การสอบ ENTRANCE*
เดือนมีนาคม - เมษายน เป็นช่วงสุดท้ายของปีการศึกษาในบ่ระเทศไทยสำหรับนักเรียนหลายคนเป็นเวลาหยุดเทอมที่เขารอคอยมานาน แต่สำหรับนักเรียนอีกจำนวนมากที่กำลังจบชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น หรือตอนปลาย คงไม่ใช่เวลาหยุดเทอมที่พึงปรารถนานัก เพราะเขาจะต้องกระวนกระวายใจด้วยเรื่องเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อจะเป็นในโรงเรียนมัธยมก็ดี หรือวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยก็ตาม ส่วนบิดามารดานั้นเล่าก็เป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับลูกด้วย ตั้งแต่หาโรงเรียนและเตรียมให้ลูกสอบคัดเลือกเข้าเรียนใน ป.1 จนกระทั่งจบมัธยมปลายและเข้ามหาวิทยาลัย ดู ๆ แล้วบิดามารดาจะต้องเหนื่อยไปกับลูกเมื่อลูกจบการศึกษาแต่ละระดับ บางรายนั้นบิดามารดาดูเหมือนจะเหนื่อยมากกว่าลูกเสียอีก ทั้ง ๆ ที่ตนเองไม่ได้เข้าสนามสอบด้วย
ทำไมจึงต้องมีการสอบ Entrance กัน? จะเลิกระบบทรมานเด็กแบบนี้ได้ไหม?
บางคนอาจคิดว่า กาสอบเข้านี้เป็นเรื่องของกฎ Supply และ Demand เมื่อมีความต้องการมากกว่าจำนวนที่ ๆ มีไว้ ก็จำเป็นต้องมีระบบคัดคนส่วนเกินออก ฟัง ๆดูก็มีส่วนถูกอยู่มาก เเต่ถ้าเราพูดถึงหลักการรักษาโดยทั่วไปแล้ว การมีการสอบเข้าจะเป็นด้วยวิธีใดก็ตาม ยังคงเป็นวิธีปฏิบัติของโรงเรียนที่มีมาตรฐานในหลายประเทศ ทั้งนี้ก็เพื่อจะรักษาระดับมาตรฐานของโรงเรียนนั้น ๆ ไว้ นั่นก็คือ ไม่ว่าจะมีผู้สมัครน้อยหรือมาก สถาบันการศึกษาบางแห่งยังคงมีระบบคัดคนเข้าเรียนอยู่นั่นเอง
สำหรับประเทศไทยเรานั้น การสอบคัดเลือกเข้าดูจะเป็นปัญหาระดับชาติไป เนื่องจากไม่มีโรงเรียนชั้นดี หรือมหาวิทยาลัยพอกับความต้องการของนักเรียนที่ประสงค์จะเรียนต่อ เช่น ในปีนี้เองมหาวิทยาลัยของรัฐ (ยกเว้นมหาวิทยาลัยรามคำแหง) รับนักศึกษาได้เพียง 17,000 คนเท่านั้น ในขณะที่มีนักเรียนจบมัธยมปลายและนักเรียนตกค้างจากปีที่แล้วถึง 70,000 คน เราลองนึกวาดภาพการสอบ Entrance ปีนี้ดูว่า จะเป็นการแข่งขันอย่างดุเดือดขนาดไหน? ในทำนองเดียวกัน การสอบ Entrance เข้า ป. 1 ของโรงเรียนมีชื่อบางแห่ง ก็ไม่ยิ่งหย่อนน้อยกว่ามหาวิทยาลัยในเชิงความดุเดือด เล่นเอาบิดามารดาเป็นโรคประสาทไปตาม ๆ กัน ส่วนเด็กน้อยไร้เดียงสาเหล่านั้น อาจจะอ่อนวัยไปที่จะเข้าใจความโหดร้ายทารุณของระบบการศึกษาที่ต้องมีการสอบเข้าตั้งแต่เด็กลืมตาชมโลกได้ไม่กี่ปี จะเลิกระบบการสอบเข้าได้หรือไม่?
ระบบนี้ยังเลิกไม่ได้ในประเทศไทย ตราบใดที่
1. สถาบันนิยมยังเป็นค่านิยมของคนจำนวนมาก (โรงเรียนของรัฐทั้งในกรุงเทพ และชนบทยังมีที่ว่างอีก โรงเรียนของรัฐในชนบทบางแห่งมีนักเรียนน้อยเสีย จนเกือบจะกล่าวได้ว่ามีครูมากกว่านักเรียน)
2. มีความต้องการเรียนมากกว่ามีที่ให้เรียน ในสถาบันที่มีชื่อ
3. โรงเรียนมีมาตรฐานต่างกัน เป็นต้น โรงเรียนในชนบทกับโรงเรียนในตัวเมือง
4. ยังถือกันว่า การเรียนสำเร็จจากสถาบันใด โรงเรียนใด เป็นดังใบพาสปอร์ต ในการสมัครงาน
5. สังคมยึดหลักการปกครองแบบทุนนิยมประชาธิปไตย (ในประเทศคอมมิวนิสต์ ก็มีการสอบเข้าเหมือนกัน แต่ในวงที่เล็กกว่า) ก็จำเป็นอยู่เองที่การสอบ Entrance จะถูกนำมาใช้เป็นขบวนการกรองคนชนิดหนึ่งตามความต้องการของตลาดแรงงาน
การสอบ Entrance ในบางประเทศ เช่นประเทศญี่ปุ่น เป็นการแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตายยิ่งกว่าในประเทศของเรา เด็กเล็กอายุตั้งแต่ 5-6 ขวบขึ้นไป(เหมือนการแย่งเข้าเรียนในชั้น ป.1 ในโรงเรียนบางแห่งของเมืองไทย) ถูกหัดให้ ชินกับการสอบแข่งขันตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา นิตยสารไทม์ฉบับวันที่ 15 มีนาคม ศกนี้ รายงานว่าเด็กญี่ปุ่นอายุ 6 ขวบขึ้นไปจะต้องเผชิญกับการเรียนเข้ม 7 ชั่วโมงต่อวัน และ240 วันต่อปี นอกจากนี้เด็กเหล่านี้จะต้องไปเรียนพิเศษกันอีก ไม่ว่าในรถบัสหรือรถไฟจะพบเห็นนักเรียนญี่ปุ่นอ่านท่องตำราเสมอ นิตยสารฉบับเดียวกันยังกล่าวอีกว่า นักเรียนญี่ปุ่นเรียนตลอดเวลายกเว้นเวลานอนเท่านั้น การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นก็ยากแสนเข็ญ แต่ละปีผู้ สมัครถึง 700,000 คน เพื่อแข่งแย่งเป็น 1 ในจำนวน 96,000 คนที่เข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ นักเรียนญี่ปุ่นเรียกการสอบเข้าประจำปีว่า "การสอบมหานรก"
ความกดดันทางจิตใจอันเนื่องมาจากการสอบ Entrance ทำให้นักเรียนญี่ปุ่นบางคนกระทำอัตวินิบาตกรรม ตามสถิติล่าสุดประจำปี ปรากฏว่าวัยรุ่น 17.6 คน ในจำนวนหนึ่งแสนคนฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังในการสอบ Entrance ในฮ่องกงอัตราฆ่าตัวตายในหมู่นักเรียนที่สอบไม่ได้สูงกว่านี้ด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ยังมีคดีอาญา ที่ก่อขึ้นโดยพวกวัยรุ่นที่ผิดหวังในการเรียนอีกมากมาย ความผิดหวังในการเรียนได้กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นญี่ปุ่นสร้างปัญหาให้แก่สังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่นักการศึกษาจะต้องขบคิดหาทางแก้ไขไปอีกนาน
ส่วนประเทศไทยเรานั้น วัยรุ่นของเรายังไม่เป็นข่าวในเรื่องอัตวินิบาตกรรมอันเนื่องมาจากผิดหวังในการเรียน ถ้าจะมีก็มีแต่น้อยราย นับว่าสังคมปัจจุบันของเรา ยังมีทางออกให้แก่วัยรุ่นในเรื่องนี้ได้พอควร ที่เป็นดังนี้เห็นจะเห็นจะเป็นเพราะว่าเยาวชนของเรายังคงมีโอกาสทำมาหาเลี้ยงชีพได้ ถึงแม้ว่าไม่ได้ผ่านการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยโอกาสที่จะทำงานโดยสุจริตยังมีอีกมาก ถ้าคนๆนั้นไม่เลือกงาน จริงอยู่สังคมปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะยกย่องฐานะของผู้มีการศึกษาสูง เพราะฉะนั้น ปัญหาที่สังคมเราควรจะให้ความสนใจแต่เดี๋ยวนี้ก็คือ การเตรียมจิตใจเยาวชนให้พร้อมที่จะเผชิญกับความผิดหวังในการเรียนต่อในขั้นอุดมศึกษา ในเมื่อการแข่งขันกันเรียนให้จบมัธยมปลายในโรงเรียนชั้นดีและการแข่งขันกันเข้ามหาวิทยาลัย เป็นไปอย่างดุเดือดยิ่งขึ้นในอนาคต
สิ่งหนึ่งที่ครูบาอาจารย์ทั้งหลายควรแนะนำนักเรียนก็คือ การไม่ยึดถือค่านิยมผิดๆบางอย่าง เช่น สถาบันนิยม เป็นต้น แต่ควรเน้นให้นักเรียนเข้าใจจุดหมายปลายทางของชีวิตมนุษย์ ศักดิ์ศรีของมนุษย์อยู่ที่การรู้จักต่อสู้กับชีวิตอย่างมนุษย์ผู้มีวิจารณญาณและเหตุผลศักดิ์ศรีของมนุษย์อยู่ที่การรู้จักทำงานหนักขวนขวายพากเพียร มีวินัยต่อตนเอง ความเป็นคนอย่างสมบูรณ์ของเราไม่ต้องไปผูกพันกับการศึกษาจากสถาบันโน้นสถาบันนี้ ผู้ที่เรียนจบจากมหาวิท ยาลัยที่มีชื่อเสียงเป็นโจรก็มีถมไป ฉะนั้นตัวเราเองต่างหากที่ต้องเป็นตัวของเราเอง ความดีและความชั่วเท่านั้น ที่จะชี้บอกว่าเราเป็นมนุษย์มีศักดิ์ศรีแค่ไหน!
ข้าพเจ้าหวังว่า บรรดาศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียลคงจะจำบทเรียนในชั่วโมงศีลธรรมเมื่อครั้งเป็นนักเรียนได้บ้าง และหวังว่าจะเป็นผู้ปกครองที่ดีรู้จักให่กำลังใจแนะนำลูกของตนให้เดินตามวิถีทางที่ถูกที่ควร
*จุลสาร สมาคมศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียลปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (มีนาคม 2525)
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ