การงางแผนพัฒนาการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน* 

โดย ภราดาประทีป ม.โกมลมาศ

เมื่อเช้านี้พณฯ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย และท่านรองปลัดทบวงฯ ได้แถลงนโยบายของทบวงมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการวางแผนพัฒนาการศึกษาเอกชน ในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ระยะที่ 5 ผมได้ฟังแล้วรู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก ดีใจก็เพราะว่า ได้ยินได้ฟังด้วยตนเองจากผู้ใหญ่ฝ่ายรัฐแถลงนโยบายอย่างผู้มีใจกว้าง มีความปรารถนาดี และมีความเข้าใจในบทบาทของวิทยาลัย เอกชนในแผนพัฒนา เมื่อผมมองย้อนหลังไป 15 ปี 10 ปี และ 5 ปีที่แล้ว ผมเห็นว่ารัฐบาลแต่ละสมัยที่ผ่านเข้ามาบริหารประเทศ ค่อย ๆ แสดงท่าทีเป็นคนมีใจกว้างยอมให้ฝ่ายประชาชนมีส่วนร่วมใน decision-making ในการวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จากแผนพัฒนาฉบับที่ 2 จนถึงฉบับที่ 4 นโยบายที่ว่าด้วยบทบาทของเอกชนในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้ถูกกำหนดให้เด่นชัดขึ้นเป็นลำดับ นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่บอกให้เราทราบว่า คนของรัฐเป็นจำนวนมากยอมรับบทบาทของเอกชนในการพัฒนาประเทศ ยอมรับบทบาทของเอกชนในการที่จะร่วมรับภาระในการจัดการอุดมศึกษา

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายคงเห็นด้วยกับผมในแง่ที่ว่า การจัดการศึกษาที่มีรัฐผูกขาดแต่ผู้เดี่ยวโดยไม่ให้เอกชนมีส่วนร่วมนั้น ย่อมจะเกิดผลเช่นใดในที่สุดประเทศหลังม่านเหล็กทั้งหลายคงเป็นข้อยืนยันคำพูดของผมได้ดี ประชาชนในประเทศเหล่านั้นได้แปรสภาพเป็น State Property ในที่สุด

เพราะฉะนั้น เมื่อได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองกำหนดนโยบายค่อนข้างจะชัดเจนอย่างมาก ในการพัฒนาวิทยาลัยเอกชนในแผนพัฒนาระยะที่ 5 เราทั้ง 11 สถาบันก็มีความยินดีที่จะร่วมวางแผนพัฒนาการศึกษาของเราให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ

การเปิดการสอนในระดับปริญญาโทและการเปิดเพิ่มสาขาวิชา

ในระยะ 5 ปีข้างหน้านี้ มีวิทยาลัยเอกชนอย่างน้อย 3 แห่งมีแผนที่จะเปิดสอนระดับปริญญาโท ในสาขาศาสนศาสตร์และการบริหารธุรกิจ

ส่วนในระดับปริญญาตรีนั้น วิทยาลัยหลายแห่งจะเปิดการสอนเพื่มขึ้นในสาขาต่าง ๆ เช่น

        - นิติศาสตร์

        - บรรณารักษศาสตร์

        - สถิติประยุกต์

        - เภสัชศาสตร์

        - พยาบาลศาสตร์

        - คอมพิวเตอร์ธุรกิจ

        - การเกษตรทั่วไป

        - การประกันภัยและประกันชีวิต

        - ชีววิทยา ฟิสิกส์ และเคมี

        - ภาษาศาสตร์ 

ภราดาประทีป ม.โกมลมาศ อธิการวิทยาลัยอัสสัมชัญฯ เป็นผู้นำการอภิปราย กลุ่มใหญ่ เรื่อง “การวางแผนพัฒนาการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน” ที่โรงแรมรถไฟเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน 2524

การพัฒนาอาคารเรียนและสถานที่

วิทยาลัยเอกชนส่วนใหญ่ไม่มีสถานที่และอาคารเรียนใหญ่โตโอ่โถงดังเช่นมหาวิทยาลัยของรัฐ มีวิทยาลัยเอกชนไม่กี่แห่งเท่านั้นที่อยู่ในฐานะที่จะพัฒนาสถานที่ อาคารเรียน ตลอดจน Facilities ต่าง ๆ ได้เท่าเทียบกับของรัฐหรือดีกว่าของรัฐในบางแห่ง กระนั้นก็ตาม เราทั้ง 11 สถาบันมิได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้แต่ละวิทยาลัยมีแผนที่จะปรับปรุงสถานที่ของตนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เหมาะที่จะเป็นสถานศึกษาที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนและการอบรม ความจริงนั้นนักการศึกษาบางคน เช่น Pro. Stephen Leacock เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง “An Ideal College” ว่า “ ขอต้น Elms ให้ข้าพเจ้าสัก 10 ต้น ณ ที่ดินสัก 2-3 เอเคอร์ ข้าพเจ้าจะสร้างวิทยาลัยขึ้นมาเขย่าโลกให้ได้” ทั้งนี้ และทั้งนั้นเราก็มิได้หมายความว่า บริเวณอาณาเขตของสถานที่ไม่สำคัญต่อการศึกษา แต่เราต้องการจะเน้นให้เห็นว่า ภายในสถานที่อันมีขอบเขตจำกัดนั้น เราสามารถที่จะให้มีการศึกษาเกิดขึ้นได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

การทำนุบำรุงศิลปและวัฒธรรมของชาติ

วิทยาลัยเอกชนมีบทบาทอะไรบ้างในการทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรมของชาติ ตามแนวนโยบายการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระยะที่ 5 ?

ถ้าดูกันตามแผนแล้ว ดูเหมือนจะไม่มีข้อระบุเด่นชัด ว่าด้วยบทบาทของวิทยาลัยเอกชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เมื่อพูดถึงนโยบายโดยทั่วไปคือ “ ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินกิจกรรมด้านทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยเน้นการส่งเสริมจริยธรรม สงวนรักษาและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ” (เอกสารประกอบการสัมมนาข้อ 3.2.6 หน้า 15 )

วิทยาลัยเอกชนถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งที่จะสนองตอบนโยบายของชาติที่ว่าด้วยการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จึงได้แต่งตั้งกรรมการตามมติของสมาคมวิทยาลัยเอกชน เพื่อจัดทำโครงการเฉลิมฉลองภาษาไทยครบ 100 ปี อันได้แก่

        - โครงการทำเอกสารทางวิชาการ

        - โครงการภาษาไทยสัญจร

        - โครงการอาสาสมัครสอนภาษาไทยตามแหล่ง เสื่อมโทรมและศูนย์อพยพต่าง ๆ

        - โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและการสอนวิชาพื้นฐานภาษาไทย

        - โครงการส่งเสริมวาทการและวรรณศิลป

        - โครงการโต้วาทีระหว่างสถาบัน

        - โครงการแข่งขันกลอนสดระหว่างสถาบัน

        - โครงการประกวดการอ่านคำประพันธ์และ

        - โครงการประกวดเรื่องสั้น

        นอกจากนี้ วิทยาลัยเอกชนบางแห่ง เช่น วิทยาลัยพายัพได้มีโครงการจัดแสดงศิลปและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศอีกด้วย

การพัฒนาบุคลากร และการสรรหาบุคลากร

มีนักการศึกษาบางคนกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดของวิทยาลัย มิใช่อยู่ที่การมีตึกใหญ่โตมโหฬาร แต่อยู่ที่ว่า วิทยาลัยแห่งนั้นมีบรมครู ( The great teacher ) สอนอยู่หรือเปล่า วิทยาลัยเอกชนตระหนักถึงความจริงในสัจจะข้อนี้เป็นอย่างดี แต่ละแห่งจึงมีกรรมการที่คอยสอดส่อง คอยแสวงหา The Great Teacher เช่นว่านี้มาสังกัดในวิทยาลัยของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้ นโยบายการพัฒนาและสรรหาบุคลากรของเราก็คือ

1. สอดส่องหาผู้เชียวชาญใน private sector มาร่วมเป็นคณาจารย์ของเรา เพราะเราเห็นว่าผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจเอกชนก็คือ ผู้ที่จะสามารถสอนนักศึกษาของเราให้เจนจัดทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เราก็ทราบกันดีแล้วว่า ปัญหาที่นักวิชาการได้ประมวลเอาไว้ในปลายแผนที่ 4 ก็คือ “ การเรียนการสอนส่วนใหญ่ ยังเน้นทฤษฎีมากกว่าภาคปฏิบัติ ” ใครบ้างจะส่งลูกหลานไปเรียนแพทย์ศาสตร์กับอาจารย์ที่ไม่เคย practise เลย? ฉันใดก็ฉันนั้น อาจารย์ที่มาจากแหล่งธุรกิจเอกชนหรือมาจากหน่วยราชการ เช่น กรมสรรพากร ฯลฯ ย่อมมีประสบการณ์มากกว่าอาจารย์ที่สอนในสถาบันการศึกษา แต่ไม่เคย practise วิชาชีพอย่างแท้จริง ในแง่นี้วิทยาลัยเอกชนดูจะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าของรัฐ เพราะมีความคล่องตัวกว่า ที่จะสรรหาอาจารย์จากผู้ที่ปฏิบัติธุรกิจด้วยตนเอง

2. แหล่งทรัพยากรที่สองที่วิทยาลัยจะได้บุคลากรมาร่วมงานก็คือ มหาวิทยาลัยของรัฐ เป็นความจริงที่ทุกคนยอมรับว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ โดยส่วนรวมแล้ว มีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นจำนวนมาก เป็นต้นในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยก็มีนโยบายส่งเสริมด้านวิชาการของวิทยาลัยเอกชน โดยอนุญาตให้อาจารย์มาร่วมสอน

ยิ่งกว่านั้น มหาวิทยาลัยของรัฐยังเป็นแห่งผลิตอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิให้แก่เราในแง่ที่ว่า อาจารย์ที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์มีผลงานทางการค้นคว้าและวิจัยเป็นที่ยอมรับระดับชาติมาร่วมเป็นอาจารย์ประจำ เป็นผู้วางแผนให้แก่วิทยาลัยเอกชนหลายแห่งแล้ว ในอนาคต แนวโน้มที่จะมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิประเภทดังกล่าวมาร่วมบริหารวิทยาลัยเอกชนนั้นสูงขึ้น

นโยบายของวิทยาลัยเอกชนที่จะสรรหาอาจารย์จากกลุ่มอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการจากมหาวิทยาลัยของรัฐนั้นมิใช่เป็นเรื่องใหม่ ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริการก็ได้มีการปฏิบัติเช่นว่านี้มาแล้ว จนทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ตั้งขึ้นใหม่ในฝั่งตะวันตกของอเมริกาเองเกิดความมั่งคง คนบรรลุถึงความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นที่พิศวงแก่นักการศึกษามามากต่อมากแล้วเราทั้ง 11 สถาบันเชื่อแน่ว่าวิธีการนี้ควรจะประสบความสำเร็จในประเทศของเราเช่นเดียวกัน

        3. การวางแผนพัฒนาบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละวิทยาลัย

        3.1 ระดับอาจารย์

            ก. ให้ทุนไปศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศในสาขาที่วิทยาลัยเปิดสอน

            ข. ให้ทุนไปดูงานในต่างประเทศ

            ค. มีการสัมมนาทั้งภายในและภายนอกวิทยาลัย เพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์ให้อาจารย์

            ง. จัดให้มีการบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาและอาชีพต่าง ๆ

        3.2 ระดับเจ้าหน้าที่

            ก. ส่งเสริมให้มีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

            ข. ส่งเข้าฝึกอบรมในโครงการภายในประเทศระยะสั้นที่เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพของ เจ้าหน้าที่

นโยบายรับนักศึกษาและผลิตบัณฑิตในแผนพัฒนา

ตามแผนภูมิตารางที่ 5 ในเอกสารประกอบการสัมมนาครามนี้ มีสรุปเป้าหมายจำนวนยอดรวมนักศึกษาของวิทยาลัยเอกชนในช่วงแผนพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 5 (2525-2529) ปรากฏว่าในปี 2525 วิทยาลัยเอกชนทั้ง 11 แห่งจะมีนักศึกษา 26,266 และปลายปี 2529 จะมี 32,937 คน ถ้าตัวเลขนี้ถูกต้องก็หมายความว่า ตามแผนพัฒนานี้ วิทยาลัยเอกชนจะสามารถรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซนต์

แต่ตามสถิติประชากรศึกษาที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปี ในแผนพัฒนาระยะที่ 1 ถึงที่ 8 ซึ่งคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติทำ projection ไว้นั้น แสดงให้เห็นว่าปลายปี 2529 วิทยาลัยเอกชนมีแนวโน้มที่จะรับนักศึกษามากกว่าที่ได้กำหนดไว้ในแผน ตัวอย่าง เช่นในปีนี้เอง (2524) จำนวนนักศึกษารวมในวิทยาลัยเอกชนทั้ง 11 แห่งมีมากกว่า 26,266 คือมีถึง 29,600 กว่าคนแล้ว ฉะนั้น คาดว่าในปี 2529 วิทยาลัยเอกชนจะมีนักศึกษารวมได้ถึง 40, 000 คน นับว่าเพื่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซนต์

เกี่ยวกับนโยบายการผลิตบัณฑิตของวิทยาลัยเอกชนนั้น เราได้ตระหนักดีถึงปัญหาซึ่งนักวิชาการได้ประเมินไว้ในปลายแผนระยะที่ 4 ที่ว่า มหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตเกินความต้องการของตลาดแรงงาน เช่น นิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์* ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยเอกชนได้พยายามที่จะเปิดสอนวิชาในสาขาที่มหาวิทยาลัยของรัฐไม่เปิดสอนอยู่ แต่ถ้าวิทยาลัยเห็นความจำเป็นที่จะเปิดในสาขาเดียวกับของรัฐเราก็มีนโยบายที่จะเน้นสาระของวิชาให้แตกต่างไปจากของรัฐ เช่น เปิดสอนระดับปริญญาตรีสาขาการบัญชีแบบของรัฐก็จริง แต่เน้นหนักไปทางการเก็บภาษีอากร เป็นต้น นโยบายดังกล่าวนี้กำลังได้รับความสนใจจากคณะผู้วางแผนพัฒนาของแต่ละวิทยาลัย

เป็นไปได้หรือไม่ที่วิทยาลัยเอกชนควรมีหลักปรัชญาการผลิตบัณฑิตแตกต่างไปจากความคิดของนักวิชาการโดยทั่วไป กล่าวคือ นักวิชาการมักมีความคิดที่จะผลิตบัณฑิตไปสู่ตลาดแรงงานอย่างเดียว เพราะถือว่าการศึกษาเป็นการลงทุน และมนุษย์เป็น human capital ที่สำคัญที่สุด ฉะนั้น เมื่อบัณฑิตที่ผลิตออกมาแล้วหางานทำไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นความล้มเหลวของการลงทุนทางการศึกษา

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่วิทยาลัยเอกชนครวคิดที่จะวางแผนเปลี่ยนความคิดและค่านิยมของนักศึกษาเราว่าวิทยาลัยเอกชนเตรียมนักศึกษาของเราให้มีความรู้พอที่จะไปประกอบอาชีพเป็น เพื่อพัฒนาประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนักศึกษาควรทราบด้วยว่า การศึกษาขั้นปริญญานั้น ไม่ว่าในสาขาใดก็ตามก็คือการพัฒนาคุณภาพของตนเอง นั่นคือสร้างคุณภาพให้แก่ประชากรอันจะเป็นการปูและเสริมพื้นฐานของหลักประชาธิปไตยให้แก่ประเทศนั่นเองการเป็นบัณฑิตไม่ใช่สิทธิของผู้เป็นบัณฑิตจะอ้างเพื่อของานทำ แต่ควรเป็นหลักประกันมากกว่าว่า ผู้เป็นบัณฑิตนั้นคือผู้ที่รู้จักใช้ปฏิภาณ ความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาประกอบอาชีพเป็น รู้จักทำมาหากินอย่างสุจริตชนเป็น

คราวนี้ เมื่อเราหันมาดูผลการผลิตบัณฑิตของวิทยาลัยเอกชนบ้างเราก็มีความภูมิใจที่จะกล่าวว่าบัณฑิตที่สำเร็จจากวิทยาลัยเอกชนนั้น เป็นผู้ที่ออกไปสร้างงานให้แก้รัฐเสียเป็นจำนวนมิใช่นัอย ที่เป็นดังว่ามานี้ ก็เพราะอาจจะเป็นได้ว่า นักศึกษาของเรามาจากวงการธุรกิจเอกชนเสียส่วนใหญ่ เขาเหล่านั้นไม่เคยมีความคิดที่จะไปรับราชการ แต่ต้องการประกอบอาชีพส่วนตัว ซึ่งก็ตรงกับวัตถุประสงค์อันหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ที่เน้นการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ

การพัฒนาด้านคุณภาพการศึกษา

        วิทยาลัยเอกชนทั้ง 11 แห่งมีความเข้าใจและตระหนักในปัญหาที่นักวิชาการได้ประเมินไว้ในปลายแผนระยะที่ 4 ว่า

        “การเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ” (1)

        และในระยะเดียวกัน เป้าหมายด้วยคุณภาพของแผนระยะที่ 5 ก็เน้นเรื่อง

          - การพัฒนาคณาจารย์

          - การพัฒนาการเรียนการสอน

          - การพัฒนาจริยธรรม (2)

จากการประชุมสมาคมวิทยาลัยเอกชนทุกครั้ง เราพอจะเห็นได้ว่าเรื่องมาตรฐานการศึกษาและการปรับคุณภาพการศึกษา เป็นเรื่องที่วิทยาลัยเอกชนต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งหมายความถึงการการจัดสรรหาอาจารย์ผู้ทรงคุณวิฒิและการพัฒนาคณาจารย์ที่มีอยู่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ในเรื่องผดุงมาตรฐานการศึกษานี้ ทบวงใช้ระบบ external examiners เข้าควบคุมซึ่งหวังว่าทำให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย เราทุกคนทราบดีว่าไม่มีระบบใดปราศจากข้อบกพร่อง แต่การไม่มีระบบหรือกลไกอันใดเลย เพื่อใช้ผดุงมาตรฐานการศึกษา ก็น่ากลัวว่ามาตรฐานการศึกษาของวิทยาลัยเอกชนในระยะที่กำลังเติบโต จะไม่เจริญรุ่งเรืองเท่าที่ควร ซึ่งมีความหมายว่า การควบคุมจะหมดไปในที่สุดนั่นเอง

อย่างไรก็ดียังมีความกังวลใจอะไรบางอย่างที่พวกเราอยากจะเรียนให้ทบวงฯทราบนั่นก็คือความกังวลใจที่ว่ามาตรการควบคุมมาตรฐานการศึกษาของทบวงฯ นั้นอาจจะกลายเป็นเครื่องหยุดยั้งการพัฒนาการศึกษามากกว่าเป็นเครื่องส่งเสริมควรจะเป็นที่เข้าใจแล้วว่าทบวงฯ ไม่ปรารถนาที่จะทำวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งแห่งใดให้เป็น a duplicate ของมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งแห่งใด วิทยาลัยเอกชนแต่ละแห่งปรารถนาที่จะเป็นตัวของตัวเองมีเอกลักษณ์ของตนเอง มี characteristics ของตนเอง ซึ่งไม่ต้องการให้หมือนวิทยาลัยใดหรือมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งใด


  *(1) เอกสารประกอบการสัมมนา ข้อ 3 หน้า 3

   *(2) เอกสารประกอบการสัมมนา ข้อ 3.2 หน้า 46 


รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ศาสตรจารย์ ดร. เกษม สุวรรณกุล ถ่ายรูปร่วมกับอธิการและผู้แทนวิทยาลัยเอกชนที่เข้าสัมมนา เรื่อง “ การวางแผนพัฒนาการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ” วันที่ ๒๑-๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๔

เสรีภาพทางวิชาการ (academic freedom) เป็นความกังวลใจอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งวิทยาลัยเอกชนทุกแห่งเป็นห่วง เสรีภาพทางวิชาการเป็นผลอันเนื่องมาจากความเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่ใครในเชิงวิชาการ แต่การที่ต้องอยู่ในอาณัติของทบวงฯ ในเรื่องมาตรฐานการศึกษา เสรีภาพทางวิชาการอาจจะได้รับการกระทบกระเทือนได้ เช่น วิทยาลัยเอกชนบางแห่งมีความคิดที่จะสร้างทฤษฎีการบริหารธุรกิจใหม่ขึ้นมา ซึ่งสามารถ apply ให้เข้ากับนิสัยใจคอคนไทยเรา เพราะเห็นว่าทฤษฎีการบริหารที่สอนกันอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน เน้นแบบตะวันตก เหมาะสำหรับคนที่มีวัฒนธรรมแบบตะวันตก ซึ่งไม่สามารถ apply ให้ได้ผลเท่าที่ควรใน context ของประเทศเรา ความคิดที่จะมีทฤษฎีใหม่ขึ้นมานี้ย่อมเป็นไปได้ยาก ในบรรยากาศที่ถูกครอบงำความคิดโดยคนนอกสถาบัน ซึ่งเป็นข้าราชการ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า “ การที่มหาวิทยาลัยของไทยเป็นหน่วยงานทางราชการอย่างหนึ่งนั้น มีผลทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สอนวิชาบางสาขา โดยเฉพาะสาขาสังคมศาสตร์ ไม่อาจทำหน้าที่เป็นผู้รักษาสัจจะทางวิชาการได้กว้างขวางตามที่ต้องการ “ (1)

แต่คุณภาพการศึกษาที่แท้จริงคืออะไร ? และหมายถึงอะไรกันแน่? ถ้าเราหันมาพิจารณาข้อคิดของ John Henry Newman (1801-1890) ในบทความเรื่อง “Idea of a University” แล้ว เราพอจะสรุปได้ว่า ตามทัศนะของพระคาร์ดินัล Newman นั้น คุณภาพทางการศึกษาของสถาบันใดอยู่ที่ว่าสถาบันนั้นสามารถผลิตบัณฑิตให้เป็น “คน” ได้หรือไม่ นั่นคือประการแรก และประการสองก็คือ สถาบันนั้นสามารถ educate บัณฑิตนั้นให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมได้หรือไม่ “ fit for the world “ ?

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ วิทยาลัยเอกชนทุกแห่งจึงมุ่งที่จะ educate นักศึกษาของเราให้เป็น “a complete and total man”(2) นั่นคือบัณฑิตที่มีคุณธรรมและจริยธรรม 


   *1. (บทความพิเศษเรื่อง "เสรีภาพทางวิชาการ" โดย ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์เอกคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์)

   *2. Learning To Be, UNESCO publication p.156

   *เอกสารประกอบการสัมมนา หมายเลข 1 หน้า 2 ข้อ 1


  *บรรยายนำการอภิปราย ณ โรงแรมรถไฟเชียงใหม่ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2524

  *ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ  

  *จุลสาร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC NEWSLETTER ปีที่ 3 ฉบับที่ 10 เดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2525 หน้า 23-31