บทความของ ภราดามาร์ติน ประทีป โกมลมาศ 
ครูกับความสำนึกอันยิ่งใหญ่*

โดย ภราดาประทีป ม. โกมลมาศ

“จะมีอะไรสำคัญกว่าการฝึกสติปัญญาของเด็ก และสร้างนิสัยของเยาวชน? สัจธรรมก็คือ ผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่าจิตรกรใดๆ ยอดยิ่งกว่าปฏิมากร หรือศิลปินใดๆ ในความเห็นของข้าพเจ้านั้นคือ ครูผู้ปั้นสร้างลักษณะนิสัยของเยาวชน” (St. John Chysostom จากบทเทศน์ที่ 40)

บทเทศน์เตือนใจของท่านนักบุญยอห์น ศรีโซสดอม เมื่อเกือบสองพันปีมาแล้ว ยังคงเป็นความจริงในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ครูในสมัยใหม่จะมีเทคโนโลยีสำหรับช่วยถ่ายทอดวิทยาความรู้ก้าวหน้าเลิศเลอปานใดก็ตาม แต่บทบาทในการให้การศึกษาและการอบรมคนให้ยังเป็นหน้าที่หลักของครู

ในอดีตที่ผ่านมาการให้การศึกษามักจะเน้น “ครูเป็นศูนย์กลาง” คือ ครูเป็นพหูสูตเป็นปราชญ์เป็นผู้รู้ แต่ผู้เดียว ถ้าปราศจากครูแล้ว นักเรียนก็เรียนไม่ได้แต่ในปัจจุบันนักการศึกษาจำนวนมากเริ่มมีความคิดว่า นักเรียนหรือผู้เรียนต่างหากน่าจะเป็นศูนย์กลางของการศึกษา นอกจากเป็นผู้ถ่ายทอดวิทยาความรู้ ครูควรเน้นบทบาทเป็นผู้ชี้นำชี้แนะ ให้นักเรียนรู้จักค้นคว้าหาความรู้ หาแหล่งสรรพวิชาและปรมาจารย์

นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการศึกษา

เมื่อปี ค.ศ. 1990 ดร. เมนโดชา อธิการบดีสถาบันการจัดการแห่งเอเชีย (Asian Institute of Management) ได้กล่าวว่าในหนังสือวารสาร World Executive’s Digest ว่า : “การสอนที่ดีเลิศเริ่มต้นด้วยการยอมรับว่า การเรียนรู้ของนักเรียนสำคัญกว่าการสอนของครู”

สิ่งที่น่าจะถามคือ “นักเรียนได้เรียนรู้อะไร?” ถ้านักเรียนยังไม่ได้เรียนรู้อะไรการศึกษาก็ยังไม่เกิดขึ้น

ในอดีต กระบวนการศึกษาเน้นที่ตัวครูเป็นสำคัญ ฉะนั้นเราต้องเน้นที่วุฒิครู ความรู้ ทักษะ และค่านิยมของครู นอกจากนี้เรายังเน้นที่หลักสูตร การเตรียมการสอน วิธีสอน และระเบียบวินัยในการเรียนซึ่งยังคงเป็นความจำเป็นในปัจจุบัน และอนาคตอีกไกล แต่จุดเน้นกำลังเปลี่ยนไป

ด้วยเหตุนี้ “นักเรียนควรเป็นศูนย์กลางของการศึกษา” และครูเป็น facilitator หรือครูเป็นผู้จัดการกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน หรือ Manager of the Learning Process ความรับผิดชอบของครูคือ การเรียนรู้ของนักเรียน

หนังสือพิมพ์ Asian Wall Street Journal ฉบับเดือนกันยายน 1990 มีบทความเรื่อง Project Learning 2001 โดยผู้อำนวยการสถาบัน HUDSON มีสาระสำคัญว่า บัดนี้ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีล้ำยุคสมัยใหม่สามารถสอนนักเรียนไม่ว่าวิชาใด ชั้นใด ได้ผลดีกว่าครู และความเชื่อที่ว่า “เทคโนโลยีจะไม่มีวันทดแทนครูได้นั้น กลายเป็นนิยายปรัมปราไปแล้ว” ผู้อำนวยการสถาบัน HUDSON ยังทำนายว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะมีบทบาทต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าครูและทดแทนครูได้ ทั้งนี้เพราะห้องเรียนและครูเป็นของฟุ่มเฟือยเพราะราคาแพงเกินไป

เพราะฉะนั้น ศูนย์กลางของการศึกษาจึงไม่ใช่ตัวครู แต่เป็นผู้เรียนคือ นักเรียน

เป้าหมายของการเรียนรู้

        ในบริบทดังกล่าว ครูต้องเตรียมนักเรียนเพื่อชีวิต

        1) โดยช่วยพัฒนาสติปัญญาขั้นพื้นฐานของเด็กอันจะช่วยให้เขาสามารถแสวงหาความรู้ต่อไปเพื่อเด็กจะได้มีทักษะรู้จักปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็น

        2) โดยช่วยให้เขาได้เข้าใจ แลรับรู้ความคิดใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ ตลอดจนวิธีการสร้างกระบวนการ แลรูปแบบจากข้อมูลใหม่ที่ได้เรียนรู้

        3) โดยสอนให้นักเรียนรู้จักไตร่ตรอง และฝึกสมาธิ อันจะก่อให้เกิดปัญญาเพื่อช่วยในการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด อย่างผู้รู้จักรับผิดชอบ

        ครูควรเสียสละตัวเพื่อช่วยให้นักเรียนได้พัฒนาและเจริญในคุณวุฒิ รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

วิธีการเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์ของครู

การเรียนรู้ที่ดีที่สุด ก็คือ เมื่อนักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้นั้น และเป็นผู้รับผิดชอบต่อความสำเร็จในสิ่งที่ตนได้เรียนรู้

ความยิ่งยวดของการเรียนรู้โดยวิธีดังกล่าวอยู่ที่ความเข้มข้นของการฝึกบ่อยๆ ทำนองฝึกปรือเป็นต้น ในการคิด (thinking) การรู้สึก (feeling) และการตัดสินใจ (deciding) และการได้กระทำสิ่งที่มีความหมายสำหรับตนเอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ครูจะต้องเรียกร้องและกระตุ้นให้นักเรียนรู้จักทำงานหนัก โดยวิธีปฏิบัติที่จะออกแรงถึงขีดสุดที่จะพัฒนาศักยภาพของตนในด้านสติ ปัญญา ร่างกาย จิตใจ และ Will Powe

ในฐานะที่ครูเป็น “ผู้จัดการกระบวนการเรียนรู้” ของนักเรียน จึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะเลือกวิธีเรียน กำหนดอุปกรณ์การเรียน และการรู้จักใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิธีการปฏิสัมพันธ์เพื่อนักเรียนจะได้รู้จักเรียนรู้จากครู และจากเพื่อนรอบข้าง

ครูจะต้องคอยเงี่ยหูฟังว่านักเรียนมีทัศนะอะไรต่อโลกปัจจุบัน และสิ่งรอบข้างมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของตนอย่างไร?

ครูจะต้องใช้วิจารณญาณที่จะตัดสินใจว่า ความต้องการในการเรียนของนักเรียนคืออะไร? มีอะไรที่นักเรียนได้ประโยชน์? เพื่อจะช่วยค้นพบว่าวิธีที่นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดคืออะไร? เขาจะได้สามารถเก็บไว้ในขุมทรัพย์แห่งปัญญาสิ่งที่ตนได้เรียนรู้ และเป็นเจ้าของสิ่งที่ตนแสวงหามาได้ เพื่อเขาจะได้รู้จักวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อการสร้างความรู้ใหม่ มีความคิดใหม่ เป็นต้น นั่นคือเรียนรู้วิธีเรียนหรือ Learn How to Learn!

การจัดการกระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน

        ในห้องเรียนหน้าที่ของครูก็คือ

        - สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อหรือส่งเสริมให้นักเรียนคิด และกล้าคิด กล้าพูดออกมาอย่างอิสระ และแสดงออกอย่างคนมีสามัญสำนึก

        - กระตุ้นความอยากรู้ อยากเห็นของนักเรียน

        - ปลุกความจำของนักเรียนให้ตื่นตัวและไว

        - ยั่วยุจินตนาการของนักเรียน ท้าทายนักเรียนด้วยคำถามที่สะท้อนถึงสัจธรรม และเสนอให้นักเรียนขบคิดด้วยเรื่องจริยธรรมและความจริงของชีวิต

        - ท้าทายวิธีการหรือกระบวนการหาเหตุผลของนักเรียน

        - สะกิด หรือกระตุ้นเร้า ความอวดดี ความยโส ความหยิ่งในตัวของเขา

        - เสริมสร้างการเคารพและให้เกียรติตนเอง (self-respect)

        - เปิดโอกาส และให้โอกาสนักเรียนแสดงออกซึ่งความคิดริเริ่ม และการสร้างสรรค์ (initiative) ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน

        - เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เจริญเติบโตและพัฒนาถึงขีดสุดตามศักยภาพของตน และให้นักเรียนมีโอกาสกระทำผิดพลาด เพื่อเขาจะได้เรียนรู้จากการผิดพลาดนั้น

        - และท้ายสุด นักเรียนต้องเรียนรู้ถึงการรับผิดชอบตนเอง รับผิดชอบต่อวิธีทางเลือกและการพัฒนาของตนเอง

ครู และเพื่อนครู

สิ่งสำคัญในชีวิตของการเป็นครูก็คือ ครูต้องพบและมีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะกับเพื่อนครูบ่อยๆ ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟู ทบทวน วิพากษ์วิจารณ์ เสียใจร่วมกัน และดีใจร่วมกันในเรื่องความล้มเหลว ความก้าวหน้า และความสำเร็จของนักเรียน ครูจะต้องวางแผนร่วมกันที่จะแสวงหาวิธีสร้างแรงจูงใจและดลใจนักเรียน เพื่อนักเรียนจะได้เปิดเลิศที่สุดตามขีดความสามารถของเขา

ครูต้องจัดการกระบวนการเรียนรู้ จนกระทั่วครูมั่นใจว่า นักเรียนของตนมีโอกาสเจริญพัฒนาได้เต็มที่ ตามศักยภาพของนักเรียน

และในที่สุด ครูจะต้องต่อสู้ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย คือ นักเรียนได้เรียนรู้ หรือเราอาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายของเราได้บรรลุแล้วเมื่อนักเรียนเราสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน และไม่มีความจำเป็นที่จะพึ่งเราอีกแล้ว

แบบฉบับของครู

เมื่อประมาณ 300 ปีมาแล้ว ยอห์น บัพติส เดอ ลาซาล นักการศึกษาเรืองนามของฝรั่งเศสซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของครูทั้งปวง ได้วางรากฐานของครูในอุดมคติว่า ครูคือ

“ผู้มีคุณธรรม มีวุฒิภาวะทางวิชาชีพครู และเป็นบุคคลที่ดีงาม (refined person)”

ท่านนักบุญยังได้กล่าวเตือนสติครูอีกว่า:

“ในฐานะที่ท่านมีหน้าที่อบรมสั่งสอนเยาวชน ท่านจะต้องอิ่มเอิบด้วยจิตตารมณ์ของศาสนา ด้วยความประพฤติของท่านจะต้องเป็นแบบฉบับที่ดีต่อนักเรียนที่ท่านจะให้การศึกษานักเรียนของท่านจะต้องสามารถมองหาแบบฉบับที่ดีใจจากตัวของท่าน เป็นต้นว่าในเรื่องความสุขุมคัมภีรภาพ และความเชื่อศรัทธาต่อศาสนา จนกระทั่วว่านักเรียนรู้จักปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมทั้งภายในโบสถ์และในการอธิษฐานภาส่วนตัว”

ท่านนักบุญยอห์น บัพติส เดอ ลาซาล ยังมีความเห็นว่าครูในอุดมคติของท่านควรมีคุณธรรม 12 ประการ ซึ่งข้าพเจ้าขอเขียนสรุปใหม่ตามแนวคิดของ เดอ ลาซาล ดังนี้

คุณธรรม 11 ประการของครู

1. ปรีชาญาณ (WISDOM)

ครูที่มีปรีชาญาณย่อมรู้จักใช้สติปัญญาแสวงหาและวิเคราะห์ว่า อะไรเป็นเป้าหมาย วิธี หรือสัจธรรมของชีวิต ด้วยวิธีการพินิจพิจารณา การไตร่ตรอง และอธิษฐานภาวนา ครูจะบรรลุถึงซึ่งความสุขุมคัมภีรภาพและวิถีแห่งความดีได้ จะต้องฝึกจิตและสติปัญญาให้เกิดความละเอียดลุ่มลึก

ครูที่มีปรีชาญาณย่อมจะเข้าใจว่าการศึกษาที่แท้จริง มิใช่การถ่ายทอดวิทยาการความรู้เท่านั้นแต่คือการปลูกสร้างลักษณะนิสัยอันพึงปรารถนาของความเป็นมนุษย์ให้แก่ผู้เรียน

ครูที่ชาญฉลาดจะต้องพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในแสงแห่งปัญญาที่ตนได้เข้าถึงโดยวิธีปฏิบัติเพราะว่าเขาเป็นใครเป็นอะไรสำคัญกว่า เขาพูดอะไร สอนอะไร! เขาตระหนักอยู่เสมอถึงสัจธรรมของชีวิต คือ ความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่ง และอมตภาพของวิญญาณ

2. ความสุภาพอ่อนโยน (MEEKNESS)

ครูที่มีคุณธรรมข้อนี้ จะเข้าใจถึงสัจธรรมที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีปัญญา มีพรสวรรค์แตกต่างกันไป ดังนั้นในห้องเรียนของเขาย่อมมีเด็กหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทนั้นเรียกร้องความเข้าใจ ความเห็นใจและการเสียสละเวลาของเขา เป็นต้น นักเรียนที่เรียนช้า นักเรียนที่ขาดความอบอุ่นของครอบครัว และนักเรียนที่ขาดแคลน ย่อมต้องการความสุภาพอ่อนโยน ความเข้าอกเข้าใจจากครู

3. ความอ่อนน้อมถ่อมตน (HUMILITY)

ในระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน ครูควรมีความอ่อนน้อม ไม่โอ้อวดหรือยกตนข่มท่าน อันเนื่องมาจากวัยวุฒิ คุณวุฒิ หรือชาติวุฒิที่สูงกว่าคนอื่น ครูควรรู้จักแบ่งปันความรู้ ความคิดเห็นระหว่างครูด้วยความบริสุทธิ์ใจและอัธยาศัยไมตรีอย่างผู้มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ สัจธรรมความจริงก็คือ ยังมีอีกมากมายหลายสิ่งเหลือคณานับที่ตนไม่รู้ มากกว่าที่ตนรู้ ความรู้นั้นเรียนทันกันหมด ความรู้เก่าหมดความหมายไปเมื่อความรู้ใหม่เข้ามาแทนที่ และความรู้ที่แท้จริงนั้นคือ การรู้จักตนเอง และเข้าถึงสัจธรรมของชีวิต

4. ความหนักแน่น (GRAVITY)

อากัปกิริยาภายนอกของครูย่อมแตกต่างจากอาชีพอื่น เช่น อาชีพนักแสดงละครตลก กิริยามารยาทของครูบ่งบอกถึงสถานภาพของผู้ที่ควรแก่การเคารพ มีศักดิ์ศรี เป็นปูชนียบุคคล ครูจึงต้องรู้จักวางตนให้เหมาะสมกับการเป็นครู สัจธรรมข้อนี้ควรวางอยู่บนพื้นฐานของการไตร่ตรองคำนึงถึงความจริงที่ว่า ในบรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมานั้น มนุษย์เป็นผลงานชิ้นเลิศที่สุดของพระองค์ มนุษย์ คือ บุตรของพระเจ้า

ดังนั้น ทัศนคติที่ครูควรมี คือ การปลูกฝังสร้างอุปนิสัยของนักเรียน เป็นประติมากรรมชิ้นสำคัญที่ครูควรใฝ่สัมฤทธิ์ นักเรียนเป็นพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า

5. ความศรัทธา (PIETY)

ความประพฤติของครูเป็นแบบฉบับที่มีผลต่อการอบรมบ่มนิสัยของนักเรียน ความศรัทธาในศาสนาของครูควรสามารถนำนักเรียนไปสู่สัจธรรมความจริงสูงสุด นักเรียนจะได้สามารถแยกแยะว่าอะไรเป็นแก่นของศาสนา อะไรเป็นกระพี้ของศาสนา ความศรัทธาที่ถูกต้องแท้จริงของครูจะช่วยทำให้นักเรียนมีหลักธรรมยึดมั่นเป็นแสงสว่างในการดำรงชีวิต

6. การรู้เท่าทันด้วยความไม่ประมาท (PRUDENCE)

ครูที่ฉลาดย่อมไม่ประมาท เป็นต้นในเรื่องการศึกษาอบรมเยาวชน ครูต้องรู้จักติดตามและประเมินผลงานของตน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงวิธีการของตนเอง

ความไม่ประมาทนี้จะช่วยให้ครูเป็นคนรอบคอบและมีสติสัมปชัญญะไม่ผลีผลาม รู้จักประมาณตนในขณะเดียวกันครูต้องกล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องถึงแม้ว่าการกระทำนั้นอาจจะขัดกับความเห็นส่วนมาก

ครูที่มีคุณธรรมข้อนี้ ย่อมเป็นคนที่ “คิดกว้าง มองไกล ใฝ่สูง”

7. ความอดทนอดกลั่น (PATIENCE)

ครูที่มีคุณธรรมความอดทนอดกลั้นย่อมเข้าใจว่าการศึกษาอบรมเป็นกระบวนการที่ใช้กาลเวลา นักเรียนแต่ละคนมีสติปัญญาความคิดไม่เท่ากัน การอดทนของครูเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนรู้ของนักเรียนที่อ่อน เข้าใจช้า ครูต้องใช้จิตวิทยาจึงจะเข้าถึงปัญหาของนักเรียนแต่ละคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากครูแตกต่างกันไป

การมีขันติธรรมของครูจะช่วยให้ครูรู้จักการให้อภัย และการให้โอกาสแก่นักเรียนที่ผิดพลาด เมตตาธรรมย่อมมาก่อนความยุติธรรม

8. ความกระตือรือร้น (ZEAL)

ความกระตือรือร้นของครูย่อมช่วยทำให้นักเรียนตื่นตัวอยู่เสมอ ทำให้นักเรียนสนใจในการเรียน ครูที่มีคุณธรรมในข้อนี้ ย่อมมีเวลาให้นักเรียน ย่อมเสียสละตนให้นักเรียนมากกว่าการเรียกร้องตามหน้าที่

ความกระตือรือร้นของครูมีนัยสำคัญต่อนักเรียน ซึ่งต้องเน้นในชั่วโมงแรกเมื่อเข้าห้องเรียน

9. การสอดส่องดูแล (RESERVE)

ครูจะต้องเป็นแบบอย่างของนักเรียน ครูเป็นผู้นำ เป็นผู้ชี้ทางให้นักเรียน ฉะนั้นผู้ที่จะมาเป็นผู้ชี้นำ ชี้แนะและมีอิทธิพลเหนือหัวใจของนักเรียนจะต้องเป็นคนที่มีความสำรวม อันหมายถึงการเป็นคนที่สามารถควบคุมสติสัมปชัญญะของตนเองได้ เป็นคนที่น่าเชื่อถือและไว้เนื้อเชื่อใจ

คุณธรรมความสำรวมนี้ยังหมายถึงสมรรถภาพที่สามารถควบคุมความรู้สึกชิงดีชิงเด่นในหมู่เพื่อนฝูงด้วยกัน การเสียสละตนเพื่อความดีของส่วนรวม ในการรู้จักแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่เป็นเอกเทศอยู่ในร่องในรอย ไม่นอกลู่นอกทาง ไม่เอาใจตนเองเป็นใหญ่

คุณธรรมนี้จะช่วยทำให้ครูเป็นบุคลากรที่น่าพึงปรารถนาของสังคมครู เพราะช่วยสร้างสรรค์ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีระหว่างครูด้วยกัน

10. ความสงบเงียบ (SILENCE)

คำพังเพยที่ว่า “Speech is silver, silence in gold” ยังเป็นคำคมที่บรรดาปรมาจารย์ทั้งหลายยังคงถือปฏิบัติว่าเป็นคุณธรรมของครู การรู้ว่าอะไรควรพูด และไม่ควรพูดนั้นเป็นศิลปะของการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ในบางครั้งการเงียบขอบครูสอนนักเรียนได้ผลดีกว่าการพูดของครู นักเรียนมักสังเกตอากัปกิริยา และการแสดงออกของครู เพื่อตนจะได้ทำตนให้เหมาะสมตามความต้องการของครูเข้าทำนองรู้ทางหนีทีไล่หรือหน้าไหว้หลังหลอก ครูผู้สามารถปลูกสร้างนิสัยของความเป็นคนหนักแน่นเป็นคนสำรวมอย่างดีแล้วย่อมเป็นผู้ที่รู้จักรักษาความสงบ และอยู่ในความเงียบ ทุกวันครูควรมีเวลาเงียบครู่หนึ่งเพื่อสงบจิตใจ เพื่อการไตร่ตรอง และการอธิฐานภาวนาเพื่อศิษย์ของตน ในบรรยากาศของความเงียบ ครูจะได้ฟื้นฟูและเสริมพลังจิตให้เข้มแข็ง

11. ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (GENEROSITY)

ถึงแม้ว่าวิชาชีพครูไม่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าก็จริง แต่ครูต้องเป็นผู้มีใจกว้างขวางรู้จักเสียสละตน ให้เวลาแก่โรงเรียนและนักเรียน ทั้งนี้เพราะความเป็นครูเรียกร้องให้ครูทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรทำมากกว่าหน้าที่ที่กำหนดไว้โดยตรง ความเป็นผู้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละตนของครู ย่อมเป็นที่พึ่งพาอาศัยของเพื่อนครูด้วยกันเอง และของนักเรียนโดยส่วนรวม

ครูผู้มีคุณธรรมดังกล่าวย่อมไม่ท้อแท้หมดกำลังใจเมื่อพบอุปสรรคและปัญหาการอบรมเด็ก เป็นต้นว่า กับนักเรียน วัยรุ่นที่ขาดสติไม่มีหัวคิด หรือไม่รู้จักสนองตอบต่อการพร่ำสอนของครู แต่เขายังคงมีกำลังใจสู้ต่อไป ทำหน้าที่ของตนจนสุดความสามารถ ทั้งนี้ครูย่อมทราบดีว่า ครูคือผู้หว่าน ส่วนความสำเร็จในบั้นปลายย่อมขึ้นอยู่กับหรรษาทานของพระเจ้า

บทส่งท้าย

ข้อคิดข้างบนนี้ได้มาจากการอ่านและไตร่ตรอง จึงขอฝากแด่คุณครูที่รักอาชีพครูได้ใคร่ครวญและคำนึงถึงหลักคติธรรมของครู ชีวิตของเราเปรียบเสมือนการลงเรือออกจากฝั่งหนึ่งไปสู่อีกฝั่งอันไกลโพ้น ขอให้คุณครูทั้งหลายเป็นดุจดังดาราแห่งมหาสมุทรของชีวิต นำทางเด็กและเยาวชนไปสู่วิถีทางที่รอดปลอดภัย

ครูที่ได้พยายามทำให้สมบูรณ์ซึ่งศาสตร์และศิลปะของการเป็นครู ย่อมเป็นปรมาจารย์ เป็นที่พึงปรารถนาของสังคมและประเทศชาติ

“บุคคลดังกล่าว จะเป็นผู้นำทางวิชาชีพครู และเป็นแบบอย่างที่ดีงามทางคุณธรรม จริยธรรม เป็นสติให้กับสังคมและวงวิชาชีพ เป็นชุมชนปูชนียบุคคลครูที่เสนอสิ่งที่ดีงามต่อสาธารณชน” ราชวิทยาลัยครุศาสตร์