อัสสัมชัญ ผุดโครงการยักษ์ ABAC บางนา มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ อีกทางเลือกการศึกษา*
คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่วาความทรงจำเมื่อครั้งสมัยที่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นยังติดตา ตรึงใจอยู่มิรู้ลืม เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นค่อนข้างจะอิสระ ใครอยากจะทำอะไรก็ได้ เรียกได้ว่าต้องรับผิดชอบกันเอาเองอีกทั้งภายในรั้วมหาวิทยาลัยยังมีกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย ที่ซึ่งนิสิต นักศึกษาจะได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน ฉะนั้นตลอดระยะเวลาที่ใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยจึงมีทั้งสุข ทุกข์ สนุก เศร้าเคล้าน้ำตาผสมปนเปกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงเวลาที่จะต้องจากสถาบันอันเป็นที่รัก เชื่อแน่ว่าทุกคนจะต้องรู้สึกอาลัยอาวรณ์ อย่างไรก็ตามเมื่อเราก้าวเดินออกไปข้างหน้าแล้วหันกลับมามองสถาบันที่เราเคยศึกษาอยู่เจริญรุ่งเรืองขึ้น เมื่อนั้นเราจะมีความสุข
จากความพยายามที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้สมบูรณ์แบบนั้น บราเธอร์ มาร์ติน มองว่าจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ที่กว้างขวางและเป็นพื้นที่ที่อยู่ในจุดที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไปอีกทั้งต้องไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก ในที่สุดบราเธอร์ มาร์ติน ก็ได้พบสถานที่แห่งหนึ่ง บนถนนบางนา-ตราด กม.26 ในบริเวณการจัดสรรของบริษัทบางนาการ์เด้นท์ ซึ่งเป็นของศิษย์เก่าสมัยสอนอยู่ที่อัสสัมชัญ ศรีราชา บริจาคให้ 50 ไร่ ต่อมาบราเธอร์ มาร์ตินคิดว่า 50 ไร่ยังไม่เพียงพอที่จะพัฒนาจึงได้หาลู่ทางว่าจาก 50 ไร่ จะขยายเป็น 100 หรือ 200 ไร่ได้หรือไม่ หลังจากบททวนถึงความเป็นไปได้แล้วท่านอธิการก็ได้ขายที่ดินที่ อ.ส.ม.ท. 14 ไร่ เพื่อนำเงินไปซื้อที่ดินเพิ่มจาก 50 ไร่ เป็น 180 ไร่ และเพิ่มเป็น 260 ไร่ในปี 2538
จากนั้นในปี 2539 บราเธอร์ มาร์ติน ได้ซื้อที่ดินเพิ่มเป็น 360 ไร่ ฉะนั้นที่ดินที่บางนา-ตราด กม.26 ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยแล้วมีประมาณ 360 ไร่ และคาดว่าจะถึง 500 ไร่ในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อได้สถานที่แล้วบราเธอร์ มาร์ติน ก็ได้เริ่มแนวความคิดที่จะสร้างมหาวิทยาลัยในอุดมคติแต่การจะเข้าไปพัฒนาหรือจัดการการศึกษาที่ใดก็ตามสิ่งหนึ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือ การสร้างอาคารสถานที่ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโดยมีต้นแบบมาจากการที่ บราเธอร์ มาร์ติน ให้แนวคิดไว้กับสถาปนิก โดยสร้างเป็นตึก 38 ชั้น และมีสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว โดยชั้นที่ 1-9 จะเป็นห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมื่อทำการสร้างเสร็จส่วนชั้นอื่นๆ จะเป็นห้องพักอาจารย์ ผู้บริหารและห้องประชุมสัมมนา “ปัจจุบันการก่อสร้างอาคารหลัก 38 ชั้น และอาคารรองประมาณ 180 ห้อง แล้วเสร็จมากกว่า 75% โดยเริ่มลงมือก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งเป็นการวางฐานรากนอกจากนี้ในส่วนของโครงสร้าง ทั้งหมดผมคิดว่าภายในปีนี้ (40) จะเสร็จสมบูรณ์ ส่วนปีหน้า (41) เราจะทำการตกแต่งทั้งหมด เพื่อให้พร้อมที่จะเริ่มดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุด คือ ประมาณมิถุนายน 2542 สำหรับพื้นที่ใช้สอยนั้น เราทำการแบ่งเป็น 2 โซน โซนแรกอคาเดมิคโซน โซนที่ 2 เรียกว่า เรสซิเดนท์โซน ประกอบด้วยอาคารหอพักนักศึกษา อาคารหอพักอาจารย์และเจ้าหน้าที่ สปอร์ตคอมเพล็กซ์ แต่ถึงอย่างไรเรื่องการก่อสร้างเราก็ไม่ได้ไปเร่งอะไรเขามากมายนัก โดยใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่นำมาก่อสร้างนี้ได้มาจากการเก็บค่าหน่วยกิต นักศึกษาและส่วนหนึ่งกู้มาประมาณ 30 ล้านบาท” บราเธอร์ มาร์ติน กล่าว
สำหรับมหาวิทยาลัยในอุดมคติ หรือมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบตามแนวความคิดของ บราเธอร์ มาร์ตินนั้นต้องการที่จะสื่อให้เห็นว่ามิใช่การสร้างตึก แต่อาคารทุกลังที่สร้างขึ้นมาจะต้องมีแนวคิดที่สะท้อนถึงศิลปะ ปรัชญาอารยธรรมของคนที่คิดและสร้างขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้พบไม่ง่ายนักในเมืองไทย ฉะนั้นอาคารทุกอาคารที่สร้างจะถูกประดิดประดอยขึ้นมา อย่างไรก็ตามแม้อาคารที่สร้างขึ้นจะมีความสวยงามสักปานใด แต่หาใช้ประโยชน์ได้ไม่ก็ไม่สมควรจะถูกสร้างขึ้นมา ดังนั้นอาคารที่สร้างขึ้นนอกจากจะสวยงามแล้วยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
ดังจะเห็นได้ว่าประเทศในแถบยุโรปไม่ว่าจะเป็นอังกฤษฝรั่งเศส หรือแม้ต่อเมริกาเองนับเป็นต้นแบบของการพัฒนามหาวิทยาลัยเลยก็ว่าได้ อย่างมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันมีอายุร่วม 600 ปีแล้วถือเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ลองพิจารณาดูว่าคนที่สร้างเมื่อประมาณ 600 ปีที่ผ่านมานั้น คิดอะไร เขาคิดจะสร้างมหาวิทยาลัยขณะเดียวกันก็สร้างสถาปัตยกรรมที่คนปัจจุบันคิดว่าไม่น่าจะสร้างได้ เพราะสมัยเมื่อ 600 ปี ที่แล้วไม่มีเทคโนโลยีนอกจากแรงงานมนุษย์
หลายท่านคงเริ่มสงสัยขึ้นมาบ้างแล้วว่าทำไมจึงสร้างสถาปัตยกรรมควบคู่กับการสร้างมหาวิทยาลัย ก็เนื่องเพราะคนสมัยก่อนนั้นมีความคิดว่าเมื่อคนที่เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในนั้นจะสอนให้รู้จักคิดทำไมจึงต้องสร้างอย่างวิจิตรบรรจงนั่นบ่งบอกถึงคนสร้างเป็นคนที่มีจิตใจละเมียดละมัย เป็นคนที่ทุ่มเทจิตใจจดจ่อกับงาน ฉะนั้นคนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยควรจะคิดได้ว่าการทำงานวิชาการ การสอนหนังสือเป็นสิ่งที่ยากลำบาก ฉะนั้นการจะทำให้เกิด Campus life ในมหาวิทยาลัย อาคารสถานที่จะต้องเกื้อกูลสอดคล้องกัน แต่ที่ผ่านๆ มาการสร้างมหาวิทยาลัยในเมืองไทย มีความจำกัดในเรื่องของงบประมาณและการออกแบบจึงทำอะไรมากไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ABAC จะสร้างแปลกแตกต่างจากคนอื่นๆ แต่ ABAC มองไปข้างหน้าๆ เป็นร้อยๆ ปีไม่ใช่สร้าง 30 หรือ 50 ปีก็ทุบทิ้งแล้วสร้างใหม่ด้วยสาเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ
จากอดีตที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ ABAC นับเป็นสถานศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องเพราะ ABAC ได้มีส่วนในการผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพออกไปทำงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ มากมายหลายคนประสบความสำเร็จอย่างงดงามในแวดวงธุรกิจ บางคนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงสังคม จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมชื่อของ ABAC จึงอยู่ในใจของทุกคนเวลานี้ จากความสำเร็จและชื่อเสียงของ ABAC ในวันนี้ย่อมเป็นผลมาจากความเสียสละ และทุ่มเทแรงกายแรงใจของคนสมัยก่อนที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ ABAC เป็นมหาวิทยาลัยที่มีพื้นฐานอันแข็งแกร่ง
“มหาวิทยาลัยของเรามีภารกิจหลักๆ 4 ประการด้วยกันคือ 1.เรื่องการเรียนการสอน 2.เรื่องของการวิจัย 3.เรื่องของการให้บริการทางสังคมและ 4.เรื่องของการทำนุ บำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเราพยายามพัฒนาศักยภาพของเราให้เพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ABAC ได้มีการพัฒนาทั้งในเรื่องของสาขาวิชา คณะวิชา จำนวนนักศึกษา ซึ่งพัฒนาการที่เป็นมาขณะนี้การที่จะทำให้ ABAC เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบตามความคิดของนักวิชาการนักบริหาร ต้องเป็นเรื่องที่จะพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ซึ่งสังคมในที่นี้มีความหมายในแง่กว้างคือ ตัวนักศึกษา ผู้ปกครอง ตัวสังคมในภาครวม คือภาคธุรกิจ เอกชนและรัฐบาล เมื่อเราเห็นว่ามหาวิทยาลัยมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถพัฒนาต่อไป เราจึงมีโครงการที่จะย้ายนักศึกษาปริญญาตรี จากหัวหมากไปอยู่สถานที่แห่งใหม่บนถนนบางนา-ตราด กม. 26 เพื่อให้ภารกิจของมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ” บราเธอร์ มาร์ติน อธิการบดี ABAC กล่าว
“แต่ปัจจุบันเราจะสร้างแบบเมื่อก่อนไม่ได้แล้วด้วยสาเหตุเรื่องเงิน เพราะค่าแรงแพงขึ้นทุกวันอีกทั้งจิตใจของคนเราสมัยนี้ไม่นิ่งพอทำอะไรต้องทำเร็วๆ เราจะสร้างตึกๆ หนึ่งใช้เวลา 15 ปีไม่ได้แล้ว ฉะนั้นอย่าสงสัยว่าโบสถ์หรือวิหารในสมัยก่อนจึงใช้เวลาก่อสร้างนาน เพราะสิ่งนั้นสร้างได้สิ่งนั้นสวยงามมาก และเต็มไปด้วยความศรัทธาสำหรับความพร้อมทางด้านบุคลากรที่จะมารองรับเมื่อถึงเวลาเปิดดำเนินการนั้นผมคิดว่าเรามีความพร้อม เพราะอาจารย์ที่เราให้ทุนไปเรียนต่างประเทศกำลังทยอยกลับมาซึ่งคนที่เราให้ทุนไปเรียนส่วนใหญ่จะเป็นคนที่จบจาก ABAC บ้าง คนนอกบ้าง เมื่อกลับมาก็มาเป็นอาจารย์สอนที่ ABAC ส่วนความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ต่างๆ ในการเรียนการสอน ผมคิดว่าเรามีความพร้อมสมบูรณ์เต็มที่ เพราะหากอุปกรณ์ไม่พร้อมทางทบวงมหาวิทยาลัยก็จะไม่อนุญาตให้เปิดสอน” บราเธอร์ มาร์ติน กล่าวถึงความพร้อม
ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างเป็นจำนวนมหาศาล ฉะนั้นการที่ ABAC นำเงินจากการเก็บค่าหน่วยกิตนักศึกษาออกมาใช้จ่ายจึงยังไม่เพียงพอและต้องการอีกเป็นจำนวนมาก แต่ขณะนี้ได้มีศิษย์เก่าเริ่มเข้ามาบริจาคให้กับทางมหาวิทยาลัยบ้างแล้ว แต่ยังไม่มากมายนัก นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังหาวิธีที่จะให้ศิษย์เก่าหรือผู้ปกครองเข้ามาร่วมบริจาค โดยอาจจะตั้งเป็นสมาคมชมรมผู้ปกครอง ตั้งกองทุนต่างๆ เพราะมหาวิทยาลัยต้องใช้เงินอีกเป็นจำนวนมาก
ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานส่งผลให้วัสดุก่อสร้างต่างๆ ก็พากันขึ้นราคา และมีผลกระทบต่อโครงการที่ต้องล่าช้าไปบ้างแต่ถึงจะล่าช้าอย่างไรโครงการนี้ก็รอไม่ได้ ฉะนั้นภายในอีก 3 ปีข้างหน้าโครงการจะต้องเสร็จ หรือหากไม่เสร็จบางส่วนจะต้องย้ายเข้าไปก่อนซึ่งต้องดูความเหมาะสมว่าคณะใดมีความพร้อม
“มหาวิทยาลัยในต่างประเทศเขาพยายามที่จะให้ศิษย์เก่าเข้ามาช่วยสร้างมหาวิทยาลัย ซึ่งศิษย์เก่าก็บริจาคเงินสร้าง ABAC ก็เหมือนกันถ้าศิษย์เก่าได้มีโอกาสเข้ามามีบทบาทในการเสริมสร้างมหาวิทยาลัยก็จะเป็นสิ่งที่ดีงาม ศิษย์เก่าบางคนอาจจะเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยมีกำไรอยู่แล้วถึงสร้างได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการเข้าใจผิด มหาวิทยาลัยมีกำไรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่การลงทุนอย่างนี้เป็นเงินมหาศาลในต่างประเทศเขามีศิษย์เก่าเชิญชวนมาบริจาค ตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาต่างๆ สำหรับเมืองไทยอาจจะเป็นของใหม่ซึ่งศิษย์เก่าหรือคนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจว่าเขาควรจะมีบทบาทในการเสริมสร้างมหาวิทยาลัยอย่างไร ดังนั้นจึงอยากจะเชิญชวนศิษย์เก่าให้มาร่วมกันสร้างมหาวิทยาลัย” บราเธอร์ มาร์ติน กล่าวเชิญชวนทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และผู้ปกครองให้ร่วมกันสร้างมหาวิทยาลัย
* ABACA Profile (กันยายน - ตุลาคม 2540)