บนเส้นทางชีวิตที่แต่งแต้มด้วยสีสันอันหลากหลาย*
รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนเรานั้นมีหลายด้าน นอกจากบทบาทที่แสดงออกตามหน้าที่การงานแล้ว ทุกคน ย่อมต้องมีบทชีวิตที่แตกต่างในอีกหลากมุมมอง แต่สำหรับสุภาพบุรุษท่านนี้ ผู้ที่ทุกคนรู้จักดีในฐานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ บุคคลที่มีคุณค่าสูงยิ่งในวงการศึกษาของประเทศไทย เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีชีวิตในหลากหลายมิติ แพรวพราวไปด้วยสีสัน ซึ่งนอกเหนือจากภาพลักษณ์ความเป็นครูแล้ว บราเธอร์ มาร์ติน หรือ ภราดา ดร.ประทีป ม. โกมลมาศ ท่านยังมีบุคลิกอีกมากมายที่หลายท่านอาจนึกไม่ถึง
บราเธอร์ มาร์ติน มีชีวิตหลักคือ ความเป็นครูตลอดเวลาท่านอุทิศตนเพื่อวงการศึกษาและสังคมเป็นผู้ที่สามารถผสมผสานคุณค่าของการศึกษากับการบริหารได้อย่างดียิ่ง บราเธอร์ เกิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2476 ณ โรงพยาบาลศิริราช ในวัยเยาว์ท่านต้องเดินทางและย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง เพราะครอบครัวย้ายตามบิดาที่ไปปฏิบัติราชการในต่างจังหวัด คือจากกรุงเทพฯ ไปอยู่จังหวัดลำปาง ต่อมาก็ย้ายกลับกรุงเทพฯ หลังจากนั้นก็ย้ายไปประจำที่หมวกศิลา บ้านหมี่ สุไหงโกลก และช่องแคตามลำดับ ท้ายสุดก็กลับมากรุงเทพฯ
บราเธอร์ มาร์ติน เข้าพิธีรับศีลบัปติสมา เพื่อเป็นคริสต์อย่างแท้จริง เมื่อเรียนอยู่ชั้น ม.3 ในสมัยที่ศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ซึ่งท่านเล่าว่าเมื่อวันที่ท่านเข้ารับศีลดังกล่าวท่านมีความสุขมากที่สุด เพราะได้เป็นลูกของพระเจ้าแล้ว ส่วนนาม บราเธอร์ มาร์ติน นั้นมาจากเมื่อท่านบวช ท่านได้ถูกส่งตัวไปอบรมที่ตำบล VERCAUD ในประเทศอินเดีย หลังจากผ่านการทดลองเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ท่านเจษฎาจารย์ไมเกิล ผู้เป็น NOVICE MASTER ได้จัดให้มีพิธีสวมเสื้อนักบวช และแต่งตั้งศาสนนาม ณ โบสถ์มงฟอร์ต ซึ่งจากการเสี่ยงทายท่านก็ได้รับศาสนนามว่า BROTHER MARTIN DE TOURE
นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ท่านเป็นผู้นำของวงการศึกษาไทยในทุกระดับ มีผลงานอันโดดเด่นในด้านสร้างสรรค์และพัฒนาการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะการศึกษาเอกชนของประเทศไทย ท่านเป็นผู้ที่มีความคิดกว้างไกล สามารถมองการณ์ข้างหน้าได้อย่างเฉียบคม ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ เป็นคนโอบอ้อมอารีย์ และเชื่อมั่นในตัวเองสูง รวมทั้งชอบพัฒนาอยู่ตลอดเวลา จากประสบการณ์ที่ท่านมีอย่างมากมายท่านจึงได้รับตำแหน่งที่นอกเหนือจากการเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญอีกหลายตำแหน่ง เช่น เลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิก (ประเทศไทย) อุปนายกสมาคมสมาพันธ์การศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และอื่นๆ อีกมากมายซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติยิ่ง ท่านยังเป็นตัวแทนในการประชุมแล้วสัมมนาระดับต่างประเทศหลายครั้ง รวมถึงการสร้างผลงานทางวิชาการที่ทรงคุณค่าไว้อย่างนับไม่ถ้วน ในปี พ.ศ. 2516 ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมาชิกสถานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการการศึกษาแห่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย
ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตริตาภรณ์มงกุฎไทย ตริตาภรณ์ช้างเผือก และทวิติยาภรณ์มงกุฎไทย รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ORDRE DE LA COURONNE ชั้นที่ 1 จากประเทศเบลเยี่ยม
จากชีวิตการทำงานที่กล่าวมาอย่างพอสังเขปในข้างต้น คงทำให้หลายคนมองว่า บราเธอร์ มาร์ตินคงจะเป็นผู้ทรงศีลที่เคร่งครัดอย่างยิ่ง และคงจะเป็นผู้มุ่งแต่งานเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีสีสันอื่นใดในชีวิตแต่ในความเป็นจริง ภาพชีวิตอีกด้านของท่านนั้นยังมีเรื่องราวอีกมากมาย อย่างที่หลายคนอาจนึกไม่คงจะเป็นผู้ทรงศีลที่เคร่งครัดอย่างยิ่ง และคงจะเป็นผู้มุ่งแต่งานเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีสีสันอื่นใดในชีวิตแต่ในความเป็นจริง ภาพชีวิตอีกด้านของท่านนั้นยังมีเรื่องราวอีกมากมาย อย่างที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง
บราเธอร์ มาร์ติน เป็นผู้ที่นิยมชื่นชมธรรมชาติและรักทะเลเป็นอย่างยิ่ง ท่านชอบเล่นกีฬาทางน้ำทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเรือใบ ว่ายน้ำ กระโดดน้ำ หรือการดำน้ำ ล้วนเป็นกิจกรรมยามว่างที่ท่านโปรดปรานเป็นพิเศษ หากมีเวลาที่สามารถปลีกตัวจากภารกิจอันหนักหน่วงได้ ท่านไม่เคยพลาดที่จะเติมพลังชีวิตด้วยการไปเยี่ยมทะเลในสถานที่ต่างๆ ท่านไม่เคยหน่ายต่อทะเล ทะเลที่ท่านชอบเป็นพิเศษคือทะเลแดงในประเทศอิสลาเอล และแม้ปัจจุบันท่านจะมีอายุถึง 63 ปีแล้ว แต่จากการตรวจสุขภาพครั้งสุดท้าย ผลการตรวจจากแพทย์ยืนยันว่าท่านมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงทุกประการ ซึ่งเป็นผลมาจากที่ท่านออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ บราเธอร์ มาร์ติน ชอบที่จะเข้าไปวิ่งในสนามกีฬาหัวหมากเป็นประจำ โดยท่านเล่าว่า ท่านสามารถวิ่งได้ถึง 5 รอบสนาม ไม่แพ้คนหนุ่มๆ ทีเดียว ท่านต้องทำงานตลอดทั้ง 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ การออกกำลังกายจึงเป็นการคลายความเหนื่อยหนักกับงานได้เป็นอย่างดี
ทุกคนที่รู้จักบราเธอร์ จะได้รับความรู้สึกว่าท่านเป็นคนที่มีอัธยาศัย และอารมณ์ดีตลอดเวลา ผู้คนที่ได้พบท่านจะพกพาความประทับใจกลับด้วยไปเสมอครึ่งหนึ่งเมื่อท่านได้รับเชิญไปงานเลี้ยงแฟนซี ท่านสร้างความประหลาดใจด้วยการแต่งกายเป็นมนุษย์กบหรือนักดำน้ำไปร่วมงาน ซึ่งสามารถเรียกรอยยิ้มจากทุกคนในงาน และสร้างความสุขให้คนอื่นด้วยความเป็นคนมีอารมณ์ขันของท่าน
บราเธอร์ มาร์ติน จะมีความสุขมากที่สุดเมื่อท่านได้พบลูกศิษย์ที่จบออกไปแล้ว และประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะทำให้ท่านรู้สึกว่าได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพออกสู่สังคม เป็นความปิติอย่างสูงในชีวิตของท่าน นับได้ว่าท่านเป็นบุคคลที่มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง ท่านยังเล่าอีกว่าบางครั้งมีลูกศิษย์พบเจอท่านแล้วแสดงความเคารพ แต่ท่านไม่ได้ตอบรับ ทำให้บางคนเข้าใจผิดไป ท่านจึงขอแสดงความขอโทษมา ณ ที่นี้ เพราะท่านมีปัญหาที่ดวงตาข้างขวา คือเป็นโรค TRACHAUMA ทำให้มองทางด้านขวาไม่ค่อยถนัดนัก หากใครจะเข้ามาทักทายก็ขอให้พยายามเข้าทางด้านซ้ายเป็นดีที่สุด
และสุดท้ายท่านยังฝากคำสอนแด่ทุกคนไว้ว่า “การทำงานต้องทำให้ดีที่สุด และทำอย่างมีความสุขงานจึงจะออกมาดี”
* ABACA Profile (มกราคม - มีนาคม 2539)