36 ปีแห่งความสมหวังและภาคภูมิในชีวิตครู ภราดาประทีป มาร์ติน โกมลมาศ 
(สัมภาษณ์พิเศษ เนื่องในวันเด็ก 8 มกราคม และ วันครู 16 มกราคม 2537, 
วารสารสกุลไทย ปีที่ 40 ฉบับที่ 2048, 18 มกราคม 2537)*

“เยาวชนคืออนาคตของชาติ” อาจเป็นเพราะด้วยเหตุนี้และยังมีเหตุอื่นมาผสมผสานอีกด้วยหลายประการ ผู้ที่เป็นบิดา-มารดาและผู้ปกครองจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้บุตรหลานได้มีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนดี ๆ ตั้งแต่วัยเด็ก จากความสำเร็จส่วนหนึ่งของนักเรียนและบรรดาศิษย์เก่าที่ศึกษาจบไปแล้วจากโรงเรียนราษฎร์มักจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและสังคมได้ดีเป็นส่วนใหญ่ ทำให้สถาบันการศึกษาที่เป็นโรงเรียนราษฎร์ โดยเฉพาะโรงเรียนทางคริสต์ศาสนาเป็นโรงเรียนแห่งสุดยอดความนิยมเสมอมา ในอดีตอาจเป็นเพียงระดับประถมศึกษาถึงเตรียมอุดมศึกษาเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้แพร่ขยายออกไปสู่ระดับอุดมศึกษาแล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าที่จบจากโรงเรียนเหล่านี้เป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปีขึ้นไป หรือศิษย์ปัจจุบันที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ขณะนี้ย่อมต้องรู้จักและจำบราเดอร์มาร์ติน ของเขาได้ดี

ภราดาประทีป โกมลมาศ หรือ บราเดอร์มาร์ติน ของบรรดาศิษย์และผู้ปกครอง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค (ABAC) และเคยผ่านการสอน และบริหารโรงเรียนในเครืออัสสัมชัญมาหลายโรงเรียนนานถึง 36 ปี

“บราเดอร์เรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลตั้งแต่เด็กๆ จากชั้นประถมจนจบ ม.8 ที่นั่น ตอนเด็กๆ คุณพ่อ-คุณแม่รับราชการ ต้องย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดเรื่อยๆ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ บราเดอร์ย้ายตามอยู่ช่วงหนึ่ง พอย้ายไปสุไหงโก-ลก เลยต้องไปอยู่กับคุณย่าที่กรุงเทพฯ แต่คุณพ่อก็ยังมาเยี่ยมบ่อยๆ พอคุณย่าเสียก็ย้ายไปอยู่กับน้องชายคุณย่าที่เป็นหมอแทน ในที่สุดคุณพ่อ-คุณแม่ก็ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ตอนที่บราเดอร์อยู่มัธยมปลาย ตอนเรียนอยู่ ม.7 นั้น บราเดอร์คิดจะบวช แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเป็นที่ไหนดี พออยู่ ม.8 บราเดอร์ไมเคิล ซึ่งขณะนั้นย้ายจากเมืองไทยไปอยู่อินเดียชวนไปบวชที่อินเดีย เลยตกลงไปมีเพื่อนไปด้วยอีก 4 คน จากอัสสัมชัญบางรัก 2 คน และอัสสัมชัญพาณิชย์ อีก 2 คน ไปบวชที่ภูเขานิลคีรี หรือ Ootamund เมื่อปี ค.ศ.1952 ภูเขานี้บางคนเรียกว่าภูเขาเขียว เป็นสถานที่ตากอากาศ ดอกไม้สวยงามมาก และอากาศหนาวมาก อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 7,000 ฟุต บราเดอร์ไปฝึกหัดเรียนที่นั่น 2 ปี แล้วจึงย้ายไปอีกภูเขาหนึ่งชื่อ Yercaud อยู่อีกระยะหนึ่งแล้วจึงไปเรียนต่อที่ Layola College, University of Madras เป็นมหาวิทยาลัยอยู่ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งมีสาขาทั่วโลก พอปิดเทอมก็มาฝึกสอนที่ Montfort ไฮสกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนนานาชาติ มีพวกลูกเศรษฐีบ่อน้ำมันมาเรียกกันเยอะ บราเดอร์จึงมีลูกศิษย์ชาวต่างชาติหลายคน ตอนนั้นสอนคำนวณและภาษาฝรั่งเศส บราเดอร์จบอนุปริญญาทางวิทยาศาสตร์ และจบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์

“การที่ต้องให้เด็กคิดเหมือนครูเสมอไปนั้นผิด บางทีการใช้ระเบียบวินัยมากเกินไป ทำให้เด็กเลิกคิด เพราะมนุษย์เกิดมาไม่ใช่เพื่อถือระเบียบวินัย แต่ระเบียบวินัยมีไว้ เพื่อช่วยให้เรารู้จักรับผิดชอบในสังคม”

ช่วงที่ไปอยู่อินเดียนั้น มีประสบการณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะในด้านความเป็นอยู่ของคนอินเดียในยุคนั้น มีความแตกต่างกันมากระหว่างชาวพื้นเมืองกับฝ่ายปกครอง เพราะเป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน ในโรงเรียนเป็นอีกอย่าง เพราะนักเรียนที่มาเรียนเป็นลูกของนักปกครองทั้งนั้น แต่พอออกไปนอกโรงเรียนเป็นอีกอย่าง ประชาชนถูกกดขี่เยี่ยงทาส เหมือนอยู่คนละโลก แม้เห็นแล้วจะไม่สบายใจ แต่ก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างหนึ่งที่ได้มีโอกาสพบเห็นมา”

สำเร็จปริญญาตรีแล้ว บราเดอร์มาร์ติน ก็กลับมาเริ่มงานสอนอย่างจริงจังในประเทศไทยครั้งแรกที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา

“บราเดอร์เริ่มงานครั้งแรกในเมืองไทยที่อัสสัมชัญ ศรีราชา ดูแลพวกที่เตรียมตัวบวช อยู่ที่นั่นหนึ่งปีก็ย้ายไปอยู่ที่เซนต์หลุยส์ แปดริ้ว และไปบุกเบิกโรงเรียนใหม่ซึ่งเพิ่งก่อตั้ง คืออัสสัมชัญธนบุรี อยู่ 4 ปี จนโรงเรียนเข้าที่แล้ว จึงย้ายมาอยู่ที่เซนต์คาเบรียล ที่นี่อยู่นานถึง 11 ปี บราเดอร์ใช้ระบบการศึกษาแผนใหม่เข้ามาผสมผสานกับระบบที่มีอยู่แล้ว เช่น นำการใช้ห้องสมุดมาอยู่ในหลักสูตร ส่งเสริมการใช้ห้องแล็บทดลองวิทยาศาสตร์ เรายึดนโยบายว่านักเรียนจะเรียนวิทยาศาสตร์ได้ดีต้องทดลอง จึงเป็นโรงเรียนที่มีห้อง LAB มากที่สุดในระยะนั้น นอกจากนั้นยังปรับปรุงกิจกรรมนอกหลักสูตรของโรงเรียนอีกมากมายก่อสร้างโรงยิมฯ และแบ่งนักเรียนออกเป็นหมวดสีต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่เอื้อกับการพัฒนาเด็กทั้งสิ้น”

ด้วยความที่เป็นคนชอบศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ ระหว่างนั้น บราเดอร์มาร์ติน จึงไปศึกษาต่อปริญญาโทอีก 2 สาขา หลังจากที่สอนและบริหารอยู่ที่เซนต์คาเบรียล นานถึง 11 ปี เต็ม และเริ่มบริหารงานที่เอแบคแล้วระยะหนึ่ง

“ระหว่างที่อยู่เซนต์คาเบรียลบราเดอร์ ก็ไปเรียนต่อที่ U.S.C. พักหนึ่ง แล้วจึงไปต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Stanford ที่อเมริกา อีก 2 สาขา จึงจบมาทางด้าน International Development Education และ Social Sciences In Education พอจบปริญญาโทแล้ว ก็มานึกสำรวจตัวเองว่าจริงๆ แล้วเราชอบวิชาอะไร เพื่อจะได้เลือกเรียนปริญญาเอกได้ถูกทาง ในที่สุดก็ลงเอยที่สาขา Organization Development and Planning จึงไปเรียนต่อและจบปริญญาเอกทางสาขานี้ที่ South East Asia Interdisciplinary Development Institute (SAIDI) ประเทศฟิลิปปินส์ จบแล้วรู้สึกว่าสาขานี้ละเป็นวิชาที่ชอบมากที่สุด จึงไปเพิ่มเติมอีกที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้ Post Doctoral Studies จาก Universite De Fribourg”

ในขณะที่อยู่ที่มหาวิทยาลัย Stanford นั้น บราเดอร์มาร์ติน ได้ข้อคิดหลายอย่างจากสถาบันแห่งนี้ ซึ่งได้นำมาพัฒนาองค์กรการศึกษาของไทยให้มีประสิทธิผลมากขึ้น

“ที่มหาวิทยาลัย Stanford แห่งนี้ บราเดอร์ชอบข้อคิดของเขาอย่างหนึ่ง เขาสอนว่า อย่าคิดทำอะไรเหมือนคนอื่นให้คิดเองเป็นเอกเทศ เป็นตัวของตัวเอง แรก ๆ ก็ไม่ชอบเหมือนกัน แต่ตอนหลังมาได้คิดว่าถูกต้องแล้ว เลยพยายามไม่เอาอย่างใคร ไม่ใช่ว่าคนอื่นทำไม่ดี เขาทำดีอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่ต้องเอาอย่างเขาคิดใหม่ให้ไม่ซ้ำแบบเขาได้ แต่ก็ต้องมีระเบียบวินัย ทุกอย่างว่าตามกติกาหมด ปัจจุบันบราเดอร์ปกครองนักศึกษาที่เอแบคก็ให้อิสรภาพในด้านความคิดแก่เขาแบบนี้เช่นกัน”

“นโยบายของเอแบคอาจแตกต่างจากสถาบันอื่นก็ตรงที่ส่งเสริมความคิดอิสระแก่นักศึกษาเราไม่คิดว่าครูหรืออาจารย์จะเป็นใหญ่แต่ผู้เดียวในแง่ของการศึกษายอมรับสภาพการเปลี่ยนแปลงว่า เป็นส่วนหนึ่งในการบริหาร... เราเน้นเสมอว่า การบริหารที่มีประสิทธิภาพที่สุดต้องพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับโลกปัจจุบันจึงจะไปได้รอด”

จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล บราเดอร์มาร์ติน ก้าวสู่ตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อปี ค.ศ.1974 หลังจากมหาวิทยาลัยเปิดได้เพียง 2 ปี

 “มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1972 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการศึกษาของอัสสัมชัญพาณิชย์ ให้มีปริญญาตรี เนื่องจากมองเห็นว่านักเรียนเหล่านั้นประสบความสำเร็จในวงการธุรกิจมากมาย พอเปิดได้หนึ่งปีมีปัญหา บราเดอร์เข้ามาในช่วงนั้นมาจัดระบบให้เข้าที่แล้วจึงได้ไปศึกษาต่อที่ Stanford 2 ปี กลับมาอีกครั้ง พอดีอธิการบดีคนก่อนคือ ดร.ชุบ กาญจนประภากร ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บราเดอร์เลยมาเป็นอธิการบดีแทนตั้งแต่ช่วงนั้นตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน”

15 ปีเต็มจากที่กลับมารับตำแหน่งอธิการบดีจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้เติบโตขึ้นมาก และผลิตบัณฑิตจบออกไปแล้วถึงเกือบหนึ่งหมื่นคน

“แรกๆ ก่อตั้ง เอแบคมีเพียงตึกเล็กๆ ตึกเดียว มีนักศึกษา 500 กว่าคน แต่ปัจจุบันขยายออกไปมาก ขณะนี้มีนักศึกษา 12,000 คน หลักการขยายและพัฒนาหลักสูตรการศึกษานั้นพิจารณาจากความต้องการของตลาดแรงงานบ้านเรามากกว่าอย่างอื่น นโยบายของเอแบคอาจแตกต่างจากสถาบันอื่นก็ตรงที่ส่งเสริมความคิดอิสระแก่นักศึกษา เราไม่คิดว่าครูหรืออาจารย์จะเป็นใหญ่แต่ผู้เดียวในแง่ของการศึกษา ยอมรับสภาพการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นส่วนหนึ่งในงานบริหาร องค์กรที่ดีควรมีโครงสร้างที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต่างจากในอดีต เมื่อ 30-40 ปีก่อนคนส่วนมากนักคิดว่าเรามีสูตรสำเร็จสร้างอาณาจักรและองค์กรที่ไม่เปลี่ยนแปลงแล้วทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ปัจจุบันไม่ใช่ ปัจจุบันทุกองค์กรและทุกหน่วยงานต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นโครงสร้างของการบริหารทั้งหมด มีหลายองค์กรและหลายคนยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นการสั่นคลอน เราเน้นเสมอว่าการบริหารที่มีประสิทธิภาพที่สุดต้องพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับโลกปัจจุบันจึงจะไปได้รอด”

จากการได้เดินทางไปศึกษาและอบรมในต่างประเทศมาหลายแห่ง บราเดอร์มาร์ติน จึงมีโลกทรรศน์กว้างขวางและนำมาพัฒนาสถาบันจนเป็นที่ยอมรับและกลายเป็นสถาบันแห่งความใฝ่ฝันอันสูงสุดอีกแห่งหนึ่งของผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทุกวันนี้

“ที่ผลผลิตของเราเป็นที่นิยมในตลาดแรงงาน ก็เพราะตลาดแรงงานมองดูแล้วเห็นว่ามีคุณภาพ จึงยอมรับเพราะที่นี่เราเน้นการเรียนหนัก ทำงานหนักต้องจัดการวางแผนกับเวลาและตัวเองให้ได้ถูกต้อง ใช้ประสบการณ์ให้เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ขบวนการเรียนรู้และชีวิต จุดเด่นของเราคือ เป็นสถาบันแห่งเดียวที่สอนเป็นภาษาอังกฤษแทบทุกวิชาแบบอินเตอร์เนชั่นแนล เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งทำขึ้นมา หากแต่เป็นประเพณีของโรงเรียนในเครือมานานแล้ว ซึ่งจุดนี้ทำให้นักศึกษามีคุณภาพดี ดูได้จากเขาสามารถไปเรียนปริญญาโทที่สถาบัน Top 10 อันดับแรกๆ ของโลกได้

เราเคยทำวิจัยโดยวัดจากผู้ใช้แรงงานผลผลิตของเราหลายครั้งว่า สถานประกอบการเหล่านั้นเขาประเมินผล ผลผลิตเราอย่างไร ผลปรากฎว่าผลผลิตของเราส่วนใหญ่เข้าไปแก้ปัญหาให้กับองค์กรได้ ภาษาอังกฤษใช้ได้ มีความคิดสร้างสรรค์ให้กับงานบริษัท เช่น เสนอโครงการอะไรใหม่ๆ ในทางที่ดีเสอม

ส่วนจุดด้อยของเราคือสถานที่เล็กและคับแคบไป จึงมีโครงการจะเปิดวิทยาเขตหลักที่ถนนบางนา-ตราด ก.ม.26 เริ่มสร้างไปเมื่อปลายปี 2536 และขยายไปอีกที่อำเภอบ้านบึง ชลบุรี และกาญจนบุรี” 


 *สัมภาษณ์พิเศษ เนื่องในวันเด็ก 8 มกราคม และ วันครู 16 มกราคม 2537, 

     วารสารสกุลไทย ปีที่ 40 ฉบับที่ 2048, 18 มกราคม 2537.