หัวอกผู้ปกครอง*
ข่าวทางทีวีก็เอามาแพร่ภาพอยู่บ่อยๆในเรื่องที่มีผู้ไปสมัครทำงานครูกันเป็นจำนวนแสนคน เพื่อรับบรรจุในตำแหน่งที่มีอยู่ไม่กี่ร้อยกี่พัน ซึ่งเมื่อผมเอาหัวอกคนเหล่านั้นมาใส่หัวอกผมแล้ว ใจคอมันก็แห้งเหี่ยวไปหมด เพราะความหวังในเบื้องหน้าในเรื่องอาชีพและการทำมาหากินมันเลือนรางเสียเต็มที
นับว่าถึงแต่ละท่าน ที่ได้พากเพียรกันมาจนแทบล้มประดาตาย และส่วนมากก็มิได้เป็นลูกเศรษฐีมหาเศรษฐีอันใดมิได้ ที่มาจากท้องทุ่งเพื่อหลีกลี้จากความยากลำบาก ซึ่งพ่อแม่ได้ประสบมาให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่ก็เยอะ ส่วนท่านเศรษฐีนั้นท่านมิได้เดือดร้อนอันใดเพราะมีกินอยู่ทุกมื้อ
มาฤดูกาลนี้ก็เป็นอีกฤดูกาลหนึ่ง ที่บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งปวงวิ่งกันตีนไขว่เพื่อหาที่เล่าเรียนให้ลูก ใครมีเส้นก๋วยจั๊บเส้นก๋วยเตี๋ยวอันใด ก็นั่งคิดนอนคิดว่าจะแทรกแซงเข้าที่ไหนดี คนไม่มีเส้นก็ได้แต่เอาตีนก่ายหน้าผากว่า กูจะเอาลูกเข้าที่ไหนดีวะ จึงจะทุ่นค่ารถ ทุ่นค่าเรียน และไม่ต้องโยกย้ายหาที่เรียนให้ลูกบ่อยๆ
โรงเรียนรัฐบาลที่ขึ้นหน้าขึ้นตาอยู่นั้นหรือ หากลูกของตนไม่แข็งปั๋งด้วยวิชาการ ซึ่งเขาแบ่งเปอร์เซ็นต์รับเด็กไว้ประมาณ 30% ก็ต้องแข่งขันกันตัวเป็นเกลียว เพราะคนมันมากเหลือเกิน ส่วนอีก 70% นั้น สมาคมผู้ปกครองซึ่งเป็นเอเย่นต์ใหญ่ของโรงเรียนและมีฝีมือในทางซักและรีดเป็นอย่างยิ่ง หรือก็มือหนักเหลือกำลัง
โดยเฉพาะในปีนี้ สำหรับโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ได้ยินนั้น ผมทราบว่า แค่ขั้นเตรียมประถม 1 เท่านั้นนะครับ ประมูลที่เรียนกันฉกาจฉกรรจ์ยิ่งนัก และตัวเลขสูงสุดที่รีดกันไปได้นั้นถึง 30,000 บาท เฉพาะคน
ฉิบหายกันละโว้ย ตั้งแต่ทำราชการมาไม่เคยมีเงินติดกระเป๋าถึงขั้นนี้เลยพับผ่าซีโรงเรียนก็ย่อมอ้างได้ว่า อีชั้นไม่รู้เรื่องด้วย เป็นเรื่องของสมาคมผู้ปกครองต่างหาก แล้วสมาคมดังกล่าวนั้น มันตั้งขึ้นมาได้อย่างไร และมีอำนาจยัดเด็กเข้าไปโรงเรียนได้อย่างไร
หรือใช้วิธีเอาเงินยัดปากตัวโตๆ ผู้บริการกิจการโรงเรียนกระนั้นหรือ โดยเอาเงินที่รีดไถจากผู้ปกครองเด็กนั้นเองยัดมันเข้าไป โดยไม่เคยได้คำนึงถึงว่า ผู้คนที่จะหาเงินมาบวงสรวงเทวดาเหล่านั้นได้ กว่าจะได้มา กว่าจะอดออมมาได้นั้นมันแสนยากแสนเข็ญแค่ไหน
เมื่อจะสอบคัดเลือกเด็กคัดเอาแต่คนที่ปัญญาเลอเลิศหรือไอคิวถึง200ก็สอบคัดเลือก มันเสียให้ถ้วนหน้าไม่เลือกขี้ข้าหรือผู้ดีก็แล้วกัน เพราะเด็กเหล่านั้น ก็เป็นพลเมือง ของชาติเท่าๆกัน และใช่ว่าลูกผู้ดีมันจะฉลาดกว่าลูกขี้ข้าเสมอไปก็หามิได้ที่ระยำๆกันอยู่ในสังคมทุกวันนี้ ก็เป็นลูกผู้ดีน้อยเสียเมื่อไหร่ที่ผมว่านี้ ผมหมายถึงโรงเรียนของรัฐบาล
ส่วนโรงเรียนราษฎร์นั้น ทุกวันนี้ การตั้งโรงเรียนก็เสมือนการลงทุนทางธุรกิจประเภทหนึ่ง เนื่องจากต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากตั้งแต่ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและค่าใช้สอยจิปาถะนับตั้งแต่เงินครูเป็นต้นไป
ให้เงินเดือนและสวัสดิการน้อยก็หาครูดีๆ ที่หวังในอนาคตของตนในอาชีพครูได้ยาก หากจะพลัดหลงมาบ้างก็เอาแค่เพียงเป็นศาลาพักร้อนเท่านั้นเอง
หากจะยกระดับมาให้ทัดเทียมกับของทางราชการ ค่าใช้สอยก็บานแบะออกไปอีก
กระทรวงศึกษาธิการก็สนับสนุนให้เอกชนตั้งโรงเรียนเอกชนกันเยอะแยะ แต่ในขณะเดียวกันก็เอาตีนเหยียบโรงเรียนเอกชนไว้มิใช่น้อย เพื่ออวดอำนาจบาตรใหญ่อย่างที่โบราณว่า
เพื่อสำแดงว่ากูตีนโต โรงเรียนมึงจะใหญ่แค่ไหน พึ่งตนเองได้แค่ไหนก็ไม่ใหญ่ไปกว่าตีนกู
ทุกวันนี้จึงดูประหนึ่งว่า แหล่งปลูกปัญญาให้แก่เยาวชนนั้นสงวนไว้เพื่อคนมีเงินเท่านั้นหรือ เวลาเกณฑ์ทหารในยามสงบหรือยามศึก กันพวกคนจนเอาไว้แนวหลังบ้างซีครับ
...บทความข้างบนนี้คัดมาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันอังคารที่ 22 เมษายน 2529 เหตุผลที่นำลงในจุลสารของสภาฯ ก็เพื่อเสนอให้ผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องกับโรงเรียนคาทอลิกได้ลองฟังทัศนะของผู้ปกครองว่าด้วยโรงเรียนรัฐบาลดูบ้าง ถึงแม้ว่าเทศกาลหรือฤดูกาลสับโขกด่าโรงเรียนเอกชน ซึ่งมักเริ่มกันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และจบสิ้นลงในเดือนพฤษภาคมทุกปี ได้ผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ เราทราบกันดีว่า รายการด่าแช่งโรงเรียนเอกชนประจำปีนั้น มีสาระเป็นข้อเท็จจริงพอเชื่อได้สักกี่เปอร์เซ็นต์? มีความเป็นไปได้สักแค่ไหน? เรื่องนี้เป็นเรื่องขมขื่นที่พวกถูกกล่าวหาต้องอดทนและรับฟังด้วยความสลดใจและด้วยขันติธรรมเพียงใด บทความที่นำมาเสนอในที่นี้ก็เช่นกัน ผู้ที่อ่านแล้วบางทีอยากนึกถามตัวเองว่าผู้ปกครองที่ถูกรีดไถคนละ 300,000 บาทนั้น ถ้ามี จะมีสักกี่คน? เขาถูกรีดไถจริง หรือไม่เสนอให้เขาเอง? และสิ่งนี้เป็นปัญหาแท้จริงสำหรับผู้ปกครองหรือไม่? หรือเป็นปัญหาเฉพาะผู้ปกครองที่ชอบเลือกโรงเรียน?
สิ่งที่แปลกที่น่าถามอีกก็คือ เมื่อโรงเรียนรัฐบาลได้รับบริจาค (จะเป็นโดยตรงหรืออ้อม) จากผู้ปกครอง ผู้อำนวยการมักจะได้ความดีความชอบ เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งแต่ทำไมเมื่อเอกชนทำบ้าง จึงถูกกล่าวหาว่ามีความผิด? ก็คงจะเข้าทำนองเรื่องสอนพิเศษนะแหละ ถ้าโรงเรียนในสังกัดของรัฐเปิดกวดวิชาโดยต้องเสียเงินเรียนแพงๆ ถือว่าเป็นการกระทำถูกต้อง แต่ถ้าเอกชนจะเปิดสอนพิเศษบ้าง ทำไมจึงถือว่าเป็นความผิด? เป็นเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้! เรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ยังมีอีกมาก เช่น ค่างบดำเนินการคิดเป็นรายหัวนักเรียนของโรงเรียนรัฐบาลสูงกว่า ค่าเล่าเรียนที่โรงเรียนเอกชนชั้นหนึ่งพึงจะเก็บได้เป็นรายหัว (รวมทั้งงบดำเนินการและงบลงทุน) มากนัก และเป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ค่อยทราบกัน
อย่างไรก็ตาม สภาการศึกษาคาทอลิกประณามการบีบบังคับผู้ปกครองบริจาคเงินเป็นเงื่อนไขของการรับเด็กเข้าเรียน
*จุลสาร สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ฉบับที่4 พฤษภาคม-มิถุนายน-กรกฎาคม 2529
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ