20 Unknown stories about Brother Martin 
(แหล่งที่มา คือ ABACA Proflie ฉบับ January - April 2006) 

 

บทความชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ “เจษฎาจารย์ ประทีบ มาร์ติน โกมลมาศ” เรียบเรียงโดย ร้อยตำรวจเอก ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ ที่ได้เล่าประวัติชีวิติ

และหลักการทำงานตลอด 72 ปีที่ผ่านมาของบราเดอร์มาร์ตินไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งทางเราเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ กับผู้อ่านทุกท่าน จึงทำการรวบรวมสรุปเนื้อหาบางส่วนมาให้อ่านกันแบบเพลินๆ 

1) บราเดอร์ มีวันเกิด 2 วัน บราเดอร์ เกิดที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2476 เวลาบ่ายสามโมง แต่ครูที่โรงเรียนกลับลงวันที่ให้ผิดกลายเป็นวันที่ 22 ธันวาคม จึงต้องใช้วันนั้นเป็นวันเกิดอย่างเป็นทางการตลอดมา

2) คุณทวดของบราเดอร์(คุณพ่อของคุณย่า) ชื่อ ขันธรณีสะท้าน คุณทวดของบราเดอร์มาร์ตินเป็นนายทหารต่างชาติที่เข้ามารับราชการในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ทำหน้าที่นายทหารปืนใหญ่ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น”ขุนธรณีสะท้าน” ส่วนคุณปู่มีบรรดาศักดิ์เช่นกัน คือ พระยาไตรภพรณฤทธิ์ หรือ ร้อยเอก เอี่ยมชื่น คุณพ่อของท่านนับถือศาสนาคริสต์ ส่วนตัวท่านตอนเป็นเด็กนับถือพุทธตามคุณแม่ แต่ก็เปลี่ยนมานับถือคริสต์ตามคุณพ่อในภายหลัง

3) โกมลมาศ เป็นชื่อสกุลที่ตั้งขึ้นมาเอง สืบเนื่องจากเหตุเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 ทำให้ทุกคนในครอบครัวต้องเปลี่ยนนามสกุลมาใช้นามสกุลของขุนอาชัพสุรทัณฑ์ซึ่งเป็นน้องชายคุณย่า คือ “ชมจินดา” รวมทั้ง ตัวบราเดอร์ด้วย แต่ภายหลังท่านตั้งขึ้นมาใหม่แทน เพราะไม่ชอบใจที่สกุล“ชมจินดา” ถูกคนอื่นนำไปใช้เยอะมาก

4) ไล่จับแมลงทับ-แอบไปรำวง ในยุคนั้นระหว่างบ้านของบราเดอร์ที่สามเสนจนถึงอนุสาวรีย์ชัยฯเป็นที่โล่งมีหญ้าขึ้นรก รอบๆเป็นป่ามะขามเทศ บราเดอร์ในวัยเด็กจึงหาเรื่องสนุกด้วยการเล่นจับแมลงทับหรือไม่ก็ไปเที่ยวเขาดิน เมื่อโตขึ้นความบันเทิงเริงใจก็เปลี่ยนเป็นการได้ไปสวนอัมพรในช่วงเย็นวันอาทิตย์หรือแอบไปรำวงบ้างเป็นครั้งคราว แต่สิ่งที่ท่านยึดถือปฏิบัติเป็นประจำก็คือการไปโบสถ์ทุกวันและเคร่งครัดในศาสนา ซึ่งท่านพูดว่า “ทำไปด้วยใจแห่งข้าพเจ้า”

5) เริ่มเรียนด้วยภาษาฝรั่งเศส ครั้งแรกที่เข้าเรียนหนังสือ บราเดอร์ มาร์ติน ถูกจับให้อยู่ในห้องที่เรียนด้วยภาษาฝรั่งเศส แต่ไม่นานได้ย้ายไปเรียนห้องที่เรียนด้วยภาษาอังกฤษในภายหลัง ดังนั้นจึงต้องนับว่าครูคนแรกอย่างเป็นทางการของบราเดอร์ก็คือ มาสเตอร์ ปีเตอร์ ทรวง ครูประจำชั้นประถม1 ของโรงเรียนเซนต์คาเบรียล

6) เด็กชายความจำดี บราเดอร์มาร์ตินเป็นคนความจำดีมาตั้งแต่เด็ก สามารถจำสุภาษิตได้มากมาย คำนวณเลขในใจได้ เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตก็เอ่ยชื่อบุคคลหรือสถานที่ได้อย่างแม่นยำ คราวหนึ่งในวิชาฝึกเขียนเรียงความ ตอนชั้นประถม 2 มาสเตอร์ จิล สัญญาจะให้รางวัลสำหรับนักเรียนที่เขียนเรียงความเสร็จก่อนอย่างถูกต้อง บราเดอร์ มาร์ติน ตั้งใจฟังบทเรียงความนั้นด้วยความตั้งใจ แล้วลงมือเขียนด้วยความรวดเร็ว เสร็จก่อนเพื่อนคนอื่น แต่ปรากฏว่าสะกดคำผิดไปเพียง 1 คำ ทำให้พลาดรางวัลไปอย่างน่าเสียดาย

7) ร่วมสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว ครั้งญี่ปุ่นบุกไทย โรงเรียนปิดถาวรเป็นเวลา 1 ปี ชีวิตประจำวันของบราเดอร์มาร์ตินจึงมีอยู่ 2 อย่างคือ ไปโบสถ์ และรับจ้างทำงาน หนึ่งในงานที่บราเดอร์ทำในครั้งนั้นคือการรับจ้างทำตะปู ซึ่งมีขั้นตอนคือ เคาะรั้วลวดหนามให้ตรงแนว ตีเหล็กให้คม และทำให้เป็นตะปูขนาดต่างๆ ทราบภายหลังว่าตะปูเหล่านี้ทหารญี่ปุ่นนำไปสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว

8) เจ้าของเสียงอัลโต กิจกรรมในโบสถ์ที่บราเดอร์มาร์ตินเข้าร่วมปฏิบัติเสมอก็คือ การร้องเพลงในพิธีมิสซา และในวันคริสต์มาส ที่ต้องฝึกซ้อมร้องเพลงอย่างหนัก โดยระดับเสียงของบราเดอร์จัดอยู่ในโทนอัลโต และมีผู้ฝึกสอนร้องเพลงคือ อ.สมัย ชินะภา เจ้าของโรงเรียนเซนต์จอห์น นอกจากนี้ท่านยังกลายเป็นครูเปียโนคนแรกของบราเดอร์ในเวลาต่อมา

9) วันคริสต์มาสคือวันที่รอคอย บราเดอร์มาร์ตินชอบและมีฝีมือในการปั้นรูปอย่างมาก ดังนั้นในวันคริสต์มาสจึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประดิษฐ์ที่ประสูติจำลองของพระเยซูเป็นประจำ ซึ่งบราเดอร์ก็ทำหน้าที่นี้ด้วยความสุขตลอดมา และด้วยความช่างสังเกตผสมความคิดสร้างสรรค์ บราเดอร์จึงมีเทคนิคใหม่มาใช้ในการทำงานทุกปี จากภูเขาและถ้ำ กระดาษที่ทำเมื่อยังเป็นเด็ก จึงกลายเป็นเมืองจำลองขนาดย่อมที่มีรถไฟแล่น มีน้ำตกที่อาศัยมอเตอร์ไฟฟ้า และดวงดาวไฟกะพริบ นั่นเองที่ทำให้วันคริสต์มาสเป็นวันพิเศษในความทรงจำสำหรับท่านเสมอ

10) การค้นพบดาวพฤหัส กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่บราเดอร์ชื่นชอบคือการดูดาว เพราะเห็นว่าระบบสุริยะจักรวาลเป็นเรื่องมหัศจรรย์ เมื่อเมืองไทยมีกล้องดูดาววางขาย จึงไม่มีรีรอที่จะซื้อ และด้วยกล้องตัวนี้เองที่ทำให้บราเดอร์ค้นพบดาวพฤหัสพร้อมกับดวงจันทร์บริวารถึง 4 ดวง ซึ่งนั่นทำให้บราเดอร์มีความหลงใหลในวิชาดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น

    

11) รับศีลล้างบาปเมื่ออายุ 13 ปี แม้จะเรียนอยู่ที่เซนต์คาเบรียล แต่บราเดอร์ยังคงนับถือพุทธและยังไม่ได้เข้าพิธี Baptize ดังนั้นบราเดอร์จึงได้รับการกล่อมเกลาจากคุณย่าด้วยการพาไปโบสถ์ทุกเช้าและอ่านพระคัมภีร์ให้ฟังทุกวันเป็นเวลาแรมปี ทำให้รู้ทุกเรื่องของศาสนาคริสต์อย่างถูกต้อง จนอายุ 13 ย่าง 14 ปีจึงเข้ารับศีลล้างบาปประกาศตัวเป็นคริสต์ศาสนิกชน

12) ร่วมรุ่นคนดัง สังคมของเด็กเซนต์คาเบรียลในสมัยนั้นเต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งเชื้อพระวงศ์ คนดัง พ่อค้า ข้าราชการ ต่างส่งลูกเข้ามาเรียนร่วมกันในรั้วน้ำเงินขาวแห่งนี้ เพื่อนร่วมชั้นเรียนของบราเดอร์มาร์ตินตั้งแต่ชั้นประถม 1 จนถึงมัธยม 8 (เทียบได้กับม.6 ในสมัยนี้) จึงมีมากที่เป็นที่รู้จักในวงสังคมเช่น ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่,ม.ร.ว.ทินพันธ์ เทวกุล, คุณวีรวัฒน์ ลูกฯฯพณฯทวี บุญยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี, คุณศุขปรีดา ลูก ฯพณฯปรีดี พนมยงค์, คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นต้น ซึ่งเพื่อนทุกคนไม่มีการถือยศถาบรรดาศักดิ์ ช่วยเหลือกันและกันทั้งขณะที่เรีนยอยู่  และจวบจนปัจจุบัน

13) ตัดสินใจบวชเพราะแม่พระฟาติมา ประมาณปีพ.ศ.2493 มีการแห่รูปแม่พระฟาติมาไปรอบโลกและแวะมาที่เมืองไทย มีชาวคาทอลิกนับแสนไปร่วมรับเสด็จถึงสนามบินดอนเมือง เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นแรงดลใจให้บราเดอร์มาร์ตินตัดสินใจบวช โดยเมื่อจบการศึกษามัธยม 8 แล้วบราเดอร์มาร์ตินได้สมัครเป็นนักบวชและถูกส่งตัวไปเรียนที่นครมัทราส ประเทศอินเดีย

14) เตะลูกบอลหายเข้ากลีบเมฆ ระหว่างการเตรียมตัวเป็นนักบวชที่นวกสถานเมืองคูนูร์ (Coonoor) และเมืองโอตากามุนด์ (Ootagumund) บราเดอร์มาร์ตินมีความประทับใจในทัศนียภาพของเมืองเป็นอย่างมากเนื่องจากเมืองทั้งสองตั้งอยู่บนภูเขาสูง อากาศหนาวจัด จึงมีสวนดอกไม้ที่ทั้งสวยและแปลกตา ยามว่างก็ออกกำลังกายคลายหนาวด้วยการเล่นเทนนิสหรือเตะฟุตบอล ที่บราเดอร์พูดสั้นๆ แต่เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า “เวลาเตะลูกบอล แล้วมันหายเข้าไปในกลีบเมฆ”

15) รับปริญญาทางไปรษณีย์ บราเดอร์มาร์ตินใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอินเดียนานถึง 6 ปี โดย 2 ปีแรกเป็นการเรียนเพื่อเตรียมตัวเป็นนักบวช และอีก 4 ต่อมาเข้าเรียนในสาขาเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลโยลา แห่งมหาวิทยาลัยมัทราส เมื่อเรียนจบได้เดินทางกลับเมืองไทยทันที โดยไม่มีการเข้ารับพิธีปริญญาตามนโยบายของมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นใบปริญญาจึงถูกส่งให้กับบัณฑิตทุกคนทางไปรษณีย์

16) เจ้าคณะอายุ 41 หลังจากกลับจากประเทศอินเดีย บราเดอร์มาร์ตินในวัย 25 ปีได้เริ่มทำงานครั้งแรกกับโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ในตำแหน่งผู้ช่วยอธิการ หลังจากนั้น 1 ปีได้ย้ายไปที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา และโรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี ตามลำดับ กระทั่งได้รับเลือกให้เป็นเจ้าคณะในปีพ.ศ.2517 เมื่ออายุได้ 41 ปี

17) ด็อกเตอร์อายุ 50 บราเดอร์มาร์ติน เป็นผู้ที่แสวงหาโอกาสการเรียนอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อตำแหน่งเจ้าคณะหมดวาระจึงได้เดินทางเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย Stanford สหรัฐอเมริกาและคว้าปริญญาโทถึง 2 ใบทางด้าน International Development Education และ Social Sciences in Education จากนั้นไม่นานก็เข้าเรียนด้าน Organization Development ที่ Southeast Asia Interdisciplinary Development Institute ฟิลิปปินส์ จนได้ปริญญาเอกเมื่ออายุ 50 ปี

18) Dummy Company ไอเดียของใคร? ระหว่างปีพ.ศ.2518-2519 บราเดอร์มาร์ตินเข้ามาบริหารวิทยาลัยอัสสัมชัญอย่างเต็มตัว และต้องออกแรงต่อสู้ความคิดต่อต้านของนักศึกษาที่อยากเห็นวิทยาลัยมีบรรยากาศการเรียนแบบมหาวิทยาลัยจริงๆ นักศึกษาคนหนึ่งได้เข้าพบและยื่นข้อเสนอว่าต้องการเรียนภาคปฏิบัติ บราเดอร์บอหให้เขาเขียนโครงการมา ในเวลาต่อมาโครงการ Dummy Company ก็เกิดขึ้นและกลายเป็นโครงการต้นแบบให้ทุกๆมหาวิทยาลัยเอาไปใช้

19) ทำงานทุกวัน อ่านหนังสือทุกวัน ปรัชญาการทำงานของบราเดอร์มาร์ตินคือ ทำงานตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์หรืออาทิตย์ อย่างทีมีคำสอนไว้ว่า “การว่างงานคือโรงงานของปีศาจ” และที่สำคัญคืออย่าเก็บงานคั่งค้างไว้ ส่วนเวลาว่างก็จะอ่านหนังสือ เพราะเชื่อว่าการอ่านทำให้มนุษย์สมบูรณ์ ถ้าไม่อ่านสมองก็ไม่เบ่งบาน

20) เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากการทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนาการศึกษามาตลอดชีวิต ทำให้บราเดอร์มาร์ตินได้รับการยกย่องจากหลายหน่วยงานในสังคม และเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2547 ยังได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มงกุฎไทยชั้นที่1 ชื่อ ประถมาภาณ์ จากหระหัตถ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ORDRE DE LA COURONNE ชั้นที่1 จากประเทศเบลเยี่ยม และ PALMES ACADEMIQES จากประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

BROTHER MARTIN DIARY OF LIFE
(แหล่งที่มา คือ ABACA Proflie ฉบับ January - April 2006)

ภารกิจแรกของวัน

“ดีใจว่าเราเลือกทางชีวิตได้ถูกต้องแล้ว เพราะเหมาะต่อความชอบส่วนตัว ถ้าชีวิตไม่ได้มาทางด้านนี้ก็คงไม่มีโอกาสทำความดีมากเท่านี้ เป็นอย่างนี้สนุกกว่า เราเป็นของทุกๆคน ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องชีวิตครอบครัว และก็ไม่เคยคิดผิดหวังอะไร อาจเป็นเพราะไม่เคยคาดหวังอะไร ไม่เคยอยากได้อะไร”

เฝ้าดูด้วยความห่วงใย

“หลักการของเอแบคก็คือ เราถือว่านักศึกษาเป็นพวกสกอล่า(scholar) เป็นผู้ที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนและหมั่นเพียร แต่เราไม่ได้ให้เด็กเรียนแต่ในหนังสืออย่างเดียว การเรียนนอกห้องเราก็ให้ความสำคัญมากด้วย เพราะปัจจุบัน เด็กต้องเรียนรู้ไซเบอร์เทคโนโลยี และมีกิจกรรมเสริมหลักสูตร ถึงจะเข้าใจชีวิตเข้าใจโลกแห่งความเป็นเป็นจริง ดังนั้นเด็กของเราต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เป็น”

 

ความสุขจากการเดินทาง

“สมัยก่อนไปต่างประเทศบ่อย ชอบไปที่อิตาลี ไปดูงานอิสระ มีศิลปินที่ชอบเป็นพิเศษคือ ไมเคิล แองเจโล ผลงานเขาเป็นอมตะ ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นเดวิด, เฟียสต้า เขาเก่งมากจริงๆ แล้วสมัยเป็นนักเรียนชอบทำงานศิลปะนะ อย่างวาดรูปปั้นรูปนั้นชอบมากถึงขนาดมีคนมาว่าจ้างให้ปั้นรูปขาย เพราะฉะนั้นตอนจบม.6 เลยคิดจะไปเรียนเพาะช่างแต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนก็เลยไม่ได้เป็นศิลปิน (ยิ้ม) เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ไปไหนนอกจากที่เอแบคบางนา ไปดูความคืบหน้าเกือบทุกวัน”

กับความภูมิใจสูงสุด

“โครงการที่บางนา อีกประมาณ 7-8 ปี จึงเสร็จตามที่วางแผนไว้ ตอนนี้เป็นห่วงอย่างเดียวตรงถนนที่เราตั้งชื่อว่า บูเลวาร์ด เดอส์ นาซิยองส์ (Boulevard des Nations) ยังไม่ได้เริ่มสร้างเลยเป็นถนนที่มีความยาว มองเห็นตึกของทุกคณะครบถ้วนเลย ริมถนนจะติดธงนานาชาติ วิวทิวทัศน์รอบด้านเป็นต้นไม้ขึ้นเรียงรายงดงามมาก พูดได้ว่าสวยกว่าทุกมหาวิทยาลัยในประเทศ(ยิ้มภูมิใจ) อยากเห็นโครงการนี้เสร็จเร็วๆ อยากมีชีวิตอยู่ให้ถึงวันนั้น มันคงเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่สุด”