ความจริง ความดี และความงาม

(The true, the good, and the beautiful)  
ปาฐกถาพิเศษ โดยภราดาประทีป ม.โกมลมาศ

นายกสมาคมสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย 

             ความจริง ความดี และความงาม 

  (The true, the good, and the beautiful)

ปรัชญาของจุดมุ่งหมายและหลักสูตรการศึกษา

สังคมใดที่ต้องการดำเนินกิจการทางการศึกษา เพื่ออบรมลูกหลานของตนตามเจตนารมย์ของความเชื่อศรัทธาในศาสนา และต้องการจะถ่ายทอดคุณค่าหรือค่านิยมของสังคมตน ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป จำเป็นต้องมีจุดมุ่งหมายทางการศึกษาเป็นหลักปรัชญา เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เรียนรู้ และผู้ถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมนั้นๆ

ในบริบทดังกล่าวข้างต้น จุดมุ่งหมายของการศึกษาคาทอลิก คือ การให้การศึกษาอบรมบุคคลทั้งครบตามหลัก
คริสตธรรม นี่คือหลักปรัชญาของจุดมุ่งหมายของการศึกษาคาทอลิก

ดยนัยเดียวกันนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ทรงกล่าวไว้ในสมณลิขิตข้อ 7 ว่า “การศึกษากอปรด้วยการเตรียมคนให้เป็นสิ่งที่เขาจะต้องเป็น และสิ่งที่เขาจะต้องทำในโลกนี้ เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายตามความหมายที่เขาถูกสร้างมา จะไม่มีการศึกษาที่แท้จริงเกิดขึ้นได้เลย หากจุดมุ่งหมายของการศึกษานั้นไม่ได้นำคนไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของชีวิต”

เป้าหมายสุดท้ายของชีวิตมนุษย์ คืออะไร? เป้าหมายสุดท้ายของชีวิตมนุษย์คือ การเกิดมาและดำรงชีวิตอยู่เพื่อรู้จักรัก และปรนนิบัติพระเจ้า เพื่อเป็นสุขกับพระองค์ในที่สุด

เมื่อจุดมุ่งหมายของการศึกษาวางอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อศรัทธาในศาสนา และค่านิยมทางวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ การเขียนหลักสูตรตามหลักปรัชญาของจุดมุ่งหมาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายวิชาการของสถาบันการศึกษานั้นๆ ต้องให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ

ปรมจารย์ทางการศึกษา เช่น John S.BRUBACHER ให้ความเห็นว่า หลักสูตรที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดควรประกอบด้วยคุณค่า (values) หรือ ค่านิยม 3 ประการ คือ “ความจริง ความดี และความงาม” ซึ่งเป็นคุณค่าอันสูงส่งของอารยธรรมของมนุษยชาติมาแต่โบราณกาล ในทำนองเดียวกันนี้ สมเด็จพระสันตะปาปา Benedict ที่ XVI ได้ทรงเขียนไว้ในหนังสือ COMPENDIUM: The Catechism of the Catholic Church ในข้อ 359 ว่า “โดยอาศัยพระหรรษทานของพระคริสตเจ้า มนุษย์ทุกคนที่ดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามมโนธรรม คือ ผู้ที่แสวงหาความจริงและความดีและหลีกหนีความชั่ว”

นี่คือวิธีหนึ่งของการปฏิบัติตนตามหลักสูตร ที่เขียนขึ้นตามปรัชญาของจุดมุ่งหมายของโรงเรียนคาทอลิก

ความเป็นมาของค่านิยมอันสูงส่งของมนุษยชาติ

ประมาณ 400 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคสมัยของกรีกโบราณได้มีการโต้วาทีกันอย่างเผ็ดร้อนด้วยเรื่องศีลธรรม ความจริง ความดี และความงาม ระหว่างนักปรัชญานามอุโฆษ 2 คน คือ Plato และ Aristotle ที่ได้ใช้วาทศิลป์ของตนทำให้ประชาชนกรีกโบราณสนใจที่จะถกเถียงกันด้วยเรื่องศีลธรรม และวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวในสังคมของตน มีอยู่ครั้งหนึ่งของการโต้วาทีได้ยกประเด็นที่ว่าทำอย่างไรบุคคลที่เจริญแล้วจะได้รู้จักชมชอบแต่ความจริง ความดี และความงาม? และประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมตลอดไป การถกเถียงด้วยเรื่องดังกล่าวได้มาถึงจุดเน้นคำถามว่า ศิลปินที่แท้จริงคือใคร? เขาสามารถใช้ศิลปะของเขานำมนุษย์ไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า หรือนำมนุษย์ไปสู่ความเสื่อม?

เราคงเคยเห็นภาพวาดแบบ abstract ที่มีการตีราคามากมายเป็นล้านกันมาแล้ว ซึ่งเป็นภาพที่คนทั่วไปไม่สามารถมองออกว่าเป็นภาพอะไร เป็นรูปคนหรือรูปสัตว์ หรือแมลงหรือภาพธรรมชาติอะไร ในสมัย Plato นั้น ศิลปินที่วาดภาพดังกล่าวจะถูกตัดสินให้ติดคุกโทษฐานวาดภาพขึ้นมาหลอกลวงประชาชน แต่ในสมัยของ Aristotle นั้น ศิลปินคนเดียวกันนั้น จะได้รับการสรรเสริญว่าเป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถบรรยายความหมายของชีวิตได้อย่างน่าอัศจรรย์

สองพันปีต่อมาคือ ในยุคพระธรรมใหม่ได้มีบันทึกชีวประวัติและคำสอนของพระเยซูคริสต์โดยผู้เขียนพระวรสารทั้ง 4 ฉบับ ได้มีการโต้วาทีกันด้วยเรื่องศีลธรรมของโลกในยุคนั้นเป็นไปอย่างเผ็ดร้อนไม่แพ้ในยุค Plato และ Aristotle

ในยุคดังกล่าว ดินแดนปาเลสไตน์เป็นเมืองขึ้นในการปกครองของพวกโรมันก็จริง แต่ชีวิตสังคมของประชาชนถูกกำกับอย่างเคร่งครัดโดยผู้ปกครองฝ่ายศาสนจักร พวกธรรมาจารย์ เช่น พวกฟาริสี และพวกผู้ใหญ่ฝ่ายศาสนาเป็นพวกให้ความเห็น และชี้ขาดในเรื่องของการตีความเกี่ยวกับชีวิตสังคม ซึ่งในบางครั้งพวกเขาเหล่านั้นก็ขัดแย้งกันเอง มีความเห็นไม่ตรงกัน เสมือนดังสังคมของกรีกโบราณหรือสังคมปัจจุบันเช่นกัน

เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเริ่มเทศนา พระองค์ได้ตกเป็นเป้าของการถูกจับผิดและการโต้เถียงกัน ไม่ผิดอะไรกับชาวกรีกในยุคของ Plato และ Aristotle ที่ถกเถียงกันด้วยเรื่องของศีลธรรมและบทบาทของศิลปิน

ศีลธรรมตามหลักพระคริสตธรรม

นักบุญยอห์นได้บันทึกไว้ในบทพระวรสารที่ 8 ว่า ในตอนเช้าตรู่วันหนึ่งพระองค์เสด็จเข้าในบริเวณพระวิหารอีก คนทั้งหลายพากันมาหาพระองค์ พระองค์ก็ประทับนั่งและเริ่มสั่งสอนเขา พวกธรรมาจารย์และพวกฟาริสีได้พาผู้หญิงคนหนึ่งมา หญิงผู้นี้ถูกจับฐานล่วงประเวณี และเขาให้หญิงผู้นี้ยืนอยู่หน้าฝูงชน เขาทูลพระองค์ว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า หญิงคนนี้ถูกจับเมื่อกำลังล่วงประเวณีอยู่ ในธรรมบัญญัตินั้นโมเสสสั่งให้เราเอาหินขว้างคนเช่นนี้ให้ตาย ส่วนท่านจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้” เขาพูดอย่างนี้เพื่อทดลองพระองค์ หวังจะหาเหตุฟ้องพระองค์ แต่พระเยซูทรงน้อมพระกายลงเอานิ้วพระหัตถ์เขียนที่ดิน และเมื่อพวกเขายังทูลถามอยู่เรื่อยๆ พระองค์ก็ทรงลุกขึ้นตรัสตอบเขาว่า “ผู้ใดในพวกท่านที่ไม่มีผิด ก็ให้ผู้นั้นเอาหินขว้างเขาก่อน” แล้วพระองค์ก็ทรงน้อมพระกายลงเอานิ้วพระหัตถ์เขียนที่ดินอีก แต่เมื่อเขาทั้งหลายได้ยินดังนั้น เขาทั้งหลายจึงออกไปทีละคนๆ เริ่มจากคนเฒ่าคนแก่ เหลือแต่พระเยซูตามลำพังกับหญิงคนนั้นที่อยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ พระเยซูทรงเงยพระพักตร์ขึ้นตรัสกับนางว่า “หญิงเอ๋ยพวกเขาไปไหนหมด ไม่มีใครเอาโทษเจ้าหรือ” นางนั้นทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ไม่มีผู้ใดเลย” และพระเยซูตรัสว่า “เราก็ไม่เอาโทษเจ้าเหมือนกัน จงไปเถิดและอย่าทำผิดอีก”

ทรรศนะของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับศีลธรรมในสังคมปาเลสไตน์ แตกต่างจากพวกธรรมาจารย์โดยสิ้นเชิง ไม่มีธรรมาจารย์คนใดกล้าคิดมาก่อนว่าคำตอบของพระองค์จะเป็นเช่นนั้น เพราะคำตอบของพระองค์อยู่เหนือปรีชาญาณใดๆ เพราะพระองค์ คือ พระวจนะหรือพระธรรมคำสอนของพระเจ้า พระองค์เป็นแหล่งชีวิต และชีวิตนั้นเป็นความสว่างของมนุษย์

การเอาหินทุ่มฆ่าผู้ทำบาปทำผิดเป็นวิธีการของสังคมที่แก้แค้นกันแบบฟันต่อฟัน ตาต่อตา เราคงจำได้ดีว่านักบุญสตีเฟ่นได้ถูกเขาเอาหินทุ่มฆ่าตายต่อหน้าเซาโล ผู้ที่ออกมาประหัตประหารผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ตามที่มีบันทึกไว้ในหนังสือกิจการอัครสาวก พวกธรรมาจารย์เหล่านั้นคุ้นเคยกับการปฏิบัติอย่างทารุณโหดร้าย ไม่เห็นความขัดแย้งในตัวของมันเองกับการปฏิบัติจริยธรรมและคุณธรรมในสังคมนั่นคือ ความจริง ความดี และความงาม

ตามบันทึกของนักบุญยอห์น บทที่ 8 เรื่อง หญิงผู้ถูกจับฐานล่วงประเวณีกับการโต้เถียงของพวกธรรมาจารย์ เราจะเห็นว่า พระเยซูคริสต์ทรงให้คำตอบดุจดังสายฟ้าผ่าในมโนธรรมของฝูงชนที่ยืนอยู่ พระองค์ทรงกล่าวว่า “ผู้ใดในพวกท่านที่ไม่มีผิด ก็ให้ผู้นั้นเอาหินขว้างเขาก่อน” แล้วพระองค์ก็ทรงน้อมพระกายลงเอานิ้วพระหัตถ์เขียนที่ดิน ใครจะขว้างหินเป็นคนแรก? ใครบ้างที่ไม่เคยทำบาป? ใครบ้างที่ไม่เคยทำผิด? นักบุญยอห์นได้บันทึกต่อไปว่า แต่เมื่อเขาทั้งหลายได้ยินดังนั้น เขาทั้งหลายจึงออกไปทีละคนๆ เริ่มจากคนเฒ่าคนแก่ เหลือแต่พระเยซูตามลำพังกับหญิงคนนั้น นักบุญยอห์น สังเกตว่าพระองค์ทรงน้อมพระกายลงและเอานิ้วพระหัตถ์เขียนที่ดินหลายครั้ง เขียนอะไร? ไม่มีใครทราบได้ แต่ความหมายคงเป็นที่ยอมรับกันคือ คนเฒ่าคนแก่ยอมจำนนเดินออกไป เพราะในมโนธรรมของเขาเหล่านั้นยังก้องด้วยเสียงสายฟ้าผ่า ที่ว่า “ใครบ้างที่ไม่เคยทำบาป? ใครบ้างที่ไม่เคยทำผิด”

ในบริบทดังกล่าวข้างต้น
ความจริง ความดี และความงาม คืออะไร?

ตามหลักพระคริสตธรรม ความจริง คือ มนุษย์ทุกคนเป็นคนบาปทั้งนั้น เราทุกคนจึงควรยอมรับสถานภาพของตนว่าเป็นคนบาป จึงควรถ่อมตนต่อหน้าพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงสอนว่า “จงอย่าพิพากษาใครด้วยเบาความและท่านจะไม่ถูกพิพากษา” “จงอย่าเสแสร้งจะเอาเศษไม้ออกจากตาของเพื่อนบ้าน ในเมื่อท่านมีท่อนซุงอยู่ในตาของท่าน” ความจริงนั้น พระองค์ปรารถนาให้เราทุกคนเป็นอิสระไม่เป็นทาสของบาป เพราะ “ความจริงจะทำให้ท่านเป็นไทแก่ตัวเอง”

ในทำนองเดียวกัน ใครบ้างที่กล้ายืนยันว่าตนมีความดี? นักบุญมัทธิว บันทึกไว้ในบทที่ 5 ว่า “เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงเป็นคนดีรอบคอบ เหมือนอย่างพระบิดาของท่าน ผู้ทรงสถิตในสวรรค์ เป็นผู้ดีรอบคอบ” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จงเป็นผู้ที่ดีสมบูรณ์ด้วยคุณธรรม แล้วท่านจะเป็นที่โปรดปรานของพระบิดาเจ้าในสรวงสวรรค์

นักบุญลูกา ได้เขียนบันทึกไว้ในบทที่ 6 เกี่ยวกับความดีว่า “ท่านทั้งหลาย จงมีความเมตตากรุณา เหมือนอย่างพระบิดาของท่านมีพระทัยเมตตากรุณา” ทั้งในพระธรรมเก่าและพระธรรมใหม่ พระธรรมคำสอนที่ก้องกังวานอยู่เสมอ คือ “เราต้องการความเมตตาไม่ใช่เครื่องบูชา”

ความงาม คืออะไร

หญิงเอ๋ย พวกเขาไปไหนหมด ไม่มีใครเอาโทษเจ้าหรือ? นางนั้นทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ไม่มีผู้ใดเลย” และพระเยซูตรัสว่า “เราก็ไม่เอาโทษเจ้าเหมือนกัน จงไปเถิดและอย่าทำผิดอีก” ผู้ที่ได้รับการอภัยย่อมเป็นสุข นี่คือ ความงาม

ดังนั้น ปรัชญาของจุดมุ่งหมายและหลักสูตรการศึกษาที่เหมาะสมนำมาใช้อบรมลูกหลานและเยาวชน เพื่อให้เกิดการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม และแสดงออกถึงอารยธรรมของมนุษยชาติจะต้องประกอบด้วย ความจริง ความดี และความงาม ซึ่งถือว่าเป็นคุณค่าที่สำคัญและจำเป็นทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตของมนุษยชาติ