จรรยาบรรณสำหรับนักวิจัย*

เมื่อต้นปีทีแล้วนิตยสารไทม์ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1983 ลงข่าวพาดหัวว่า "เกิดการทุจริตในห้องปฏิบัติการฮาวาร์ด" เพราะนักวิจัยหัวใสใช้ข้อมูลเท็จเพื่อหลอกเอาเงินสนับสนุนการวิจัยของรัฐ

เรื่องมีอยู่ว่า จอห์น ดาร์ซี หนุ่มวัย 31 ปี ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็นคน "brilliant and creative"ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ในคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดในปี1979 ภายในเวลาไม่ถึงปีเขาสามารถเสนอผลงานวิจัยถึง 5 เรื่อง และแต่ละเรื่องถูกตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำทางการศึกษาของประเทศ เมื่อปีที่แล้วในขณะที่ทางมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดกำลังดำเนินเรื่อง เพื่อแต่งตั้งอาจารย์ผู้นี้ดำรงตำแหน่งประจำถาวรของมหาวิทยาลัยสถาบันสาธารณสุขศาสตร์แห่งชาติได้เปิดเผยการทุจริตของเขา และประกาศลงโทษตัดสิทธิ์ที่จะได้รับทุนวิจัยถึง 10 ปี และให้คืนทุนวิจัยมูลค่า 122,371 เหรียญสหรัฐ เมื่อทราบเช่นนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงดำเนินเรื่องสอบสวนพฤติกรรมอันมิชอบดังกล่าว และพบว่าข้อกล่าวหาของสถาบันสาธารณสุขศาสตร์แห่งชาตินั้นนเป็นความจริง

สิ่งที่ จอห์น ดาร์ซี ทำผิดก็คือ เขาไม่ได้ทำการวิจัยจริง ๆ เขาเพียงแต่อุปโลกน์คิดตัวเลขขึ้นเป็นข้อมูล เพื่อสนับสนุนทฤษฏีหรือสมมุติฐานของเขาเท่านั้น คณะแพทย์ที่เป็นกรรมการสอบสวนของมหาวิทยาลัยยังพบอีกว่าสัตว์ต่าง ๆ ที่อาจารย์ผู้นี้สั่งมาทดลองถูกฝังไว้เรียบร้อย โดยไม่ปรากฏร่องรอยว่าสัตว์เหล่านั้นถูกทดลองตามหลักวิชาแต่ประการใด สถาบันการศึกษาถือว่าผลงานเช่นว่านี้เป็นการหลอกลวงปัญญาชนและประชาชนโดยทั่วไป

นิตยสารไทม์ฉบับเดียวกันนี้ยังมีรายงานอีกว่า ในระยะ 2-3 ปีมานี้มีกรณีอื้อฉาวทำนองเดียวกันเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์หลายแห่ง เช่น เยล คอร์แนลและมหาวิทยาลัยบอสตัน เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สแตนฟอร์ดเดลลี่ ซึ่งตีพิมพ์โดยสโมสรนักศึกษากล่าวว่า "อาจารย์ท่านใดไม่มีผลงานตีพิมพ์ออกมา ก็ตายลูกเดียว" ศาสตราจารย์อัลเบิร์ต ฮาสทอร์ฟ ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า "สมัยนี้การวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นแพงมาก เราต้องการทุนมหาศาล มิฉะนั้นเราก็ล้มกิจการ" นี่อาจจะเป็นแรงกดดันอย่างหนึ่งก็ได้ ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งพยายามหาเงินสนับสนุนของรัฐมาให้อาจารย์ของตนทำวิจัยเพื่อหาซื้อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยเองแต่จรรยาบรรณของนักการศึกษาก็คือ "สัจจะความจริง" ครูบาอาจารย์ต้องไม่หลอกลวงใครในเชิงวิชาการ

ในสหรัฐอเมริกานั้น อาจารย์มากมายมุ่งแต่ทำการวิจัยและเขียนหนังสือ ไม่ค่อยมีเวลาสอนกัน ทั้งนี้และทั้งนั้นก็มาจากแรงกดดันของระบบมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐที่ถือเป็นหลักปฎิบัติว่าถ้าอาจารย์ท่านใดไม่มีผลงานวิจัยภายในเวลาอันควรอาจารย์ท่านนั้นขาดประสิทธิภาพ ไม่เหมาะสมที่จะเป็นอาจารย์ต่อไป อาจารย์ของข้าพเจ้าคนหนึ่งก็ได้รับเคราะห์กรรมเช่นว่าจากระบบนี้เหมือนกัน

ในประเทศของเราก็เช่นกัน อาจารย์ที่สอนแต่หนังสือ ไม่มีผลงานด้านขีดด้านเขียนก็มักจะไม่ได้ตำแหน่ง ผศ. รศ. หรืฉ ศจ. บางท่านกล่าวว่า อาจารย์ประเภทนั้น "สอนจนเซ่อ" หรือบางคนมัวแต่บริหารอยู่จนใคร ๆ เขาได้เป็นศาสตราจารย์ไปหมด ส่วนตัวเองยังไม่ได้อะไรเลย แม้แต่ปริญญาเอก ผู้บริหารแบบนี้ก็มี

เรื่องการทุจริตทางวิชาการยังรวมไปถึงการกระทำที่เราเรียกว่า "PLAGIARISM" หรือการนำเอาผลงานคนอื่นมาอ้างเป็นของตน เรื่องนี้ดูเหมือนจะมีกันค่อนข้างมากใน ประเทศไทยเรา หนังสือในท้องตลาดบางเล่มเป็นผลงานเรียบเรียงและถอดความมาจากภาษาต่างประเทศ แต่ผู้ที่เรียบเรียงหรือถอดความมา กลับไปใช้ชื่อของตนว่าเป็นผู้แต่ง โดยไม่ให้เกียรติแก่ผู้แต่งที่แท้จริงเลย และบุคคลที่ทำเช่นว่านี้บางคนเป็นคนทีมีชี่อเสียงของประเทศเสียด้วย ผู้ที่อ้างตนว่าเป็นผู้แต่งเช่นนั้น คงเข้าใจว่าคนไทยเราอ่านหนังสือภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่นไม่เป็นกระมัง เผลอ ๆ อาจจะพบด้วยว่าบางคนได้กลาย เป็นศาสตราจารย์ไปแล้ว เพราะอ้างว่าตนแต่งตำราขึ้นมา ซึ่งแท้จริงนั้นแปลมาจากภาษาต่างประเทศก็คงมี พฤติกรรมดังกล่าวมานี้ดูเหมือนจะมีอยู่ทั่วไปในสังคมคณาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ข้าพเจ้าบังเอิญได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.พรชัย ศรีปะไพ นักวิจัยจาก SAARLANDS UNIVERSITY ประเทศเยอรมันตะวันตก ด้วยเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่น ข้าพเจ้าได้เล่าให้ฟังว่า ได้อ่านพบเรื่องที่ข้าพเจ้าสนใจในนิตยสาร "DISCOVER" ประจำเดือนเมษายน 1983 เป็นเรื่องของปรมาจารย์มาร์การ์เร็ต มีด ผู้ได้สมญานามว่าเป็นผู้นำทางวิชามนุษยวิทยาของโลก และเป็นผู้บุกเบิกในเรื่องของการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ข้าพเจ้าตกใจทีได้อ่านพบว่า ทฤษฎีอันสวยหรูของปรมาจารย์ดังกล่าวนั้นได้ถูกหักล้างลงอย่างไม่มีอะไรเหลือ โดยศาสตราจารย์ดิเร็ก ฟรีแมน จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ของออสเตรเลีย เหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าตื่นเต้นกับเรื่องนี้ก็เพราะว่า เมื่อสมัยเป็นนักศึกษาอยู่โปรเฟสเซอร์ของข้าพเจ้ามักจะยกย่องมาร์การ์เร็ต มีด อยู่เสมอ และบัดนี้ผู้ที่เคยถูกขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะนั้นถูกคว่ำบาตรเสียแล้ว ข้าพเจ้าออกปากชมว่า ศาสตราจารย์ ฟรีแมน ยอดจริง ๆ เมื่อ ดร. พรชัย เพื่อนข้าพเจ้าได้ฟังเช่นนั้นก็ติงว่าศาสตราจารย์ดิเร็ก ฟรีแมน อาจจะถูกต้องในเรื่องการหักล้างทฤษฎีของมาร์การ์เร็ต มีด แต่ข้อกล่าวอ้างของเขานั้นชวนสงสัยในแง่ที่ว่าเป็นผลงานวิจัยของเขาเองหรือไม่ เพราะบัดนี้ได้ปรากฏแน่ชัดว่า ศาสตราจารย์ดิเร็ก ฟรีแมน ได้ใช้ข้อมูลที่แปลจากภาษาเยอรมันคำต่อคำ ในหลายที่หลายแห่งในวิทยานิพนธ์ของเขาที่ใช้หักล้างทฤษฎีคนอื่น โดยไม่ให้เกียรติแก่เจ้าของต้นความความคิดเลย ทันทีภรรยาชาวอเมริกันของ ดร. พรชัย ได้กล่าวขึ้นว่าเธอเองเป็นคนหนึ่งที่อ่านพบด้วยตนเองและพบว่าศาสตราจารย์ฟรีแมนลอกคนอื่นมา เพราะฉะนั้นเวลานี้ความเชื่อถือในตัว ดิเร็ก ฟรีแมน กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายที่ SAARLANDS UNIVERSITY ในเรื่องของจรรยาบรรณ พฤติกรรมของเขาถือว่าเป็น "PLAGIARISM"

"PLAGIARISM" หรือการนำเอาผลงานของคนอื่นมาอ้างเป็นของตน มิใช่เกิดขึ้นในหมู่คณาจารย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่เกิดค่อนข้างบ่อยในระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาเสียด้วย ลูกศิษย์ของข้าพเจ้าคนหนึ่งซึ่งกำลังทำปริญญาเอกทางแบคทีเรียโอโลยี ณ มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย (DAVIS) เล่าให้ข้าพเจ้าฟังด้วยความเจ็บใจว่า เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ในประเทศไทยอาจารย์หัวหน้าภาควิชาได้ขอให้เขาเขียนบทความทางด้านแบคทีเรีย เพื่อจะนำไปเสนอ ณ ที่ประชุมนักวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ สิ่งที่เขาแค้นไม่หายก็คือว่า อาจารย์ท่านนั้นได้ตีพิมพ์บทความที่เขาค้นคว้าขึ้นเองโดยไม่มีชื่อของเขาเป็นผู้ค้นคว้าร่วมกันอยู่เลย มีแต่ชื่อของอาจารย์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเขายังเสริมอีกว่าเขาไม่รังเกียจที่จะให้อาจารย์มีชื่อว่าเป็นผู้ทำวิจัย แต่เขาก็ต้องการมีชื่อเป็นผู้ร่วมทำการวิจัยเป็นอย่างน้อย

นอกจากจะไม่ทำผิดต่อหลักสัจธรรมความจริงและไม่อ้างผลงานของคนอื่นมาเป็นของตนแล้วคุณธรรมที่นักวิจัยควรยึดถือเป็นหลักปฏิบัติของชีวิตก็คือ การไม่ใช้อุบายหลอกลวงเพื่อได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นความลับ และการรู้จักรักษาความลับของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ซึ่งความลับนี้ถ้าถูกเปิดเผยแล้วจะทำให้เกิดผลเสียหายไม่ว่าทางใดก้ทางหนึ่งแก่บุคคลที่นักวิจัยได้ข้อมูลมา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับนักวิจัยทั้งหลายก็คือ เรื่อง การวิจัยของสตีเฟน เวสลี โมเช่ นักศึกษาชั้นปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วนี้เอง และเป็นเรื่องดังมากในวงการ "มานุษยวิทยา" จนนิตยสารไทม์นำมาตีพิมพ์

นายสตีเฟนผู้นี้เป็นนักมานุษยวิทยาคนแรกของอเมริกาที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลปักกิ่งให้ทำการค้นคว้าได้อย่างกว้างขวางว่าด้วยเรื่องมานุษยวิทยาในคอมมูนประเทศจีน สิ่งที่ทำให้เขาตกเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ก็คือเขาตีพิมพ์บทความเรื่อง "การบังคับให้ทำแท้ง" ของรัฐบาลปักกิ่ง พร้อมด้วยภาพถ่ายของหญิงที่กำลังรับการทำแท้งและแพทย์กำลังปฏิบัติการ ณ คลินิกประจำ ตำบลแห่งหนึ่งในประเทศจีน เมื่อเรื่องนี้ได้ถูกตีพิมพ์แพร่ไปในโลกเสรีรัฐบาลปักกิ่งได้สั่งจับนาย สตีเฟน โมเช่ และในที่สุดได้ถูกขับไล่ออกจากประเทศจีน

แต่เรื่องที่ข้าพเจ้าต้องการจะเน้นในที่นี้ ไม่ใช่เรื่องนักมานุษยวิทยาผู้นี้ถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขับไล่ออกจากประเทศ เรื่องที่ข้าพเจ้าต้องการจะเน้นก็คือเรื่องของการผิดต่อจรรยาบรรณและเขาได้กระทำผิดในแง่ไหน? หนังสือพิมพ์รายปักษ์ The Stanford Observer ฉบับเดือนเมษายน 1983 ซึ่งเป็นหนังสือรายปักษ์ทางการของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้แถลงว่า สภาคณาจารย์คณะมานุษยวิทยาสแตนฟอร์ด โดยมติ 11-0 สั่งให้นักศึกษาผู้นี้พ้นจากสภาพเป็นนักศึกษาปริญญาเอกเพราะ "illegal and serious unethical conduct" ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลที่นักศึกษาผู้นี้ได้รับข้อมูลมา ตัวแทนสภาคณาจารย์ยังกล่าวเสริมว่า คณาจารย์ตัดสินโดยเด็ดขาดจากข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้แต่ไม่อาจจะนำมาเผยแพร่ เพราะเกรงใจจะทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอีกมากมาย สภาคณาจารย์ยืนยันว่าสภาฯไม่ได้ลงโทษ นายสตีเฟน โมเช่ เพราะเขาตีพิมพ์บทความนั้นในหนังสือพิมพ์ของไต้หวัน สภาฯมีความเห็นว่านักศึกษาผู้นี้มีสิทธิ์ที่จะเลือกพิมพ์อะไรก็ได้ ถึงแม้ว่าจะเป้นการกระทำที่ไม่ฉลาดก็ตาม ผู้แทนคณาจารย์ยังกล่าวต่ออีกว่า นักศึกษาผู้นี้ทราบดีถึงเหตุผลที่สภาฯลบชื่อเขาออกจากการเป็นนักศึกษา สิ่งที่แปลกก็คือ เมื่อสื่อมวลชนสัมภาษณ์นักศึกษาผู้นี้ถึงเหตุผลที่ทางมหาวิทยาลัยสั่งลบชื่อออก เขากลับปฏิเสธที่จะเปิดเผย ถึงแม้ว่าสตีเฟน โมเช่ จะถูกลบชื่อออกจากการเป็นนักศึกษาก็ตาม เขาได้ประกาศว่าสำนักพิมพ์ MACMILLAN จะตีพิมพ์งานค้นคว้าชิ้นนี้ของเขา โดยให้ชื่อว่า "Broken Earth : The Rural Chinese" ซึ่งจะทำให้บุคคลในวงการมานุษยวิทยาหาซื้อมาเป็นเจ้าของอย่างแน่แท้

ข้าพเจ้าไม่ทราบว่ามหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย หรือสภาวิจัยแห่งชาติซึ่งมีทุนตั้งไว้มากมาย มีมาตรการป้องกันมิให้เกิดการทุจริตเชิงวิชาการหรือไม่ แต่เคยทราบว่ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยออกโรงคัดค้านการประกาศกล่าวอ้างเรื่องการเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำมัน มาครั้งหนึ่งแล้ว เพราะเรื่องนั้นกำลังจะบานปลายและเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ เนื่องจากมีการรับเงินบริจาคเพื่อการกระทำ ดังกล่าวอีกด้วย 

ส่วนในต่างประเทศนั้น บางมหาวิทยาลัยได้มีมาตรการที่แน่ชัดในการจัดการกับปัญหาทุจริตเชิงวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โปรเฟสเซอร์อัลเบิร์ต ฮาสทอร์ฟ ผู้บริหารระดับสูงของสแตนฟอร์ดกล่าวว่า ถึงแม้เรื่องการทุจริตทางวิชาการเป็นเรื่องยากที่จะให้คำจำกัดความที่ครอบคลุมได้ทั่วถึงก็ตาม มหาวิทยาลัยก็มีมาตรการที่จะจัดการกับเรื่อง เช่น

        - การจงใจบิดเบือนข้อมูลในการทำวิจัย

        - การแถลงผลลัพธ์ทางวิจัยบิดเบือนไปจากความเป็นจริง

        - การอ้างผลงานวิจัยของคนอื่นเป็นผลงานของตน เป็นต้น

รองอธิการบดีของสแตนฟอร์ด ท่านหนึ่งกล่าวว่า ถ้ามีเรื่องทำนองเดียวกันนี้ (การทุจริตที่ฮาวาร์ด) เกิดขึ้นที่สแตนฟอร์ด มหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะจัดการให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบวินัยที่มหาวิทยาลัยวางไว้ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

        - คณบดี และสภาคณาจารย์ของคณะ จะเป็นผู้ร่วมทำการสอบสวนให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ ไม่เกิน 4 สัปดาห์

        - การรักษาความลับในเรื่องการสอบสวนเป็นเรื่องสำคัญที่กฎหมายให้การรับรอง

        - คณบดีเป็นผู้นำผลสรุปของการสอบสวนเสนอรองอธิการบดี

        - อธิการบดีเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่ากรณีใดบ้าง ที่สมควรให้ดำเนินเรื่องตามตัวบท กฎหมาย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทบวงมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงแต่ละสถาบันควรวางมาตรการอะไรบ้าง เพื่อไม่เปิดโอกาสให้อาจารย์ที่ใคร ๆ หลงเชื่อว่าเป็นปราชญ์นั้นหลอกลวงนักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้? โดยเฉพาะผลงานวิจัยของอาจารย์ที่กำลังทำปริญญาเอกอยู่ ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการตรวจเช็คเป็นพิเศษ เราทราบกันดีอยู่ว่า ผลงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาเอกบางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศนั้น เป็นผลงานที่ลอกกันมาก จ้างกันทำบ้าง และก็กลายเป็นผลงานวิจัยที่ทำให้นักศึกษาหัวใสเหล่านั้น ได้ปริญญาเอกมาโดยไม่มีความรู้ก็มีมาก

นักวิจัยก็คือปัญญาชนคนหนึ่ง ซึ่งโดยสิทธิและหน้าที่อันเนื่องมาจากปริญญาบัตรนั้นคือผู้ยืนหยัดอยู่กับสัจจะความจริง การแปรความหมายของผลลัพธ์วิจัย ย่อมแฝงไว้ซึ่งอคติของภูมิหลังซึ่งอาจผิดพลาดได้ แต่ดวามซื่อสัตย์สุจริตเป็นจรรยาบรรณ ซึ่งนักวิจัยจะยอมพลั้งไม่ได้เป็นอันขาด 


*จุลสาร วิทยาลัยอัสสัมชัญฯ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 ปีการศึกษา 2527-28.
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ
*จุลสารมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC NEWSLETTER ปี่ที่ 5 ฉบับ 18 เดือนเมษายน - มิถุนายน 2527