ย้อนไปในอดีตกว่า 60 ปีที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล* 

ถ้าท่านผ่านถนนสามเสนท่านจะเห็นตึกสูงตระหง่านอยู่ริมถนนหลังหนึ่งเป็นตึกที่โดดเด่นสง่างามเป็นพิเศษย่านวชิรพยาบาล นั่นคือ โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ข้าพเจ้าจำได้ว่าประมาณปี พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นที่ข้าพเจ้าได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล วันแรกที่ต้องไปโรงเรียน ข้าพเจ้ารู้สึกตื่นเต้นมาก จำได้ว่าแต่งตัวสวยงามทีเดียว คือ สวมรองเท้าหนังสีดำขัดมัน ใส่ถุงเท้ายาวสีขาว สวมเสื้อนอกสีขาวติดกระดุมลงยาเงินมีอักษร S.G. และสวมหมวกกระโล่ เครื่องแบบดังกล่าวถูกใจคุณแม่เป็นอย่างยิ่ง ท่านชมแล้วชมอีก เมื่อตอนมาโรงเรียนใหม่ๆ รู้สึกกลัวและประหม่ามาก ทั้งนี้เพราะเมื่อข้าพเจ้าเข้าถึงประตูโรงเรียนแล้วมักจะมีรุ่นพี่โตๆ ชอบมากระเช้าเย้าแหย่อยู่บ่อยๆ เช่น บางครั้งก็เอาหมวกกระโล่ไปแอบซ่อน บางครั้งก็เอาหมวกกระโล่ไปแอบซ่อน บางครั้งก็หยอกเย้าต่างๆ นานา ข้าพเจ้าจึงกลายเป็นตัวตลกของพวกรุ่นพี่ๆ พวกรุ่นพี่ชอบยืนอยู่ที่โรงเล่นซึ่งตั้งอยู่ห่างจากประตูทางเข้าประมาณ 50 เมตร พอเห็นข้าพเจ้าเข้ามาเขามักจะตะโกนและรุมล้อกระเช้าเย้าแหย่บ่อยครั้ง ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเข้าโรงเรียนก็ต้องแอบอยู่ที่ประตูรั้วโรงเรียนเสียก่อนดูว่ามีรุ่นพี่ยืนอยู่ที่โรงเล่นหรือเปล่า เมื่อเห็นว่าไม่ค่อยมีใครยืนอยู่ ข้าพเจ้าแอบเข้าไปในโรงเรียน รีบเดินอย่างรวดเร็วเข้าไปโรงเรียนทางด้านหลังตึกแดง บางครั้งก็เจอรุ่นพี่มาดักอยู่หลังตึกแดงคอยกระเซ้าเย้าแหย่อยู่แล้ว วันหนึ่งข้าพเจ้าแอบอยู่ที่ประตูรั้วโรงเรียนโดยก้าวฝีเท้าอย่างเร็ว จึงหกล้มหลังตึกแดง เพราะข้างหลังตึกแดงมีตระไคร่น้ำจับมาก รุ่นพี่ซึ่งดักรออยู่แล้วหัวเราะชอบใจกันใหญ่ข้าพเจ้ารีบลุกขึ้นเดินตรงไปห้องเรียนประถม ซึ่งเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวอยู่ริมป่าช้า เมื่อเข้าเรียนใหม่ๆ นั้น รู้สึกประหม่ามากเพราะว่ามาสเตอร์จับข้าพเจ้าไปนั่งเรียนในชั้นเตรียมประถม วันแรกที่มาถึงห้องเรียน ข้าพเจ้ากลัวมากไม่เข้าใจอะไรเลย ซึ่งขณะนั้นนักเรียนทุกคนกำลังมองดูแผ่นกระดานใหญ่ๆ แขวนอยู่ที่ข้างฝาแล้วอ่านออกเสียงดังๆ ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าอ่านออกเสียงว่าอะไร มาทราบภายหลังว่าเป็นภาษาฝรั่งเศส ข้าพเจ้างงมากและกลัวด้วย กลัวครูจะดุเอา เป็นครูฝรั่งหนุ่มจำชื่อไม่ได้สอนภาษาฝรั่งเศสอยู่ที่ชั้นเตรียมประถม ข้าพเจ้าเรียนอยู่ได้ไม่กี่วันครูก็จับย้ายไปอยู่อีกฟากหนึ่งของห้อง เป็นห้องประถมศึกษาปีที่ 1 ภาษาอังกฤษ จำได้ว่าครูประจำชั้น คือ มาสเตอร์ ป. ทรวง ต่อมาจึงทราบว่าท่านเป็นกวีเอกของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ท่านได้แต่งบทประพันธ์ไว้มากมายตลอดจนคำกลอนที่เขียนไว้ ได้แก่ คำกลอนจากนิทานอีสป เป็นต้น ตอนที่ข้าพเจ้าเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ข้าพเจ้าก็เรียนรู้บ้างไม่รู้บ้าง ฟังครูไปวันหนึ่งๆ มาสเตอร์ให้การบ้านมากพอสมควร เป็นต้นว่า วันพฤหัสบดี ซึ่งหยุดครึ่งวัน การบ้าน คือ คัดลอกดรุณศึกษาเป็นการบ้าน คัดลอกหลายหน้า ข้าพเจ้าคัดเต็มทุกครั้ง ขาดบ้างตกหล่นบ้างในบางครั้ง มาสเตอร์ครูประจำชั้นก็พอใจที่ข้าพเจ้าได้คัดมา เพราะท่านเขียนในสมุดว่า “ดี” การเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น สนุกพอควร มาสเตอร์ชอบชมข้าพเจ้าว่าทำงานเรียบร้อยดี ในสมัยนั้น มีประเพณีที่ถือปฏิบัติกันในโรงเรียนเซนต์คาเบรียล คือ เมื่อทุกคนเข้าห้องเรียนแล้ว ก็ต้องถอดหสื้อนอกแขวนไว้ที่แขวนเสื้อข้างฝาห้องแขวนเสื้อใกล้ๆ กับที่แขวนหมวกกระโล่ ข้าพเจ้าจำได้ว่าวันหนึ่งเมื่อเลิกเรียนแล้วก็ไปหาเสื้อนอกมาใส่ ปรากฏว่าเสื้อนอกหายไปแล้ว เพื่อนคนไหนไม่ทราบหยิบผิดไป ข้าพเจ้าจึงไปร้องทุกข์กับรุ่นพี่ รุ่นพี่ก็ช่วยหาเสื้อนอกให้ สุดท้ายก็พบเสื้อนอกตัวหนึ่งก็นำมาให้ใส่แทน ซึ่งไม่ใช่เสื้อนอกของข้าพเจ้าเลย นี่เป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ข้าพเจ้าจำได้ตอนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อีกเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ก็คือ ทุกวันมือข้าพเจ้าเลอะไปด้วยหมึก และเสื้อนอกก็มีหยดหมึกติดมาด้วย ไม่ทราบว่าหน้าตามีรอยหมึกด้วยหรือเปล่า!

ปีต่อมาข้าพเจ้าขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีครูประจำชั้นคนใหม่ จำได้ว่าชื่อมาสเตอร์จิล เหตุการณ์ตอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ไม่มีอะไรพิสดารมากนักทุกเช้าเราเริ่มต้นด้วยการฝึกหัดคัดลายมือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ คัดภาษาไทยด้วยปากกาเบอร์ 5 คัดภาษาอังกฤษด้วยปากกาคอแร้ง จึงทำให้ข้าพเจ้าจำบทสุภาษิตภาษาอังกฤษได้มากมาย ทั้งนี้เพราะข้อความที่คัดนั้นเป็นสุภาษิตภาษาอังกฤษทั้งนั้น ข้าพเจ้าจำได้ว่าข้าพเจ้าเป็นคนที่มีความจำดีมากสมัยนั้นครูจะให้นักเรียนทุกคนฝึกหัดเขียนเรียงความภาษาไทย โดยการฟังคำอ่านจากครูประจำชั้น 2 ครั้ง ระหว่างครูอ่านห้ามนักเรียนจด เมื่อครูอ่านครบหนที่ 2 แล้ว นักเรียนก็เขียนตามที่ได้ฟัง ข้าพเจ้าตั้งใจฟังครูอ่านบทเรียงความมาก เพราะวันนั้นมาสเตอร์จิลสัญญาว่า ถ้าใครเขียนเรียงความเสร็จก่อนเพื่อนก็จะได้รับรางวัลเป็นกล่องปากกาคอแร้ง ข้าพเจ้าอยากได้รางวัล จึงพยายามตั้งใจฟังมาสเตอร์จิลอ่านบทเรียงความด้วยความตั้งใจ เมื่อมาสเตอร์อ่านบทเรียงความจบ 2 ครั้งแล้ว นักเรียนทุกคนก็ลงมือเขียนทันที ข้าพเจ้าเขียนได้ถูกทุกตัว เสร็จก่อนใครเพื่อนจึงรีบไปให้มาสเตอร์ดู มาสเตอร์บอกว่าข้าพเจ้าสะกดผิดไปที่หนึ่ง คือ ข้าพเจ้าเขียนว่า “พบประใครๆ” แทนที่จะเขียนว่า “พบปะใครๆ” ข้าพเจ้าเลยอดได้รางวัล แต่ข้าพเจ้าก็ภูมิใจว่าสามารถจำบทเรียงความทั้งหมดที่มาสเตอร์อ่านให้ฟังและเขียนได้ทั้งหมดเสร็จก่อนใครเพื่อน ความจริงนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งยากเลยที่จะจำบทความทั้งหมดที่ครูอ่านให้ฟัง เพราะเรื่องราวที่อ่านนั้นมันเป็นนิทานอีสป และมีบทเรียนเชิงศีลธรรมท้ายบทเสมอ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นักเรียนจำนิทานอีสปได้มากหลายเรื่อง ในสมัยก่อนการคิดเลขในใจเป็นเรื่องสนุกสนาน นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แล้ว สามารถคิดเลขในใจได้ ข้าพเจ้าชอบมากเพราะว่าสามารถคิดเลขจากในใจได้ เป็นการแข่งขันอีกวิธีหนึ่งที่ดี เพราะเป็นการฝึกให้ใช้ทักษะของปัญญา เวลาทำเลขในใจนักเรียนต้องถือกติกาโดยเคร่งครัด คือ ห้ามจับปากกาหรือดิสอขึ้นมาขีดเขียน นักเรียนทุกคนต้องเอามือกอดอกและตั้งใจฟังโจทย์ ซึ่งมาสเตอร์จะอ่านโจทย์เลขเพียง 2 ครั้งเท่านั้น วันไหนมีโจทย์ยาวท่านก็จะกรุณาอ่านให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง

 ปีต่อมาข้าพเจ้าขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 สิ่งที่ข้าพเจ้าจำได้ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก็คือว่าทุกวันประมาณ 15 นาทีก่อนเที่ยง พวกเราจะนั่งตัวตรงเงียบสนิทไม่คุยกัน เพื่อจะแจ้งให้มาสเตอร์ทราบโดยพฤตินัยว่าพวกเราอยากฟังนิทาน มาสเตอร์เสงี่ยมจะเล่านิทานให้ฟังทุกวัน นิทานของท่านยาวมากเล่าไม่รู้จักจบสักที จนกระทั่งข้าพเจ้าจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไปแล้วก็ยังไม่รู้จบ ข้าพเจ้าฟังบางส่วนบางตอนของเรื่องซิหยิ่งกุยกับเต็กเซ็ง ข้าพเจ้าฟังไม่รู้จักเบื่อเลย ไม่รู้จักจบเสียด้วย นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังจำได้ว่าหนังสืออ่านภาษาอังกฤษมีเรื่องสนุกมาก เช่น เรื่องแจ๊คกับยักษ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อีกอย่างหนึ่งที่น่าจดจำ ตอนเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 คือว่า ตอนเที่ยงข้าพเจ้าไปนั่งทานข้าวกับเพื่อนๆ นักเรียนใต้ต้นไม้ รู้สึกสนุกสนานดี นักเรียนต่างคนต่างเปิดห่อข้าว ซึ่งห่อด้วยใบตองแล้วมีกระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มอีกที การทานด้วยกันเป็นการสร้างมิตรภาพที่ดี

ดูเหมือนในปลายปีของชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เป็นปีที่น้ำท่วมใหญ่ คือ พ.ศ.2485 เราต้องหยุดเรียนกันหลายเดือน ถนนราชดำเนินมีน้ำเต็มไปหมด เราก็พายเรือไปที่นั่นได้ เด็กๆ สนุกสนานกับน้ำท่วม จำได้ว่าว่ายน้ำเป็นตอนสมัยนั้นหลังจากน้ำท่วมไปแล้วก็เรียนหนังสือไม่ทัน เพราะหยุดเรียนไปนาน ก็มีการเรียนลัดกัน ต่อมาไม่นานข้าพเจ้าจำได้ว่าญี่ปุ่นบุกเมืองไทย ดูเหมือนเป็นปี พ.ศ. 2486 และไม่นานต่อมา พวกเราก็มีเครื่องแบบนักเรียนใหม่ คือ เราเลิกใส่เสื้อนอกเลิกใส่กางเกงสีน้ำเงิน เราทุกคนต้องแต่งตัวยุวชนทหาร คือ แต่งตัวคล้ายๆ ทหาร แต่งนุ่งกางเกง สีขี้ม้า ขาสั้น สวมหมวกทรงหม้อตาล และทุกเช้าก่อนเข้าเรียนเราทุกคนต้องหัดพลศึกษาสักครู่ หลังจากนั้นก็กล่าวคำสาบานว่าจะรักชาติ ต่อสู้ศัตรูของชาติ ข้าพเจ้าจำได้ว่าเราทุกคนต้องฝึกพูดภาษาญี่ปุ่นอย่างน้อยต้องรู้จักพูดคำว่า “สวัสดี” และคำว่า “ขอบใจ” ข้าพเจ้าจำได้ว่าตอนนั้นเรามีทหารเกณฑ์มากมายเยาวชนได้รับการกระตุ้นส่งเสริมให้เป็นทหาร เรามีการเรี่ยไรบ่อยครั้ง เพื่อส่งของขวัญ เช่น สบู่ ผ้าเช็ดตัว ไปให้ทหารที่เดินทางไปสร้างเมืองใหม่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้นต้องการย้ายเมืองหลวงไปอยู่ในหุบเขาแถวเพชรบูรณ์ ทั้งนี้เพื่อเตรียมตัวรบกับข้าศึกจากไหนก็ไม่ทราบ สถานการณ์การบ้านเมืองได้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่พวกเราเป็นเด็กไม่ค่อยเข้าใจอะไรมากนัก ไม่ช้าก็เห็นพวกบราเธอร์หลายท่านหายไป พึ่งมาทราบทีหลังว่าญี่ปุ่นขับไล่ไปเพราะเป็นพวกพันธมิตร คือ อเมริกัน อังกฤษ เหลืออยู่แต่บราเธอร์ชาวสเปน ซึ่งเป็นคนในบังคับ ของจอมพล ฟรังโก ซึ่งเป็นสหายของญี่ปุ่นและฮิตเล่อร์ ไม่ช้าต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทวีความรุนแรงขึ้น โรงเรียนจึงปิดโดยไม่มีกำหนดเปิด เพื่อนๆ ต่างหนีออกจากจังหวัดไปกับพ่อแม่ส่วนข้าพเจ้าไม่ได้ไปไหนไกลนักคงพักอยู่ในหมู่บ้านญวนสามเสนอต่อไป การที่บอกข้าพเจ้าไม่ได้หนีสงครามไปไหนก็คงไม่ถูกนัก เพราะระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางมากไปเมืองไกลโพ้น เช่น เมืองศรีโสภณ พระตะบอง ทะเลสาบเขมร เป็นต้น ซึ่งในสมัยนั้นเมืองเหล่านี้อยู่ในครอบครองของประเทศไทย ข้าพเจ้าเดินทางโดยรถไฟโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสาร เพราะคุณพ่อรับราชการรถไฟ จึงมีโอกาสเดินทางไปทั่วทุกสาย ชีวิตระหว่างสงครามโลกน่าตื่นเต้นดี ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปรับจ้างทำงานเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว เพราะงานการหายาก กรมและกระทรวงบางแห่งปิดทำการ อาหารการกินค่อนข้างขาดแคลน โรคระบาดเกิดบ่อยครั้ง ประชาชนเดือนร้อนเพราะไม่มียา จำได้ว่าในสมัยนั้นยา antibiotic ไม่มีดูเหมือนนักวิทยาศาสตร์ยังคิดค้นไม่ได้ การแพทย์มีเหมือนกันแต่ไม่เจริญเหมือนในปัจจุบันนี้ เราต้องเข้าคิวซื้อข้าวสาร ซื้อผ้าดิบ และอีกหลายอย่าง เพราะสิ่งเหล่านี้ขาดแคลน ต้องปันส่วน ไม้ขีดไฟไม่มีขาย เราต้องฝึกใช้เหล็กตีกับก้อนหินเพื่อจุดไฟหุงข้าว ไม่ช้าไม่นานเราก็ชำนาญการจุดไฟแบบคนยุคหินกระนั้นยังมีเรื่องสนุกหลายอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างสงคราม ทหารญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหมื่นเป็นแสนต้องการเสบียงมากเพื่อเลี้ยงทหารเหล่านั้น เพราะเหตุนี้เราจึงต้องเช้าคิวซื้อของปันส่วน

ในสมัยเด็กนั้นการสงครามดูเป็นของน่าตื่นเต้นก็จริง แต่ค่อนข้างสนุกสำหรับเด็กๆ แต่ไม่สนุกสำหรับผู้ใหญ่ เวลาเครื่องบินมาทิ้งระเบิดทีก็ตื่นเต้นที ตื่นเต้นเพราะวิ่งหนีระเบิดลงหลุมหลบภัยในตอนกลางคืน บางคืนน่ากลัวมาก เพราะระเบิดที่ตกมานั้นก่อให้เกิดไฟไหม้จับขอบฟ้าแดงฉานทั่วพระนคร เสียงระเบิดดังน่าหวาดเสียวขณะกำลังแหวกอากาศตกลงสู่พื้นดิน และที่น่ากลัวมากขึ้นไปคือ เราไม่มีทางทราบว่ามันจะตกลงมาตรงไหน จะตกลงมาที่หลุมหลบภัยของเราหรือไม่ก็ไม่รู้ พวกพันธมิตรระยะหลังๆ สงครามมักมาทิ้งระเบิดกลางวัน เราจึงเริ่มเข้าใจว่าระเบิดที่ตกลงมานั้นตกลงสู่พื้นดินเป็นวิธีโค้ง วันหนึ่งชาวบ้านลือกันว่าระเบิดตกที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียลแต่แม่พระบนหลังคาตึกแดงปัดให้ไปตกที่อื่น ข้าพเจ้าจึงออกจากหลุมหลบภัยวิ่งไปดูที่ถนนสามเสนดูว่าแม่พระยังอยู่ที่นั่นหรือไม่ แต่ก็พบแต่รูปปั้นและชาวบ้านมากมายยืนดูแม่พระที่ถนน

เมื่อสงครามผ่านไปได้หลายเดือน มาสเตอร์บางท่านก็เปิดสอนพิเศษขึ้น เช่น มาสเตอร์นพ เป็นต้น ข้าพเจ้าจึงไปเรียน เราเรียนเพียงครึ่งวันและตอนบ่าย ข้าพเจ้าก็ไปรับจ้างทำงานหาเงินสำหรับเรียนพิเศษ ข้าพเจ้าจำได้ว่าวันที่ข้าพเจ้าตกใจมากที่สุด ก็คือวันที่ 27 พฤศจิกายน 2487 วันที่พวกพันธมิตรส่งเครื่องบินมาเป็นฝูงๆ ฝูงละ 15-17 ลำ เป็นต้นว่า B29 มาทิ้งระเบิดตอนกลางวันทั่วพระนคร วันที่ 27 พฤศจิกายน เป็นวันสาธารณสุข พวกพันธมิตรได้เตือนคนกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้โดยทางใบปลิวให้ระวังตน เพราะเขาจะมาทิ้งระเบิดทำความสะอาดกรุงเทพฯ เสียที เพราะสกปรกเหลือเกิน วันดังกล่าวคนไทยเราตายกันมาก กรุงเทพฯ เสียหายมาก เป็นต้น โรงไฟฟ้าสามเสน หลายครอบครัวมีคนตายเพราะระเบิด รวมทั้งครอบครัวของข้าพเจ้าด้วย

พอสงครามเลิกดูเหมือนเป็นกลางปี พ.ศ. 2488 ไม่นานต่อมาโรงเรียนเปิดเรียนกันใหม่ นักเรียนดีใจที่ได้กลับมาโรงเรียน ซึ่งมีหญ้าขึ้นรกและยังมีอุปกรณ์สงครามที่ทหารญี่ปุ่นเอามาทิ้งไว้กลางสนามฟุตบอลหลงเหลืออยู่นักเรียนกลับมาคราวนี้ยากจนลงมาก ทางโรงเรียนประกาศว่าไม่ต้องใส่เครื่องแบบเหมือนแต่ก่อน เช่น ชุดเสื้อนอกยกเลิก ชุดยุวชนทหารก็ยกเลิก รองเท้าหนังไม่ต้องสวมใส่รองเท้าแตะได้ บางคนแม้รองเท้าแตะก็ยังไม่มีใส่ สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินอยู่เป็นเวลาหลายเดือนดูเหมือนเป็นปี จึงค่อยๆ เข้าที่มีเครื่องแบบนักเรียนกันใหม่ คือ เครื่องแบบชุดปัจจุบันนี้

หลังจากนั้นไม่นานนักทางกระทรวงฯ ก็ประกาศเลื่อนชั้นขึ้นชั้นต่อไปหลังจากเรียนไปได้ไม่กี่เดือนเท่านั้น 2-3 ปีต่อมาข้าพเจ้าก็ได้เลื่อนขึ้นชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 4 (หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในสมัยนี้) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เป็นชั้นที่ยากเพราะแทบทุกวิชาที่เรียนนั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งสิ้น เช่น เรขาคณิต พีชคณิต เลข วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์สากล มีแต่วิชาภาษาไทยเท่านั้นที่เรียนเป็นภาษาไทย สมัยนั้นเราก็อาศัยการท่องเป็นหลักจึงสอบได้ เช่น เรียงความเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น เรียนแบบนี้เรื่อยไปจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีมาสเตอร์ถนอม ศารทูลสิงห์ เป็นครูประจำชั้น และมาสเตอร์เอมิล สอนวิทยาศาสตร์เป็นภาษาไทย เพื่อเตรียมตัวสอบข้อสอบกระทรวง จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วก็เลยเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 จนกระทั่งจบชั้นมัธยมปลายบริบูรณ์ในปี พ.ศ. 2495 โรงเรียนเซนต์คาเบรียลในสมัยนั้นมีแต่สาขา วิทย์ - คณิต เท่านั้น อาจารย์ที่สอนก็คือ Bro. Gerard, Bro. Vincent, Master O’Leary, มาสเตอร์ดอลอ ภาษาไทยก็มี ขุนจง จัดนิสัย เป็นต้น สิ่งที่นักเรียนภูมิใจมาก คือ เรามีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยอยู่ในระดับแนวหน้า

สังคมในเซนต์คาเบรียล

 เมื่อมองย้อนไปในอดีต จำได้ว่ามีเพื่อนที่เป็นลูกนายกรัฐมนตรีสองสามคน เช่น ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปัจจุบัน) คุณวีรวัฒน์ ลูกชาย ฯพณฯ ทวี บุญยเกตุ ในชั้นนี้เหมือนกันมีคุณสุปรีดี บุตรชาย ฯพณฯ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นเพื่อนร่วมชั้น เมื่อตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ก็มีลูกท่านนายกรัฐมนตรีหลวงธำรง นาวาสวัสดิ์ เรียนอยู่ด้วยเพื่อนร่วมรุ่นดังๆ มีหลายคน เช่น ม.ร.ว. ทองน้อย ทองใหญ่ ม.ร.ว. ทินพันธ์ เทวกุล เป็นต้น นอกจากนี้ก็มี หม่อมเจ้าและพระองค์เจ้าหลายท่านจากวังบางขุนพรหมและวังเทเวศร์ แต่จำชื่อไม่ได้ เพื่อนร่วมรุ่นที่สำคัญอีกท่านหนึ่งที่ลืมไม่ได้ คือคุณสมัคร สุนทรเวช ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ไม่มีการถือยศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ เพื่อนที่มีเชื้อพระวงศ์ไม่ถือตนเลย ยังมีตระกูลใหญ่ร่วมรุ่นด้วย เช่น “ภิรมย์ภักดี” เป็นต้น ความร่ำรวยหรือความยากดีมีจนเป็นของธรรมดา เราช่วยเหลือกันและกัน เป็นรุ่นเดียวกัน

ระบบการศึกษาอบรม

โรงเรียนของเรามีประวัติอันยาวนานถึง 80 ปี มีวิธีการให้การศึกษาหลายวิธี ซึ่งน่าจะจดจำไว้ จริงอยู่มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ล้าสมัยไม่ทันเหตุการณ์และเข้ากับยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้ สิ่งที่เราน่าจะอนุรักษ์ไว้ ก็คือ วิธีการบางอย่างที่มีคุณค่าทางการศึกษา และวิชาครู เช่น ประเพณีที่เราเคยปฏิบัติกันมาเมื่อได้ยินเสียงระฆังหนึ่ง ตอนเช้า 10 นาที ก่อนระฆังสอง เขาตีระฆังหนึ่งทำไม? คำตอบก็คือ เขาเตรียมนักเรียนเข้าห้องเรียน พอสิ้นเสียงระฆังหนึ่ง นักเรียนแทบทุกคนรีบไปห้องน้ำเพื่อเตรียมตัวเข้าเรียนและไม่ต้องลาครูระหว่างเรียนไปห้องน้ำ เสร็จแล้วรีบไปเข้าแถวหน้าห้องเรียนขณะเดียวกันมาสเตอร์ครูประจำชั้นก็ออกมาเตรียมพร้อมหน้าห้องเรียน พอสิ้นเสียงระฆัง 2 นักเรียนทุกคนต้องเงียบกริบ เมื่อเคารพธงชาติ เสร็จแล้วนักเรียนเดินเข้าห้องเรียนพร้อมด้วยรักษาความเงียบนักเรียนคนใดพูดคุยในแถวจะถูกมาสเตอร์ลงโทษทันที ทำไมต้องเข้าแถว? ทำไมต้องเงียบ? คำตอบ คือ เพื่อฝึกวินัย ฝึกสมาธิ โดยรักษาความเงียบจะได้พร้อมที่จะเรียน

 เมื่อเข้าห้องเรียนแล้ว เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาต้องทำการคัดลายมือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การคัดลายมือเป็นวิธีการสร้างสมาธิที่ดีวิธีหนึ่ง คือ มีการฝึกวิธีจับปากกาต้องจับให้ถูกวิธี การใช้ปากกาจิ้มลงไปในขวดหมึกต้องใช้ความระมัดระวัง มิฉะนั้นด้ามปากกาจะเลอะหมึกทำให้เลอะมือเวลาจับปากกา และต้องจุ่มหมึกพอดีไม่มากไป มิฉะนั้นเวลาคัดลายมืออักษรจะเลอะด้วยหมึกไม่ชัด เพราะตัวอักษรภาษาอังกฤษมีเส้นหนักเส้นเบา ถ้าตัวปากกาอมหมึกไว้มากจะทำให้ตัวอักษรเลอะ แม้แต่อักษรภาษาไทยก็จะเลอะเหมือนกัน การคัดลายมือแบบของโรงเรียนเซนต์คาเบรียลยังช่วยให้นักเรียนรู้คติพจน์เชิงศีลธรรมมากมายอีกด้วย ไม่ทราบว่ามีใครทราบหรือไม่ว่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียลเคยได้รางวัลคัดลายมือที่หนึ่งของโลกมาแล้ว 3 ครั้ง สมัย Bro. Greg เป็นผู้สอน

 การปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้ เช่น การเข้าแถวและการคัดลายมือ เป็นกระบวนการเรียนรู้การฝึกสมาธิ การฝึกวินัย เพื่อเตรียมนักเรียนเรียนวิชาสามัญอื่นต่อไป

 อีกวิชาหนึ่งที่เราน่าจะรื้อฟื้นกันใหม่ คือ การให้มีการฝึกการคิดเลขในใจควรมีอยู่ต่อไปเพราะเป็นการลับสมองให้แหลมคม ให้ปัญญาตื่น ไม่ inert เป็นการฝึกทักษะการคิด และเป็นการสร้าง mental processing skills เลขคิดในใจกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้เลขคณิต การเขียนคำบอกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นการฝึกการฟังที่ดี น่าจะรักษาไว้ การสอนเรียงความภาษาไทยและการสอนย่อความภาษาไทยเป็นสิ่งจำเป็น เพราะการเขียนคือการสื่อความคิดที่ได้ถูกจัดเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการฝึกทักษะของการใช้เหตุผลและผลเพื่อสื่อความหมาย การเขียนเรียงความภาษาอังกฤษก็เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ก็มีการสอบอ่านเอาเรื่องภาษาอังกฤษ คือ มาสเตอร์จะเรียกนักเรียนเป็นรายบุคคลและเปิดหนังสืออ่านให้มาสเตอร์ฟังตามที่ท่านสั่ง อ่านเสร็จแล้วปิดหนังสือมาสเตอร์จะถามคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่อ่านไปแล้วถ้าตอบไม่ได้ก็เป็นอันว่าสอบตก “อ่านเอาเรื่อง”

โรงเรียนเซนต์คาเบรียลได้ชื่อว่ามีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ดีมากนักเรียนมีโอกาสเข้าห้องทดลองมากกว่าโรงเรียนอื่น ทั้งนี้เพราะ Bro. Vincent ได้วางรากฐานไว้อย่างดี วิธีเรียนวิทยาศาสตร์ให้ได้ผลต้องมีการปฏิบัติจริง จุดเด่นนี้ควรได้รับการพัฒนาต่อไป

 สีประจำวันซึ่งฉลองกันในวัน College Day มีไว้เพื่อแก้ปัญหาหลายอย่างในหมู่นักเรียนเป็นต้น เรื่องความประพฤติ เป็นการส่งเสริมการสร้างความสามัคคี และการมีน้ำใจนักกีฬา นี่คือสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่มีความสำคัญในชีวิตนักเรียน

กระบวนการฝึกอบรม การสร้างกระบวนการการเรียนรู้ที่กล่าวมา ถึงแม้ว่าจะได้ประพฤติปฏิบัติกันมาในอดีตกว่า 60 ปีก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะยังทันสมัยใช้ได้ดีในยุคของการปฏิรูปการศึกษาและโลกาภิวัตน์A