มหาวิทยาลัยที่ทางแยก : จุดประกายวิสัยทัศน์อุดมศึกษาไทยในอนาคต*

บทนำ

ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เป็นนักคิด นักเขียน นักวิชาการและนักวิพากษ์สังคมรุ่นใหม่ที่ได้สร้างผลงานในสื่อรูปแบบต่างๆ เอาไว้มาก โดยได้สะท้อนและเสนอแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยในมิติต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจและเป็นรูปธรรมที่สำคัญยิ่ง โดยท่านให้ความสนใจในมิติของการศึกษามากเป็นพิเศษ ท่านจึงเป็นดาวรุ่งดวงใหม่แห่งการศึกษาไทย ผลงานทางการศึกษาหลายชิ้นของท่าน แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ และจริงจังที่จะแก้ปัญหาของประเทศไทยด้วยการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผลงาน “มหาวิทยาลัยที่ทางแยก : จุดประกายวิสัยทัศน์อุดมศึกษาไทยในอนาคต” นี้เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้เสนอแนวคิดเพื่อให้เกิดการส่งผ่าน (breakthrough) จากศตวรรษที่ 20 สู่ศตวรรษที่ 21 อย่างท้าทาย อันเปี่ยมไปด้วยความหวังในความสำเร็จของการพัฒนาชาติด้วยการศึกษา ในผลงานชิ้นนี้ผู้เขียนได้แสดงถึงความห่วงใยในมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาอันจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศอย่างสำคัญ โดยได้เสนอประเด็นที่ควรค่าแก่การไตร่ตรอง หรือการวิพากษ์เอาไว้ว่า มหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งกำลังดำเนินมาถึง “ทางแยก” ที่จำเป็นต้องเลือกว่าจะก้าวไปในทิศใด คือ จะเป็น “โรงงานผลิตน็อต” หรือ “โรงงานสร้างคน” จะเป็น “เรือนจำทางปัญญา” หรือ “เรือนเพาะชำทางปัญญา” จะเป็น “ป่าช้าทางปัญญา” หรือ “ขุมทรัพย์ทางปัญญา” จะเป็น “สถานกักกันองค์ความรู้” หรือ “สถานสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่”

ประเด็นทางเลือกเปรียบเทียบที่ผู้เขียนเสนอว่าเป็น “ทางแยก” ของอุดมศึกษาไทยดังกล่าวนั้น น่าสนใจมากควรค่าแก่คณาจารย์ นักวิชาการ และผู้บริหารการศึกษาในระดับอุดมศึกษาน่าจะได้มีการอภิปราย หรือเสวนากัน

ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้ชี้ชวนให้นักการศึกษาไทยได้ทบทวนบทบาทและภาพที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยไทยในอนาคตซึ่ง “ควรจะเป็นสถานที่อบรมบ่มเพาะนักคิด นักวิชาการอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเรือนจำที่กักขังนักคิด นักวิชาการ” ท่านเชื่อว่าสภาพเช่นนี้เท่านั้นจึงจะสามารถ “สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่ประเทศและแก่แวดวงวิชาการได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และจำทำให้เกิดการนำเอาความรู้ และศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นไปใช้เป็นแกนนำในการพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นอกเหนือจากนี้ ผู้เขียนยังได้เสนอว่า มหาวิทยาลัยจะต้องแสดงบทบาทใน “ความเป็นเลิศทางคุณธรรม จริยธรรม และทัศนคติ” โดยการ “สอนเชิงบูรณาการสหวิทยาการต่างๆ อย่างเชื่อมโยงกัน”

ผมได้อ่าน “มหาวิทยาลัยที่ทางแยก : จุดประกายวิสัยทัศน์อุดมศึกษาไทยในอนาคต” นี้ ด้วยความชื่นชมและศรัทธาในความเพียรพยายามของศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ที่พยายามรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ประเด็นปัญหาต่างๆ ของอุดมศึกษาไทยเอาไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นอาหารสมองที่ทรงคุณค่าอีกเล่มหนึ่งที่นักศึกษา นักวิชาการ และนักบริหารการศึกษาควรจะได้อ่าน

สุดท้ายผมแสดงความชื่นชมด้วยความจริงใจว่า ศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เป็นผู้ที่ได้สร้างคุณูปการแก่สังคมไทย ด้วยการจุดประกายความคิด เพื่อเป็นสติและปัญญาให้แก่สังคมไทยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ตลอดมา อันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ผาสุก และสันติของมวลชนชาวไทยในท้ายที่สุด ขอให้ท่านจงประสบความสำเร็จในชีวิตยิ่งๆ ขึ้นไป


*เกรียงศักดิ์ เจริยวงศ์ศักดิ์ (2541) กรุงเทพฯ : ซัดเซสมีเดีย : ภราดาประทีป ม. โกมลมาศ