ระบบเศรษฐกิจของเราก้าวหน้าดีกว่าเมื่อก่อน แต่อยากถามว่าเรามีความสุขกว่าแต่ก่อนหรือไม
(สัมภาษณ์พิเศษ, วารสารเจาะลึก ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 มกราคม 2537)*  

          นิตยสารเจาะลึกได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ท่านภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในฐานะที่ท่านมีส่วนเกี่ยวข้อง และทำงานทางด้านการศึกษามาตลอดระยะเวลา จนกระทั่งท่านอายุ 60 ปี ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ ท่านได้อุทิศเวลาแรงกาย แรงใจ ทุ่มเททุกอย่าง เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่เยาวชนไทยให้มีการศึกษาทั้งยังส่งเสริมและชี้แนะนำความรู้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณค่าเพื่อเยาวชนไทยอย่างแท้จริงให้มีความเจริญก้าวหน้า โดยเน้นภาษาหลักๆ หลายด้านเพื่อจะได้ทัดเทียมนานาประเทศ จะเห็นได้ว่าบัณฑิตที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญมีคุณภาพและความเจริญก้าวหน้าทางด้านการงานอย่างสูงสุด

  นิตยสารเจาะลึกจะพาคุณๆ ไปทำความรู้จักกับท่าน ภราดา ดร.ประทีป มาร์ติน โกมลมาศ

“ในฐานะที่ท่านได้รับใช้สังคมมานานแล้วจนกระทั่งท่านอายุครบ 60 ปี แล้วท่านคิดว่าสังคมไทยเรานี้ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยมากน้อยแค่ไหน? และกำลังก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง มากน้อยเพียงใด ?”

สังคมไทยของเรากำลังเดินมุ่งหน้าไปสู่หนทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ความต้องการที่จะดำรงชีวิตในวิถีทางประชาธิปไตยนั้น มีมาในจิตสำนึกของคนไทยเราแต่นมนานมาแล้วเฉกเช่น มนุษย์ที่เจริญแล้วทั้งหลาย

ถ้ามองย้อนดูประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติหตลอดระยะเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา จะพบว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้นจุติขึ้นมาในจิตของมนุษย์ ประดุจดังถ่านไฟแดงที่ปกคลุมด้วยเถ้า แล้วค่อยๆ ลุกโชติช่วงชัชวาลย์ขึ้นมาจากเถ้าถ่าน และเป็นประกายไฟเมื่อถูกกระแสลมพัด มันเป็นเสมือนสะเก็ดไฟจากสวรรค์ที่ฝังลึกอยู่ในหัวใจมนุษย์ ตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีวิวัฒนาการทางความคิดขึ้นมาว่าเขาคือเสรีชนและมีศักดิ์ศรีมนุษย์ได้ผ่านประสบการณ์อันขมและความยิ่งใหญ่มาแล้วหลายรูปแบบ

ประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้มนุษย์ค่อยๆ เรียนรู้จากตัวเองและจากสภาวะแวดล้อมของสังคมจนกระทั่งสามารถพัฒนาตนเองทั้งด้านปัญญาความนึกคิดและจิตใจมาสู่ความเจริญแบบศิวิลัยชนจนบรรลุถึงอุดมการณ์ที่เรียกว่า ประชาธิปไตย

อุดมการณ์นี้เกิดขึ้นจากความเชื่อ (Conviction) ที่ว่า พระผู้สร้างได้ทรงประทานแก่มนุษย์ทุกคนซึ่งสมรรถภาพทางปัญญาและการแสวงหาเหตุผลโดยใช้ปัญญาภายใต้ความเป็นอิสระและเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นอิสระและเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของมนุษย์แต่แรกเกิด (Birth Right) ไม่ควรมีผู้ใดมายื้อแย่งย่ำยี ขจัดขัดขวางหรือทำลายล้างได้ โดยนัยนี้มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิที่จะดำเนินชีวิตและทำมาหากิน (Right to Life) เพื่อดำรงความเป็นมนุษย์ตลอดไป ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและอยู่เหนือกฎหมายใดๆ ที่มวลมนุษย์เองไม่สามารถจะบัญญัติขึ้นมาขัดขวางหรือห้ามการใช้สิทธิอันนี้ได้

สังคมเราจะดำเนินวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยอยู่ได้อย่างร่มเย็น และมีสันติสุข ก็ต่อเมื่อเราทุกคนยอมรับว่าสิทธิอันชอบธรรมดังกล่าวเป็นของมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิด และมนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน ดังนั้นทุกคนจึงต้องเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน 

  • สังคมประชาธิปไตย ก็เช่นเดียวกันจะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อทุกคนยอมรับและให้ความเคารพ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน รวมถึงความเชื่อ (Conviction) ว่า

  • มนุษย์ต้องเคารพสิทธิของกันและกัน (Respect other as person)

  • มนุษย์ทุกคนย่อมมีความแตกต่างกันเป็นส่วนบุคคล (Individual differences)

  • ท่ามกลางของความเสมอภาคในการแข่งขันกัน ทุกคนต้องสามารถร่วมมือและประสานใจกันทำความดีให้เกิดขึ้นได้

  • การมีวินัยต่อตนเอง ก็คือหน้าที่ซึ่งมาพร้อมกับสิทธิ

  • และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องยึดถือกติกาและกฎหมายของสังคมมิฉะนั้นแล้วประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นอนาธิปไตย ไป ดังที่ De Tocqueville ปรัชญาเมธีชาวฝรั่งเศสได้ปรารภด้วยความลังเลใจว่า “เราคงไม่สามารถขจัดเงื่อนไขที่ทำให้มนุษย์เรามีความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันได้ ปัญหาอยู่ที่ว่าความไม่เสมอภาคนั้นจะนำมนุษย์ไปสู่ความเป็นทาสหรือเสรีภาพที่แท้จริงไปสู่ความเป็นปัญญาชนหรือความป่าเถื่อน ไปสู่ความมั่งคั่งสมบูรณ์ หรือความหายนะ

สำหรับสังคมไทยในปัจจุบันนั้นถ้าวัดจากความรู้สึกของคนทั่วไปแล้วจะเห็นว่าคนไทยส่วนมากพอใจกับวิถีทางของประชาธิปไตยที่เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่จริงอยู่เรายังไม่สามารถบรรลุถึงอุดมการณ์ของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงดังเช่นบางอารยประเทศถ้าจะดูประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในโลกของตะวันตกหรอตะวันออกจะมีสักกี่ประเทศที่ได้บรรลุถึงความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง? เราท้อแท้ใจเพราะประเทศของเรามีเรื่องคอรัปชั่นมากมายแต่ประเทศที่เจริญสูงสุดทางเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่น หรืออิตาลี ก็ยังไม่พ้นข้อหาคอรัปชั่นในแวดวงของรัฐบาล เราฟังการถ่ายทอด การอภิปรายในรัฐสภาแล้วรู้สึกเศร้าใจเพราะมีความเห็นว่า ส.ส. มากมาย อภิปรายเรื่องไร้สาระ แต่ตามความเห็นของผู้เขียนนั้น นั่นเป็นวิถีการแลกเปลี่ยนทรรศนะแบบรัฐสภา ซึ่งมิช้านานเราทั้งหลายที่ใจร้อนก็คงจะเคยชินกับระบบอภิปรายแบบชักแม่น้ำทั้ง 5 ดังกล่าว พูดอย่างเป็นธรรม เราอาจกล่าวได้ว่าการอภิปรายในสภาโดย ส.ส. สมัยนี้มีคุณภาพดีขึ้นมากกว่าแต่ก่อนผมมีความเชื่อว่าถ้าระบบรัฐสภาของเราดำเนินไปเช่นว่านี้ไม่ช้าไม่นานเราก็จะสามารถบรรลุถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยดังมุ่งหวังไว้การปกครองโดยระบบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่น่าพึงประสงค์ที่สุดก็จริงแต่เราไม่ควรลืมว่ามันก็มีข้อบกพร่องที่น่าพึงสำเนียกไว้หลายประการการตั้งกฎกติกาของสังคม โดยการออกกฎหมาย ที่นับแพ้ชนะแต้มกันด้วยคะแนนเพียง 1 เสียงเท่านั้นเป็นความถูกต้องทางมโนธรรมและศีลธรรมเพียงใดความเห็นของฝ่ายที่แพ้เสียง 1 เสียงนั้น ผิดหรือ? และฝ่ายชนะเพียง 1 เสียงนั้นถูกเสมอไปหรือ? ถ้าใครเคยสอนหนังสือก็พอจะรู้ว่าในห้องเรียน 50 คนนั้นระดับสติปัญญาแตกต่างกันอย่างไร? ซึ่งส่วนมากแล้วจะมีคนที่มีสติปัญญาสูงจำนวนไม่มากนัก แต่ส่วนใหญ่จะมีระดับสติปัญญาปานกลางใกล้เคียงกันอีกส่วนที่เหลือก็จะเป็นพวกที่มีสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ ถ้านับมติส่วนใหญ่ที่ชนะกันเพียง 1 เสียงเท่านั้นเราจะได้มติแบบไหน ? แล้วก็วิธีการออกเสียงในรัฐสภาก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ส.ส. แต่ละคนใช้สิทธิและมีอิสระเสรีภาพทางความคิดของตนเพียงใดในการออกเสียง? ในเมื่อมีการบังคับให้ออกเสียงโดยเปิดเผยและขานชื่อ? และที่สำคัญก็คือมีมติของพรรคหรือเรียกกันว่า “โผ” อีกด้วย และอะไรต่อมิอะไรที่เป็นจุดบกพร่องอีกมากมาย แต่ถึงกระนั้นก็ตามคนส่วนใหญ่ในโลกมีความเห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดกว่าระบอบอื่นใด คนไทยเราจำนวนไม่น้อยยังคงคิดถึงระบอบการปกครองแบบเดิมซึ่งให้ความผาสุกและความสงบสุขในสังคมไทยพอควรแต่เป็นการปกครองแบบเผด็จการเชิงคุณธรรมก็จริงแต่ในบั้นปลายเราก็ได้เห็นแล้วว่าเป็นเรื่องของพรรคพวก และผลประโยชน์ส่วนบุคคลทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปตามเจตนารมณ์หรืออุดมการณ์ของท่านอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งมีนัยสำคัญ หมายถึงความเสมอภาพ ความจริงใจ ความมีน้ำใจ และคุณธรรมแล้วการศึกษาเท่านนั้นที่เป็นกลไกสำคัญที่จะปลูกฝังอุดมการณ์ดังกล่าวในหัวใจของเยาวชน ผู้จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตบ้านเมืองเรา จึงจะมีเสถียรภาพและความผาสุกโดยทั่วหน้า

ในระยะ 60 ปีที่ได้รับประสบพบเห็นมา สังคมของเราได้มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจควบคู่ไปกับระบอบประชาธิปไตยแบบนิยมมาโดยตลอด ถ้าจะถามว่าระบบเศรษฐกิจในสมัยก่อนดีกว่าในสมัยนี้หรือไม่? ก็อยากจะตอบว่าผู้เขียนเองเคยมีประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่เห็นคนไทยเรามีกินมีใช้โดยถ้วนหน้ากันทุกคนดังคำพังเพยที่ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว ซึ่งดูเหมือนเป็นของทุกคนไม่มีใครทวงห้ามจนกระทั่งเคยมีประสบการณ์ต้องเข้าคิดซื้อข้าวสารปันส่วนและเครื่องบริโภคปันส่วนเพราะข้าวของขาดแคลนทั่วประเทศ ไฟฟ้าดับๆ เปิดๆ น้ำไม่ไหล การคมนาคมลำบาก ฯลฯ แต่ปัจจุบันนี้เมื่อเราเดินเข้าไปในซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งอุปโภคบริโภคมากมายเหลือคณานับและเทคโนโลยีสารสนเทศล้ำยุคที่ช่วยให้คนเราสะดวกสบายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมากมาย เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าระบบเศรษฐกิจของเราดีกว่าแต่ก่อนหรือไม่ ก็อยากจะตอบว่าในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้นระบบเศรษฐกิจของเราเจริญก้าวหน้าดีกว่าเมื่อก่อนแต่ถ้าถามว่าเรามีความสุขกว่าแต่ก่อนหรือไม่ ก็อยากตอบว่าเมื่อก่อนมีความสุขกว่า

“ในฐานะที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์อยู่วงการศึกษาระดับชาติท่านคิดว่าในระบบเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน มีอะไรเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาและขัดขวางความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาบ้าง?และสำหรับประชาชนโดยทั่วไปในประเทศไทยเขาควรมีพื้นฐานระดับการศึกษามากน้อยแค่ไหน? เป็นต้น เยาวชนคนไทยในถิ่นทุรกันดาร ท่านคิดว่าควรมีวิธีการส่งเสริมการศึกษาให้ทั่วถึงได้อย่างไร?”

การเมืองในประเทศไทยนำการศึกษาเสมอและสามารถดลบันดาลให้ทิศทางของการศึกษาที่ได้วางไว้อย่างดี เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยได้นักวิชาการอาจจะวางแผนการศึกษาชาติไว้อย่างเลิศเลอสักปานใดก็ตารัฐบาลอาจจะชลอการปฏิบัติตามแผนไว้ชั่วคราวหรืออาจนำนโยบายใหม่เข้ามาปรับก็ย่อมทำได้โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจริงอยู่การเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบย่อมเกิดขึ้นได้เสมอในปัจจุบันเพราะมีการเปลี่ยนแปลงในโลกานุวัตร (Globalisation) นั่นเองแต่สิ่งที่ประชาชนควรจับตาดูรัฐบาลว่าการนำการเปลี่ยนแปลงเข้ามาปรับนโยบายต่างๆ นั้นทำไปเพื่อความดีของส่วนรวม (Common good) หรือเพื่อผลประโยชน์ของพรรคหรือพวกตนเองหรือเพราะไม่ต้องการให้เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลชุดก่อนวางไว้เพราะเกรงตนจะเสียเครดิต ฯลฯ

ในระยะ 4 – 5 ปี ที่เพิ่งผ่านพ้นไป รัฐบาล 2 – 3 ชุดในสมัยก่อนได้ยอมรับหลักการ “Privatization” คือบทบาทของเอกชนในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ เป็นต้น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในเมื่อประเทศของเราเข้าอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มตัวยิ่งวันยิ่งเข้มขึ้นในบริบทของการศึกษาในทศวรรษนี้นักวิชาการมีความเห็นว่าประเทศของเราได้จัดให้มีการอุดมศึกษาทั้งระบบปิดและระบบเปิดไว้พอเพียงแล้ว ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลไม่ควรเปิดมหาวิทยาลัยแบบระบบปิดขึ้นมาอีก แต่ควรไปเน้นด้านคุณภาพการอุดมศึกษาที่กำลังทำอยู่และการทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้มากขึ้นเป็นต้นทางด้านทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมซึ่งการวิจัยดังกล่าวต้องการใช้งบประมาณมหาศาลมากกว่าการเปิดมหาวิทยาลัยระบบปิดอีกหลายแห่ง เราจึงจะสามารถทำให้ประเทศของเรากลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ได้

ปัจจุบันประเทศไทยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเราอาจหลงระเริงคิดว่าเรามีเทคโนโลยีล้ำยุคแล้วแต่ข้อเท็จจริงก็คือเราเพียงรู้จักใช้เทคโนโลยีที่คนอื่นเขาคิดค้นประดิษฐ์ทำขึ้นและในบางกรณีเราเพียงรู้จักใช้เทคโนโลยีที่เขาไม่ต้องการในประเทศของเขาแล้ว และนำมาให้เราใช้เสมือนเราเป็นที่เก็บขยะของเหลือใช้กระนั้น นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเรายังไม่ได้ นับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Technology Transfer) อย่างแท้จริงจากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ สิ่งที่แน่ชัดก็คือเราต้องสรรสร้างประดิษฐ์ เทคโนโลยีของเราขึ้นมา ซึ่งหมายถึงงบประมาณมหาศาลที่จะใช้ไปในการวิจัยเพื่อได้มาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ๆ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 – 2534) ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพคนและแรงงานด้วยการกำหนดมาตรการเอาไว้อย่างชัดเจนคือ “การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งบพัฒนาการศึกษาและฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยาการร่วมกัน โดย...

  1. การขยายและขอจัดตั้งมหาวิทยาลัย คณะภาควิชา สาขาวิชา และหน่วยงานใหม่ จะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ทั้งในด้านการพัฒนาวิชาการ ความต้องการในการพัฒนาประเทศ และความพร้อมต่างๆ รวมทั้งสถานที่และข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน

        (ก) การขยายและจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ เพื่อขยายโอกาสการศึกษาต่อและกระจายความเป็นธรรมในส่วนภูมิภาค จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ

  • เป็นการรวมสถาบันการศึกษาที่มีอยู่แล้วเป็นฐานในการจัดตั้งหรือยกฐานะวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมทางด้านวิชาการ บุคคลากร อุปกรณ์การศึกษาอาคารและสถานที่ และเปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีความพร้อมและศักยภาพสูงยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยได้

  • เป็นการระดมสรรพกำลังและรายได้จากแหล่งต่างๆ ในการจัดตั้งและให้มีแผนการเงินระยะยาวที่แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการพึ่งตนเองอย่างชัดเจน ตลอดจนการจัดเก็บค่าเล่าเรียนและค่าบำรุงการศึกษาจะต้องอยู่ในระดับคุ้มทุน และเพียงพอที่จะนำเงินมาใช้จ่ายและปรับปรุงมหาวิทยาลัยของตนเอง

        (ข) การขยายและจัดตั้งคณะภาควิชา สาขาวิชา และหน่วยงานใหม่จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

  • ต้องไม่ใช่สาขาวิชาที่ประสบปัญหาการว่างงานรุนแรง และสถานศึกษาจะต้องมีความพร้อม มีความต้องการจริง หรือแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศโดยส่วนรวม

  • ให้มีการศึกษาความเป็นไปได้อย่างละเอียดในการลงทุนจัดตั้งโดยพิจารณาถึงความคุ้มทุน มีรูปแบบประหยัด มีการประสานการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลด  ความซ้ำซ้อน

  • สนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีความถนัดและความพร้อมจัดตั้งแทนภาครัฐ เพื่อแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา”

จากนโยบายและมาตรการดังกล่าวข้างต้น ค่อยๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 นี้ ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ย่อมต้องอาศัยเวลาและงบประมาณมหาศาล เช่น การจะยกฐานะวิทยาลัยครูทั้ง 36 แห่ง ให้มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัย เปิดดำเนินการในสาขาวิชาต่างๆ ที่มีความหลากหลายย่อมต้องการใช้ทรัพยากรทางการบริหาร เช่น บุคคลากร อุปกรณ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ และงบประมาณมากมายแม้ในปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยระบบปิดของรัฐบางแห่ง ที่มีการขยายภาควิชาและเปิดรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นก็กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนด้านงบประมาณที่มาสนับสนุนการขยายงาน

จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งที่รัฐควรทำก็คือการให้งบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาการศึกษาระดับต่างๆ ตามแผน 6 ให้บรรลุเป้าหมาย ในช่วงของแผน 7 นี้ ก่อนที่จะไปคิดเปิดมหาวิทยาลัยแบบระบบปิดใหม่ขึ้นมาอีก เพราะมิฉะนั้นนโยบายการแปรรูป (Privatization) ในบริษัทของการพัฒนาทัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนๆ อันเป็นผลให้เกิดการขยายการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยภาคเอกชนขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสันในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาพัฒนาการศึกษาของชาติ ไปในทิศทางที่ถูกที่ควรจะเป็น ดังเช่น อารยประเทศทั้งหลาย เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนการจัดการอุดมศึกษาระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน คือ 27 : 73 เป็นต้น

จากเหตุผลที่กล่าวแล้วข้างต้นในขณะนี้รัฐบาลจึงไม่ควรวางแผนเปิดมหาวิทยาลัยระบบปิดนั้นขึ้นมาอีกแต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ รัฐบาลก็ดีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ก้ดียังคงพยายามที่จะเสนอและผลักดันให้เปิดมหาวิทยาลัยระบบปิดขึ้นมาอีกอันจะเป็นการทำให้โครงการพัฒนาการศึกษาที่ได้วางไว้แล้วเกิดสะดุดหยุดลงและยังเป็นการแข่งขันกับภาคเอกชนโดยไม่จำเป็นอีกด้วย ซึ่งเกี่ยวกับกระแสแห่งการเคลื่อนไหว ผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยในระบบปิดที่ไม่ได้เป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้นมาใหม่อีกนี้ มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งเห็นว่าเป็นกระแสที่เกิดขึ้นและเป็นไปที่ไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและของประเทศไทยเราเองที่ต้องการระดมความร่วมมือและทรัพยากรจากภาคเอกชนมาดำเนินการและจัดการในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับภาครัฐ ซึ่งรวมทั้งการจัดการศึกษาด้วย ดังนั้น นักวิชาการกลุ่มนี้จึงเห็นว่ารัฐไม่ควรนำงบประมาณแผ่นดินไปทุ่มเทในการอุดมศึกษามากเกินไปกว่าที่รัฐมีพันธะกรณี (Commitment) ไว้ในแผน 6 แต่ควรนำเอางบประมาณเหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการศึกษาภาคบังคับให้แก่ปวงชนด้วยการขยายการศึกษาจาก 6 ปี เป็น 9 ปี ให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง และถ้ามีความสามารถต่อไปก็ควรจะขยายการศึกษาภาคบังคับให้เป็น 12 ปี ดังเช่น อารยประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายเขากระทำกัน ซึ่งการขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานจาก 6 ปี เป็น 9 ปี และเป็น 12 ปีนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก เพราะจะเป็นการปูพื้นฐานอันมั่งคงแข็งแรงสำหรับสังคมประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจเสรี อันจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาประเทศของเราให้มีความเจริญก้าวหน้า และมีเสถียรภาพมั่งคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองต่อไปในอนาคต การศึกษาขั้นพื้นฐานนี้รัฐควรจัดให้ฟรีโดยถ้วนหน้าแก่เด็กไทย เยาวชนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในโรงเรียนของรัฐหรือเอกชน เพราะเขาเหล่าน้นก็คือคนไทยทั้งนั้น ซึ่งการดำเนินงานในประเด็นนี้เคยมีนักวิชาการนำข้อมูลและตัวเลขเสนอรัฐบาลให้จัดบริการการศึกษาขึ้นพื้นฐานแก่ประชาชนในรูปของคูปองการศึกษาก็เคยมี

ปัญหาและอุปสรรคทางการขาดความต่อเนื่องเชิงนโยบาย เป็นสาเหตุที่ทให้ภาคเอกชนมักเคลือบแคลงสงสัยข้อแถลงของรัฐบาลอยู่เสมอรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้แถลงนโยบายอย่างเป็นทางการถึงเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนให้เอกชนร่วมภาระในการจัดการศึกษามาโดยตลอดก็จริง แต่ในเชิงปฏิบัติระดับกระทรวงนั้น มีสิ่งไม่ชอบมาพากลบางประการที่ทำให้เอกชนสงสัยเจตนาที่แท้จริงของรัฐบาล เช่น เรื่องการจัดการอนุบาลศึกษา รัฐบาลในอดีตเคยประกาศมติของ ค.ร.ม. ว่ารัฐจะไม่ทำการอนุบาลศึกษา เพราะไม่ใช่การศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาภาคบังคับ แต่รัฐมีนโยบายจะทำการศึกษาระดับนี้ เพื่อเป็นตัวอย่าง และเพื่อการวิจัย เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมของการอนุบาลศึกษาเท่านั้น และมอบให้เอกชนเป็นผู้นำ ครั้นแล้วไม่นานต่อมากระทรวงศึกษาธิการก็ประกาศเปิด ร.ร. อนุบาลขึ้นทั่วประเทศ โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งมีผลทำให้เอกชนจำนวนมากต้องแปรผันการลงทุนด้านอนุบาลศึกษา ซึ่งได้ทำไปบ้างแล้วไปทำธุรกิจอื่น ส่วนโรงเรียนที่ได้เปิดไปแล้วได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ในบางกรณีครูเทศบาลของรัฐร้อนรนด้วยเรื่องอนุบาลศึกษาจนถึงกับขอร้องให้ผู้ปกครองเอาลูกออกจาก ร.ร. เอกชนไปอยู่กับรัฐ ก็มีให้เห็นเป็นกรณีศึกษามิใช่น้อย สิ่งที่องค์กรการศึกษาของรัฐควรทำก็คือ การกระจายการให้บริการทางการศึกษาในแหล่งทุรกันดารให้ทั่วถึง พร้อมด้วยปัจจัยต่างๆ ที่จะเอื้อให้เด็กยากจนในชนบทได้รับโอกาสเสมอภาคทางการศึกษา และประสบความสำเร็จในการเล่าเรียน

นโยบายหลักบางประการซึ่งเป็นมติของ ค.ร.ม. ในรัฐบาลชุดที่แล้ว เช่นนโยบายการปรับปรุงอัตราค่าเล่าเรียนสำหรับโรงเรียนบางกลุ่มที่สามารถพึ่งตนเองได้ อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Privatization ซึ่งแผนการปฏิบัติดังกล่าวนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้กำหนดอัตราค่าเฉลี่ยรายหัวของนักเรียนแต่ละคน (Cost per head) โดยอิงเกณฑ์โรงเรียนของรัฐเป็นหลัก มาในปีการศึกษานี้รัฐบาลปัจจุบันโดยกระทรวงศึกษาธิการ ไม่รับรู้หลักการดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาในการบริหารและการจัดการโรงเรียนเอกชนระดับประถม และมัธยมเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้น การวางแผนพัฒนาการศึกษาโรงเรียนและการปรับเงินเดือนครู การที่รัฐบาลปฏิเสธที่จะรับรู้เรื่องการปรับค่าธรรมเนียม การเรียนของกลุ่มโรงเรียนที่อยู่ในฐานะช่วยตนเองได้ทำให้รัฐต้องให้เงินอุดหนุนชดเชยเป็นเงินเดือนครูแก่โรงเรียนเหล่านั้น ซึ่งงบประมาณดังกล่าวน่าจะไปใช้ช่วยเหลือพัฒนาโรงเรียนที่ยากจนในแดนทุรกันดาร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กยากไร้โดยตรง ซึ่งในการนี้รัฐน่าจะส่งเสริมให้องค์การเอกชน (NGO) ที่มีกุศลเจตนาได้ช่วยรับภาระจัดการศึกษาอย่างเต็มที่

ความไม่แน่นอนของการเลือกปฏิบัตินโยบาย โดยนักการเมืองผู้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ดูจะเป็นปกติวิสัยของผู้รับนโยบายระดับกระทรวงในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างความขมขื่นให้แก่โรงเรียนเอกชนมาโดยตลอดมิใช่น้อย เราคงได้ยินชาวตะวันตกที่มาทำการติดต่อหรือค้าขายกับประเทศไทยของเราเคยเตือนให้ชาวโลกระวังเรื่อง “Siamese Talk” เป็นอันมากรัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยจะสร้างความเชื่อถือให้แก่ตนเองต่อหน้าชาวโลกก็ต่อเมื่อเราต้องถือคำพูดคำสัญญา ไม่พูดกลับกลอกหรือตีความสองแง่สองมุม ซึ่งในบางครั้งเราอาจคิดว่านั่นเป็นความฉลาดของเราก็จริงแต่ว่าผลที่ตามมาก็คือเราจะสูญเสียความน่าเชื่อถือ (Credibility) แก่ตัวเราเองต่อหน้าสังคมโลก

การที่แนวคิดและการปฏิบัติตามนโยบายการจัดการศึกษา และในเรื่องต่างๆ ของประเทศเราไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จนั้น น่าจะเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการขาดความต่อเนื่องของนโยบาย และควรปฏิบัติตามนโยบายนั่นเอง ที่เป็นเช่นนี้อาจจะสืบเนื่องมาจากการมีวัฒนธรรมมีความเชื่อ มีฐานคติ (Assumption) เชิงนิเสธ (Negative) คือ

(1) การไม่ไว้วางใจและให้เกียรติคนอื่น

(2) การไม่ยอมรับและการไม่ปฏิบัติตามแนวความคิดและนโยบายของคนอื่น เพราะถ้ายอมรับและ ปฏิบัติตามแล้วจะให้ตนเองไม่มีผลงาน ยิ่งกว่านั้นยังเท่ากับไปส่งเสริมสนับสนุนแนวความคิดและนโยบายของคนอื่นอีกด้วย สิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นเครื่องปิดกั้นขัดขวางความเจริญและการพัฒนาของประเทศเรา ซึ่งเห็นกันอยู่บ่อยๆ จากหลายเรื่อง หลายกิจกรรม และหลายโครงการในการบริหารภาครัฐ (Public Sector) ตรงกันข้ามกับการบริหารเอกชน (Private Sector) ที่ปัจจุบันมีความเจริญรุ่งเรื่อง ก้าวหน้า มั่นคงมากจนหลายบริษัทกลายเป็นบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corporation) ไปแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีปัจจัยสำคัญคือ การมีระบบการบริหารที่ดีมีนโยบายแน่นอนชัดเจน มีความต่อเนื่องในผู้นำและการปฏิบัติตามนโยบาย

เมื่อไหร่ภาครัฐของเราจึงจะมีบรรยากาศและพฤติกรรมการบริหารประเทศ เช่น ภาคเอกชนบ้าง และสามารถสร้างให้เกิดความน่าเชื่อถือ (Credibility) ในการบริหารชาติบ้าง เมืองในมวลหมู่ประชาชนชาวไทยและประชาคมโลก ผู้เขียนเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาล นักการเมืองทั้งหลายจะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศในส่วนรวม ต้องกระตุ้นเร้า ปลุกจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบที่กอปรด้วยจริยธรรมและนโยบายทางการบริหาร โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สุดท้าย (Ultimate Goal) ของชาติในระยะยาวเป็นสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ในระยะสั้น สำหรับกลุ่มบางกลุ่มหรือของตัวเอง


*สัมภาษณ์พิเศษ, วารสารเจาะลึก ปีที่ 1 ฉบับที่ 12 มกราคม 2537