คำกล่าวในพิธีรับมอบชุดคู่มือการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังค่านิยมด้านความซื่อสัตย์สุจริต
โดยท่านอธิการบดี ภราดา ดร.ประทีป ม.โกมลมาศ 

ความจริงเรื่องทำนองนี้ ได้เกิดเป็นอุทาหรณ์กันมาในหลายประเทศ เมื่อประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว Charles Adams ( 1807-1886 ) ได้เขียนเตือนสติสังคมอเมริกันไว้ว่า "สังคมมักมองดูว่าความล้มเหลวเชิงเศรษฐกิจเป็นอาชญากรรมที่อภัยกันไม่ได้ ความสำเร็จเชิงธุรกิจกลายเป็นคุณธรรมที่ไถ่บาปทุกประการ การแสวงหามาซึ่งทรัพย์สมบัติได้กลายเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของชีวิตเมื่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการโจรกรรมชาติถูกเปิดเผย ดูเหมือนจะเป็นการยั่วยุให้คนรุ่นต่อมาทำความชั่วหนักกว่าเดิม" 

ข้อสังเกตของ Charles Adams มีตัวอย่างพิสูจน์เป็นหลักฐานให้เชื่อว่า ตัวอย่างของการทำคอร์รัปชั่น ดูเหมือนกลายเป็นตัวยั่วยุให้ผู้รู้เห็นกลับทำความชั่วหนักกว่าเก่า เช่นในประเทศอินเดีย Central Bureau of Investigation ของอินเดียได้บีบบังคับให้นักการเมืองระดับสูง 25 คน ลาออกพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีอีก 7 คน ด้วยข้อหา "รับสินบน" อันมีผลทำให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Narasimha Rao ต้องลาออก โดยคำสั่งของศาลเพราะข้อกล่าวหา "คอร์รัปชั่น" 

ในปี ค.ศ.1992 นักการเมืองและนักธุรกิจของประเทศอิตาลี กว่า 3,000 คน ถูกสอบสวนเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง ในจำนวนนี้ 1,000 กว่าคนถูกศาลตัดสินจำคุก ส่วนอีก 1,900 คน ถูกฟ้องขึ้นศาลเพื่อรอการลงอาญา แม้แต่นายกรัฐมนตรี Silvio Burlusconi ซึ่งได้ประกาศไว้เมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งว่าจะปราบคอร์รัปชั่นในบ้านเมือง ก็ถูกฟ้องศาลฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวกับธุรกิจส่วนตัว นายกรัฐมนตรีของอิตาลีอีกคน คือ Bettino Craxi จากพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกศาลตัดสินจำคุก 8 ปี ด้วยเรื่องคอร์รัปชั่นในการสร้างรถไฟใต้ดินในนครมิลาน 

ส่วนญี่ปุ่นเองก็ไม่ใช่เล่นเหมือนกัน ในปี ค.ศ.1993 รัฐบาลของพรรค LDP นำโดยนายกรัฐมนตรี Noburo Takeshita ต้องถูกบังคับให้ลาออกด้วยเรื่องคอร์รัปชั่น หลังจากอยู่ในอำนาจมา 38 ปี เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ปล่อยให้ธนาคารประกอบการทุจริตสร้างหนี้เสียมีมูลค่ากว่า 3 Trillion ดอลล่าร์ และหนี้เสียส่วนหนึ่งอยู่ในมือของพวกแก๊ง Yakuza 

ดูเหมือนประเทศเกาหลีใต้จะเป็นผู้นำในการปราบคอร์รัปชั่นกันอย่างจริงจัง ประธานาธิบดี Chun Doo Hwan และประธานาธิบดี Roh Tae Woo ได้ถูกศาลสั่งจำคุกเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชั่นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ โดยการรับสินบนจากค่าก่อสร้างและโครงการพัฒนาต่างๆ ของประเทศ 

ตัวอย่างดังกล่าวมานี้เป็นอุทาหรณ์เตือนสติเราได้ดี ให้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ให้สำรวมตนระวังตนที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อของความโลภ เพราะใครๆ ก็ตามไม่ว่าจะมียศฐาบรรดาศักดิ์ใหญ่โตสูงส่งแค่ไหน ก็อาจจะกลายเป็นคนคดโกงได้ เมื่อมีโอกาสจะทำเช่นนั้น โดยคิดง่ายๆ ว่าไม่มีใครจะรู้เห็นการกระทำของตน

ทำนองเดียวกัน ในบ้านเมืองของเราก็มีตัวอย่างของการคอร์รัปชั่น การฉ้อราษฎ์บังหลวง เกิดขึ้นอย่างโจ๋งครึ่ม แต่สิ่งที่แปลกก็คือ เราไม่สามารถจับใครมาลงโทษให้สาสมกับความผิด หรือริบทรัพย์สมบัติคืนให้เป็นของรัฐ ดังเช่นที่ต่างประเทศเขาทำกันได้เลย 

เมื่อปี ค.ศ.1997 หนังสือพิมพ์ Asian Wall Street Journal ฉบับเดือนธันวาคม มีความตอนหนึ่งกล่าวว่า “…การทำศึกปราบคอร์รัปชั่นระดับโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเปรียบเสมือนปราบตัว Hydra ในนิยายกรีก ดูจะเป็นเรื่องหนักใจ เพราะเมื่อตัดหัว Hydra ออกไปหัวหนึ่ง อีก 10 กว่าหัวก็ผุดขึ้นมาใหม่ ยิ่งปราบยิ่งมีมากขึ้นกระนั้น...” หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ได้รายงานต่อไปว่า ทั้งโลกควรสนับสนุนงานของสถาบัน Transparency International (TI) ซึ่งเป็นสถาบันประเภท NGO ตั้งขึ้นโดย Mr. Peter Eigen อดีตผู้ว่าการธนาคารโลก (World Bank) โดยมีจุดประสงค์ที่จะเปิดโปงเรื่องคอร์รัปชั่นที่กระทำกันในประเทศต่างๆ จากประสบการณ์ที่ได้เคยบริหาร World Bank มาเป็นเวลานานพอควร Peter Eigen ได้พบว่า “คอร์รัปชั่นเป็นต้นเหตุทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในหลายประเทศหยุดชะงักลง” ผลงานชิ้นหนึ่งที่สถาบันแห่งนี้ได้ทำคือ ได้ตีพิมพ์รายชื่อจัดอันดับประเทศต่างๆ ที่มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น ดังตารางต่อไปนี้

Corrupt as They Come 

Source : Transparency International, Berlin 

 การจัดอันดับการปฏิบัติคอร์รัปชั่นของประเทศต่างๆ จากมากที่สุดไปยังน้อยที่สุดโดยสถาบัน Transparency International

ผลงานดังกล่าวของ TI มีผลทำให้เกิดการตรวจสอบธุรกิจระดับนานาชาติ เช่น รัฐบาลตะวันตก (รวมทั้ง U.S.A.) ต้องเซ็นสัญญาว่าจะไม่ใช้ “การติดสินบน” ในการทำธุรกิจระดับนานาชาติ เป็นต้น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนนาดา อังกฤษ และญี่ปุ่น ได้สัญญาว่าจะ “ไม่ลดภาษี Domestic Tax ให้แก่คนสัญชาติของตนที่จ่ายเงินสินบน ในการทำธุรกิจต่างประเทศ” ทั้งนี้เพราะบางประเทศในโลกตะวันตกยังคงปฏิบัติการลดภาษีให้แก่บริษัทของชาติตนที่ได้จ่าย “สินบน” ในการทำธุรกิจกับต่างประเทศ เช่น เบลเยี่ยม ลุกซ์แซมเบอร์ ฝรั่งเศส สวีเดน กรีซ และเยอรมันนี ในประเทศเยอรมันนีมีวิธีปฏิบัติที่แปลก กล่าวคือ ในการเขียนรายงานต่อกรมสรรพากร เขาจะเขียนค่าใช้จ่ายในการให้สินบนประเทศโลกที่ 3 ว่า “Nuetzliche  Ausgaben (ค่าใช้จ่ายที่ทำให้เกิดประโยชน์)” 

ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกันนี้ สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ขอร้องประเทศต่างๆ ร่วมมือกันปราบคอร์รัปชั่น และถือว่าการติดสินบนเป็นอาชญากรรม ต่อมาเมื่อปีที่แล้ว IMF และ World Bank ได้ทำการรณรงค์ขอให้ประเทศตะวันตกร่วมมือเลิกติดสินบนประเทศโลกที่ 3 ไม่ทราบว่าปี ค.ศ. 2000 จะปราบคอร์รัปชั่นได้แค่ไหน เจ้าหัว Hydra คงผุดขึ้นมาเป็นร้อยเป็นพันหัว และอาจมีพิษที่ร้ายกว่าเดิมกระมัง ไม่ทราบว่านักเรียน นักศึกษา และเยาวชนของเราที่ได้รับการศึกษาในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต และเชื่อปฏิบัติ จะสามารถยึดหลักจริยธรรมของความซื่อสัตย์ไว้ได้นานเท่าใด ในเมื่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้กลายเป็นเรื่องของโลกาภิวัตน์ไปแล้ว 

หลังจากที่ท่านได้ฟังผมเล่าตัวอย่างต่างๆ มาแล้ว คำถามที่เราน่าจะถามกันหรืออภิปรายกันในวันนี้ คือ “จริยธรรมและจรรยาบรรณ ที่เรามักเรียกรวมกันว่า Ethics นั้น หมายความว่ากระไร?” บางทีเราคิดว่าใครๆ ก็เข้าใจกันดีแล้ว ไม่มีความจำเป็นจะต้องอภิปรายกัน แต่ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจให้ถูกต้องเพราะเราจะพบว่ายิ่งศึกษามาก จะเห็นว่าคนจำนวนมากมีความไม่เข้าใจในเรื่องของจริยธรรมและจรรยาบรรณ นักสังคมวิทยาท่านหนึ่ง คือ Raymond Baumhart เคยถามนักธุรกิจจำนวนมากด้วยคำถามดังกล่าว เราลองมาศึกษาคำตอบของเขาเหล่านั้นดูว่าเขาเข้าใจแค่ไหน ซึ่งมีบางคนตอบว่า

ภราดา ดร.ประทีป ม. โกมลมาศ 

“จริยธรรมและจรรยาบรรณ คือ เรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึกว่าอะไรถูกอะไรผิด”
บางคนคิดว่า “จริยธรรมหรือจรรยาบรรณ คือ การถือตามจารีต
ประเพณีในศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อทางศาสนาและการปฏิบัติศาสนา” 
บ้างก็ตอบว่า “จริยธรรมหรือจรรยาบรรณ คือ การถือกฎหมาย” 
อีกกลุ่มหนึ่งตอบว่า “จริยธรรมหรือจรรยาบรรณ คือ มาตรฐานความ
ประพฤติกำหนดโดยชุมชนหรือสังคม” 
ฯลฯ

ถ้าเราพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าคำตอบข้างบนนี้คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกทั้งหมด 

ริยธรรม ไม่ใช่เรื่องของความรู้สึก ถ้าเราใช้ความรู้สึกมาตัดสินความถูก ความผิด ไม่ใช้มาตรฐานถูกผิดก็จะกลายเป็นปัญหา คนบางคนมักมีนิสัยล่วงเกินสิทธิของผู้อื่น โดยตนเองไม่รู้สึกผิด เช่น ไม่เข้าแถวแต่ไปแย่งคิวหรือตัดคิวของคนอื่น แล้วทำหน้าตาเฉยๆ ไม่รู้สึกผิด เป็นต้น ขณะเดียวกัน จริยธรรมไม่ใช่การถือจารีตทางศาสนา จริงอยู่จริยปฏิบัติหลายอย่างมีพื้นฐานมาจากหลักศาสนา เช่น บางคนยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการแขวนรูปพระประจำองค์หรือเข้าวัดประกอบพิธีศาสนา แต่ขณะเดียวกันทุจริตในหน้าที่ทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง การทำตนให้คนเข้าใจผิดคิดว่าตนเคร่งครัดในพิธีศาสนาเป็นคนธรรมะธรรมโม ไม่ได้ช่วยทำให้การกระทำผิดจริยธรรมของเขา ถูกต้องและบริสุทธิ์ได้ (แน่นอนละ เขาอาจจะตอบว่าถ้าเขาไม่เข้าวัดเข้าวา เขาอาจโกงมากกว่าก็ได้) ยิ่งกว่านั้นเราต้องไม่ Identify ว่าจริยธรรม คือ หลักศาสนา มิฉะนั้นคนที่ไม่ถือศาสนาจะมาอ้างว่าเขาไม่ต้องมีจริยธรรม เพราะเขาไม่เชื่อในศาสนา ความจริงนั้นทุกคนไม่ว่าจะมีศาสนาหรือไม่ ก็ต้องมีจริยธรรม จึงจะเหมาะสมที่จะอยู่ในสังคมมนุษย์ นอกจากนี้ จริยธรรมไม่ได้หมายความว่าใครที่ถือกฎหมายย่อมมีจริยธรรมเสมอไป ทั้งนี้เพราะกฎหมายบางฉบับเป็นกฎหมายที่ผิดจริยธรรมและศีลธรรม เช่น กฎหมายเหยียดผิวของประเทศอาฟริกาใต้ ที่ใช้มาเป็นเวลาช้านาน เพิ่งมายกเลิกไปเมื่อไม่นานมานี้ กฎหมายในบางประเทศข่มเหงสิทธิเหยียบย่ำศักดิ์ศรีสตรีเอาเปรียบสตรีและเด็ก เป็นต้น การมีจริยธรรมยังไม่ได้หมายความว่า ใครที่ถือขนบธรรมเนียมหรือมาตรฐานความประพฤติที่กำหนดโดยสังคมนั้นๆ แล้วจะเป็นผู้มีจริยธรรมเสมอไป เช่น ประเทศเยอรมันนีสมัยฮิตเล่อร์เรืองอำนาจ ชาวเยอรมันส่วนใหญ่มีอคติต่อชาวเยอรมันเชื้อสายยิว จนถึงที่สุดมีความเห็นคล้อยตามฮิตเล่อร์ให้มีการปราบและกำจัดชาวยิวในบางประเทศชนกลุ่มน้อยถูกรังเกียจและได้รับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม เพราะสังคมส่วนใหญ่มีอคติต่อชนกลุ่มน้อยไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิว ชาติกำเนิด เป็นต้น ตัวอย่างสังคมของฮิตเล่อร์เป็นตัวอย่างของสังคมที่ล่มสลายเชิงศีลธรรมและจริยธรรม

 เมื่อพิจารณาข้อโต้แย้งข้างบนนี้ นักเรียน นักศึกษา และเยาวชน อาจถามว่า “จริงๆ แล้ว จริยธรรมหมายความว่าอะไรกันแน่?” 

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อธิบายว่า จริยธรรม คือ “ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม” และ “จรรยาบรรณ คือ ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น” 

ตามนัยข้างบนนี้ บุคคลทุกคนโดยทั่วไปต้องมีจริยธรรมจึงเหมาะสมที่จะเป็นสมาชิกของสังคมนั้นๆ ส่วนบุคคลใดที่มีอาชีพใด นอกจากจะมีจริยธรรมแล้ว ต้องถือปฏิบัติตามจรรยาบรรณครู เป็นต้น 

ตามทรรศนะของนนักสังคมวิทยา Raymond Baumhart จริยธรรมและจรรยาบรรณ ซึ่งรวมเรียกว่า Ethics นั้นมีนัยเชิงทฤษฎี 2 ประการดังนี้ 

  1. หมายถึง มาตรฐานของความถูกความผิดที่ว่าด้วยเรื่องของสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการเคารพหลักของ “สิทธิมนุษยชน (Human rights)” อันเป็นหลักธรรมของความถูกความผิดเกี่ยวกับศักดิ์ศรีและสิทธิของบุคคลที่มนุษย์ทั้งโลกยอมรับ ซึ่งในแง่ปฏิบัติหมายถึง การละเมิดสิทธิของผู้อื่นในเรื่อง การลักขโมย การฆาตกรรม การข่มขืน การฉ้อราษฎร์บังหลวง ฯลฯ ในบริบทนี้ ผู้ที่มีมาตรฐาน จริยธรรม หมายถึงว่า ผู้นั้นมีคุณธรรมของความซื่อสัตย์ ไม่เอาของของคนอื่นมาเป็นของตน เคารพในชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้อื่น ให้เกียรติผู้อื่น ฯลฯ และโดยนัยของ ตรรกวิทยา มาตรฐานจริยธรรมยังรวมความหมายถึงสิทธิที่บุคคลหนึ่งจะมีและได้รับการคุ้มครอง เช่น สิทธิที่จะมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี สิทธิที่จะมีเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ฯลฯ อีกด้วย 

  2. หมายถึง สังคมโลกจะพัฒนาไปสู่ความดีความงามได้ ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นๆ ทำการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรฐานจริยธรรม (Ethical standards) ของตนเสมอไป จากตัวอย่างที่ได้อ้างถึงในตอนต้นๆ เรื่องจริยธรรมกับความรู้สึก จารีตทางศาสนา กฎหมายและธรรมเนียมที่สังคมถือปฏิบัติ เราจะเห็นว่าสังคมมนุษย์ทุกสังคมต้องไตร่ตรองและพิจารณาตลอดเวลาว่า สิ่งที่สังคมถือปฏิบัติและยึดถือมาเป็นเวลาช้านาน ยังอยู่ในความถูกต้องตามหลักศีลธรรม และมโนธรรมประการใดหรือไม่ มีอะไรบ้าง ควรได้รับการพิจารณาใหม่และปรับแก้ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะ social norms ที่สังคมมนุษย์ได้ยึดถือปฏิบัติกันมานั้น มักมีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ผิดบ้างถูกบ้าง เต็มไปด้วยอคติ ซึ่งน่าจะได้มีการปรับปรุงแก้ไข ทั้งหมดนี้เป็นการแสวงหาความถูกต้องตามหลักตรรกวิทยาและการแสวงหาเหตุผลของมนุษย์ที่เจริญแล้ว นั่นคือ ตามทรรศนะของ Raymond Baumhart นั้น สังคมมนุษย์ต้องทำการศึกษาเพื่อพัฒนาหลักการหรือมาตรฐานจริยธรรมของสังคมของตนเสมอไป จึงจะมีการวิวัฒนาการไปสู่ความเป็นอารยชน

1. การถือศีล การตั้งสมาธิ การภาวนาไตร่ตรอง จนเกิดปัญญา 

2. การเสวนา (Dialogue) และการออกสนามระหว่างนักเรียนกับนักเรียน นักศึกษากับนักศึกษา นักศึกษากับอาจารย์และชุมชน ด้วยเรื่องใกล้ตัว เช่น โครงการการใช้เงินพัฒนาหมู่บ้านของราชการหรือชนบท ฯลฯ หรือการเสวนาเพื่อแสวงหาความจริงเพื่อการหาเหตุผลจากกรณีศึกษา เป็นต้น 

3. การเน้นการปฏิบัติคุณธรรม เช่น เน้นการสร้างทัศนคติและการปลูกฝังอุปนิสัยของความสุจริต ด้วยวิธีการปฏิบัติและทดลอง เช่น ใช้ระบบ Honour Code ในการสอบ การมีความเอื้ออาทรเกื้อกูลและรู้คุณต่อสรรพสิ่งที่มีคุณต่อชีวิตมนุษย์ เป็นต้น 

4. เราควรสรรหาคำขวัญและหาวิธีปฏิบัติตามคำขวัญนั้นๆ โดยทำโครงการและออกสนาม เช่น โครงการ “ความซื่อสัตย์จะทำให้ชุมชนของเรามั่งคั่งผาสุก” “ความดีของส่วนรวม เกิดขึ้นได้ด้วยความเสียสละจากทุกคน” ฯลฯ 

5. การเสริมสร้างศักยภาพของคนด้วยวิธีการสร้างอุปนิสัยให้เป็นคนที่น่าเชื่อถือน่าไว้ใจ ซื่อสัตย์ มี Personal integrity 

        ปรมาจารย์ เช่น Kohlberg, John Dewey และ Jean Piaget ได้เสนอวิธีการพัฒนาอุปนิสัยเชิงจริยธรรมไว้เป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งเราน่าจะนำมาศึกษากันให้ถ่องแท้ นอกจากนี้เราต้องไม่ลืมว่าเยาวชนของเราเองมีความคิดสร้างสรรค์มากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งควรจำมาใช้ในการเสวนาและกรณีศึกษา