80th Birthday Anniversary
ภารดาประทีป มาร์ติน โกมลมาศ
|
.. แค่เพียงก้าวย่างเข้ามา ณ สถานที่แห่งนี้ ความรู้สึกแรกที่ได้สัมผัสคือ กลิ่นอายของความสงบและความเป็นธรรมชาติที่แฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เรากล้าการันตีให้ว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่ได้เข้ามาสัมผัสสถานที่แห่งนี้ เป็นต้องหลงเสน่ห์ของที่นี่อย่างแน่นอน “ University in a park” มหาวิทยาลัยในสวน ที่สร้างให้ผู้เรียนรู้มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ เพราะความสงบและร่มรื่นนี่เองที่จะมีส่วนช่วยอันสำคัญในการเกิดกระบวนการเรียนรู้อันไม่รู้จบให้กับผู้เรียนเพราะเราคงไม่อาจปฏิเสธว่า ความสวยงามของสถานที่บรรยากาศที่เอื้อต่อการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นบ่อเกิดแห่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ ผลิตความคิดที่งอกงามและสร้างสรรค์ ไอเดียหรือแนวคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในยุคแรก ๆ ที่ยังเรียกตัวเองว่าเป็น “วิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ” หรือ ABAC (เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2515) มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่กว่าจะมาเป็นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญทุกวันนี้ได้ มีบุคคลท่านหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อการก่อร่างสร้างมหาวิทยาลัยและเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
|
ภารดาประทีป มาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหนึ่งในผู้วางรากฐานทางการศึกษาให้กับมหาวิทยาลัย โดยในยุคที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีนั้น ท่านไม่ได้ให้ความสำคัญแต่งานด้านการบริหารเท่านั้น ทว่า สิ่งสำคัญของการทำงานด้านการศึกษาคือ การที่ผู้บริหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักนักศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุดังนั้น ภราดามาร์ติน จึงได้สอนหนังสือด้วยตนเองนับแต่เมื่อมารักษาการอธิการบดี จวบจนวันนี้ วันที่ภราดามาร์ติน โกมลมาศมีอายุครบ 80 ปี เราก็ยังคงได้เห็นท่านทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้สมบรูณ์พร้อมคุณูปการทางการศึกษาที่วางรากฐานการศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญยากที่จะมีผู้ใดเทียบ
ขุมทรัพย์ในตน
จากวลีที่กล่าวข้างต้น “ขุมทรัพย์ในตน” นั้น หมายถึง ความรู้ที่มนุษย์แสวงหา วลีนี้ได้ยินครั้งแรกเมื่อตอนที่ได้นั่งพูดคุยกับ ภราดาประทีป มาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ยิ่งเมื่อได้ฟังอย่างลึกซึ้ง ความหมายยิ่งกินใจความมากนัก บราเดอร์มาร์ติน เล่าให้ฟังว่า ขุมทรัพย์ในตนนั้น มาจากแนวคิดของ Pierre Lecomte du Nouy (ดูร์นุย) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เขียนหนังสือชื่อ “Human Destiny โดยเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมี “สะเก็ดไฟของพระเจ้า” (Divine Spark) ที่สถิตอยู่ซึ่งเป็น “สะเก็ดไฟแห่งการสร้างสรรค์” (Creative Spark) ซึ่งเกิดขึ้นกับทุกคน แต่มีวันดับมอดลงไป สะเก็ดไปจึงเทียบเท่ากับการมี
“ขุมทรัพย์ในตน”
“ตัวอย่างที่เห็นง่ายสุดคือ ให้ลองนึกถึงว่า เอาตัวเองเปรียบไปเป็นเด็ก โดนครูตี ทำโทษเพราะคิดเลขไม่ออก หรืออ่านเขียนไม่ได้ เจ้าสิ่งที่เรียกว่า Divine Spark มันไม่เกิดหรอก ไฟที่ลุกโชติแห่งการเรียนรู้ มันจะค่อยๆ มอดดับลงไป หรือในทางกลับกันเด็กดื้อที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ให้ทำอะไรก็ไม่ทำ จะเอาแต่ใจตน เด็กคนนั้นก็จะดับไฟของเขาเอง และท้ายสุด ไฟที่มีอยู่จะดับลงไม่เกิดการเรียนรู้อะไรเลย ”
การให้การศึกษาและอบรมนี้ ก่อนอื่นเลย ครูอาจารย์ต้องเข้าใจว่าเป็นกระบวนการที่ยาวนานและทำไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการทดลองความอดทนและความมีจิตวิญญาณของความเป็นครูอาจารย์ อย่างแท้จริง เพื่อให้ท้ายที่สุดผู้เรียนได้บรรลุถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบรูณ์ เพราะจุดหมายของการศึกษาที่บราเดอร์บอกคือ ต้องสะท้อนให้เป้าหมายปลายทางว่า ชีวิตคนนั้นเกิดมาทำไมมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และท้ายสุดแล้วไปไหน นี่คือกระบวนการให้การศึกษาและอบรมที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญสนใจเป็นพิเศษให้แก่ผู้เรียน
“LABOR MONIA VINCIT” จึงเป็นเหมือนกุศโลบายที่มหาวิทยาลัยนำใช้มาตั้งแต่แรกตั้ง เปรียบประดุจสัญลักษณ์ของการทำงาน ที่หมายถึง การให้ความสำคัญกับการทำงาน ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมปฏิบัติของคณะภราดามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และอาจเรียกได้ว่าเป็นอุดมคติของการทำงานเลยก็ว่าได้
เช่นเดียวกับบราเดอร์มาร์ตินเมื่อเริ่มเข้ามาบริหารงานและสอนในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ช่วงแรกๆ ก็ประสบปัญหามากมายในการดำเนินการบริหารปัญหาผู้เรียน ตลอดจนการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียนและสาธารณชน แต่แม้ว่าสิ่งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปสู่การวางรากฐานทางการศึกษาและการก่อเกิดมหาวิทยาลัยเอกชนในยุคแรกๆ ท่านก็มิได้ย่อท้อแม้แต่น้อย ไม่ละทิ้งเรื่องการงาน แม้ปัจจุบันภราดามาร์ตินจะมีอายุย่างเข้าปีที่ 80 แล้วก็ตาม แต่ท่านก็ยังคงมุ่งหน้าพัฒนาให้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญก้าวหน้าไปตามครรลองของการพัฒนา ทั้งในด้านของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สร้างตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตึกพยาบาลศาสตร์และตึกเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน
แรงใจที่ส่งให้บราเดอร์มาร์ตินพัฒนาและทำงานอย่างต่อเนื่อง และเรียกว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้เข็มแข็งคือความมุ่งมั่น
“เมื่อบราเดอร์ได้รับมอบหมายงานแล้ว ก็จะต้องแก็ปัญหาให้สำเร็จ และแต่ไหนแต่ไรมาแล้วทำงานอะไรก็ต้องทำจริงจัง ไม่ยอมแพ้ ยินดีรับฟังความคิดเห็น ยินดีรับต่อความเปลี่ยนแปลง และยึดถือความถูกต้องเป็นสำคัญ และปัญหาต่างๆ ก็สามารถลุล่วงไปได้ด้วยดี”
การทำงานของคณะภราดาในปัจจุบันจึงเปรียบเทียบกับการทำงานในโลกสมัยก่อน ที่เรามักจะพูดถึงคณะฤาษีของโลกตะวันตกที่เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ (The Monk of the West) เราจะหมายถึงนักบวชในคณะเบเนดิกติน ผู้มีอุดมคติต่อการทำงานว่า คือ การภาวนา การทำงานเป็นการบูชาอันสูงส่งที่มนุษย์พึงจะกระทำเพื่อถวายแด่พระเจ้าสรรเสริญพระเจ้า การทำงานยังมีความหมายอีกว่า มนุษย์ได้รับเกียรติให้มีส่วนร่วมกับพระผู้สร้างโลก ยิ่งกว่านั้น การทำงานยังมีคุณค่าของการไถ่บาป (Redemptive Value) อีกด้วย เพราะการทำงานทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความเกียจคร้าน กิเลส และความชั่วร้ายทั้งปวง
ไม่แปลกที่บราเดอร์มาร์ตินแม้ท่านจะขึ้นนั่งตำแหน่งผู้บริหารและประสบกับปัญหาในการดำเนินการวิทยาลัยมากมายเพียงใด แต่ท่านก็สามารถแก้ปัญหาไปพร้อมกับทำหน้าที่สอนหนังสือไปด้วย ความพิเศษของการสอนหนังสือด้วยนั้นอยู่ที่ การได้บ่มเพาะผู้เรียนไปพร้อมกับการสอนวิชาการ เช่น วิชาที่เป็นพื้นฐานของการเรียนที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญต้องเรียนกันทุกคนคือ วิชา Western Civilization วิชาที่ว่าด้วยพื้นฐานแห่งการเรียนรู้สรรพสิ่งรอบตัว ประวัติศาสตร์และอารยธรรมตะวันตก เป็นรากฐานของการสร้างความเป็นมนุษย์
วิชานี้ในสายตาของบราเดอร์มาร์ติน เป็นวิชาที่เป็นจุดกำเนินอารยธรรมโลก และเป็นวิชาที่มีศีลธรรมหรือ Ethic แทรกอยู่ในนั้น แทนที่บราเดอร์จะต้องแยกสอนศีลธรรมออกมาต่างหาก บราเดอร์ก็สอนวิชา Western Civilization ไปพร้อมกับเนื้อหาวิชาการทีเดียวเลย ยิ่งช่วยให้ผู้เรียนเรียนศีลธรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
บราเดอร์มาร์ตินเปรียบเทียบให้ฟังว่า การสอนเรื่องศีลธรรมที่แทรกอยู่ในเนื้อหานั้น เป็นเรื่องของการตัดสินใจของมนุษย์ที่มีเหตุและผล และยิ่งเมื่อได้นำมาเปรียบเทียบกับหลักทางศาสนา เช่น ศาสนาพุทธมีวิธีการมองโลกหรือ Perception ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการนิพพาน ยิ่งทำให้เห็นถึงเหตุและผลของการตัดสินใจในแต่ละการกระทำของมนุษย์ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกฎธรรมชาติที่ผู้เรียนต้องศึกษา
การเกิด “mind” หรือปัญญาของผู้เรียนขึ้นได้จึงขึ้นอยู่กับบรรยากาศ สภาพแวดล้อมและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เรียน เพราะสิ่งที่จะเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างขุมทรัพย์ที่อยู่ในตนเองได้ผ่านกระบวนการศึกษาและการอบรม (Formation Process) เพื่อให้บรรลุถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบรูณ์ (Complete Man) การศึกษาที่แท้จริงนั้นคือ การพัฒนาและการบูรณาการ 4 สมรรถนะของมนุษย์ ได้แก่ ร่างกาย ปัญญา อารมณ์ และจิตใจ ซึ่ง 4 สมรรถนะนี้รวมกันเป็นมนุษย์ขึ้นมา และต้องมีการพัฒนาและบูรณาการจนถึงขีดสูงสุดของศักยภาพของผู้เรียน โดยไม่ทำให้ผู้เรียนสูญเสียความเป็นตัวของตังเอง และกระบวนการให้การศึกษานี้ต้องตั้งอยู่ในบรรยากาศที่ผู้เรียนมีอิสรภาพและเสรีภาพในการเลือก ซึ่งผู้เรียนจะบรรลุซึ่งความสมบรูณ์ของความเป็นมนุษย์
Learning by Doing
Student Center คือแนวทางการสอนที่บราเดอร์มาร์ตินยึดถือมาโดยตลอดตั้งแต่ท่านสอนหนังสือ ซึ่งในระยะหลัง เรามักจะได้ยินว่าการศึกษาต้องให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องเป็นความต้องการของผู้เรียนเป็นหลักคือ Student Center นี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจของเอแบคในสมัยแรกๆ
จากการบอกเล่าของบราเดอร์มาร์ติน ท่านได้ถ่ายทอดประสบการณ์ส่วนตัวให้ฟังว่า “มีวันหนึ่งนักศึกษาคนหนึ่งเดินมาหาข้าพเจ้าและพูดเสียงดังว่า ที่นี่สอนอะไรก็ไม่รู้ สอนตามตำราหมดเลย ไม่มีภาคปฏิบัติ นักศึกษาบอกว่าเรียนบริหารธุรกิจต้องลงมือทำจริงและแนะนำด้วยว่าต้องทำอย่างนี้ ข้าพเจ้าบอกนักศึกษาว่าให้ไปเขียนโครงการมา ในไม่ช้านักศึกษาได้นำโครงการมาเสนอ เรียก โครงการจัดตั้งบริษัทจำลอง (Dummy Company) และข้าพเจ้าบอกให้นักศึกษาทำได้เลย ปรากฏว่าสิ่งที่ทำนั้นดีที่สุด ประสบความสำเร็จและสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษาอย่างดีและมีประสิทธิภาพ”
นี้คือตัวอย่างอันหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การจัดการศึกษาโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีผลดี เพราะหลังจากนั้นไม่นานมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทยก็ได้บรรจุโครงการบริษัทจำลองให้อยู่ในภาคปฏิบัติของหลักสูตรบริหารธุรกิจด้วย สิ่งนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ว่า สิ่งที่นักศึกษาทำไปนั้นถูกต้อง และมีความคิดสร้างสรรค์และเป็นประโยนช์ต่อแนวทางการจัดการศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยในระยะแรกและต่อมา
และเป็นอีกเครื่องพิสูจน์หนึ่งว่า “อย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูบาอาจารย์ของตน” ในหลักกาลามสูตร การเป็นครู อาจารย์ไม่ได้แปลว่าตนเองมีความรู้และเก่งกว่าลูกศิษย์ไปเสียทุกเรื่อง ความคิดเห็นของศิษย์บางแง่มุมย่อมคมคายกว่าอาจารย์ก็มีให้เห็น
กระบวนการให้การศึกษาและอบรม ครูอาจารย์ต้องทราบดีว่าในการอบรมเพื่อช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาได้ ผู้เรียนต้องมีทักษะขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์ การฟังและการพูด ทักษะการคิด (ความคิดสร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา) และคิดแบบใช้สายตาของปัญญามอง
ทักษะที่กล่าวมานั้น เป็นสิ่งที่ผู้เรียนทุกคนต้องเรียนรู้ ขณะเดียวกัน ครูอาจารย์ต้องคอยส่งเสริมให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ศิษย์กับศิษย์ ศิษย์กับอาจารย์ และอาจารย์กับอาจารย์ เพราะ
ตามความเห็นของ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ที่เน้นเรื่อง Learning by Doing และ ชองเปียเจต์ (Jean Piaget) ให้ความเห็นว่า การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน Two Developing Minds จะก่อให้เกิดปัญญาและวุฒิภาวะเชิงศิลธรรม (Moral Maturity) ขึ้นในตัวผู้เรียน
“การมีบรรยากาศที่สร้างมนุษย์ในเชิงปัญญา ช่วยกระตุ้นให้เกิดการคิด การเรียนรู้ของผู้เรียน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญต้องสร้างให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ใครที่จบจากที่นี่จึงถือเป็น A new man & A new woman เป็นคนใหม่ที่อยากเรียนรู้ตลอดเวลา”
คำครู
เมื่อตัดสินใจเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญแล้ว ระยะเวลา 4 ปีของการศึกษาจึงค่อย ๆ หล่อหลอมผู้เรียนให้เป็นคนใหม่ที่เมื่อจบการศึกษาออกไปแล้วเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและเป็นคนที่มีทัศนะเปิดกว้าง (Healthy and open-mined person) เมื่อร่างกายแข็งแรงย่อมต้องตั้งอยู่บนจิตใจที่แข็งแรงเช่นกัน “อีกสิ่งหนึ่งคือการมีทัศนคติที่เปิดกว้าง ยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่นและแก้ปัญหาข้อขัดแย้งโดยสันติวิธี เป็นความหมายแบบนี้ personal integrity มีความซื่อสัตย์สุจริต ไว้ใจได้ เชื่อถือได้ เด็กเอแบคที่จบไปต้องเป็นอย่างนี้”
สิ่งที่บราเดอร์มาร์ตินอยากเห็นเมื่อผู้เรียนเข้ามาศึกษาที่นี่คือผู้เรียนมีความคิดเป็นของตัวเอง มีความคิดอิสระหมายถึง การไม่ถูกครอบงำทางความคิดหรือเชื่ออะไรง่าย ๆ (นัยของม้าที่วิ่งโลดแล่นอยู่บนผืนน้ำคือ ความมีอิสระ)
แนวคิดการสอนเช่นนี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อโลกปัจจุบันเพราะในสภาพบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการท่วมท้นของเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารอิทธิพลเชิงลบของโลกาภิวัฒน์รังแต่จะทำให้คนที่ขาดวิจารณญาณในการไตร่ตรองข้อมูลต่าง ๆ ให้ถ้วนถี่ ทำให้ขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ ความคิดก็จะเอาพลิ้วไหวไปตามกระแส
อิทธิพลของการครอบงำจะมีอำนาจเหนื่อการตัดสินใจและความคิด “การมีความคิดอิสระและเป็นตัวของตัวเอง” จะเป็นเกราะป้องกันให้ผู้เรียนคิดไตร่ตรองพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนขึ้น และมีความคิดเชิงบวก คือสร้างสรรค์ ทำงานหนัก สู้ชีวิต ไม่ยอมท้อยถอย เวลามีอุปสรรคไม่ยอมแพ้ต้องต่อสู้
นอกจากนั้นแล้ว ความสามารถในเชิงการบริหาร ความรอบรู้ในสาขาวิชาที่เรียน (Professional Competent) และพร้อมที่จะออกไปประกอบอาชีพและพัฒนาความเป็นผู้นำของตนเองเพื่อสร้างสังคม ประเทศชาติให้อยู่ดีกินดี เป็นอีกแรงหนึ่งในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า “บัณฑิตเราต้องตอบแทนสังคมและมีความสามารถในการสื่อสารกับคนนานาชาติได้ทุกคน Able to communicate และปรับตัวเข้ากับสังคมได้”
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว สิ่งที่บราเดอร์มาร์ตินให้ความสำคัญคือ การสร้าง “คน” ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ใครก็ตามเมื่อได้เข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัย ย่อมเห็นความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เพราะที่นี่อุดมไปด้วยพรรณไม้ ความร่มรื่นนี้เองที่จะช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ทำให้สุขภาพกายและจิตแข็งแรง มีปัญญา กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และบรรยากาศเหล่านี้จะช่วยสร้างให้เกิดคนใหม่ (A new man/woman)
การบ่มเพาะผู้เรียนเพื่อให้เป็น “คนใหม่” จึงไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง โลกาภิวัตนีที่แผ่ขยายไปทุกอาณาบริเวณ การประคับประคองให้ผู้เรียนรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง สิ่งที่บราเดอร์มาร์ตินยึดถือมาโดยตลอดคือแนวทางของมีจิตวิญญาณของความเป็นครู และเชื่อว่า แนวทางบ่มเพาะผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความคิดเป็นอิสระ เป็นเอกเทศ ตั้ง่อยู่บนความถูกต้องเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ยิ่งความรวดเร็วและกระแสของระบบทุนนิยมที่ไม่สามารถต้านทานได้ ยิ่งต้องอบรมสั่งสอนผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความคิด พร้อมกับรอบรู้กับสถานการณ์ ปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง
ถ้อยคำที่ภราดาประทีป มาร์ติน โกมลมาศ บอกเล่าให้ทีมงานนิตยสาร MBA ฟังนั้น เป็นคำครูโดยแท้จริง ความยากลำบากในช่วงของ
การพัฒนาวิทยาลัยจนก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเป็นบทสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาตน พัฒนาความอดทนจากความยากลำบากที่เกิดขึ้น แต่ ภราดา มาร์ติน โกมลมาศ มิได้ย่อท้อต่ออุปสรรคเพราะท่านรู้ว่า ความยากลำบากนั้นจะช่วยพัฒนาความอดทน(โรม 5:1-5) ที่ในพระคัมภีร์ได้บอกไว้ และการทำงานของท่านแสดงให้เห็นว่า เป็นการทำงานที่ไม่ได้ทำไปเพื่อตนเองแต่เป็นการทำงานประหนึ่งว่างานนี้ทำเพื่อพระเจ้า (เอเฟซัส 6:5-9) และความเป็นผู้นำที่เสียสละเพื่อส่วนรวมโดยไม่นึกถึงความเหน็ดเหนื่อยหรือผลประโยชน์ส่วนตน
อัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยอัสสัมมชัญจึงไม่เพียงอยู่แค่การเป็นมหาวิทยาลัยทีเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ จัดการเรียนการสอนแบบ International เท่านั้น แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคณะภารดาที่ทุ่มเทและอุทิศตนเดพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง อย่าง ภารดาประทีป มาร์ติน โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและวางรากฐานทางการศึกษาให้มหาวิทยาลัยเติบโตได้อย่างสง่างาม
ยากที่สุด
บทเรียนของ “การยอมแพ้” สิ่งที่ยากแม้ว่าจะยึดถือความถูกต้องเป็นหลัก บางจังหวะคนเราก็ต้องรู้จักปล่อยวางและยอมแพ้ แต่การยอมแพ้ในที่นี้ไม่ได้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “สันติ” กรณีนี้ยราเดอร์มาร์ติน เล่าให้ฟังว่า มีครั้งหนึ่ง บราเดอร์ประกาศห้ามนักศึกษาทุกคนเล่นฟุตบอลบนตึกเซ็นคราเบรียลเพราะกลัวว่าจะไปทำลายข้าวของและพื้นกระเบื้องเสียหาย แต่มีนักศึกษาเกเร ไม่ยอมเชื่อฟัง บราเดอร์จะลงโทษเด็กแต่คณะภราดาได้ห้ามปรามไว้กลัวว่าเมื่อลงโทษเด็กไปแล้วจะเกิดการสไตรค์ เพราะมีนักศึกษาคนหนึ่งเป็นหัวโจก เรื่องอย่างนี้บางที่ก็ต้องยอม
ความกลัว
สิ่งที่บราเดอร์เขียนไว้ ก็อยากให้อ่านกัน เพราะบราเดอร์อบรมเด็กด้วยวิธีนี้มานานแล้วตั้งแต่ปี 1974 ด้วยวิธีของบราเดอร์ และปัจฉิมนิเทศกันทุกปีเลย สิ่งที่บราเดอร์สอนไม่เหมือนชาวบ้านนะ เพราะพวกเขาจะสอนว่าต้องมีความสมัครสมานสามัคคี อย่าทะเลาะกัน เด็กเอแบคทำไมถึงเก่งได้เพราะมีความคิดเป็นเอกเทศ บราเดอร์สามารถบอกอย่างนี้ได้ โลกสมัยใหม่ต้องการคนที่คิดแบบนี้ แต่พอบราเดอร์ไปแล้วคำสอนต่างๆ อาจจะค่อยๆ ลดลงไปและนั้นคือสิ่งที่บราเดอร์กลัว
ยีนหยัด
สมัยแรกๆ ของการก่อตั้งวิทยาลัย บราเดอร์ทำหน้าที่สอนหนังสือไปด้วย ชอบสอนวิชาประวัติศาสตร์ตะวันตกเพราะเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ผู้เรียนต้องรู้ กันยายน 2517 ซึ่งเป็นช่วงสอบของนักศึกษา นักศึกษาประท้วงไม่ยอมเข้าห้องสอบ บราเดอร์ในฐานะนายกสภาวิทยาลัย จึงเรียกประชุมสภาฯ มติสภาให้จัดการกับนักศึกษาที่ประท้วงอย่างเด็ดขาด บราเดอร์บอกว่า ถ้ามีวิชาเรียนต้องเข้าเรียน มีสอบต้องมาสอบ ถ้าไม่เข้าเรียนเข้าสอบ บราเดอร์จะปิดวิทยาลัย สุดท้ายเด็กๆ เข้ามาเรียนครบหมด และเอาเข้าจริงๆ หากไม่มีเด็กมาเรียน บราเดอร์ก็ตั้งใจว่าจะปิดวิทยาลัยจริงๆ เพราะขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภา และกรรมการสภาก็เห็นด้วย เป็นอันว่าเรื่องนี้จบเรียบร้อยและดำเนินการเรียนการสอนเรื่อยมาจนเป็นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในปี พ.ศ. 2515
พัฒนาเอแบค
เมื่อครู อาจารย์ คณะภราดา ผู้เรียนมีความคิดเป็นเอกเทศ เอแบคก็สามารถพัฒนาไปตามแนวทางของการพัฒนาได้ก็จะได้รับความเจริญรุ่งเรืองไม่จบสิ้น
*วารสาร MBA (No.171 Vol.15 November 2013)