การศึกษาคาทอลิกเน้นความเป็นบุคคลของมนุษย์ในการศึกษาอบรม* 

ความทั่วไป

ขณะที่ศตวรรษที่ 21 กำลังย่างเข้ามา สมณกระทรวงศึกษาคาทอลิกของวาติกันได้ตีพิมพ์ถ้อยแถลง เรื่อง “โรงเรียนคาทอลิกขณะกำลังเข้าสู่สหัสวรรษที่ 3” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 1997 ซึ่งในเอกสารดังกล่าวมีการอ้างอิงพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ไว้ตอนหนึ่งว่า โรงเรียนคาทอลิกก่อกำเนิดขึ้นครั้งแรก เพื่อเป็นโรงเรียนสำหรับบุคคลและของบุคคล “การเป็นบุคคลของแต่ละคนพร้อมกับความจำเป็นทางวัตถุและจิตใจของพวกเขา คือ แก่นคำสอนของพระคริสตเจ้า เพราะเหตุนี้ การส่งเสริมความเป็นบุคคลของมนุษย์ จึงเป็นเป้าหมายของโรงเรียนคาทอลิก”

ฉบับเดียวกันนี้ยังกล่าวอีกว่า “คำยืนยันนี้ ซึ่งเน้นที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระคริสตเจ้าที่ต้องการเตือนเราว่า ความครบถ้วนสมบูรณ์ของความจริงเกี่ยวกับมนุษย์คือ สิ่งที่หาผลได้ในองค์พระคริสตเจ้านั่นเอง เพราะเหตุนี้การที่โรงเรียนคาทอลิกถือเป็นข้อผูกมัดที่พัฒนามนุษย์ทั้งครบ ผู้มีความตระหนักว่าคุณค่ามนุษย์ทั้งหมดพบกับความสำเร็จจริงและเอกภาพในพระคริสตเจ้า ความตระหนักข้อนี้เป็นการยืนยันถึงความเป็นศูนย์กลางของการเป็นบุคคลในโครงการการศึกษาของโรงเรียนคาทอลิกที่ช่วยเสริมความพยายามด้านการศึกษาให้เข้มแข็งขึ้นและทำให้เหมาะสมต่อการสร้างบุคลิกภาพที่สง่างาม”

เมื่อปี ค.ศ. 1972 องค์การยูเนสโกได้แถลงการณ์ต่อสมัชชาใหญ่ ณ กรุงปารีส ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาการศึกษาในหัวข้อ “Learning To Be” หรือ “เรียนรู้ที่จะเป็น” หรือ “การเรียนรู้เพื่อชีวิต” โดยแถลงว่า

“จุดมุ่งหมายขั้นพื้นฐาน (fundamental aims) ของการศึกษา คือ การพัฒนาเชิงบูรณาการ (integration) ด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และจิตใจ ของปัจเจกบุคคลให้เป็นคนที่ครบและสมบูรณ์ (complete man)*

การพัฒนาศักยภาพทั้ง 4 มิติ ดังกล่าวถือว่าเป็นการพัฒนาความเป็นบุคคลทั้งครบของมนุษย์

       ต่อมาในปี 1977 สมณกระทรวงว่าด้วยการศึกษาคาทอลิกของวาติกันได้ตีพิมพ์เอกสารสำคัญเรื่อง “โรงเรียนคาทอลิก” ตามถ้อยแถลงดังกล่าว ข้อ 35 มีความว่า

        “โรงเรียนคาทอลิกมีพันธกิจที่จะพัฒนาคนทั้งครบ (The whole man) ทั้งนี้เพราะคุณค่าของความเป็นมนุษย์ (human values) ในทุกมิติอย่างมีเอกภาพในองค์พระคริสต์ผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (The perfect man) นี่คือลักษณะพิเศษของโรงเรียนคาทอลิก ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องปลูกฝังคุณค่าของความเป็นคนในทุกมิติที่เป็นบุคคล อันเป็นภารกิจที่โรงเรียนคาทอลิกต้องรับใช้มวลมนุษย์”

  ถ้อยแถลงขององค์การยูเนสโกและของสมณกระทรวงศึกษาแห่งวาติกันต่างก็เน้นการพัฒนาคนทั้งครบ ในศักยภาพทั้ง 4 มิติ คือ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และจิตใจของมนุษย์ซึ่งจะต้องเป็นกระบวนการพัฒนาเชิงบูรณาการอย่างมีดุลภาพจึงจะเป็นบุคคลที่ครบสมบูรณ์

จุดมุ่งหมายของชีวิตคือการบรรลุถึงสัจธรรม

ในกฤษฎีกาฉบับที่ว่าด้วย ศาสนจักรในโลกปัจจุบัน ข้อ 41 มีความว่าพระเจ้าได้ทรงมอบหมายให้ศาสนจักรเป็นผู้ไขแสดงความลึกลับของพระองค์ (mystery) ผู้ทรงเป็นเป้าประสงค์ที่แท้จริงของมนุษย์ ทั้งนี้เพราะ “ศาสนจักรรู้ซึ้งว่ามีแต่พระเจ้าเท่านั้น ที่จะทำให้ความปรารถนาในห้วงลึกของหัวใจมนุษย์พบความสุขเต็มปริ่ม...” หรือดุจดัง นักบุญเอากุสติโนที่ได้เคยกล่าวว่า “หัวใจของข้าพเจ้าจะกระวนกระวายอยู่ร่ำไป ตราบใดที่ไม่ได้พำนักในพระองค์”

ตามแนวคิดทำนองเดียวกันนี้ Le Comte de Noiiy นักวิทยาศาสตร์เรืองนามได้เขียนไว้ในหนังสือ “Human Destiny”* ว่า “มนุษย์ทุกคนจงจำไว้ว่าชะตากรรมของมนุษย์ชาตินั้นสำคัญหาที่เปรียบมิได้...และขอให้มนุษย์ทุกคนจงตระหนักว่าประกายไฟของพระเจ้า (divine spark) อยู่ในตัวของเขาคนเดียวเท่านั้น และเขามีอิสระที่จะไม่แยแสต่อประกายไฟนี้ หรือดับมันเสีย หรือเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้น โดยแสดงออกซึ่งความร้อนรนที่จะทำงานกับพระองค์และเพื่อพระองค์”

ฉะนั้นโรงเรียนคาทอลิกต้องยืนหยัดที่จะประกาศว่า จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการดำรงชีวิตคือ การเข้าถึงสัจธรรม สัจธรรมดังกล่าวจะต้องเป็นเหตุและปรัชญาในกระบวนการพัฒนาด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และจิตใจของผู้เรียน การเข้าถึงสัจธรรมก็คือการเข้าถึงพระเจ้า !

บุคลิกภาพและสิทธิส่วนบุคคล

ดูเหมือนจะเป็นเจตนารมณ์ของปราชญ์แห่งการสังคายนาวาติกันที่ 2 ที่จะเน้นให้ความสำคัญของความเป็นบุคคลของมนุษย์มากกว่าในยุคใดสมัยใดในประวัติศาสตร์ของศาสนจักร เช่น ในกฤษฎีกาฉบับเดียวกันนี้ กล่าวว่า “มนุษย์สมัยใหม่อยู่ในวิถีทางของการพัฒนาบุคลิกภาพของตน สู่ความสมบูรณ์มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็อยู่ในวิถีทางของการค้นพบ และการอ้างสิทธิอันชอบธรรมส่วนบุคคลที่ตนพึงมี...” การยอมรับและการรับรู้โดยศาสนจักร ด้วยเรื่องบุคลิกภาพและสิทธิส่วนบุคคลมีนัยสำคัญต่อวิธีการให้การศึกษาอบรมเด็กและเยาวชนในโรงเรียนคาทอลิกเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะว่าบุคลิกภาพของบุคคลใดก็คือลายเซ็นชีวิตของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยสังคมของคนคนนั้น และทำให้คนคนนั้น เป็นเอกบุคคลที่ไม่เหมือนใคร การได้รับโอกาสและมีโอกาสใช้สิทธิส่วนบุคคลในชีวิตของผู้เรียน เป็นเงื่อนไขสำคัญของการพัฒนาบุคลิกภาพของคนคนนั้น ซึ่งบุคลิกภาพดังกล่าวนั้น เป็นลักษณะนิสัยอันซับซ้อนเชิงจิตวิทยา ซึ่งต้องการความเอาใจใส่ การให้เวลา ความรักและความอบอุ่นแบบครอบครัวจากครูบาอาจารย์รวมทั้งการยอมรับให้ผุ้เรียนมีสิทธิส่วนบุคคล โดยอาศัยคำแนะนำที่ถูกต้อง และการได้รับโอกาสที่จะเป็นตัวของตัวเอง จึงจะสามารถดลบันดาลให้ผุ้รับการศึกษาหรือผู้เรียนได้รับการพัฒนาในที่ถูกที่ควรในกระบวนการศึกษาและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตสู่ความสมบูรณ์

พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าและศักดิ์ศรีของบุคคล

สังคายนาวาติกันที่ 2ได้ยืนยันความเชื่อของคริสตชนที่ว่า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายาลักษณ์ของพระองค์ และพระองค์ได้ช่วยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากบาปทั้งปวง โดยทางพระเยซูคริสต์ ในบริบทนี้กฤษฎีกาฉบับเดียวกัน คือ ศาสนจักรในโลกปัจจุบัน 41 ได้กล่าวเป็นใจความว่า “สืบเนื่องมาจากความเชื่อดังกล่าว ศาสนจักรจึงยืนยันในศักดิ์ศรีของธรรมชาติมนุษย์ และต่อต้านความคิดของกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นในคุณค่าของร่างกายมนุษย์หรือกลุ่มที่คลั่งไคล้ในร่างกายมนุษย์ เช่นกัน...” สังคายนาวาติกันที่ 2 ให้ความสำคัญต่อศักดิ์ศรีของธรรมชาติมนุษย์ก็เพราะว่า “พระบุตรของพระเจ้าทรงเป็นมนุษย์แท้จริงและพระเจ้าแท้จริง” โดยนัยนี้ ธรรมชาติมนุษย์เป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่ร่างกายเท่านั้น หรือวิญญาณเท่านั้น หรืออารมณ์จิตใจเท่านั้น ถ้ามนุษย์มีแต่ร่างกายก็ไม่ใช่มนุษย์ หรือมีแต่วิญญาณก็ไม่ใช่มนุษย์ดุจเดียวกัน ดังนั้น การพัฒนาตัวบุคคลของมนุษย์ต้องเป็นการพัฒนาในดุลยภาพทั้ง 4 มิติของศักยภาพมนุษย์ ขาดมิติหนึ่งมิติใดไม่ได้ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาศักยภาพทั้ง 4 มิติต้องทำขึ้นพร้อมๆ กัน เนื่องจากแต่ละมิตินั้นเป็นเงื่อนไขของกันและกัน จึงจะเป็นการพัฒนาที่สมบูรณ์ หรือเป็นกระบวนการศึกษาที่แท้จริง ฉะนั้น โรงเรียนคาทอลิกต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการจัดหลักสูตรที่จะประกอบด้วยสาระเนื้อหาวิชาหลากหลาย รวมทั้งกิจกรรมเสริมสร้าง เพื่อผู้เรียนจะได้สามารถพัฒนาตนตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

ศักดิ์ศรีของมโนธรรมมนุษย์

ศาสนจักรยังกล่าวต่อไปอีกว่า “ไม่มีกฎหมายใดในโลกปกป้องศักดิ์ศรี ส่วนบุคคล (personal dignity) และเสรีภาพของมนุษย์ (liberty of man) ได้ดี และชัดเจนเท่ากัน พระวรสารของพระเยซูคริสต์” ทั้งนี้เพราะว่า พระวรสารได้ป่าวประกาศว่า มนุษย์ทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้าด้วยเหตุนี้พระวรสารจึง “ได้เรียกร้องให้ทุกคนเคารพในศักดิ์ศรีของมโนธรรม (the dignity of conscience) ของมนุษย์ ว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมและศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์พึงจะมีได้” และโดยนัยดังกล่าว มนุษย์ย่อมมีสิทธิส่วนบุคคลที่จะตัดสินใจเลือกทำสิ่งใด

อิสรภาพส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน

กฤษฎีกาฉบับเดียวกันนี้ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และในประวัติศาสตร์แห่งความรอด สิทธิในอิสรภาพส่วนบุคคลของมนุษย์ (rightful autonomy of man) ได้รับการสถาปนาโดยพระเจ้า นี่คือกฎหมายขั้นพื้นฐานของมโนธรรมคริสตชน (basic law of the Christian dispensation) ฉะนั้น โดยอาศัยพระวรสารที่ได้รับมอบหมายจากองค์พระคริสตเจ้าศาสนจักรจึงประกาศ “สิทธิมนุษยชน (rights of man)” ต่อมวลมนุษย์ ในขณะเดียวกัน ศาสนจักรได้เตือนสติสังคมมนุษย์ให้ยึดถือเจตนารมณ์ของเสรีภาพที่แท้จริงในพระวรสาร และให้ระวังอิสรภาพส่วนบุคคลที่จอมปลอม (false autonomy)

สิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพในการนับถือศาสนา

กฤษฎีกาฉบับที่ว่าด้วย “เสรีภาพในการนับถือศาสนา (religious freedom)” ข้อที่ 1 ประกาศว่า “ศักดิ์ศรีของความเป็นบุคคลของมนุษย์ ได้ประทับตรายิ่งวันยิ่งหยั่งลึกในจิตสำนักของมนุษย์สมัยนี้ และเรียกร้องให้มนุษย์ตัดสินใจทำกิจกรรมใด โดยใช้วิจารญาณ และเสรีภาพส่วนตนอย่างบุคคลที่รู้จักรับผิดชอบ โดยไม่ถูกใครบังคับ แต่กระทำโดยความสำนักในหน้าที่ของตน”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สังคายนาวาติกันที่ 2 ประกาศว่า “บุคคลมีสิทธิในการนับถือศาสนา (The human person has right to religious freedom)” ซึ่งเสรีภาพนี้ หมายความว่า “มนุษย์ทุกคนต้องไม่ถูกใครบังคับ โดยกลุ่มสังคมใด หรืออำนาจมนุษย์คณะใด ให้กระทำสิ่งใดในเรื่องของศาสนา ซึ่งขัดต่อความเชื่อถือส่วนบุคคล”

กฤษฎีการฉบับเดียวกันนี้ยังกล่าวอีกว่า “สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาวางอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นบุคคลของมนุษย์ ซึ่งศักดิ์ศรีดังกล่าวได้รับการไขแสดงโดย พระวจนะของพระเจ้า และโดยเหตุผลในตัวเอง...” เนื่องด้วยศักดิ์ศรีดังกล่าว มนุษย์จึงเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพทางเหตุผลและอิสระในการติดสินใจ (endowed with reason and free will) และด้วยเหตุนี้ “มนุษย์จึงมีเอกสิทธิที่จะมีความรับผิดชอบส่วนบุคคล ซึ่งเอกสิทธิดังกล่าว ทำให้มนุษย์ต้องมีภาระหน้าที่ที่จะแสวงหาสัจธรรมความจริง เช่น สัจะรรมทางศาสนา”

อิสรภาพส่วนบุคคลและการมีวุฒิภาวะเชิงศีลธรรม

กฤษฎีกาว่าด้วยการศึกษา ข้อ 1 กล่าวว่า “การศึกษาที่แท้จริง ต้องมีจุดประสงค์พัฒนาตัวบุคคล (formation of the human person) โดยคำนึงถึงเป้าหมายขั้นสุดท้ายของชีวิต (ultimate goal) และคำนึงถึงความดีงาม (common good) ของสังคมด้วย ซึ่งผู้เรียนต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกของสังคม

สังคายนาวาติกันที่ 2 ยังกล่าวต่อไปอีกว่า “...โดยอาศัยความรู้สมัยใหม่ทางจิตวิทยา ศิลปะศาสตร์ และครุศาสตร์ เด็กและเยาวชนต้องได้รับการเอาใจใส่ให้มีการพัฒนาสมรรถภาพทางร่างกาย ปัญญา และจิตใจ อย่างผสมผสานกลมกลืน...และต้องเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนให้รู้จักแสดงความรับผิดชอบตามวัยและวุฒิภาวะของตน... เพื่อจะให้รู้จักใช้เสรีภาพและอิสรภาพอย่างถูกต้อง”

กฤษฎีกาฉบับเดียวกันนี้ยังได้แนะให้ครูอาจารย์ ให้ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคลผู้เรียนและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนรู้จักใช้ความรับผิดชอบส่วนบุคคลกฤษฎีกาฉบับนี้ยังเสริมอีกว่า “ศาสนจักรของยืนยันว่า เด็กและเยาวชนต้องได้รับการส่งเสริมให้รู้จักให้ความสำคัญต่อคุณค่าทางศีลธรรม (moral values) อย่างผู้มีมโนธรรมที่ถูกต้อง (upright conscience) รู้จักใช้สิทธิ์และอิสรภาพส่วนบุคคลในการเลือก...ศาสนจักรขอเตือนครูอาจารย์และผู้รับผิดชอบทางการศึกษาให้เคารพสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ (sacred right) นี้”

โดยนัยนี้ เด็กและเยาวชนต้องได้รับโอกาสที่จะใช้เสรีภาพส่วนบุคคลและมีอิสรภาพในการเลือก ถ้าเด็กและเยาวชนไม่มีเสรีภาพส่วนบุคคลและไม่มีอิสรภาพในการเลือกทำสิ่งใดเขาเหล่านั้นก็จะไม่มีวันบรรลุถึงวุฒิภาวะเชิงศีลธรรมได้เลย สาระดังกล่าวนี้ควรเป็นเป้าหมายของการศึกษาอบรมในโรงเรียนคาทอลิก

สรุป

ผู้เรียน (learner) เป็นบุคคลที่แท้จริงตามศักยภาพของตน (concrete being) เขามีประวัติส่วนตัวของเขาซึ่งไม่เหมือนคนอื่นเลย บุคลิกภาพของเขาถูกกำหนดโดยวัยวุฒิ ยิ่งวันยิ่งเห็นได้ชัด บุคลิกภาพของเขาถูกกำหนดโดยฐานข้อมูลทางชีววิทยา สรีรวิทยา ภูมิศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และอาชีพของเขา ซึ่งแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไปตามบริบทดังกล่าวถ้าผู้ที่เป็นครู เป็นนักการศึกษา ไม่ใช่ฐานข้อมูลเหล่านี้ในการวิเคราะห์และไตร่ตรอง เขาจะพลาดโอกาสเพียงใดในการให้การศึกษาอบรมเด็กและเยาวชน

เอกสารของสังคยนาวาติกัน และถ้อยแถลงของสมณกระทรวงศึกษาคาทอลิก ได้เน้นให้ครูบาอาจารย์ในโรงเรียนคาทอลิกตระหนักถึงพันธกิจที่จะพัฒนาเด็กและเยาวชนในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือ การยอมรับและการรับรู้ความสำคัญของความเป็นบุคคล และอิสรภาพในการเลือกทำสิ่งใดภายในบรรยากาศเสรีของการรู้จักใช้ความรับผิดชอบส่วนตัวเท่านั้น เด็กและเยาวชนจึงจะมีโอกาสบรรลุถึงวุฒิภาวะเชิงศีลธรรมในวิถีทางของการเจริญเติบโตได้


 * “The physical, intellectual, emotional and ethical integration of the individual into a complete man is a broad definition of the fundamental aim for education. “Learning To Be” p. 156 ตามทรรศนะขององค์การยูเนสโก เห็นว่าสมรรถภาพของความเป็นบุคคลของมนุษย์ที่ครบสมบูรณ์ ประกอบด้วยศักยภาพทั้ง 4 มิติเท่านั้น คือ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และจิตใจ อันจะทำให้มนุษย์มีความสามารถรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมต่อไป แต่นักการศึกษาไทยจำนวนมาก มักจะเติมคำว่า “สังคม” เป็นมิติที่ 5 เข้าไปเป็นองค์ประกอบของบุคคล ถ้าเราเติมคำว่า “สังคม” ลงไปเราก้อาจจะเติมคำว่า การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งดูแล้วเป็นคุณศัพท์ที่ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการตีความในแก่นแท้ของคนทั้งครบซึ่งมีอยู่เพียง 4 มิติ ให้เพี้ยนไป 

         * “Robert A. Millikan ผู้ได้รับรางวัล ได้วิจารณ์ว่าหนังสือ “Human Destiny” เป็นหนังสือที่กล่าวถึงชะตาชีวิตของมนุษยชาติไว้อย่างลึกซึ้ง ยากที่จะหาเล่มใดเทียบได้ในรอบศตวรรษ