มหาวิทยาลัยกับเสรีภาพทางวิชาการ*
สวัสดีท่านอธิการบดี ท่านคณบดี และนักศึกษาทุกท่าน ผมอยากจะตอบอาจารย์บังอรเดี๋ยวนี้เลยว่า ในการกำหนดค่าหน่วยกิตตามใจชอบ หรือกำหนดหลักสูตรใด ๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างจะต้องดำเนินการภายใต้ความควบคุมของทบวงฯ ฝ่ายเอกชนมีสิทธิที่จะเสนอส่วนข้อเสนอแนะทั้งหลายนั้นจะได้รับความเห็นชอบหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในฐานะที่ผมเป็นคนสุดท้าย จึงขออนุญาตเจาะให้ลึกลงไปถึงความเป็นมาของเสรีภาพทางวิชาการเพราะเป็นเรื่องโต้แย้งกันได้พอสมควร ก่อนที่จะมาเปรียบเทียบกันดูว่าระหว่างรัฐและเอกชนนั้น ใครมีเสรีภาพมากกว่ากัน
เราก็ทราบกันดีว่าในทุกยุคทุกสมัยของประวัติศาสตร์การศึกษา เสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom) มีพื้นฐานมาจากสิทธิมนุษยชน (Human Rights) การประการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1948 นั้น ไม่ได้หมายความว่ามนุษยชาติเพิ่งเริ่มคิดถึงสิทธิมนุษยชนในศตวรรษที่ 20 ก็หาไม่ ไม่ใช่เลย ความจริงนั้นมนุษยชาติได้มีความคิดในเรื่องนี้เป็นเวลาหลายร้อยหลายพันปีมาแล้ว จนกระทั่งมนุษย์ส่วนใหญ่ของโลกได้มีการวิวัฒนาการบรรลุถึงวุฒิภาวะที่ยอมรับกันว่าเสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) เสรีภาพของการดำรงชีวิตอยู่ เป็นคุณค่าสมบูรณ์ คือ absolute values ที่ควรจะมีการประกาศอย่างเปิดเผย และเป็นที่ยอมรับของอารยประเทศและปัญญาชนโดยทั่วไป กระผมมีความเห็นว่า เสรีภาพทางวิชาการมีความเป็นมาพร้อม ๆ กับประวัติศาสตร์ของการประกาศสิทธิมนุษยชน ในการวิวัฒนาการทางความคิดและความเจริญ นับแต่มนุษย์เริ่มดำรงชีวิตอยู่ในโลกมาเป็นเวลาหลายหมื่นปี นับว่าเป็นศักราชใหม่ของมนุษยชาติก็ว่าได้ เสรีภาพทางวิชาการมีความเป็นมาอย่างเห็นได้ชัดก็ในสมัยอารยธรรมกรีกโบราณ และก็มีความเป็นมาควบคู่กับความคิดเรื่องประชาธิปไตยนั่นละครับตั้งแต่สมัย Academy of Athens ที่ซึ่งเริ่มมีการสอนเรื่องประชาธิปไตยโดย Aristotle, Plato และสานุศิษย์ของท่านเราอาจจะถือได้ว่า Academy of Athens เป็นจุดกำเนินของเสรีภาพทางวิชาการก็ได้ครับ ความคิดเช่นว่านี้ได้ถูกถ่ายทอดกันมา อย่างที่ ดร. เกษม ได้พูดมาสักครู่ว่า การที่มนุษย์อยากจะแสวงหาความรู้ การที่มนุษย์บางกลุ่มอยากจะสอนถ่ายทอดวิชาการ ได้กลายเป็นจุดกำเนิดของมหาวิทยาลัยนั้น ผมเห็นเป็นความจริงเชิงประวัติศาสตร์ดังเช่นกลุ่มชนที่สอนในสมัยกลาง เป็นต้น ในครั้งนั้นมีคนอยากแสวงหาความรู้ อยากเล่าเรียนมากมายก็พากันมาตั้งมหาวิทยาลัย กันขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ ตั้งขึ้นโดยพวกนักศึกษานั่นเอง เช่น มหาวิทยาลัย Bologna เป็นต้น กลุ่มคณาจารย์ที่ร้อนวิชาอยากจะถ่ายทอดวิชาเหลือเกิน ให้มนุษย์ทั้งหลายได้รับทราบไว้ จึงไปตั้งมหาวิทยาลัยกัน เช่น University of Paris เป็นต้น ในบางแห่งนั้น กลุ่มผู้ใฝ่หาวิชาความรู้หรือกลุ่มผู้คงแก่เรียน (Scholars) บังเอิญไปทะเลาะกับชาวบ้านเข้า คือมีความนึกคิดขัดแย้งกับความเชื่อถือของชาวบ้าน อย่างเช่นที่ Oxford Scholars กลุ่มนี้ก็เลยหนีจาก Oxford ไปตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ขึ้นที่เคมบริดจ์ (Cambridge) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการของกลุ่มชนที่จะเผยแพร่ความนึกคิดในเรื่องประชาธิปไตย ความนึกคิดในเรื่องศาสนา เสรีภาพและอิสรภาพของบุคคลซึ่งมีลักษณะความเป็นมาคล้าย ๆ กัน สรุปก็คือมหาวิทยาลัยถือกำเนิดมาจากกลุ่มชนที่อยากจะแสวงหาความรู้ และกลุ่มชนที่อยากจะถ่ายทอดวิชาความรู้และทั้งสองกลุ่มชนนี้ต่างก็ต้องการมีเสรีภาพที่จะเรียนที่จะสอน ต่างก็ต้องการมี Autonomy ในเรื่องของการเรียนการสอน ซึ่งก็คือเสรีภาพทางวิชาการนั่นเอง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะแสวงหาสัจจะความจริงกันทั้งนั้น จากประวัติศาสตร์การศึกษาจึงพบว่าชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม เป็น Scholars หรือเป็นนักศึกษา จะตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นก็เพื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน คือแสวงหาสัจจะธรรมความจริง การแสวงหาสัจจะความจริงดูจะเป็นความประสงค์ร่วมกัน และเป็นจุดกำเนินของมหาวิทยาลัย และในเมื่อ Scholars เหล่านั้นหรือผู้คงแก่เรียน มีความร้อนรนความกระหายที่จะแสวงหาสัจจะความจริง เขาเหล่านั้นก็อ้างสิทธิที่จะปกครองตนเอง และในหลายกรณี ได้ประสบความสำเร็จในการอ้างสิทธิที่จะปกครองตนเอง คือ ถือว่ามหาวิทยาลัยต้องมีความเป็นอิสรภาพมี Autonomy บังเอิญ Scholars และนักศึกษาในยุคนั้นหลายคนมีสมบัติส่วนตัว เมื่อมีสมบัติส่วนตัวแล้วเขาก็พึ่งตนเองได้ ในหลายกรณีเขาไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือทางปัจจัยจากศาสนจักรหรือยุทธจักรเลยเพราะในยุคก่อน ๆ นั้น ทั้งศาสนจักรและยุทธจักร (The Church and the State) พยายามที่จะบังคับควบคุมความเป็นอยู่ของปัญญาชนเหล่านี้ไว้ Scholars เหล่านั้นก็เหมือนขอมดำดินนั่นแหละ เมื่อถูกบีบจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสู้ไม่ได้ก็ดำดินไปโผล่ที่อื่นในที่ ๆ ตนมีอิสรภาพ แล้วก็เริ่มตั้งหน้าตั้งตาสอนนักเรียนกันใหม่ ถกเถียงกันด้วยเรื่องต่าง ๆ เพราะฉะนั้นท่านจะเห็นว่าเจตนารมณ์ของเสรีภาพทางวิชาการนี้ อยู่ที่ความต้องการที่จะมีเสรีภาพทางการค้นคว้าไต่ถาม (Freedom of Inquiry) เจตนารมณ์ที่อยากจะค้นคว้าหาความจริง (Spirit of Inquiry) ทำให้ผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นยอมสละแม้ชีวิตที่จะรักษาสิทธิอันหวงแหนนี้ไว้ เราจึงเห็นว่าพวกเหล่านี้ ในบางครั้งถึงกับหลบหนีชาวบ้านเพื่อจะไปตั้งโรงเรียนขึ้นมาสอนสิ่งที่ตนเชื่อว่าเป็นความจริง ความเป็นมาของเสรีภาพทางวิชาการก็เป็นเรื่องอย่างนี้ละครับ ส่วนในยุคใหม่นั้น ถ้าเราจะนับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ควรจะได้มหาวิทยาลัยในยุโรป และเป็นต้นในประเทศเยอรมันตีความหมายเรื่อง "เสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom)" ไปใน 2 องค์ประกอบ คือ Lehrfreiheit (freedom to teach) และ Learnfreiheit (freedom to study) ซึ่งนักการศึกษาหลายคนเชื่อว่าเป็นพื้นฐานของ basic modern formulations ของเสรีภาพทางวิชาการ ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นเสรีภาพทางวิชาการรวมไปถึง "Protection of Tenure of Professors, Scope of Faculty Control และ Student Liberties." แน่นอนละครับการตีความหมายของเสรีภาพทางวิชาการไม่ใช่ของง่ายนักที่จะทำให้ทุกคนในระบบมหาวิทยาลัยเข้าใจตรงกัน ข้อขัดแย้งอันเกิดจากการตีความหมายนั้นมีมากมาย รวมทั้ง abuses ต่าง ๆ ที่มาจากคณาจารย์และนักศึกษาเอง เช่น นักศึกษาขอสิทธิพิเศษไม่เข้าเรียนแต่มีสิทธิสอบ เป็นต้น นักการศึกษามีเหตุผลทั้ง pros และ cons เกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมทั้งอาจารย์บางคนที่อ้างเสรีภาพทางวิชาการโดยไม่เตรียมการสอนหรือทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อประกอบการสอนก็มี ผมเข้าใจว่าเราจะหาข้อยุติง่าย ๆ ไม่ได้นักในเรื่องนี้ คงจะต้องใช้เวลาอีกนานพอควรที่ปัญญาชนในมหาวิทยาลัยจะยอมรับ constraints ต่าง ๆ อันเนื่องมาจากเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งจะต้องรวมถึงความรับผิดชอบ หน้าที่ ระเบียบวินัย และอิสรภาพ (freedom from restraints to do right things) เราลองมาดูประวัติความเป็นมาและชีวิตคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยดูบ้างบางทีจะหาข้อสรุปได้บ้างจากประวัติศาสตร์ของเสรีภาพทางวิชาการว่ามีการวิวัฒนาการมาอย่างไร
ในยุคก่อน ๆ นั้น ผลผลิตของมหาวิทยาลัยมักไปรับใช้ศาสนจักรและยุทธจักรทั้งหลาย แต่มหาวิทยาลัยคงไม่ได้มีเจตนา ไม่มีความตั้งใจอย่างชัดเจน ที่จะผลิตคนไปรับใช้ทั้งศาสนจักรและยุทธจักร การที่ผลผลิตของมหาวิทยาลัยไปรับใช้บ้านเมืองและศาสนจักรนั้นถือเป็นแต่ by product เท่านั้น มาถึงตอนนี้เราอาจจะถามว่า เขาตั้งมหาวิทยาลัยกันขึ้นมาทำไม ผู้คงแก่เรียนเหล่านั้นจะตอบว่าเขาต้องการสิ่งเดียว คือ มีโอกาสถกเถียงมีโอกาสอภิปรายกันด้วยเรื่องปัญหาชีวิตและเรื่องของปัญญาเท่านั้น เพื่อจะบรรลุสัจจะความจริงเขาต้องการมีโอกาสนี้เท่านั้นที่จะแสวงหาความจริง นี่แหละคือ Justification ของการมีมหาวิทยาลัย ของการตั้งมหาวิทยาลัย นี่คือภูมิหลังของการมีการศึกษาระดับอุดมศึกษาซึ่งโลกได้เห็นเป็นพยานมาจนถึงปัจจุบันและเมื่อสิ่งนี้เป็นที่มาของมหาวิทยาลัยแน่นอนละครับเสรีภาพที่คณาจารย์ หรือ Scholars ต้องการแสวงหาก็คือ เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นนั่นเอง เมื่อฟังดูแล้วก็รู้สึกว่า Scholars เหล่านั้นจะไม่มีบทบาทสำคัญอะไรในสังคม ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เขาเหล่านั้นได้อ้างตัวและทำตัวเป็นมโนธรรมของสังคม เขาทำตนเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร เขามักออกแถลงการณ์ให้ความเห็นแก่สังคม และเป็นผู้ประสานความคิดแตกแยกระหว่างยุทธจักรกับศาสนจักร ท่านคงจะทราบกันดีแล้วว่าโลกตะวันตกยุคก่อน ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของศาสนจักรและยุทธจักร มีการแก่งแย่งและช่วงชิงอำนาจระหว่าง 2 อำนาจนี้เสมอ แต่พวกผู้ใฝ่หาวิชาความรู้ที่ตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมานี้ เป็นพวกที่ไม่ต้องการทำตนเป้นทาสความคิดของทั้งศาสนจักรและยุทธจักร และในเวลาเดียวกันก็ไม่ยอมให้ทั้ง 2 อำนาจนี้มาครอบงำความคิดของตน พฤติกรรมของเขาเอง ดูไปแล้วก็เหมือนกลุ่มชนที่ทำตนเป็นมโนธรรมของสังคม คือ เขากล้าติเตียนทั้ง 2 อำนาจ เมื่อสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล ในเวลาเดียวกันเขาก็เสี่ยงต่อการถูกจับเผาไฟทั้งเป็นโดย 2 อำนาจนั้น พวก Scholars หรือปัญญาชนของมหาวิทยาลัยมักสอนกันว่า อำนาจการปกครองสังคมยุคนั้นขึ้นอยู่กับ 3 ฝ่ายด้วยกันคือ อำนาจฝ่ายศาสนจักร (Eclesiastical Power) คือฝ่ายสงฆ์ปกครองจิตใจคน อำนาจของกษัตริย์ (divine Rights of King) หรืออำนาจปกครองบ้านเมืองและอำนาจของประชาชนหรือเสียงของปวงชน (Vox Populi) ซึ่งถือกันว่าเป็นเสียงสวรรค์เป็นพลังของปวงชน และถือสิทธิของปวงชนที่จะแสวงหาสัจจะความจริงโดยการศึกษาค้นคว้า อำนาจทั้งสามแบบคือสิ่งที่พวกคงแก่เรียนเน้นมาก ทั้งนี้เพื่ออ้างสิทธิของประชาชนที่จะศึกษาเล่าเรียน และมีความคิดเป็นเอกเทศ ทั้งศาสนจักรและยุทธจักรต่างก็พยายาม control อำนาจของปวงชนอยู่เสมอ ประวัติศาสตร์การศึกษาได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ทั้งสองอาณาจักรนั้นคิดผิดที่จะไปควบคุมเสียงปวงชน เพราะคณาจารย์เหล่านั้นมีวิญญาณของอาจารย์จริง ๆ รักสัจธรรมเหนือชีวิต จึงไม่ยอมสยบหัวให้แก่ใครทั้งสิ้น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมายในประวัติศาสตร์ แม้ในยุคใหม่นี้เราก็มีตัวอย่างให้เห็นกัน เช่น ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น จะเห็นว่าเมื่อเริ่มมีความคิดเห็นแตกแยกเกี่ยวกับการเลิกทาส พวกปัญญาชนที่ต่อต้านพวกค้าทาสก็ต้องมีอันเป็นไป อธิการบดีของมหาวิทยาลัยหลายแห่งถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง เช่น อธิการบดีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) และ Dartmouth College เป็นต้น เพราะกรรมการของ Board of Trustees ส่วนใหญ่เป็นนายทุนค้าทาส ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อดาร์วิน (Darwin) ได้ประกาศทฤษฎี Evolutionary Theory ขึ้นมา ความคิดด้วยเรื่องการวิวัฒนาการของมนุษย์ได้แผ่ขยายไปทั่ว พวกฝ่ายศาสนา และชาวบ้านอนุรักษ์นิยมในยุคนั้นซึ่งเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยปลายแห่งได้ใช้อิทธิพลปลดโปรเฟสเซอร์หลายคนออกจาก Chair ในมหาวิทยาลัย เพราะโปรเฟสเซอร์เหล่านั้นสนัสนุนทฤษฎีวิวัฒนาการของมนุษย์ โดย Darwin โปรเฟสเซอร์จำนวนมากยอมถูกออกจากมหาวิทยาลัยมากกว่าที่จะยอมเปลี่ยนความคิด ในต้นศตวรรษนี้เองเรื่องราวทำนองนี้ก็เกิดขึ้นอีก เช่น ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ทั้งนี้เพราะท่าน อธิการบดี Edward มีความคิดขัดแย้งในเรื่องทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์กับกรรมการของ Board of Trustees จนกระทั่งร้อนถึง Americal Social Sciences Association และ American Association of University Professors รวมตัวกันคัดค้านการปลดอธิการบดีของสแตนฟอร์ดออก อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางความคิดเห็นในเรื่องวิชาการ อธิการบดีหรือโปรเฟสเซอร์ต่างก็มีสิทธิเสรีภาพในทางวิชาการที่จะยึดถือ หรือเชื่อถือในทฤษฎีอะไรที่ตนมีเหตุผลจะเชื่อถือ แต่ในที่สุดก็ต้องแพ้อำนาจของเงิน เราก็ทราบดีว่ายุทธจักรนั้นมีพลังอำนาจมากในการให้การสนับสนุน และก็มีอำนาจมากในการทำลายด้วยเหมือนกัน ปัญหาอยู่ว่าระหว่างเสรีภาพทางวิชาการกับอำนาจการควบคุมโดยชอบธรรมของผู้มีอำนาจปกครอง เราควรหาทางสายกลายอะไรได้บ้าง? อย่างในประเทศเยอรมัน ยุทธจักรได้จับมือกับศาสนจักร เสียงประชาชนหรือเสียงของคณาจารย์ต้องเงียบไปบ้างเหมือนกัน ผมจำได้ว่าในปี 1972 โปรเฟสเซอร์ Hans Kuing ถูกถอดจาก Chair of Catholic Thelogy ของ Tubinger University โดยข้อเสนอแนะของสภาสังฆราชประเทศเยอรมัน ทั้งนี้เพราะโปรเฟสเซอร์ฮันคุเขียนหนังสือที่เราเรียกว่า controversial มาก เรื่อง "Infallibility, An Inquiry" และตีพิมพ์บทความอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทางศาสนาไม่ชอบนัก โปรเฟสเซอร์ท่านนี้ก็ยอดเหมือนกัน ท่านยอมถูกออกจากตำแหน่งในมหาวิทยาลัยแต่ไม่ยอมเผาตำราของท่าน กลับไปตั้งสถาบันขึ้นมาใหม่ภายในรั้วของมหาวิทยาลัยทูบิงเกนนั่นแหละ อันนี้เราอาจจะถือว่าเป้นการประนีประนอมระหว่างผู้มีอำนาจปกครองมหาวิทยาลัยกับโปรเฟสเซอร์หรือไม่ ผมไม่แน่ใจ เมื่อตอนผมไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยทูบิงเกนในปี 1976 ได้แวะไปเยี่ยมโปรเฟสเซอร์ท่านนี้เพื่อให้ moral support แก่ท่าน ท่านคงจะเห็นแล้วว่าจิตารมณ์ของ Freedom of Inquiry นั้น หาได้หมดไปจากวิญญาณที่รักเสรีภาพทางวิชาการไม่ ผมได้เน้นมาเป็นเวลานานพอดูพร้อมด้วยชักตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมาก็เพื่อปกป้องเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางการแสดงออกเสรีภาพทางการพูดทั้งนี้ก็เพื่อคณาจารย์หรือผู้คงแก่เรียนและผู้ที่แสวงหาความรู้ทั้งหลายจะได้มีโอกาสค้นหาสัจจะความจริงสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราควรตั้งเป็นข้อสังเกตก็คือ กลุ่มชนเหล่านี้เป็นผู้มีลักษณะพิเศษคือใช้ชีวิตและดำรงชีวิตของตนเพื่อเป็นพยานต่อสัจจะความจริงต่อสิ่งที่ท่านเชื่อว่าเป็นสัจจะอย่างท่าน ดร. สาโรช บัวศรี ผู้คงแก่เรียนของเราเป็นต้น ชีวิตของท่านบอกถึงสิ่งที่ท่านเชื่อและเป็นพยานถึงสัจจะที่ท่านสอน สิ่งนี้ในตัวของมันเองเป็นเหตุผลโดยสมบูรณ์ที่ว่าบุคคลเช่นว่านี้ สามารถตั้งสถาบันขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป เพื่อสอนเพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ใฝ่หาวิชาความรู้ จึงพยายามขยายแนวความคิดด้วยเรื่องเสรีภาพทางวิชาการซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ถูกต้องของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งใดที่ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งนั้นย่อมจะไม่บรรลุถึงสัจจะความจริงได้เลย การค้นคว้าแสวงหาความจริงคือภารกิจที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัย ถ้าเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า หลายมหาวิทยาลัยมีปรัชญาความคิดที่วางบนพื้นฐานของสัจจะความจริง จนถึงกับมีจารึกไว้อย่างชัดเจน เช่น มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด จารึกไว้บนตราของมหาวิทยาลัย VERITAS (สัจจะ) มหาวิทยาลัยอินเดียนาเขียนว่า LUX ET VERITAS (แสงสว่างและความจริง) บางแห่งไม่ได้เขียนคำว่าสัจจะหรือความจริง แต่ก็เขียน attributes ของสัจจะไว้เช่นที่มหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด เขียนเป็นภาษาเยอรมันซึ่งพอจะแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า "The Wind of Freedom Blows" ผมจำได้ว่าท่านอธิการบดีของมหาวิทยาลัยยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งเคยกล่าวว่า "...มรรคาที่ถูกต้องของมหาวิทยาลัยที่แท้จริง คือ... อิสรภาพที่จะ question สิ่งที่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นความจริง และในเวลาเดียวกันมีภารกิจที่จะค้นหาสิ่งที่ยังเป็น unknow" มหาวิทยาลัยอื่น ๆ อาจจะไม่ได้ประกาศปรัชญาว่าตนยึดถือในสัจธรรมแต่คติพจน์ที่จารึก ไว้ในดวงตราของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ก็บอกถึงหรือมีความหมายถึงสัจจะทั้งสิ้น เช่น คำว่า WISDOM และ KNOWLEDGE เมื่อเราเรียนรู้ถึงปรีชาญาณ (wisdom) และความรู้ (knowledge) แล้ว การไปถึงสัจจะก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นภารกิจของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับสัจจะความจริงก็คือมีหน้าที่ปกป้องคณาจารย์ให้พ้นจากความไม่แน่นอนของฝ่ายบริหารและฝ่ายบ้านเมือง ซึ่งในบางครั้งอาจทำให้อาจารย์ไม่สามารถทำหน้าที่ของตนที่จะไปพบสัจจะความจริง ด้วยเหตุผลนี้การจะตัดสินความมี scholarship ของอาจารย์หรือการสอนของเขาควรเป็นสิทธิของ Faculty หรือสภาคณาจารย์ผู้ปกครองฝ่ายบ้านเมืองหรือประชาชนไม่ควรยุ่งเกี่ยว และด้วยเหตุผลนี้เหมือนกัน อาจารย์แต่ละคนจะต้องไม่หน่วงเหนี่ยว informations ที่จะทำให้ประชาชนเห็นความจริง เขาจะต้องเป็นบุคคลที่พูดแต่ความจริง และจะต้องเป็นบุคคลที่รู้ว่าเมื่อตนพูดแล้วจะทำให้ผู้อื่นบรรลุถึงความจริง หากอาจารย์ท่านใดไม่ทำหรือไม่มีอุดมการณ์ดังกล่าวมานี้ ก็ถือว่าเป็นผู้ที่ทรยศต่อความจริง บุคคลเหล่านั้นไม่ควรอยู่ในกลุ่มของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ฉะนั้น เสรีภาพทางวิชาการนี้เป็นวัฒนธรรมของปัญญาชน เป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดมานานหลายพันปี ซึ่งบรรพบุรุษของเราได้มอบหมายไว้ให้เป็นมรดก เป็นปรีชาญาณ (wisdom) และได้สอนกันมาตั้งแต่สมัยอริสโตเติลแล้ว เราถือว่าการยืนหยัดในเรื่องเสรีภาพทางวิชาการเป็นความกล้าหาญของปัญญาชน เป็นเจตนารมณ์ที่สืบทอดและมีพื้นฐานมากจาก Natural Rights สิทธิโดยชอบธรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่สิ่งสำคัญที่เราควรจะเข้าใจให้ดีเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการก็คือ เสรีภาพนี้จะต้องเป็น freedom of professionally qualified person ที่จะตั้งข้อสังเกตที่จะค้นคว้าไต่ถาม (to inquire, to investigate) เผยแพร่ที่จะสอนความจริงอย่างที่เขาเห็นโดยไม่มีใครมาคอบบังคับเขา ยกเว้นแต่ระบบการ control ที่มาจาก authority of rational method โดยวิธีการควบคุมแบบตรรกวิทยา ตรรกศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่โดย whims and fancies ของใครสัจจะอันนี้คือความจริง คือเหตุผลของการยืนหยัดที่จะให้มีไว้ซึ่งเสรีภาพทางวิชาการในมหาวิทยาลัย
ท่านอาจารย์ผู้ดำเนินการอภิปรายได้พูดพาดพิงถึงสถาบันอุดมศึกษาเอกชนกับการควบคุมของทบวงฯ ผมขอเรียนว่า ฝ่ายเอกชนนั้นได้รับเคราะห์รับกรรมกันมาพอสมควร ผมไม่ขอขยายความในที่นี้ เพราะเวลาหมดแล้ว เพียงอยากจะขอบอกว่า ฝ่ายบ้านเมืองหรือฝ่ายยุทธจักรในประเทศของเราได้เคยพยายามจะ control ความคิดของปัญญาชนในมหาวิทยาลัยเหมือนกัน ส่วนฝ่ายปัญญาชนเองนั้นจะได้รับการ respect หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายเราครูบาอาจารย์ได้ซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์มากน้อยเพียงใดคือ สอนสัจจะและมีชีวิตที่เป็นพยานต่อสัจจะเท่านั้น
*การอภิปรายเรื่อง "มหาวิทยาลัยกับเสรีภาพทางวิชาการ" มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ