาจะเสียหมด พวก Amish ห้ามคนภายนอกเข้าไปในหมู่บ้านของเขา เพราะเกรงจะมาเผยแพร่ลัทธิแปลกให้คนในหมู่บ้านเห็นผิดเป็นถูก เห็นไหมในโลกเรานี้ในประเทศที่เจริญแล้วยังมีของแปลกๆ ให้ดู

ฉะนั้นถ้าสังคมเลือกระบบอย่างนี้ ก็ต้องจัดระบบการศึกษาให้เป็นไปสอดคล้องกับความเชื่อถือของเขา ผู้เขียนจำได้ว่าที่รัฐเพนซิลวาเนีย พวก Amish เคยขึ้นศาลแล้วและรัฐเป็นผู้แพ้ เรื่องมีอยู่ว่ารัฐบาลบังคับเอาพวกเด็กไปเรียนที่ Public School ใกล้ๆ นั้นเอง แต่พ่อแม่ไม่ยอมเพราะกลัวลูกจะเสียคน กลัวเดี๋ยวลูกจะเอาวัฒนธรรมแปลกปลอมติดมา พ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกไปโรงเรียนของรัฐจึงฟ้องศาล ศาลตัดสินให้พ่อแม่ชนะให้รัฐบาลแพ้ 

ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งจริง และค่านิยมเป็นสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมาและเป็นสัมพันธภาค (relative) ถ้าเป็นอย่างนี้ การศึกษาจะต้องเปลี่ยนแปลงสอดคล้องตามไปด้วย ถ้าดูประวัติศาสตร์ไทยยุคใหม่จะเห็นว่า เมืองไทยยอมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นสมัยใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่ม Modernisation เกิดขึ้น รับวิชาการแบบตะวันตกเข้ามา การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดจนการแต่งตั้งแบบไทยก็ค่อยพัฒนาไป การเปลี่ยนเเปลงของสังคมไทยมีการยอมรับมากขึ้น ผลของการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเป็นจริง และค่านิยมของเราดูเหมือนว่าไม่ใช่สิ่งที่กำหนดมาจากดึกดำบรรพ์ แต่สังคมยุคนั้นเป็นต้นคิดขึ้นมาและปรับให้เข้ากับกาลสมัย คือ เป็น realistic reality สังคมเป็นผู้เปลี่ยนให้เข้ากับความเป็นจริง ในสังคมเช่นว่านี้ การศึกษาจะต้องถูกจัดให้สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างเวลานี้ค่านิยมอันใหม่คือความเป็นประชาธิปไตยคนไทยยุคนี้จึงเกลียดเผด็จการเอามากๆ นี่เป็น value ใหม่ใช่หรือไม่? แต่คนทุกคนในสังคมเห็นคล้อยตามหรือเปล่า? เราได้ยินเสียงร้องทุกข์เสมอว่าเลือกตั้งทีไรได้ สส. ไม่ดีเข้าสภามาก มีคนอีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าแบบเดิมดีกว่า อยากได้รัฐบาลแต่งตั้งแบบของคุณอานันท์มากเพราะทำอะไรดูจะถูกใจคนจำนวนมาก แต่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง สิ่งนี้อะไรผิดอะไรถูก? ไหนบอกว่า อยากได้ประชาธิปไตย แต่พอได้รัฐบาลเลือกตั้งมากลับไม่ชอบด่าว่าทุกวัน เเต่แบบที่ไม่เลือกตั้งมากลับชอบ มันก็เกิดความสับสน จะเอาอะไรกันแน่ มันอยู่ที่ว่าสังคมไทยเราอยูระหว่างสอง extremes ไม่ใช้ซ้าย สุดหรือขวาสุดไปเลย สังคมไทยดูเหมือนชอบทางสายกลางมากกว่า คือพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงแต่ยังมีอะไรบางอย่างซึ่งเรานิยมไม่อยากเปลี่ยนแปลง อยากเก็บไว้บ้าง และจุดนี้เเหละที่สถาบันการศึกษาจะต้องช่วยกันคิดว่าอะไรคือ value ของเรา อะไรเป็นค่านิยมหรือคุณค่าเชิงวัฒนธรรม เชิงศาสนาเชิงศีลธรรม เชิงประวัติศาสตร์ที่เราอยากจะเก็บเอาไว้เรามาคิดดูซิว่าอะไรจะเก็บกันไว้ และอะไรไม่เก็บไว้ กลุ่มนี้ต้องการอย่างนี้ กลุ่มนั้นไม่ต้องการอย่างนั้น ก็เถียงกันตายอยู่นั่นเอง ในทุกวันนี้ท่านจะเห็นว่าความสับสนที่เกิดขึ้น มาจากการหาข้อยุติไม่ได้ อย่างรายการมองต่างมุม ท่านเห็นไหมว่าข้อคิดและเหตุผลของเเต่ละคนนั้นดูจะถูกทั้งนั้น แต่เราก็รู้ว่าความจริงควรมีสิ่งเดียว บ่อยครั้งเราหาคำตอบไม่ได้ ความถูกความผิดอยู่ตรงไหน? เยาวชนฟังเเล้วมันสับสน ความจริงอยู่ตรงไหน! แล้วใครจะบอกและแนะนำเยาวชน? ให้เขาใช้วิจารณญาณหรือ?

ในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์เราต้องมีหลักคิดของตนก่อน ต้องปรึกษากันก่อนว่าจุดยืนของเรามันคืออะไรกันแน่ เราจะได้ให้ความหมายที่ถูกต้องหรือชี้นำชี้แนะที่ถูกต้องแก่นักศึกษาได้ แต่การชี้นำชี้แนะมันเกิดปัญหาเหมือนกัน เราอาจจะชี้นำชี้แนะตามอคติที่เรามีอยู่ ของฉันก็ว่าของฉันถูก ของคุณว่าคุณถูก แล้วคนอื่นเขาก็ว่าของเขาถูก เเล้วใครถูกกันแน่? สัจธรรมมีอยู่สิ่งเดียว มี 2 สิ่งไม่ได้ สิ่งนี้ขาว สิ่งนั้นดำ แล้วคุณบอกว่าทั้ง 2 เป็น สัจธรรม ได้อย่างไร? ความถูกต้องมีสิ่งเดียว แต่อะไรคือสิ่งที่ถูก เพราะแต่ละคนก็อ้างของตัวถูก เพราะฉะนั้นเราต้องมาอภิปรายกัน แลกทรรศนะกัน จึงจะหาข้อยุติได้ ซึ่งอาจเป็นสัจธรรมที่เราแสวงหาก็ใด้ เพราะถ้าเราให้แบบของเราแบบเดียวโดยไม่ฟังใครหมด โดยยึดว่าของเราถูกแต่ผู้เดียว เป็นผู้รู้เรื่องวัฒนธรรมแต่ผู้เดียว อีกฝ่ายหนึ่งอาจจะไม่ยอมรับ ต้องพิจารณาด้วยกัน ถ้าพูดเรื่องการศึกษาแล้ว พวกที่เป็นอนุรักษ์นิยมหรือว่าเป็นประเพณีนิยมก็มักจะเชื่อว่า เป้าหมายของชีวิตนั้นถูกกำหนดมาแล้ว เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนตามแผนที่กำหนดมา ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่นในสหรัฐอเมริกา เมื่อตอนที่นักการศึกษาถกเถียงกับจอห์น ดิวอี้ ด้วยเรื่องปรัชญาของการศึกษา พวกอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย เชื่อว่าเป้าหมายของชีวิตพระเจ้าได้ทรงกำหนดไว้แล้ว เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องจัดให้สอคคล้องกับความเชื่อถือนี้ แต่พวกนักการศึกษาหัวก้าวหน้าไม่เห็นด้วยกับปรัชญาความคิดดังกล่าว เขาเห็นว่าการศึกษาควรช่วยให้คนมีความคิดอิสระมีเสรี รู้จักแก้ปัญหาชีวิตเองเป็น ทั้งสองฝ่ายก็เกิดแตกแยกทางความคิค เราก็รู้ว่าในอดีตนั้น การแตกแยกทางความคิดก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งจนถึงกับฆ่ากัน ก็มาจากเรื่องการตีความกันคนละอย่างในเรื่องศาสนา ชาวยุโรปสมัยแรกที่อพยพมาอยู่อเมริกาก็เพราะเรื่องแตกแยกทางความคิดเกี่ยวกับศาสนา เมื่อมาอยู่ในอเมริกาแล้ว พวกที่เคร่งศาสนาก็พยายามถ่ายทอดความเชื่อถือของตน โดยทางสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย เช่น Harvard หรือ Columbia ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยผู้ที่ยึดมั่นในศาสนาทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องสร้างมหาวิทยาลัยและโรงเรียนของตนขึ้นมา โดยไม่ผูกติดกับความเชื่อถือของคนกลุ่มใด จึงมีการห้ามสอนเรื่องของศาสนาในสถาบันการศึกษาของรัฐเพราะรัฐทำตนเป็นกลาง รัฐธรรมนูญอเมริกันจึงเขียนบ่งชัด เรื่องการแยกตัวระหว่างรัฐกับศาสนจักรโดยสิ้นเชิง Seperation of church and state ให้ศาสนาเป็นเรื่องของส่วนบุคคล และรัฐไม่ให้เงินสนับสนุน สถาบันการศึกษาของศาสนา ทุกวันนี้ในอเมริกาพ่อแม่จำนวนมากมีการเคลื่อนไหว เช่น ตอนที่จอร์ช บุช กำลังหาเสียงเลือกตั้ง พ่อแม่ของจอร์ช บุช ให้เงินอุดหนุนโรงเรียนที่เรียกว่า Private School และโรงเรียน Parochial Schools (โรงเรียนของศาสนา) ซึ่งเป็นโรงเรียนของคาทอลิกมีนักเรียนประมาณ 5 - 6 ล้านคนเห็นจะได้ เหตุผลที่พ่อแม่ยังต้องการให้ลูกของตนเรียนในโรงเรียนเอกชนและในโรงเรียนของศาสนาก็เพราะพ่อแม่เหล่านี้ต้องการถ่ายทอดความเชื่อถือ ค่านิยมและวิถีชีวิต เนื่องจากในสถาบันดังกล่าวมีการสอนเรื่องค่านิยม ซึ่งเป็น value ที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกมี ฉะนั้นจึงขอให้จอร์ช บุช หาเงินสนับสนุนโรงเรียนเอกชนให้ได้ แต่มันผิดรัฐธรรมนูญของอเมริกา ทำไมพ่อแม่กลุ่มนี้ไม่ชอบโรงเรียนรัฐบาล! เหตุผลก็คือโรงเรียนรัฐบาลไม่มีการสอนเรื่องศาสนา ซึ่งเป็นค่านิยมเป็นวัฒนธรรมของเขา ดังนั้นการต่อสู้ทางความคิดก็คงมีอยู่ต่อไป และนี่ก็คือ สังคมในระบอบประชาธิปไตย คือต้องฟังความคิดของคนส่วนใหญ่ และต้องยึดถือความเป็นกลางในเรื่องของความคิดเห็น

สำหรับประเทศไทยเรานั้นปัญหาทำนองนี้ไม่เกิดขึ้น เพราะเราใจกว้าง และใช้นโยบายถ้อยทีถ้อยอาศัย เรายอมรับการพัฒนา การเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกันเราก็อยากอนุรักษ์ค่านิยมบางอย่างเอาไว้ ส่วนพวกที่รักความก้าวหน้า พวก progressive ก็เข้าใจว่า การศึกษาน่าจะเป็นอย่างนี้ คือการเพิ่มสมรรถภาพของปัจเจกบุคคลและของสังคมที่จะกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองเข้าไปด้วย คนยุคใหม่คิดอย่างนี้ การศึกษาที่ดีที่ถูกต้องน่าจะเป็นการศึกษาที่สามารถให้คนที่รับการศึกษาเช่นนักเรียน นักศึกษา สามารถกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองได้ ไม่ใช่ใครที่ไหนมากำหนดให้ตน แต่ถึงเเม้สังคมเราส่วนใหญ่จะมีแนวคิดเป็นสมัยใหม่ก็ตาม เราก็ยังหวงแหนค่านิยมบางประการและเทิดทูนไว้ เช่น ค่านิยมเรื่องชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นค่านิยมเเบบ absolute ไม่มีใครโต้แย้งได้ พวก progressive ในยุคของจอห์น ดิวอี้ คิดว่าการศึกษาที่แท้จริงที่ถูกต้อง คือการให้คนได้รับการศึกษา มีสมรรถภาพที่จะกำหนดซะตาชีวิตของตน กำหนดจากอะไรล่ะ? กำหนดจากประสบการณ์ในอดีตที่มนุษย์เคยมีมา โดยวิธีการ Critical lntelligence คือการใช้ปัญญาเชิงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะว่า CriticaI lntelligence นี่สำคัญมาก การศึกษาต้องให้คนสามารถมี CriticaI Mind วิพากษ์วิจารณ์เป็น วิเคราะห์สังเคราะห์เป็น ในทุกวันนี้นักวิชาการเน้นกันมาก การที่จะเป็นอย่างนี้ได้ก็ต้องจัดระบบการศึกษาให้เอื้อต่อ CriticaI Thinking เราจึงพบว่าเด็กยุคใหม่มักชอบสงสัยและชอบ Question ผู้ใหญ่ 

ในปัจจุบันเราพบว่า สื่อมวลชนหลายเเขนงมักอ้างคำสอนของพระพุทธเจ้าในกาลามสูตรที่ทรงตรัสว่า อย่าเชื่อเพราะเขาบอก อย่าเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ อย่าเชื่อเพราะคนนั้นพูดคนนี้พูด ให้พินิจพิเคราะห์ใช้วิจารณญาณด้วย ตัวเองก่อน คำสอนนี้เข้ากับ Progressive Education ได้ดีคือ มนุษย์ที่มีปัญญาต้องมีสมรรถภาพที่สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนได้จากประสบการณ์ในอดีต และจาก Critical lntelligence ปัญญาเชิงวิพากษ์ วิจารณ์ วิเคราะห์ ตามหลักพระพุทธเจ้าจะนำไปสู่สัจธรรมที่แท้จริง และเรายุคใหม่ก็คิดว่าคงเป็นอย่างนั้น ถ้าจะให้ใครไปบังคับต้องเชื่ออย่างนั้นต้องเชื่ออย่างนี้ รู้สึกจะมีปัญหา 

โดยนัยนี้ การศึกษาจึงหมายถึง การเจริญเติบโตก้าวหน้า (Education is growth) คือ การเปลี่ยนแปลง การพัฒนาการก้าวหน้าเหมือนต้นไม้ที่เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ออกจากดินมีใบเดียว สองใบ สิบใบ จนเป็นหมื่นใบ เป็นต้นใหญ่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา โดยนักเรียนนักศึกษาของเราต้องสามารถใช้ปัญญาแก้ปัญหาชีวิตของตนได้ ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยวิธีการกระโดดให้รถเมล์ทับตาย แต่มันเป็นข้อขัดแย้งหรือเปล่า ที่ว่าคนที่ฆ่าตัวตายทุกวันนี้มีการศึกษาจบปริญญาก็มี แก้ปัญหาชีวิตโดยวิธีการทำอัตตวนิบาตกรรมต่อตัวเองก็มีหลายคน ซึ่งต่างกับชาวไร่ชาวนาที่ไม่มีการศึกษาแบบใหม่ รู้สึกว่ามีสุขภาพจิตดีไม่เป็นข่าวทำนองนี้ แต่ว่าคนมีการศึกษากลับเป็นข่าวให้เห็นบ่อยๆ การศึกษาที่ถูกต้องควรช่วยให้คนมีค่านิยมเชิงศีลธรรมแบบไหนบ้าง? นี่เป็นปัญหาที่น่าคิด

เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาเรื่องการแก้ปัญหาแล้ว เราเห็นว่าปรัชญาความคิดของจอห์น ดิวอี้ นั้นถูก จริงอยู่พวกอนุรักษ์นิยมในอเมริกาไม่เห็นด้วยกับท่านจอห์น ดิวอี้ ในยุคนั้น เเต่ก็มีนักการศึกษาจำนวนมากเชื่อตามปรัชญาของท่าน การสอนให้เยาวชนมี Critical lntelligence นั้นดีกว่าการสอนให้เชื่อตาม และโดยนัยนี้มันเป็นวิถีทางที่จะเพิ่มพูนสมรรถภาพที่เรียกว่า Self Direction การสามารถนำตนไปสู่ทิศทางชีวิตที่ถูกต้องที่ควรจะเป็น จะเห็นว่าในยุคปัจจุบันสังคมไทยเรามีการสะท้อนความคิดทำนองนี้ไปสู่เยาวชนมาก เยาวชนจำนวนมากไม่อยากให้พ่อแม่กับครูบาอาจารย์วุ่นวายชีวิตส่วนตัวของเขามากมายเกินไป พ่อเเม่บางคนยุ่งกับลูกมากเกินไป แม้แต่การฉลองวันเกิดลูกก็กำหนดให้ลูกต้องทำตามขั้นตอนทุกกระเบียดนิ้ว เป็นที่อึดอัดแก่ลูกมากก็มี บางครอบครัวแบบอนุรักษ์นิยมมักมองเห็นสังคมรอบข้างเปลี่ยนแปลงไปทางลบหมด เกรงลูกจะเสียผู้เสียคน ถึงกับทำตนเป็นผู้ถือศีลกินเจโดยเคร่งครัดเพื่อต่อต้านสังคมโดยเงียบๆ ก็มี เมื่อหลายเดือนที่แล้วมีละครทีวีเรื่องหนึ่งที่สะท้อนสังคมบางส่วนของเราได้ดี เรื่องมีอยู่ว่าคุณแม่แก้ปัญหาชีวิตส่วนตัวโดยวิธีการกินเจนุ่งขาวห่มขาวตามวันเวลาที่ตนยึดถือปฏิบัติ คุณแม่อยากให้ลูกสาวแต่งงานกับคนรวยที่ตนหมายมั่นแต่ลูกสาวไม่ชอบ แม่จึงคอยหาเรื่องจับผิดด่าว่าลูกเสมอ แม่นั้นทำตนเป็นผู้ยึดมั่นในศาสนาถือศีลกินเจให้คนเห็นว่าเธอใจบุญสุนทาน แต่สุดท้ายลูกก็พบว่าเวลาแม่ไปวัดไปกินเจไปทำพิธีที่โบสถ์นุ่งขาวห่มขาว แต่ก็ไปฟังพวกคุณหญิงทั้งหลายที่ไปกินเจนินทาว่าร้าย เอาเรื่องโน้นเรื่องนี้ซุบซิบนินทากัน และเรื่องทั้งหลายที่เอามาด่าลูกของตนนั้น ได้มาจากการไปร่วมถือศีลกินเจตามวัดนั้นๆ ทั้งสิ้น ลูกรู้สึกว่าแม่ถือศีลอย่างไรไม่ทราบกลับมาจากวัดทีไรมาหาเรื่องลูกทุกที เพราะไปฟังข่าวที่วัดจากแม่เหล่านั้นที่กินเจถือศีล และเด็กก็บอกว่าถือศีลกินเจแบบนี้น่าขบขัน มันก็ถูกของเด็กมัน ผู้ใหญ่ก็ต้องคิดเหมือนกัน เพราะเด็กพูดสิ่งที่ถูกก็ถูกเหมือนกัน นี่เป็นเพียงพฤติกรรมบางอย่างที่ต้องการให้ทุกคนเห็นว่าเป็นค่านิยมที่ทุกคนเห็นว่าฉันเป็นคนดี ก็ต้องเอาอะไรมาสวมมาใส แต่งขาวขึ้นมาให้เป็นผู้บริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์มันมาจากจิตใจไม่ใช่ผ้าขาว ในสังคมเราผู้เขียนสังเกตมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ถือปฏิบัติกันเป็นแต่เพียงเปลือกภายนอก ไม่ใช่แก่นแท้ของศาสนา แก่นแท้ต้องมาจากจิตใจที่บริสุทธิ์ไม่ใช่การตบแต่งภายนอก 

ฉะนั้นการศึกษาที่ถูกต้องควรสอนให้คนคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ปรับตนเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อสังคมเราเปลี่ยนแปลงกะทันหันรวดเร็ว เราก็ควรเน้นการสร้างค่านิยมเชิงศีลธรรมที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือการมี Critical Intelligence มากกว่า เพื่อเยาวชนจะได้มี Self Direction ถึงต้องพูดเรื่องทฤษฎีค่านิยม (Theory of Value) ด้วยทฤษฎีค่านิยมนี้คล้าย ๆ กับที่ได้อธิบายมาตอนต้น พวก (Traditionalist) ก็บอกว่าค่านิยมของเขาไม่เปลี่ยนแปลง ครอบครัวของเราหลายครอบครัวก็เป็นอย่างนี้ ก็เห็นใจท่านเพราะท่านถืออย่างนั้นมา เช่น สงกรานต์ต้องรดน้ำไม่รดน้ำไม่ได้ ทุกวันนี้ก็เห็นว่าประเพณีนี้เริ่มมีการฟื้นฟูกันใหม่ เมื่อ 20 ปีก่อนดูเหมือนหายซบเซาไป เเต่วันสงกรานต์ปีนี้เริ่มมีแนวคิดใหม่ เช่น ขอร้องไม่ให้สาดน้ำกันเพราะน้ำหายาก ซึ่งควรถือประเพณีที่แท้จริง คือ ใช้น้ำประพรมแทน วันสงกรานต์คือวันแผ่เมตตาแผ่ความรักมากกว่าสาดน้ำกัน เราก็เลยหันกลับมาปรับค่านิยมกันใหม่ ไม่ใช่สงกรานต์สาดน้ำลูกเดียว อันนี้tป็นตัวอย่างค่านิยมบางอย่างที่เราอยากจะให้มีอยู่ต่อไป เราจะต้องมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ถ้าคิดแบบการศึกษายุคใหม่แล้วละก็ เป้าหมายของชีวิตมีหลากหลาย มันขึ้นอยู่กับครอบครัวแต่ละครอบครัวแต่ละสังคมที่จะตัดสินใจเองว่า จะถือขนบธรรมเนียมประเพณีเเบบไทยอย่างไร ถือแบบลักษณะใดตามสถานการณ์

มีครอบครัวหลายครอบครัวที่พ่อแม่ไม่พูดกับลูกก็เพราะเรื่องการถือประเพณี เพราะพ่อแม่คิดว่าเป้าหมายชีวิตมีอยู่อันเดียวที่พ่อแม่เคยถือมาก่อน เจ้าต้องทำอย่างนี้ไม่อย่างนั้นก็ตัดพ่อตัดลูกกันไม่ดีการต่อรอง นี่เป็นแบบ absolute เด็ดขาด มันเหมาะไหม? ครูบาอาจารย์เป็นเหมือนผู้นำ ผู้ชี้นำชี้แนะเเก่นักศึกษาควรจะยึดหลักการใด? เราจะเป็นแบบ absolute ไหม? เราคงไม่ทำอย่างนั้น เราจะไปโทษว่าสังคมเป็นอย่างนี้เพราะอารยธรรมต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามา มันชั่วร้ายเหลือเกินอาจจะใช่ แต่เรามีวิธีปัองกันไม่ให้มันไหลเข้ามาได้ไหม? มันคงทำไม่ได้ แต่ที่ทำได้ควรทำอะไร? สอนให้เด็กของเรามีความแข็งแกร่งไม่ดีกว่าหรือ? รู้จักเลือกสิ่งที่ถูกอย่างไรให้ถูกต้อง และการทำเช่นนี้ได้เราต้องสอนเด็กของเราให้มีวินัยต่อตนเอง มี Self discipline, Self responsibility รับผิดชอบตนเองให้ได้ แต่การมีวินัยต่อตนเอง รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองจะมีไม่ได้เลย ถ้านักศึกษาของเรา ลูกของเรา เด็กของเราไม่เคยมีโอกาสเลือก (No personal choice) ถ้าในชีวิตของเขาที่เกิดมา พ่อแม่ครูบาอาจารย์ไม่เคยให้เขามีโอกาสเลือก มี personal choice มีโอกาสเลือกจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ผู้เขียนเชื่อว่าเด็กคนนั้นบุคคลคนนั้นจะไม่มีวันรู้จักมีวินัยต่อตนเอง หรือรับผิดชอบต่อตนเองได้เพราะเขาไม่เคยเลือก เขาถูกบังคับให้ทำตามเสมอ วันหนึ่งความอดกลั้นมานานของเขาอาจจะระเบิดออกมาก็ได้ เเละทำสิ่งที่เราทั้งหลายไม่ปรารถนาจะเห็น นี่เป็นเงื่อนไขจะให้เด็กของเรามีวินัยต่อตนเอง มีความรับผิดชอบต่อตนเองต้องให้เขามีโอกาสเลือก แม้เเต่มีโอกาสทำผิด เพราะจากการทำผิดมันก็เป็นบทเรียนได้เหมือนกัน การที่เราจะไปกำหนดค่านิยมโน้น ค่านิยมนี้ทั้งหมดมันคงทำไม่ได้ ถ้าขืนทำก็คงเกิดการขัดแย้งทะเลาะกันตาย ทุกวันนี้เรามีเห็นแล้วว่ามีหลายฝ่ายและเเต่ละฝ่ายอยากกำหนดค่านิยมของตนให้เป็นค่านิยมของสังคมแล้วก็ทะเลาะกันเอง 

เพราะฉะนั้นบทบาทของนักการศึกษาของพวกเราทั้งหลายคือ การสอนให้เด็กของเราใช้ Critical Intelligence เพื่อเขาจะได้มีวินัยต่อตนเอง มีความรับผิดชอบตนเอง คือว่า เราน่าจะมาเน้นเรื่องนี้กันดีกว่า คือ ให้เยาวชนของเราบรรลุถึงวุฒิภาวะเชิงศีลธรรม เมื่อเด็กของเราสามารถมีวุฒิภาวะเชิงศีลธรรมได้แล้วเราก็สบายใจเขาเป็นตัวของเขาเอง เขาตัดสินเองว่าอะไรควรอะไรไม่ควร อะไรผิด อะไรถูก เพราะมันขึ้นอยู่กับการมีวุฒิภาวะเชิงศีลธรรม และอย่าไปคิดว่าเขาจะทำสำเร็จภายใน 4 ปีที่เขาอยู่ในมหาวิทยาลัย คงไม่สำเร็จ แต่เราหวังว่าเมื่อเขาบรรลุถึงความเป็นผู้ใหญ่เเล้ว วันหนึ่งเขาจะทำได้ ใครที่เคยศึกษาเรื่องการพัฒนาทางจริยธรรมของ Kolnbey คงเข้าใจ มีหลายขั้นตอน ขั้นตอนแรกเด็กทำความดีเพราะกลัวจะถูกลงโทษ ขั้นตอนต่อไปทำความดีเพราะมันเป็นสิ่งที่ดีถูกต้องจึงควรทำ ขั้นสูงสุดที่มนุษย์พึงจะบรรลุถึงที่เราเรียกว่า self actualization หรือ self fulfillment ก็คือ เมื่อมนุษย์เห็นว่าสิ่งนั้นคือสัจธรรมถูกต้องแล้วเขาต้องยืนหยัดแม้แต่จะต้องสละชีวิตก็ตาม จะต้องตายก็ยอม อันนี้คือวีรกรรม คือสิ่งยอดสูงสุดที่มนุษย์ชาติจะพึงบรรลุถึง นี่คือศักดิ์ศรีของมนุษย์ ยอมตายเพื่อความถูกต้อง คุณค่านี้จะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลคนนั้นมีวุฒิภาวะเชิงศีลธรรม 


 *ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ