เมื่อไรกรุงเทพมหานครจะสะอาดกันจริงๆ สักที?

สมัยนี้ ใครที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น คงรู้สึกประทับใจในหลายสิ่งหลายอย่างที่บ้านเมืองเราไม่ค่อยมีให้ชมกัน เช่น ความสะอาดของถนนหนทางและบ้านเรือนที่อยู่อาศัยกับระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่น ในการใช้รถใช้ถนน และการข้ามถนน ฯลฯ

ในส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้ามีความสนใจเรื่องของความสะอาดเป็นพิเศษ เช่น การรักษาความสะอาดภายในสถาบันการศึกษา การให้การศึกษาในเรื่องความสะอาดต่อนักเรียนและเยาวชนเป็นต้น จึงอยากรู้ว่าคนญี่ปุ่นนั้นรักษาความสะอาดกันจริงจังแค่ไหน เพราะฉะนั้นการไปประชุมสภาผู้ปกครองแห่งโลกที่ประเทศญี่ปุ่น ณ นครเกียวโตครั้งนี้ ข้าพเจ้าจึงใช้เวลาที่พอจะมีไปออกเดินสำรวจตามตรอกตามซอยต่าง ๆ ที่อยู่ด้านหลังตึกใหญ่ ๆ ของศูนย์การค้าก็พบว่าตรอกซอยต่าง ๆ นั้นสะอาดมากจริง ๆ ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่าว่าชาวบ้านแต่ละบ้านจะรับผิดชอบกวาดเก็บขยะที่อยู่หน้าบ้านของตนจนหมด ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังเดินสำรวจอยู่นั้น ก็เห็นแม่บ้านคนหนึ่งกำลังกวาด เก็บเศษผงชิ้นเล็ก ๆ ที่หน้าบ้านของเธอสมจริงตามคำบอกเล่า และข้าพเจ้าได้ขึ้นรถไปยังย่านศูนย์การค้าต่าง ๆ แล้วก็เดินเข้าไปตามตรอกตามซอย ภาพที่เห็นก็คือความสะอาดมีอยู่ทั่วทุกแห่งหน เศษกระดาษอาจจะมีตกอยู่บ้างนั้นดูจะเป็นของที่หาดูได้ยาก แม้แต่ในย่านศูนย์การค้าเอง

เมื่อการประชุม ณ นครเกียวโตสิ้นสุดลง ข้าพเจ้าก็ขึ้นรถไฟไปยังนครโตเกียวเพื่อขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ อาจารย์ที่ร่วมเดินทางทุกคนต่างออกปากชมความสะอาดภายในรถไฟของญี่ปุ่น และขณะที่รถไฟกำลังแล่นผ่านเมืองต่าง ๆ หรือจอดตามสถานีต่าง ๆ นั้น สิ่งที่ทำให้เราประทับใจมากก็คือ ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ถึงแม้จะอยู่กันอย่างแออัดก็ตาม การเดินทาง 3 ชั่วโมงโดยรถไฟซึ่งแล่นเร็วมากถึง 210 กม./ชม. จากนครเกียวโตถึงโตเกียว ไม่ทำให้เบื่อเลย กลับทำให้เพลิดเพลินเพราะนั่งอย่างสบายอยู่ในรถไฟที่สะอาด ไม่แออัด และได้ชมทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามตลอดทาง ข้าพเจ้าพักอยู่ในนครโตเกียว ซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบันอีก 3 วัน ได้สังเกตเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ข้าพเจ้ากล้าพูดว่า ความสะอาดของบ้านเมืองญี่ปุ่นดูจะเป็นลักษณะเด่น พิเศษของชาติเขา และการจัดระบบการจราจรอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คนญี่ปุ่นมีวินัยในการข้ามถนน มีบางคนบอกข้าพเจ้าว่า ถ้าเห็นคนข้ามถนนผิดที่ ก็จงแน่ใจเถิดว่าคนนั้นเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยิ่งกว่านั้น "ความปลอดภัย" ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเดินทางท่องเที่ยวทั้งหลายพึงปรารถนาที่สุดดูจะมีอยู่ในบรรยากาศทั่วไป ตลอดระยะเวลา 1 สัปดาห์ ในประเทศญี่ปุ่น เรารู้สึกปลอดภัยมาก ไม่ทราบว่าเขามีการปกครองกันแบบไหน มีผู้พิทักษ์สันติราษฏร์กันแบบใด จึงทำให้การบริหารนครใหญ่ ๆ เช่น นครโตเกียว ดำเนินงานไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย ถ้าจะเปรียบกับนครต่าง ๆ ในโลก สถิติอาชญากรรม ในประเทศญี่ปุ่นดูจะต่ำมาก

ความจริงนั้น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเยือนประเทศญี่ปุ่นถึง 4 ครั้งแล้ว และในครั้งนี้สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นยังคงยืนยันรอยประทับใจและข้อสังเกตของข้าพเจ้าในครั้งก่อน ๆ อยู่มิได้เลือนหายหรือเปลี่ยนแปลงไป การมาเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกอยากเปรียบเทียบนครในประเทศญี่ปุ่นกับนครอื่นๆ ที่เคยพบเห็นมาหลายครั้ง เช่น กรุงโรม กรุงปารีส กรุงลอนดอน และนครนิวยอร์ค นครที่เรืองนามของโลก เช่น กรุงโรม และกรุงปารีส หาได้สะอาดเรียบร้อยหมดจดดังนครต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นไม่ นครหลายแห่งในยุโรปดูเหมือนกำลังจะเข้าสู่ยุคเสื่อมโทรมทางวัฒนธรรมอย่างน่ากลัว ในกรุงโรมเองนั้น นอกจากจะสกปรกมีเศษกระดาษและขยะอยู่ทั่วไปแล้ว เราจะเห็นรูปแกะสลัก รูปปฏิมากรรมชิ้นงาม ๆ ตามถนนสาธารณะและอนุสาวรีย์ ถูกพวกใจทรามทุบตีแตกหัก ตามฝาผนังหินอ่อนในที่หลาย ๆ แห่งถูกสีพ่นตราค้อนกับเคียว

หรือคำสาปแช่งอื่น ๆ ทั่วไป ดูแล้วรู้สึกรันทดใจยิ่งที่เห็นนครแห่งศิลปะของโลกต้องตกอยู่ในสภาพเช่นว่านี้ และตัวรัฐบาลเองดูช่างจะหมดสมรรถภาพและประสิทธิภาพเสียเหลือเกิน จนไม่มีน้ำยาจะอนุรักษ์รูปปฏิมากรรมเเละศิลปะต่าง ๆ ในที่สาธารณะให้อยู่ในสภาพเจริญตาเจริญใจได้ ส่วนในกรุงปารีสนั้นเล่า ซึ่งเคยเป็นนครที่มีสมญานามว่า "สวยที่สุดในโลก" กลับมีขยะทิ้งกลาดเกลื่อนในหลายแห่ง ชาวฝรั่งเศสบางกลุ่มมีความเห็นว่า ตั้งแต่รัฐบาลของเขาเป็นสังคมนิยมไป อะไร ๆ ก็ดูจะหย่อนสมรรถภาพลง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความจริง ข้าพเจ้าจำได้ว่าได้บินจากกรุงปารีสไปเมืองนังต์โดยสายการบินของฝรั่งเศสเอง ปรากฎว่า ไม่มีการเสริฟอะไรเลยแม้แต่น้ำส้มแก้วเดียว ส่วนในกรุงนิวยอร์คนั้นเล่า อย่าได้เผลอไปลงรถไฟใต้ดินดังในยุโรปเชียวเพราะนอกจากจะสกปรกที่สุดแล้วยังมีบรรยากาศที่น่ากลัวเหลือพรรณนา ความปลอดภัยไม่มี เมื่อไม่กี่เดือนมานี้นิตยสาร "ไทม์" ยังลงข่าวว่า คนอเมริกันผิวขาวบางกลุ่มถึงกับต้องพกปืนเพื่อป้องกันตัวเมื่อจะไปลงรถไฟใต้ดิน เพราะพึ่งตำรวจไม่ได้อีกแล้ว ข้าพเจ้ามีความเห็นว่านครใหญ่ ๆ ในโลกตะวันตกสะอาดน้อยลงกว่าที่เคยเป็น และในบางแห่งอยู่ในสภาพสกปรกจริง ๆ นั้น คงจะมีสาเหตุมาจากการเดินขบวนประท้วงบ่อย ๆ การก่อวินาศกรรมระรับนานาชาติ และการมีคนต่างด้าวจากโลกที่ 3 อพยพ มาอยู่กันมากมายเป็นแสนเป็นล้านกระมัง?

ส่วนในกรุงเทพมหานครที่รักของเรานั้น สะอาดแค่ไหน? ตามความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว ถนนสายใหญ่โดยทั่วไปจัดว่าสะอาดพอดูได้ (แต่ยังสู้ของญี่ปุ่นไม่ได้) ส่วนเบื้องหลังถนนใหญ่เข้าไปตามตรอกตามซอยนั้น อย่าได้ริอ่านพานักท่องเที่ยวไปชมเลย จะขายหน้าเขามาก เช่น ท่อระบายน้ำ และน้ำครำที่ส่งกลิ่นเหม็น สิ่งปฏิกูลที่สุมเป็นกองมีอยู่ทั่วไป (แม้ในหมู่บ้านจัดสรรบางแห่ง) พร้อมด้วยแหล่งเสื่อมโทรมอีก 200 กว่าแห่ง และคูคลองที่ได้กลายเป็นที่ระบายน้ำโสโครกไม่น่าพิศดูแต่ประการใดเลย ถ้าท่านไม่อยากเดินตามตรอกตามซอยเพื่อสำรวจดูความสะอาดของบ้านเมืองเรา ก็ลองขึ้นรถไฟจากสถานีหัวลำโพงดูบ้างว่า พอรถไฟเริ่มวิ่งท่านจะเห็นความสกปรกอย่างน่าสะพึงกลัวของสองข้างทางระหว่างก่อนถึงยมราช? ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนประทับใจมากจนถึงกับแต่งเพลงฮิตร้องว่า "บางกอกส่งกลิ่นเหม็น" ทางการถึงกับห้ามนำเพลงนี้มาเปิดให้ฟังกันในบ้านเรา

และเราจะทำอย่างไรกันดี จึงจะทำให้บ้านเมืองของเราสะอาด ทั้งๆ ที่เรามีพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2503 กันแล้ว? แต่พระราชบัญญัติดูเหมือนจะไม่มีความหมายประการใดนัก ก็เหมือนกับที่ทางการได้ประกาศเมื่อเร็วๆ มานี้ว่า จะเอาความผิดกับผู้ซื้อและเด็กผู้ขายหนังสือพิมพ์ หรือพวงมาลัยตามถนนสี่แยกนั่นแหละ ทั้งนี้ เพราะเราๆ ท่านๆ มีนิสัยชอบถ้อยทีถ้อยอาศัย ชอบความอะลุ่มอล่วยประนีประนอม ทำจริงบ้างเล่นบ้างตามอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจ แม้แต่เสียงของผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรยังสะท้อนให้เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่าต้องใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ ในเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นว่านี้ เราคงพึ่งกฎหมายไม่ได้แล้ว แต่เราจะยอมปล่อยให้บ้านเมืองของเราสกปรกต่อไปอีกหรือ? หรือว่าเราจะยิ้มสยามภูมิใจอยู่ต่อไปว่า กรุงเทพมหานครไม่ใช่นครที่สกปรกที่สุดในโลก เช่น นครกัลกัตตาของอินเดีย? แต่ทำไมเราไม่คิดอยากติดอันดับเป็นนครที่สะอาดที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนกันบ้าง? หรือเรากลัวจะสู้สิงคโปร์ซึ่งมีสมญานามว่า "Clean and green" ไม่ได้?

ขณะที่ข้าพเจ้าพักอยู่ในนครโตเกียวนั้น บังเอิญได้มีโอกาสสนทนากับข้าราชการผู้ใหญ่ของไทยเราผู้ใหญ่ท่านนี้บอกข้าพเจ้าว่าบุตรของท่านกำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลในโตเกียวและท่านได้บอกต่ออีกว่า รู้สึกประทับใจในการอบรมสั่งสอนของโรงเรียนอนุบาลญี่ปุ่นมาก โดยสังเกตจากพฤติกรรมของบุตรของท่านที่แสดงออกเมื่ออยู่ที่บ้าน เป็นต้นว่า ในเรื่องของความสะอาด นอกจากจะรู้จักทิ้งเศษผงและขยะให้ถูกที่แล้ว บุตรของท่านยังไม่ยอมให้มีสิ่งสกปรกปรากฏในบริเวณบ้านอีกด้วย

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าเราจะต้องเริ่มกันที่การศึกษา ตั้งแต่อนุบาลศึกษาเป็นต้นไป เด็กของเราเมื่อเติบใหญ่จะได้เป็นเยาวชนที่มีนิสัยรักความสะอาดและอยากเห็นสังคมของเราสะอาด เมื่อนั้นบ้านเมืองของเราคงสะอาดจริงๆ กันเสียที แต่ก็อีกนั่นแหละเมื่อมาดูสถิติจำนวนนักเรียนในระบบโรงเรียนแล้วก็พบว่า ยังมีเด็กนักเรียนอีกหลายล้านคนไม่อยู่ในระบบโรงเรียน คือ ไม่เรียนหนังสือ ยิ่งกว่านั้นข้าพเจ้าเกรงว่า ครูอาจารย์ไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องความสะอาด ถ้าท่านไม่เชื่อก็ลองไปเยี่ยมชมโรงเรียนต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครดูบ้างว่า มีสักกี่โรงที่สะอาดตลอดเวลา? เราต้องไม่ลืมว่าสถาบันการศึกษามีภารกิจที่จะต้องถ่ายทอดวัฒนธรรมอันดีงามของบ้านเมือง ข้าพเจ้าได้พิจารณาดูหลักสูตรประถม มัธยม และอุดมศึกษาของญี่ปุ่นแล้ว สังเกตว่าญี่ปุ่นเน้นเรื่องจริยศึกษา และจริยปฏิบัติมาก เป็นต้น ใน 3 เรื่องนี้คือ ความสะอาด ระเบียบวินัย และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนบ้าน โรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่มีการสอนศาสนาในเวลาเรียน เพราะถือเป็นเรื่องของครอบครัวที่จะสอนกันเองตามประเพณีของตน แต่เน้นเรื่องจริยศึกษา (moral education) เป็นพิเศษ ถ้าท่านผู้อ่านไปเยือนประเทศญี่ปุ่น จะรู้สึกฉงนสนเท่ห์เมื่อเห็นวัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนมากมายยืนอออยู่ริมถนน เพื่อรถไฟเขียวจะข้ามถนน ทั้งๆ ที่ไม่มีรถผ่านไปมาขณะกำลังรออยู่นั้น ภาพเช่นว่านี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไป จริงอยู่ปัญหาวัยรุ่นของญี่ปุ่นมีมาก แต่ถ้าเรื่องของความสะอาดและวินัยการข้ามถนนแล้ว เราต้องยอมรับว่าเขาอบรมกันอย่างได้ผลจริงๆ นอกจากนี้แล้วข้าพเจ้าสังเกตว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นมีอัธยาศัยต่อคนต่างชาติดีมากอีกด้วย เช่น เมื่อเราถามหาหนทางเขาจะพาเราไปจนถึงที่ ถ้าเราไม่เข้าใจคำอธิบายของเขา

เมื่อมาพินิจพิเคราะห์ดูธรรมชาติของเด็กไทยและวัยรุ่นของไทยเรา เราก็เห็นว่าเยาวชนของเราเป็นคนสะอาดโดยธรรมชาติ และว่านอนสอนง่ายมากทีเดียว แต่ทำไมเขาไม่รู้จักรักษาความสะอาดบริเวณสถานที่ๆ ตนอาศัยอยู่? ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เด็กและวัยรุ่นเหล่านี้คงได้รับค่านิยมและรับการอบรมอย่างผิดๆ จากครอบครัวของตนเป็นแน่แท้ เด็กนักเรียนจำนวนมากถูบ้านกวาดบ้านทำความสะอาดบ้านไม่เป็น เนื่องจากมีคนใช้คอยทำแทน เด็กบางคนมีนิสัยมักง่ายทิ้งของเรี่ยราดวางของเกะกะไม่เป็นระเบียบ ทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือเศษผงไปทั่ว โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเลย ทั้งนี้ก็เพราะมีคนใช้ทำแทนและก็คงมีชีวิตและความเป็นอยู่แบบง่ายๆ ที่บ้านนั่นเอง ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจมากเมื่อสังเกตเห็นนักศึกษารับประทานขนมแล้วก็ทิ้งเศษขนมและกระดาษห่อไว้ที่ตนนั่งรับประทานโดยไม่มีหัวคิดแม้แต่น้อยที่จะนำเศษที่เหลือนั้นไปทิ้งถังขยะ ทั้งๆ ที่ตนก็นั่งห่างไม่เกิน 3 เมตร ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินคำบอกเล่าว่า นักศึกษาไทยเราในสหรัฐที่มีนิสัยมักง่ายโยนกระป๋องน้ำอัดลมทิ้งไม่ถูกที่เมื่อดื่มหมดแล้วนั้น เคยถูกนักศึกษาอเมริกันต่อว่ากันต่อหน้า ก็มีตัวอย่างมิใช่น้อย เด็กและวัยรุ่นจำนวนมากคิดว่าการหยิบเศษอาหารที่ตนรับประทานเหลือกับเศษใบตองและถุงพลาสติกไปทิ้งถังขยะนั้นเป็นงานของคนใช้เป็นงานต่ำต้อยน่าอาย สิ่งนี้แหละที่ข้าพเจ้าอยากกล่าวว่าเป็นค่านิยมผิดๆ ที่รับมาจากทางบ้าน ข้าพเจ้ายังมีความเห็นอีกว่า ไม่ว่าบิดามารดาจะมีงานมากสักปานใดก็ตาม การอบรมและการให้การศึกษาแก่บุตรยังเป็นหน้าที่ของบิดามารดาอยู่ และไม่มีบิดามารดาคนใดมีสิทธิที่จะประกาศเลิกหน้าที่เป็นพ่อเป็นแม่ได้ การให้คนใช้เลี้ยงลูกดูแลลูกของเรา ไม่ช้าไม่นานเด็กของเราก็จะมีนิสัยเหมือนคนใช้นั่นเอง คงจะไม่แปลกนักกระมังที่จะเห็นลูกผู้มีอันจะกินมีนิสัยเหมือนผู้ที่ขาดการศึกษา ขาดวัฒนธรรม! ถ้าเป็นดังว่านี้ ไม่ทราบว่าอนาคตของบ้านเมืองเราจะเป็นอย่างไร?


*จุลสาร วิทยาลัยอัสสัมชัญฯ ปีที่ 7 ฉบับที่ 27 (มีนาคม-เมษายน 2529).
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ
*จุลสาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC NEWSLETTER ปีที่ 7 ฉบับที่ 27 เดือน มีนาคม-เมษายน 2529 หน้า 9-13