การศึกษาเพื่อสร้างค่านิยมให้แก่สังคมในปี ค.ศ. 2000*
เมื่อ 3 ปีก่อน สภาการศึกษาคาทอลิกสากล ได้จัดการประชุมสมัชชาใหญ่ ณ กรุง Bogota ประเทศโคลัมเบีย อเมริกาใต้ ในหัวข้อเรื่อง "การศึกษาเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพ" นักวิชาการมีความเห็นว่า เพื่อจะบรรลุถึงเป้าหมายนี้ "การศึกษา" ควรจะมุ่งไปที่การปลูกฝังค่านิยมบางอย่างขึ้น (interiorisation of certain values) จึงจะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมสมตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ คือ ความยุติธรรมและสันติภาพในสังคมมนุษย์ ในเมื่อการปลูกฝังค่านิยมในปัจจุบันนี้ เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมและสันติภาพขึ้นในสังคมในอนาคต คณะกรรมการบริหารสภาการศึกษาคาทอลิกจึงเห็นควรจะตั้งเป็นหัวข้อ (theme) ของการประชุมสมัชชาใหญ่ในปี 1982 ว่า "การศึกษาเพื่อสร้างค่านิยมให้แก่สังคมในปี ค.ศ. 2000" ที่เลือกปี ค.ศ. 2000 ก็เพราะเห็นว่าการศึกษาเป็นขบวนการที่ยาวกว่าจะได้เห็นผลที่พอใจก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร
จากหัวข้อเรื่องดังกล่าวข้างต้น เราอาจจะตั้งคำถามได้ว่า : "ค่านิยมอะไรบ้างที่การศึกษาคาทอลิกควรจะให้แก่เยาวชนในอนาคต ในปี ค.ศ. 2000" เราจะให้การศึกษาแก่เยาวชนตามค่านิยมที่มุ่งหวังไว้ได้อย่างไร? เราจะช่วยให้การศึกษาซึ่งเริ่มต้นจากบุคคลหนึ่งไปยังบุคคลหนึ่งขยายวงกว้างออกไปถึงระดับชาติ และระดับโลกได้อย่างไร ?
ปัญหาที่น่าคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีอีกว่า ค่านิยมอะไรบ้างที่เยาวชนในยุคปัจจุบันต้องการจะมีตามความเห็นของเขา? เราทราบดีว่าในโลกตะวันตกได้มีการวิเคราะห์และสำรวจความเห็นในเรื่องนี้ ผลจากการสำรวจชี้ให้เห็นว่าเยาวชนจำนวนมากมีทรรศนะกว้างพอที่จะยอมรับว่าสังคมที่เขาอยู่นั้นมีปัญหาที่เรียกร้องหาคำตอบ และเยาวชนตระหนักดีในความสำคัญของคุณภาพชีวิตและการเคารพในสิทธิของผู้อื่น เมื่อพูดถึงเยาวชนในยุคนี้แล้ว นักสังคมศาสตร์บางท่านใช้คำว่า "พิภพของคนหนุ่มสาว" และ "ระยะแรกเกิดของวัฒนธรรมใหม่" เป็นต้น
ขอบข่ายของการค้นคว้าและวิจัย เรื่อง "ค่านิยม" นี้จำกัดเพียงแค่ 2 ระดับเท่านั้นคือ ประเทศโลกที่สามซึ่งมีความเชื่อถือยึดมั่นตามลัทธิศาสนา (พุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู...) ขนบธรรมเนียมประเพณีมาแต่โบราณกาล และมีระบบการเมืองที่ค่อนข้างจะสับสนอยู่มากกับระดับโลกตะวันตกซึ่งมีคริสต์ศาสนาเป็นแกนของวัฒนธรรม และมีระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ค่อนข้างจะเสรี
ในส่วนที่เป็นโลกของประเทศคอมมิวนิสต์นั้น น่าเสียดายที่ไม่มีนักการศึกษา หรือเยาวชนช่วยให้ความคิดเห็น หรือ ข้อเสนอแนะเลย เพราะสภาการศึกษาคาทอลิกสากลไม่มีโรงเรียน ที่เรียกว่า "คาทอลิก" เหลืออยู่เลย แม้ในกรณีที่ยังมีการศึกษาคาทอลิกดำเนินอยู่ได้บ้าง การศึกษานั้นก็ดำเนินไปในลักษณะของสังคมปิด
ในแง่ของวัฒนธรรมใหม่แบบต่างๆ นั้น การศึกษาเพื่อส่งเสริมค่านิยมของมนุษย์อาจจะเป็นจุดสนใจพิเศษของสภาการศึกษาคาทอลิกสากลในระยะ 2-3 ปีข้างหน้านี้ก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตข้อหนึ่งที่ควรบันทึกไว้ก็คือ ไม่ว่านักปรัชญาและนักเทววิทยาจะอภิปรายในแง่ใดก็ตามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โรงเรียนก็ยังคงต้องการข้อเสนอแนะที่ปฏิบัติได้ในการสร้างค่านิยมให้แก่เยาวชนในอนาคต
ค่านิยม หมายความว่ากระไร?
เมื่อพูดถึงค่านิยมในหมู่นักวิชาการด้วยกัน เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ การตีความหมายของค่านิยมในเชิงปรัชญา การให้นิยามแก่ "ค่านิยม" ที่ทำให้ทุกคนพอใจทั้งในแง่ของนามธรรม และรูปธรรม (Subjectively and Objectively) ดูจะเป็นเรื่องที่ต้องอภิปรายกันนาน
ค่านิยมในเชิงวิชาครูเพื่อถ่ายทอดในโรงเรียนคาทอลิก
คณะกรรมการบริหารสภาฯ เสนอแนะว่าแต่ละประเทศสมาชิกควรจะศึกษาว่ามีค่านิยมอะไรบ้าง ที่สังคมประเทศของตนควรรักษาไว้ และ/หรือส่งเสริมปลูกฝังให้มีขึ้นในตัวเยาวชน
เมื่อประมาณ 15 ปีมาแล้ว นักการศึกษามีความเห็นตรงกันว่าการศึกษาแบบใดก็ตามย่อมถ่ายทอดค่านิยมได้ในตัวเอง ดูเหมือนว่าครูที่สอนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มีโอกาสถ่ายทอดค่านิยมได้มากกว่าคนอื่น ในครั้งนั้นนักการศึกษาเชื่อว่าครูควรมีค่านิยมบางประการในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ผู้เรียน
ในคริสตศตวรรษที่แล้ว นักการศึกษาคาทอลิก ได้เลือกเฟ้นค่านิยมบางประการให้เป็นค่านิยมที่ควรได้รับการส่งเสริมในโรงเรียนคาทอลิก เช่น อิสรภาพของเยาวชน เสรีภาพของสตรี เป็นต้น
เมื่อปี ค.ศ. 1977 ในประเทศเยอรมนีตะวันตกได้มีการพิจารณาถึงค่านิยมขั้นมูลฐาน นักการศึกษาในประเทศนั้นเห็นว่าควรเน้นค่านิยมที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบให้มากขึ้น เช่นความรัก ความเมตตา ความจริง ความซื่อสัตย์ ศักดิ์ศรีมนุษย์ เสรีภาพ ความรักหมู่คณะ และสันติภาพ
สภาการศึกษาคาทอลิกในประเทศเบลเยี่ยมนั้นได้ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1980 นี้เอง เรื่องการอมรมด้านสังคม และเน้นการพัฒนาความสนใจและความรู้ของเยาวชน ความรับผิดชอบต่อสังคม การส่งเสริมบุคลิกภาพ และบทบาทของบุคคลในสังคม
ส่วนสภาการศึกษาคาทอลิกในประเทศอินเดียนั้น ได้เสนอรายชื่อค่านิยมที่โรงเรียนคาทอลิกควรถ่ายทอดให้แก่เยาวชนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตามดังนี้
1. ค่านิยมส่วนบุคคล (Personal Values)
1. ความสะอาด |
2. ศักดิ์ศรีของการทำงาน |
3. ความขยัน |
4. การตรงต่อเวลา |
5. การซื่อตรง |
6. การรักธรรมชาติ |
7. ชัยชนะต่อความยากลำบาก |
8. ความอดทน |
9. ความกล้าหาญ |
10. ความเป็นคนมีวุฒิภาวะ |
11. พึ่งตนเอง เชื่อมั่นในตัวเอง |
12. ความทะเยอทะยาน |
13. ความดีเลิศในทุกสิ่ง |
14. ความหวัง |
15. การค้นคว้า |
16. การประเมินผล |
2. ค่านิยมที่ควรมีต่อผู้อื่น
1. รู้จักหน้าที่ |
2. ขันติ |
3. ความมีมรรยาทผู้ดี |
4. การประหยัด |
5. เป็นคนใจกว้าง |
6. มีน้ำใจนักกีฬา |
7. ความจงรักภักดี |
8. ความกตัญญูกตเวที |
9. การยอมผ่อนปรน (tolerance) |
10. อิสรภาพ |
11. ความแน่วแน่มั่นคง |
|
3. ค่านิยมต่อหมู่คณะ
1. ความรัก |
2. แลกเปลี่ยนทัศนะกัน (dialogue) |
3. ภราดรภาพ |
4. การให้อภัย |
5. การยอมรับผิด |
6. การแบ่งปัน |
7. การให้บริการ |
8. รู้จักทำงานเป็นกลุ่ม |
9. ความรับผิดชอบ |
10. ภาระหน้าที่ (accountability) |
11. ความเห็นใจต่อผู้อื่น |
12. ความโอบอ้อมอารี (hospitality) |
13. ความยุติธรรม |
14. อหิงสา |
สภาการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย จะจัดให้มีการสัมมนาประจำปีขึ้น เพื่อศึกษาเรื่องค่านิยมซึ่งโรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทยควรปลูกฝังให้แก่เยาวชน เป็นสิ่งที่แน่นอนว่าค่านิยมสำหรับเยาวชนไทยเรานั้นจะต้องสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ของไทย และวัฒนธรรมไทยด้วย ส่วนเรื่องที่ว่าค่านิยมอื่นใดเหมาะสม สำหรับเยาวชนไทยในอนาคตเพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงแก่ประเทศและในเวลาเดียวกันก็เป็นค่านิยมที่ทำให้ผู้ยึดถือพบความสมหวังของชีวิตด้วยนั้นก็ขึ้นอยู่กับนักวิชาการและครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะมาร่วมระดมสรรพกำลังความคิดและปัญญา เพื่อสอดส่องหาค่านิยมนั้น ซึ่งสภาฯ ก็มีความหวังว่าควรจะเป็นค่านิยมทางจริยธรรมและความเชื่อในศาสนา
ค่านิยมทางจริยธรรมและอุดมการณ์ของชีวิต
ยังมีเรื่องอีกมากที่จะต้องอภิปรายกันเกี่ยวกับเรื่องของค่านิยมในชีวิตประจำวัน เช่น ค่านิยมทางจริยธรรมและความเชื่อในศาสนา ในประเทศฝรั่งเศส (1974-1975) ได้มีการพูดถึง "การให้บริการแก่ผู้ที่ไม่เชื่อในศาสนา" ว่าเป็นค่านิยมของคนที่ศรัทธาต่อศาสนาในยุคปัจจุบันจำนวนมากเชื่อในศาสนา แต่ไม่ไยดีต่อศาสนาหรือเชื่อศาสนาตามแบบวิทยาศาสตร์ นักปรัญชายุคนี้เรียกคนพวกนี้ว่าพวก "นอกวัด (secular)" ผู้ที่เคร่งศาสนามองเห็นภัยจากลัทธินอกวัด (secularism) ถึงกับทำการวิเคราะห์และวิจัยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมยุคนี้ และขนานนามบุคคลเหล่านี้ว่าเป็นพวก "หัวคิดแบบใหม่ (new mentalities)" และว่าพวก "นอกวัด" นี้อยู่ใน "วัฒนธรรมยุคที่ 3" หรืออะไรทำนองนั้น นักสังคมศาสตร์เรียกพวกหัวก้าวหน้าในศตวรรษที่แล้วว่าพวกถือลัทธิมนุษยนิยม (วัฒนธรรมยุคที่ 1) และในปัจจุบันพวกหัวก้าวหน้านั้นถือลัทธิ "วิทยาศาสตร์นิยม" (วัฒนธรรมยุคที่ 2) แต่ในปัจจุบันเราสังเกตเห็นว่าโลกของเรากำลังจะเห็นวัฒนธรรมยุคที่ 3 เกิดขึ้นแล้ว คือ มนุษย์บางพวก เป็นต้นพวก "นอกวัด" นี้กำลังจะสร้าง ค่านิยมแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้น ซึ่งเราก็คงจะดูกันต่อไปว่าค่านิยมของพวกนี้คืออะไร? และมันจะมีอิทธิพลทางความคิดแก่เราเพียงใด
ค่านิยมทางจริยธรรมยังรวมความไปถึงสิทธิมนุษยชน (human rights) และสัญญานานาชาติยุคใหม่ (New International Order) อีกด้วย การประชุมของผู้เชี่ยวชาญทางศาสนา ณ องค์การยูเนสโกที่กรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้ว แสดงให้เห็นชัดว่าโลกของชนนั้น ปัญญานั้นต้องการให้ศาสนาทุกศาสนารับรองเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" เป็นพื้นฐานของจริยธรรมก่อนที่จะชักนำให้สมาชิกเคร่งในศาสนาของตน
เมื่อเราพูดถึงความเชื่อในศาสนากับค่านิยม เราก็คงจะต้องพูดถึงกฎของมโนธรรมหรือเสียงของมโนธรรม ถ้าพูดในแง่การศึกษาแล้วก็จะต้องเน้นเรื่องการสร้างความสำนึกให้แก่เยาวชนและการยอมรับเอกสิทธิของบุคคลในเรื่อง "เสรีภาพแห่งมโนธรรม" เสียก่อน
บทบาทของโรงเรียนคาทอลิก และสถาบันอุดมศึกษาของคาทอลิก
โรงเรียนคาทอลิกมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปลูกฝังและถ่ายทอดค่านิยม เป็นต้นว่าค่านิยมทางจริยธรรม ผู้บริหารจำเป็นต้องศึกษาให้ลึกซึ้งในเรื่องของค่านิยม จึงจะสามารถถ่ายทอดไปยังครูและไปยังนักเรียนอีกต่อหนึ่งได้
สถาบันอุดมศึกษาของคาทอลิกหรือของโปรเตสแตนต์ เช่น วิทยาลัยแสงธรรม หรือวิทยาลัยพายัพเชียงใหม่ น่าจะอยู่ในฐานะที่จะเป็นผู้กระตุ้นความสำนึกในเรื่องค่านิยมด้านจริยธรรมได้เป็นอย่างดี เช่นในเรื่อง "เสรีภาพแห่งมโนธรรม"
สถาบันชั้นอุดมศึกษา เช่น วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจควรจะรับภาระที่จะกระตุ้นนักธุรกิจให้เกิดความสำนึกในเรื่องจรรยาบรรณของนักธุรกิจค่านิยม เช่น "Honesty is the best Policy" ยังคงจะเป็นค่านิยมของนักธุรกิจที่รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันถ้าเราต้องการให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประเทศของเรา
การอบรมครูจริยศึกษา
เมื่อต้นปีการศึกษา 2522 สภาการศึกษาคาทอลิก ได้จัดให้มีการประชุมปฏิบัติการเรื่องการสอนจริยศึกษาระดับประถมและระดับมัธยมศึกษา ในหัวข้อเรื่อง "การส่งเสริมคุณลักษณะของคนไทย ตามหลักศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก" ณ ร.ร. อัสสัมชัญ แผนกประถม
ในการประชุมปฏิบัติการครั้งนั้น สภาฯ ได้รับความร่วมมือจากสมาคมครูคาทอลิกสมาคมผู้ปกครองและครูเซนต์คาเบรียลและสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยเป็นอย่างดี
ผลของการประชุมปฏิบัติการเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง จนกระทรวงศึกษาธิการได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานนี้ และได้อนุมัติให้ใช้เป็นคู่มือริยศึกษา สำหรับอบรมสั่งสอนนักเรียนนักศึกษาต่อไป
*จุลสาร สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3 (มกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม 2529).
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ