วิสัยทัศน์สำหรับนักธุรกิจ*
ปี พ.ศ. 2539-2540 เป็นปีที่ใครๆ เข้าใจว่าเศรษฐกิจของประเทศเราตกต่ำไม่รุ่งโรจน์ชัชวาลเหมือนเมื่อก่อนนี้ (ความจริงนั้นเรายังไม่เคยรุ่งโรจน์ชัชวาลสักทีดังที่เคยฝันไว้ในสมัย ฯพณฯ พลเอก เปรม) ในสถานการณ์ดังกล่าวถ้านักธุรกิจหยิบเอา Harvard Business Review ฉบับเก่าๆ ขึ้นมาอ่านจะพบแรงดลใจหรือได้ความคิดอะไรใหม่ๆ ก็ได้ จากปรมาจารย์ทางบริหารธุรกิจ เช่น Prof. CK. Prahalad และ Prof. Hamel ความจริงเศรษฐกิจของไทยเราไม่ตกต่ำอย่างที่เราคิดกัน ถ้านักลงทุนของเรามีวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง คิดรอบคอบตั้งสติให้ดี รู้จักลงทุน ไม่โลภมาก ไม่เป็นเหยื่อของข่าวลือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจก็คงจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
Prof. CK Prahalad เป็นศาสตราจารย์ของบัณฑิตวิทยาลัยในคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน เขียนหนังสือร่วมกับ Prof. Gary Hamel ซึ่งเป็น Visiting Professor ณ London Business School
อาจารย์ทั้งสองได้ร่วมกันเขียนบทความซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน Harvard Business Review และได้รับรางวัล McKinsey ทั้งสองยังเขียนหนังสือชื่อ “Competing for the Future” พิมพ์โดย Harvard Business School อีกด้วย บทความที่อาจารย์ทั้งสองเขียนใน Harvard Business Review ในปี 1990 และได้รับการขอร้องจากผู้อ่านให้ตีพิมพ์ใหม่มากที่สุดเห็นจะได้แก่บทความ “Core Competencies of the Corporation”
ตามเนื้อหาสาระของบทความนี้ อาจารย์ทั้งสองมีความเห็นว่าสิ่งที่เป็น The greatest asset หรือทรัพย์สินอันใหญ่ที่สุดที่ธุรกิจควรมีคือ การมีวิสัยทัศน์ (Vision) หลักคิดในเรื่อง “วิสัยทัศน์” นี้มีความหมายมากกว่า หลักคิดแคบๆ ของ “re-engineering” วิสัยทัศน์คือการมองเหนือไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในบริษัทมองไปยังอนาคตเพื่อจะแสวงหาวิธีการที่จะแข่งขันและขณะในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เช่น การเศรษฐกิจตกต่ำในขณะนี้
การมี “วิสัยทัศน์” นั้น แตกต่างจากการเดินตามกระแสโลกปัจจุบัน เป็นต้น คนจำนวนมากมักชอบทำอะไรหรือลงทุนตามอย่างกัน เมื่อเห็นใครประสบความสำเร็จในสิ่งนั้นๆ ในบางครั้งการทำเช่นนั้นอาจจะประสบความสำเร็จบ้างเพียงชั่วครู่แต่ในไม่ช้าก็หมดโอกาสเสียแล้วเพราะตลาดล้นแล้วปิดแล้ว เพราะในตลาดดังกล่าวนั้นเต็มไปด้วยผู้ชอบเอาอย่างและนักแสวงโชค เมื่อถึงภาวะเช่นนั้นคือตลาดปิด จะให้ re-engineering ธุรกิจอย่างไร restructuring หรือ down-sizing อย่างไรก็ช่วยอะไรไม่ได้
การมีวิสัยทัศน์สู่อนาคต หมายถึง สมรรถภาพของการรู้จักหยั่งทิศทางของการเปลี่ยนแปลงและยังสามารถใช้ญาณเข้าถึงเหตุการณ์ก่อนที่จะเกิดขึ้นพร้อมทั้งหยั่งรู้ถึงจุด momentum หรือจุดหมุนของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ วิสัยทัศน์ของ Steve jobs และ Steve Wozniak ผู้คิดกว้างมองไกลอยากเห็นมนุษย์ทุกคนใช้คอมพิวเตอร์เป็นจึงประดิษฐ์ Apple Computer ขึ้นมาและสามารถครองโลกได้ในที่สุด
หนังสือพิมพ์ Business Day ประเทศไทยฉบับเดือนมีนาคม ลงข่าวว่าปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Microsoft และ Sony กำลังทุ่มทรัพยากรมหาศาล เพื่อมุ่งไปที่อนาคต Microsoft เน้นการผลิตเทคโนโลยีล้ำยุค ซึ่งวันหนึ่งจะสามารถสร้างมิติใหม่ด้าน IT แก่โลกอนาคต ส่วน Sony นั้นกำลังมีความคิดสร้างสรรค์เชิงท้าทายที่จะผลิตสินค้าตัวใหม่และปรับของเก่าให้เป็นของใหม่ให้ได้ 1,000 ชนิดต่อปี นั่นคือผลพวงของการมีวิสัยทัศน์
นอกจาก “วิสัยทัศน์” แล้ว Prof. Prahalad และ Prof. Hamel ยังเน้นเรื่อง “Core Competencies” ว่าเปรียบเสมือน Springboard หรือกระดานกระดกกระนั้นที่จะนำไปสู่ความยิ่งใหญ่
Asset & Corporation
Core Competencies ก็คือ สมรรถภาพหลักหรือความสามารถพิเศษของบริษัท ซึ่งก็คือ “ทำสิ่งที่ท่านถนัดทำ ทำให้ดี และปล่อยให้คนอื่นเขาทำสิ่งที่เหลือ” พูดง่ายๆ ก็คือไม่ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ปล่อยให้คนอื่นเขาทำบ้าง ทำเฉพาะที่ตนชอบทำและถนัดทำ “สมรรถภาพหลัก” ยังมีความหมายรวมถึงการเข้าถึงจิตใจของผู้บริโภค รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร และมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์อะไร ในบริบทนี้เราอาจจะขายสินค้าที่ใครๆ เขาก็ขายกันแต่สินค้าของเราต้องมีอะไรพิเศษที่คนอื่นเขาไม่มี
อาจารย์ทั้งสองท่านยังกล่าวเป็นเชิงสรุปว่า “แรงดลใจความคิดสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์เป็นผลพลอยได้ของการมีความรู้สึกไว (sensitivity) ต่อการเปลี่ยนแปลงและต่อความต้องการของผู้บริโภค
สิ่งที่อาจารย์ทั้งสองได้สอนคงไม่มีอะไรใหม่ใต้หล้านี้ มันเป็นเพียงสามัญสำนึก (commonsense) ให้เรามีความแน่วแน่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นและต้องตามประสงค์ของผู้บริโภคเท่านั้น