ดนตรีศึกษาปรัชญาที่กำลังเปลี่ยนไป
...สถานภาพของวิชาดนตรีเท่าที่ผ่านมาเป็นวิชาที่ประกอบกิจกรรมสังคม การศึกษาดนตรีผูกติดอยู่กับสถาบันครอบครัว เมื่อระบบการศึกษาย้ายเข้าสู่ระบบโรงเรียนวิชาดนตรีก็กลายเป็นกิจกรรมประกอบหลักสูตร นักบริหารการศึกษามีดนตรี วงดนตรีเพื่อประกอบกิจกรรมอื่น ๆ หาได้ศึกษากันจริง ๆ จัง ๆ ไม่ ครูบาอาจารย์เองก็เข้าใจเอาว่า “ดนตรีไม่เป็นวิชาการ” ทั้ง ๆ ที่เป็นวิชาการเหมือนกับวิชาการอื่น ๆ
ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา การศึกษาดนตรีเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในสายตาของสังคมผู้ปกครองเริ่มส่งลูกหลานให้เรียนพิเศษวิชาดนตรี แต่สภาพการศึกษาดนตรีในโรงเรียนหาได้เปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจปรัชญาการศึกษาวิชาดนตรีของนักบริหารการศึกษาส่วนหนึ่ง ความไม่เข้าใจวิชาการของนักวิชาการดนตรีส่วนหนึ่งและสถานภาพของการดนตรีในสังคมมีคุณภาพต่ำอีกส่วนหนึ่ง ที่ส่งผลให้วิทยาการดนตรีไร้ทิศทางขาดแนวคิดและปรัชญาในการศึกษา แต่ดนตรีได้รับความสนใจในสาขาโฆษณาและพาณิชย์ หาได้ศึกษาดนตรีเพื่อความเจริญของชีวิตไม่ ครูดนตรีท่านหนึ่งโอดครวญให้ผมฟังว่า “ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องเอาอกเอาใจวิชาดนตรี ครูดนตรีหรอก ขอเพียงความเข้าใจปรัชญาการศึกษาดนตรีก็เพียงพอแล้ว”
เมื่อวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2529 สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทยร่วมกับ โรงแรมสยาม อินเตอร์-คอนติเนนตัล จัดให้มีการแสดงดนตรีของเด็กนักเรียนโรงเรียนเซนต์จอห์น เป็นวงของเครื่องเป่าทั้งหมดที่รู้จักในนาม คอนเสิร์ตแบนด์ ซิมโฟนิกแบนด์ หรือ วินแบนด์ ที่แท้คือวงดนตรีที่ใช้เครื่องเป่าเป็นหลัก อาจจะเรียกว่าวง “เครื่องเป่า” ก็คงจะไม่ผิดกติกากระมัง
ก็เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่ได้เห็นเด็กไทยอายุ 10-20 ปี จำนวน 65 คน บรรเลงดนตรีในลักษณะของความงามของเสียงและที่สำคัญ ก็คือเป็นวงดนตรีของโรงเรียนศึกษาดนตรีในลักษณะวิชาการ ซึ่งการเรียนการสอนดนตรีควรจะเป็นระบบการศึกษาไทยเพื่อความเจริญงอกงามของชีวิต โรงเรียนเซนต์จอห์นได้สร้างแบบอย่างการเรียนการสอนดนตรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบริหารการศึกษาไทย
ครึ่งแรกของรายการเป็น “คีตวรรณกรรม” คลาสสิกรุ่นใหญ่ เช่น โมสาร์ต ซูเบิร์ต เวอร์ดี บีโทเฟน ไชคอฟสกี้ เป็นต้น สำหรับครึ่งหลังของรายการเป็นเพลง “ยอดนิยมชวนฟัง” โดยรวมเพลงหลายประเภทคลาสสิก แจ๊ส ดนตรีประกอบภาพยนตร์ และเพลงยอดนิยม
ในส่วนผลงานการบรรเลง เซนต์จอห์นทำได้ดีน่าภูมิใจยิ่ง สำหรับส่วนที่บกพร่องนั้นเมื่อฟังผลงานทั้งหมดแล้ว ความเป็นเด็ก ความเป็นผู้กล้าทำในสิ่งที่ถูกที่ควร ความบกพร่องเหล่านั้นก็สลายไปสิ้น คงเหลือไว้แต่ความภูมิใจความยินดี สมมติว่าโรงเรียนมัธยมฯ ในเมืองไทยมีวงดนตรีแบบเซนต์จอห์นหรือโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สัก 100 วง คาดว่าสุขภาพจิตของคนในสังคมคงจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ และอีก 10 ปี ข้างหน้าเราคงจะมีวงดนตรี นักดนตรีที่มีฝีมือ สร้างผลงานดี ๆ และลดความตึงเครียดสุขภาพจิตของคนในสังคมพอควร อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระจิตแพทย์ (หมอดู) ได้บ้าง...
บทความข้างบนนี้ เป็นข้อคิดบางตอนจากหนังสือพิมพ์ เขียนโดยคุณสุกรี เจริญสุข ความจริงนั้น ดนตรีได้อยู่คู่กับโบสถ์และการศึกษาคาทอลิกเป็นร้อยเป็นพันปีมาแล้วส่วนในประเทศไทยของเรา เมื่อ 50 ปีมานี้เอง เรามีวงดนตรีแบบ Orchestra เป็นวงใหญ่ประกอบด้วยนักดนตรีสมัครเล่นซึ่งเป็นครู นักเรียน และศิษย์เก่าจากโรงเรียนคาทอลิกในสมัยนั้น วง Orchestra นี้เล่นเป็นประจำ ณ วิหารอัสสัมชัญ ในวันที่ 15 สิงหาคมทุกปีจัดให้มีการเล่นละครฉลองการรับประกาศนียบัตรและรางวัลเรียนดี ปรากฏว่าเป็นที่สนใจของบรรดาผู้ปกครองและประชาชนโดยทั่วไป ในยุคนั้นการละครกำลังเฟื่องในบางกอกเพราะไม่มีทีวี ไม่มีสถานเริงรมย์อย่างในสมัยนี้ ส่วนภาพยนตร์นั้นมีแต่ขาวดำให้ชมกันต้องใช้พากย์ นอกจากวง Orchestra แล้วก็มี วงเครื่องเป่าแบบของโรงเรียนเซนต์จอห์นเป็นวงใหญ่มาก มีนักดนตรีถึง 90 คน เล่นได้ยอดเยี่ยมจนเป็นที่กล่าวขวัญของบรรดาคณะทูตรนุทูตและแขกต่างประเทศซึ่งมักจะพักกันอยู่ในย่าน Trocadero ซึ่งเป็น Air Terminal ของเมืองสยามในสมัยก่อน
นอกจากวง Orchestra และวงเครื่องเป่าแล้ว ในวงการโรงเรียนคาทอลิก ปัจจุบันเรายังมีวง Brass Band ซึ่งได้เคยสร้างชื่อเสียงเกียรติประวัติมาแล้ว สมควรจะกล่าวถึงก็คือ วงดุริยางค์ของโรงเรียนมงฟอร์ตเชียงใหม่ ซึ่งเคยชิงตำแหน่งได้เป็นที่หนึ่งของประเทศไทยและของโลก และวงดุริยางค์ของโรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ซึ่งเคยได้ที่ 3 ของประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่คุณสุกรี เจริญสุข ได้พูดถึง และเป็นสิ่งที่ผู้วิจารณ์อยากจะเน้นก็คือ ผู้บริหารโรงเรียนหลายท่านไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษาดนตรี จึงไม่นิยมจัดเข้าไว้ในหลักสูตร ส่วนโรงเรียนที่มีฐานะการเงินพอจะจัดหาสร้างวงดนตรีได้ ก็ไม่ได้ให้การสนับสนุน หรือส่งเสริมการเรียนดนตรี การแสดงดนตรีกันอย่างจริงจัง โรงเรียนใหญ่ ๆ ที่เคยมี Tradition ทางดนตรีมาแล้ว ดูจะเงียบเหงาหายไปจากวงการของคลาสสิก
*จุลสาร สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4 (พฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม 2529).
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ