การเดินทางรอบโลกครั้งล่าสุด*

การไปเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ควรถือเป็นหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของผู้บริหารระดับอธิการ โดยทั่วไปแล้วสถาบันการศึกษาระดับสูง เช่นวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย มักถือกำเนิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้มีกุศลเจตนาที่จะส่งเสริมการศึกษาให้เกิดประโยชน์แก่สังคมตามอุดมการณ์ของตน หลายมหาวิทยาลัยได้รับการสถาปนาขึ้นมาก็เพื่อรับภารกิจเป็นแสงสว่างแก่มนุษยชาติ เป็นมโนธรรมของสังคม เพราะฉะนั้นการไปเยี่ยมเยียนสถานที่ดังกล่าว ย่อมจะก่อให้เกิดปัญญา เนื่องจากสิ่งที่พบเห็นนั้นเป็นผลงานของสติปัญญา เป็นผลสะท้อนของเจตนารมณ์อันแน่วแน่และอุดมการณ์อันสูงส่งที่ได้รับถ่ายทอดกันมาหลายชั่วคน ข้าพเจ้าเองมักถือเป็นกิจปฏิบัติที่จะหาโอกาสไปเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาเสมอ จากประสบการณ์ที่ได้รับก็คือ ทุกครั้งที่ได้ไปพบเห็นสถาบันใดก็มักจะได้กำไรความคิดกลับมาทุกครั้งไป

วัตถุประสงค์ในการเดินทางของข้าพเจ้ารอบโลกภายใน 2 สัปดาห์นี้ก็เพื่อ

        - ติดต่อธุรกิจกับ California State University ที่ Dominguez Hills และ St. Mary's College of California, Moraga

        - เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเท่าที่เวลาจะอำนวยให้

        - ไปร่วมประชุม Board of Directors ของการศึกษาคาทอลิกสากล ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน

        - และแวะไปกรุงโรมเพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องก่อสร้างของวิทยาลัย

ข้าพเจ้าออกเดินทางไปทางทิศตะวันออกโดยมุ่งไปยังประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก เพื่อแวะเยี่ยมเพื่อนร่วมงานเก่า คือท่าน ศาสตราจารย์ Hans Hellweg แห่ง Sophia University1 กรุงโตเกียว มหาวิทยาลัยแห่งนี้ดำเนินการสอนโดยคณะนักบวชเยซูอิต มหาวิทยาลัยโซเฟียเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมาก แน่นอนละมหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ชั้นยอดเยี่ยมของญี่ปุ่น ไม่มีใครเทียมได้ในดินแดนดอกซากุระ แต่มหาวิทยาลัยโซเฟียเป็นของเอกชน และดำเนินกิจการได้ผลสำเร็จดีมาก มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีผลงานวิจัยซึ่งองค์การยูเนสโกให้ความเชื่อถือมาแล้ว ความจริงนั้น คณะเยซูอิตเป็นนักการศึกษาชั้นยอดของโลก มีชื่อเสียงมากว่า 4 ศตวรรษ มีความเชี่ยวชาญในการบริหารมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกมาแล้ว เช่น Georgetown University, Washington เป็นต้น ระบบการศึกษาของเขาเน้นความดีเลิศทางวิชาการและการมีวินัยต่อตนเอง ความจริงนั้นระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยประเภทนี้ถือกำเนิดมาจากอิทธิพลของยุค Renaisance humanistic Ideals ในปัจจุบันอิทธิพลดังกล่าวยังหาหมดไปไม่ เพราะฉะนั้น การสอนภาษากรีก ภาษาละติน เทววิทยา และวิชาศิลปศาสตร์ ในสถาบันเช่นว่านี้ จึงยังเป็นจุดเด่นที่ปราชญ์ทั้งหลายยอมรับ มหาวิทยาลัยโซเฟียมีนักศึกษาประมาณหนึ่งหมื่นคน มีคณาจารย์มาจากประเทศต่างๆ จึงทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ มีลักษณะการเป็นสากลอยู่มากๆ 

มหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ที่แวะเยี่ยมก็คือ California State University ณ Dominguez Hills มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีวิทยาเขตหลายแห่งแต่ละวิทยาเขตก็มีการบริหารเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ทำนองเดียวกันกับวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียที่ลอสแอลเจลิสและที่เบอคเล่ย์ ซึ่งมีความเด่นเป็นเลิศทางวิชาการไม่เหมือนกัน แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

เมื่อข้าพเจ้าได้เดินทางมาถึงลอสแอลเจลิส ดร. เชิดชัย เชี่ยวธีรกุล ได้กรุณามารับที่สนามบินและพาไปพักที่บ้าน วันรุ่งขึ้น ดร. เชิดชัย พาข้าพเจ้าไปพบท่านอธิการบดีของ Cal. State University ตามที่ได้นัดหมายไว้ก่อนแล้ว

การเยี่ยมพบท่านอธิการบดีการและคณบดี คณะบริหารธุรกิจพร้อมทั้งคณาจารย์ครั้งนี้นับว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ Cal. State University มีความสนใจที่จะร่วมมือกับ ABAC เป็นอันมาก คาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราคงจะได้ทำงานร่วมกัน

จากนั้น ข้าพเจ้าก็ถือโอกาสไปชม Rio Hondo Community College ซึ่งอยู่แถวตำบล Whittier ไม่ไกลจากที่พัก วิทยาลัยชุมชนแห่งนี้มีอาณาเขตสวยงามสะอาด อาคารเรียนและอาคารบริหารต่างๆ ถูกจัดอยู่ในรูปแบบดูแล้วเจริญตา เจริญใจ สรุปแล้วก็คือ วิทยาลัยชุมชนแห่งนี้ใช้สถาปัตยกรรมและศิลปะการตบแต่งทำให้เกิดบรรยากาศน่าเรียนสมกับเป็นสถาบันการศึกษา วิทยาลัยแห่งนี้ให้บริการแก่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ มีวิชาที่เราเรียกว่า "การศึกษาต่อเนื่อง" มากมายพอที่จะให้ใครๆ แม้ผู้ที่จบปริญญาเอกแล้ว มาหาความรู้เพื่อการศึกษาได้เสมอ ข้าพเจ้าเข้าไปชมแผนกทะเบียน และขอดูรายชื่อวิชาที่เปิดภาคฤดูร้อน ก็พบว่ามีวิชาเป็นร้อยๆ วิชา ซึ่งทางวิทยาลัยจัดไว้เพื่อสนองความต้องการของผู้ที่สนใจหาความรู้ใส่ตัวสมกับเป็นวิทยาลัยชุมชนโดยแท้

วันต่อมา ข้าพเจ้าก็มาถึงนครซานฟรานซิสโก และก็รีบไปพบ Rev. Brendan Madden และคณบดีคณะบริหารธุรกิจ ณ St. Mary's College of California ภราดา Brendan ได้กรุณาเชิญบุคคลสำคัญของ St. Mary's เข้าร่วมประชุมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะกำหนดมาตรการ ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ABAC กับ St. Mary's และ De La Salle University ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้เราคงจะได้ร่วมมือทำให้โครงการหลายโครงการใน ABAC สัมฤทธิ์ผล

เมื่อมาถึงนครซานฟรานซิสโกแล้วก็อดที่จะแวะไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไม่ได้ พอท่านศาสตราจารย์ Robert B. Textor ซึ่งเป็นอาจารย์เก่าทราบว่า ข้าพเจ้ามาถึงแคลิฟอร์เนียท่านได้กรุณาเชิญข้าพเจ้าร่วมฟังในชั้นที่ท่านสอน ข้าพเจ้าได้ตอบรับคำเชิญทันทีและดีใจมากที่ได้รับเกียรติให้เป็นนักศึกษาอีกครั้ง ชั้นนี้มีนักศึกษาเพียง 15 คนเท่านั้น วันนั้นเป็นวันที่นักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่งเสนอผลงานวิจัยของเขาซึ่งฟังดูแล้วน่าพิศวงชวนคิด วิชาที่เข้าร่วมฟังนี้ เป็นวิชาที่ว่าด้วย "อารยธรรมในอนาคตกาล" วิธีดำเนินการสอนในชั้นแบบนี้ก็คืออาจารย์ผู้สอนเสนอทฤษฎีสั้นๆ แล้วแนะผู้เรียนไปค้นคว้าจากการอ่านหนังสือบ้าง สัมภาษณ์บ้าง ประชุมกลุ่มบ้าง และเสนอผลงานของตน เป็นรูปวิจัย และสรุปผลเป็นสมมุติฐานหรือทฤษฎีใหม่ นักศึกษาทั้ง 15 คนในชั้นดังกล่าวนี้มาจากคณะต่างๆ กัน อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นความคิดเห็นก็ดี สมมุติฐานที่สร้างขึ้นมาใหม่ก็ดี ล้วนแตกต่างกันออกไปตามภูมิหลังที่แต่ละคนได้เล่าเรียนมา การสอนวิธีนี้เป็นการเสริมความคิดสร้างสรรค์มากเป็นวิชาที่สนุกมากวิชาหนึ่ง

เมื่อพูดถึงมหาวิทยาลัยแห่งนี้ สิ่งที่น่าประทับใจสิ่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ "ความดีเลิศทางวิชาการ" เพียงชั่วระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี นับแต่มหาวิทยาลัยได้เปิดประตูรับนักศึกษารุ่นแรก มหาวิทยาลัยได้สร้างความเป็นเอกทางวิชาการเป็นผู้นำทางความคิดสร้างสรรค์เป็นที่ยอมรับนับถือโดยทั่วไป มีอาจารย์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสอนประจำอยู่หลายคน มหาวิทยาลัยนี้มีสถาบันหลายสถาบัน แต่ที่มีชื่อเสียงดังที่สุดเห็นจะได้แก่ Hoover Institution on War Revolution and Peace นักปราชญ์เรืองนามของโลกหลายคนประจำอยู่ที่นี่ เช่น A. SOLZHENITSYN ปราชญ์รัสเซียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เป็นต้น

เมื่อตอนที่นายสแตนฟอร์ดข้าหลวงใหญ่แห่งรัฐแคลิฟอร์เนียสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมาท่านได้สั่งให้อธิการบดีคนแรกไปสรรหาปรมาจารย์มาสอน ท่านอธิการบดีคนแรกเขียนบันทึกไว้ว่า "นายสแตนฟอร์ดต้องการให้ข้าพเจ้าแสวงหาอาจารย์ชั้นยอดเท่านั้นมาสอน เขาไม่ต้องการโปรเฟสเซอร์ประเภทไม้ประดับ ไม่ทำอะไร" ด้วยเจตนารมณ์นี้เองกระมัง อธิการบดี Richard W. Lyman (1970-1980) จึงกล่าวว่า "มหาวิทยาลัยที่มีความเป็นอยู่อย่างสบายๆ ก็คือความขัดแย้งในตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ก็เพื่อกระตุ้นและยั่วยุให้ผู้มีปัญญาเกิดความคิด..."

จากนครซานฟรานซิสโกก็ตรงไปยังนครชิกาโก ณ นครใหญ่ศูนย์กลางธุรกิจของโลกแห่งนี้มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คือ "The University of Chicago" อาคารเรียนและตึกต่างๆ ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้สร้างตามศิลปะแบบโคธิคทั้งสิ้น ดูไปแล้วก็ทำให้นึกถึงภาพของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด กระนั้นความจริงสถาปนิกที่ออกแบบมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก ก็มีเจตนาที่จะสร้างบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยให้เป็นแบบศิลปะโคธิคเลียนแบบมหาวิทยาลัยในอังกฤษ มหาวิทยาลัยแห่งนครชิคาโกก็เหมือนกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดคือ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี ก็สามารถเป็นผู้นำทางวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีผู้สอนหรือกำลังสอนอยู่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 42 คน จึงเป็นศูนย์กลางการศึกษาแห่งหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจของนักวิจัย นักค้นคว้าและปราชญ์ทั้งหลาย หรือที่เรียกว่า "Scholars" จากทุกทิศานุทิศ

มหาวิทยาลัยชิคาโก เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสหรัฐที่ตั้งคณะสังคมวิทยา (Sociology) ขึ้นในปี ค.ศ.1892 หลังจากเริ่มกิจการได้เพียงปีเดียวเท่านั้น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสตราจารย์ ENRICO FERMI ได้ค้นพบ มีการพัฒนาจนอยู่ยงคงกะพันเป็นพลังงานนิวเคลียร์ปรมาณูขึ้นเป็นคนแรกของโลก การค้นพบนี้ได้ทำให้มหาวิทยาลัยชิคาโกมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยชิคาโกยังคงรักษาความดีเลิศทางวิชาการของตนไว้ โดยสามารถช่วงชิงรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มาได้บ่อยครั้ง

เมื่อพูดถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา สิ่งที่น่าสังเกตสิ่งหนึ่งก็คือการแข่งขันหาความดีเด่นและความดีเลิศทางวิชาการ บางคนอาจถามว่า ทำไมคนอเมริกันจึงชอบแข่งขันกันนัก ต้องมี 10 อันดับแรกของสิ่งต่างๆ มากมายก่ายกอง คำตอบง่ายๆ ก็คือ Spirit of Competition เป็นผลของ Spirit of Private Enterprise นั่นเอง เป็นธรรมดาอยู่เองที่ระบบการปกครองที่ส่งเสริมธุรกิจเอกชนย่อมเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันโดยเสรี ซึ่งก่อให้เกิดความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ในระบบการแข่งขันโดยเสรีนี้ ผู้ที่ไม่รู้จักขวนขวายย่อมเป็นผู้พ่ายแพ้ และในที่สุดอาจต้องสูญหายไปจากเวทีของโลกมนุษย์ก็ได้ ในระบบเช่นว่านี้ ทุกคนมีโอกาสเท่ากันที่จะประสบความสำเร็จหรืออีกนัยหนึ่ง ทุกคนสามารถบรรลุถึงความดีเลิศได้ไม่ในทางใดก็ทางหนึ่งในระบบดังกล่าวนี้ ทุกคนต้องมีปรัชญาของชีวิตในหลักที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งของตนเอง ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ตนต้องผลิตจึงจะได้ผลมา การทำงานหนักเป็นค่านิยมที่ต้องได้รับการยกย่องว่ามีเกียรติมีศักดิ์ศรีสำหรับมนุษย์

มหาวิทยาลัยที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น แม้จะมีอายุน้อยกว่าหลายร้อยมหาวิทยาลัยก็ตามแต่ก็สามารถถีบตัวขึ้นมาเทียมเท่า หรือในบางครั้งดีกว่ามหาวิทยาลัยเก่าแก่กว่า 360 ปี เช่น มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นต้น แน่นอนละสำหรับสหรัฐอเมริกาแล้ว ฮาวาร์ดถือได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่ยอดที่สุดแต่ก็ไม่ยอดที่สุดในทุกสาขาวิชา มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยอื่นๆ มีโอกาสที่จะเป็นเลิศ ดังที่ได้ประจักษ์เห็นกันแล้ว เพราะฉะนั้นภายในบรรยากาศของการแข่งขันโดยเสรีนี้ ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของสหรัฐ จึงมีการพัฒนาและวิวัฒนาการอยู่เสมอก้าวหน้าไปได้ไกลกว่าของยุโรป2ซึ่งเป็นต้นกำเนิดมหาวิทยาลัยของโลกตะวันตก แต่ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งแรกของยุโรป ได้เสื่อมลงและอันตรธานไปจากเวทีของโลกนี้แล้ว เช่น มหาวิทยาลัย REGGIO (ค.ศ. 1040-1772) มหาวิทยาลัย SALERNO (ค.ศ. 1059-1811) มหาวิทยาลัย PALENCIA (ค.ศ. 1212-1250) เป็นต้น คงเหลือไว้แต่ชื่อเป็นเสมือนซากปรักหักพังในประวัติศาสตร์การศึกษาเท่านั้น

ส่วนวิทยาลัยเอกชนของเราเล่า อนาคตจะเป็นอย่างไร? จะร้อยๆ ปี เช่น อ๊อกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ ซอร์บอนเนอ หรือ ฮาวาร์ด หรือไม่?

ถ้าวิทยาลัยเอกชนจะมีการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองดังเช่น มหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกที่ได้กล่าวมาแล้ว วิทยาลัยเอกชนจำเป็นต้องอยู่ในบรรยากาศแห่งความคิดที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เช่น

- การส่งเสริมให้เอกชนจัดทำการศึกษาระดับอุดมศึกษาอย่างกว้างขวาง ควรเป็นนโยบายระดับชาติ รัฐควรจัดทำเป็นเพียงตัวอย่างและเป็นแหล่งวิชาการเพื่อบริการของส่วนรวมเท่านั้น

- การศึกษา ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะเป็นวิทยาทานตามความเชื่อถือของคนไทยจำนวนมากก็ตามแต่การศึกษานั้นต้องการปัจจัยการเงินสนับสนุนจึงจะมีคุณภาพและอยู่รอดในเวลาเดียวกันผู้บริหารวิทยาลัยเอกชนจำเป็นต้องมีกุศลเจตนาที่จะจัดการศึกษาให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยนัยนี้ทั้งรัฐและเอกชนควรจะสรรหาทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่ขาดปัจจัยการศึกษา

- การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันโดยเสรี หมายถึงการไม่สร้างเงื่อนไขหรือออกกฏ ระเบียบที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบหรืออีกฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ

- เสรีภาพทางวิชาการเป็นเงื่อนไขของความดีเลิศทางวิชาการ ฉะนั้นการควบคุมคุณภาพการศึกษาควรขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของตลาดแรงงานมากกว่า

- ในโลกแห่งความเป็นจริงของโลกเสรีนิยม ถ้าบทบาทของเอกชนได้รับการส่งเสริมและได้รับการรับรองในภาคปฏิบัติจริงๆ แล้ว การศึกษาและเศรษฐกิจของชาติจะได้รับการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจและสังคมที่ควรจะเป็น

ข้าพเจ้าเชื่อว่า ภายในบรรยากาศดังกล่าวมานี้ วิทยาลัยเอกชนคงจะมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองได้ดี


2New Catholic Encyclopedia published by the Catholic University of America 


 *จุลสารวิทยาลัยเอกชน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 ปีการศึกษา 2526-27.

           1จุลสารวิทยาลัยเอกชน ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 ปีการศึกษา 2526-27.