แนวทางการป้องกันการเสพอบายมุขในโรงเรียน*

คำนำ

อบายมุขนับว่าเป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่งที่กัดกร่อนสังคมไทยมาโดยตลอด และยิ่งถ้าอบายมุขแพร่เข้าไปในโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานอบรมบ่มนิสัยอันดีงามแก่เยาวชนด้วยแล้ว นักเรียนซึ่งเป็นกำลังสำคัญระดับมันสมองของชาติในอนาคต ถ้าตกเป็นเหยื่อของอบายมุขก็ไม่อาจเป็นความหวังของชาติในอนาคตได้ ตรงกันข้ามกลับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่สังคมอีกด้วย ดังนั้น โรงเรียนในฐานะที่เป็นสถาบันพัฒนาบุคคลของชาติจึงมีหน้าที่โดยตรงต่อการพิจารณาและสกัดกั้นปัญหาอบายมุขมิให้เข้ามากล้ำกรายนักเรียนและในสถานศึกษาได้

สภาพปัญหา

อบายมุขที่นับว่าร้ายแรงและก่อปัญหาที่สำคัญที่สุดในสังคมเห็นจะได้แก่ ยาเสพติดให้โทษทั้งนี้เพราะผู้เสพติดจะถอนตัวคืนสู่สภาพเดิมได้ยาก และอาจก่ออาชญากรรมโดยไม่รู้ตัว หรือกล่าวโดยสั้นก็คือ ผู้ติดยาเสพติด ก็คือผู้ที่ตายทั้งเป็นนั่นเอง

        1. ยาเสพสิดให้โทษกำลังแพร่เข้าไปในสถานศึกษา จากสถิติกองสารวัตรนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการระบุว่านักเรียนที่ติดยาเสพติดประเภทต่าง ๆ จะอยู่ในระหว่าง 13-18 ปี เรียนในระดับ ม.1-ม.3 และมีแนวโน้มว่าการใช้ยาเสพติดในหมู่นักเรียนหญิงจะเริ่มมีมากขึ้นเท่า ๆ กับนักเรียนชาย ในโรงเรียนต่าง ๆ ในระดับมัธยมศึกษาต้น ๆ มักมีการใช้พวกสารระเหยและยากล่อมประสาทเป็นส่วนใหญ่ ในระดับการศึกษาสูงขึ้นจะมีการเสพยาที่ร้ายแรงมากขึ้น เช่น เฮโรอีน แอมเฟตามีน และกัญชา ส่วนในมหาวิทยาลัยพบการเสพกัญชามากกว่าเฮโรอีน และมีการใช้ยานอนหลับและยาระงับประสาทอยู่บ้าง (นโยบาย 5-8) คณะวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า นักศึกษาชายมีการใช้ยาเสพติดชนิดต่าง ๆ ดังนี้คือ กัญชา ร้อยละ 30-40 สารระเหยร้อยละ 25-35 ยากระตุ้นร้อยละ 10-15 ฝิ่นร้อยละ 5-7 ยากล่อมประสาทร้อยละ 2-6 และเฮโรอีนร้อยละ 1-2 นอกนั้นเป็นเหล้า เบียร์ บุหรี่ ส่วนนักศึกษาหญิงมีอัตราการใช้ยาทุกชนิดน้อยกว่านักศึกษาชายมาก ยกเว้นสารระเหยซึ่งมีอัตราการใช้ในหมู่นักศึกษาหญิงถึงร้อยละ 29-36

        นายแพทย์ฝน แสงสิงห์แก้ว และคณะศึกษาการเสพยาเสพติดของนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ถึง ปีที่ 5 และนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคชั้นปีที่ 1 ถึง 4 พบว่า มีนักเรียนถึงร้อยละ 23 ที่เคยใช้ยาเสพติด และร้อยละ 6 ที่ยังใช้ยาเสพติดอยู่ ช่วงอายุ 13-23 ปีหรือโดยเฉลี่ย 17.9 ปี ซึ่งร้อยละ 94 เป็นชาย และเป็นหญิงเพียงร้อยละ 6 (ฝน แสง      สิงห์แก้ว และคณะ 1974 หน้า 1)

        2. นักเรียนมีแนวโน้มการกระทำผิดอันเนื่องมาจากอบายมุขสูงขึ้น ความเข้าใจที่ว่า เยาวชนที่กระทำผิดอันเนื่องมาจากปัญหาอบายมุขมักเกิดแก่เยาวชนที่นอกสถานศึกษานั้น ข้อเท็จจริงนี้กำลังเปลี่ยนไป กล่าวคือ นับตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปี 2524 เยาวชนที่กำลังเรียนอยู่มีแนวโน้มการกระทำผิดสูงขึ้นเรื่อย ๆ (อนันต์ชัย เขื่อนธรรม พ.ศ. 2527 หน้า 25) และแม้ว่าปัญหายาเสพติดให้โทษจะเป็นอันตรายมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาถึงสถิติการผิดพระราชบัญญัติแล้วกลับพบว่า เยาวชนถูกจับในข้อหาผิด พ.ร.บ. การพนันมากที่สุด คือ ร้อยละ 45.8 ของการกระทำผิดทุกประเภทของเยาวชนรวมกัน อันดับรองลงมาได้แก่ ยาเสพติดให้โทษ ร้อยละ 11.9 ซึ่งนับว่าห่างไกลจากความผิดอันเนื่องมาจากการพนันอยู่มาก (เพิ่งอ้าง หน้า 38)

        3. สถานบริการเป็นสถานที่ที่นักเรียนนักศึกษานิยมไปเที่ยว สถานบริการถือเป็นแหล่งรวมอบายมุขทุกประเภท ตั้งแต่ ยาเสพติด ของมึนเมา การพนัน เพศสัมพันธ์ก่อนภาวะเหมาะสม และการคบหาเพื่อนที่จะนำไปสู่ความตกต่ำ เป็นมลภาวะทางสังคมอย่างหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อผู้อยู่รอบข้าง การเที่ยวสถานบริการนี้เป็นการยากที่จะใช้ตัวเลขเป็นเครื่องชี้ถึงสภาพปัญหาเหมือนกับปัญหาอบายมุขอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมายโดยตรงทั้งนี้เพราะว่าคดีที่มีสาเหตุมาจากการเที่ยวสถานบริการมักแฝงอยู่ในรูปคดีต่าง ๆ เช่น การทำร้ายร่างกาย ข่มขืน การลักลอบ ทำแท้ง การค้าประเวณี มั่วสุม ยาเสพติด ฯลฯ อย่างไรก็ดีรายงานจากหน้าหนังสือพิมพ์ประจำวัน การแสดงความห่วงใยเยาวชนของรัฐบาล และการประกาศห้ามโฆษณาสถานบริการคงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีถึงปัญหาของสถานบริการที่ก่อขึ้นในสังคม ที่เห็นได้ชัดคือก่อให้เกิดค่านิยมผิด ๆ ขึ้นในเยาวชน มีเยาวชนนักเรียนนักศึกษาจำนวนหนึ่งยอมขายตัวเป็นครั้งคราว ก็เพื่อที่จะได้เอาเงินไปแต่งตัวสวย ๆ อวดเพื่อนในสถานบริการเหล่านี้ ซึ่งเด็กสาวเหล่านี้ย่อมมีแนวโน้มที่ยึดถืออาชีพขายบริการเป็นอาชีพถาวร ทั้งนี้เพราะไม่เห็นว่าจะมีวิธีไหนจะได้เงินมานอกจากวิธีง่าย ๆ ดังกล่าวนี้ ปรากฏว่ามูลเหตุของการค้าประเวณีเกิดจากสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยเพิ่มขึ้นในขณะที่มูลเหตุทางเศรษฐกิจที่เคยเป็นที่เข้าใจกันมีสภาพลดลง (จากตารางที่ 4 นโยบาย 5-47)

     จากการรวบรวมของโรงพยาบาลศิริราชเกี่ยวกับผู้เข้ารับการรักษาอันเนื่องจากการลักลอบทำแท้งพบว่ามีถึงร้อยละ 32.7 ของจำนวนคนไข้ 1,667 คนที่กำลังเรียนหนังสืออยู่ ซึ่งเชื่อว่ามีมากกว่านี้อีกมาก ทั้งนี้เพราะจากการศึกษาในสถานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งพบว่ามีมากกว่าร้อยละ 50 ที่ลักลอบทำแท้งเป็นนักเรียนนักศึกษา

     ข้อเท็จจริงเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบอันเกิดจากสถานบริการว่าจะส่งผลร้ายอย่างไร จากการศึกษาเยาวชนคาทอลิกต่อการเที่ยวสถานบริการพบว่าเยาวชน ยอมรับว่า มีการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และหาความสำราญทางเพศสัมพันธ์ กิจกรรมเหล่านี้ย่อมกรุยทางให้เยาวชนดำเนินไปสู่ทางที่มืดบอดได้

        4ผู้ที่เสพอบายมุขชนิดหนึ่งมักจะเสพอบายมุขอย่างอื่นร่วมไปด้วย และย่อมก่อปัญหาสังคมหลายอย่างพร้อมกัน ผู้ไปเที่ยวสถานบริการมักเสพของมันเมา ยาเสพติด พร้อมกันนั้นก็มีแนวโน้มก่ออาชญากรรมด้านอื่น ๆ ตามไปด้วย ดังนั้นไม่ว่าเยาวชนจะเริ่มต้นการเสพอบายมุขชนิดใดก็ตาม (รวมทั้งคบเพื่อนที่ติดอบายมุขด้วย) ก็มีแนวโน้มให้เยาวชนอาจเริ่มต้นลองที่ เหล้า บุหรี่ก่อน จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นกัญชา มอร์ฟีน เฮโรอีน ในที่สุด ซึ่งการเพิ่มการเสพยานั้นย่อมมีปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น เพื่อน สถานบริการ เป็นตัวยุยงสนับสนุนอยู่

สาเหตุของการเสพอบายมุข

      1ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเสพอบายมุขโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเสพติดให้โทษในกลุ่มเยาวชนทั้งในและนอกโรงเรียน นักวิชาการต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่า มีสาเหตุมาจากปัญหาครอบครัวทั้งสิ้น (พรทิพย์ จิตรชร 2516, ฝน แสงสิงห์แก้ว และคณะ 1974, พรศรี พัฒนพงศ์ 2520, นพพร พงพิชสุข 2523, เสริน ปุณณหิตานนท์ 2527, นิรมล เปลี่ยนจรูญ 2530) กล่าวคือ การเสพยาเสพติดของเยาวชนไทยเกิดจากปัญหาครอบครัวและการเสพอบายมุขภายในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ โดยพบว่า ร้อยละ 85 ของเยาวชนที่ติดยาเสพติดมาจากครอบครัวที่ไม่มีความสุขแตกแยกหรือหย่าร้าง บิดามีภรรยาน้อย ดื่มสุรา แม่เล่นการพนัน หรือไม่ก็มาจากครอบครัวที่มีช่องว่างระหว่างวัย บิดามารดาไม่สามารถพูดกันให้เข้าใจ (พรศรี พัฒนพงศ์ 2520) ผู้เสพติดไม่จำเป็นต้องอยู่ในแหล่งการค้ายาเสพติด โดยพบว่า ร้อยละ 61.54 ของผู้เสพยาเสพติดไม่มีการค้ายาเสพติดในละแวกบ้าน แต่ได้ยามาจากที่อื่น (พรทิพย์ จิตรชร 2516) ดังนั้นบ้านใด ไม่ว่าจะมีฐานะใดถ้าประสบปัญหาครอบครัวแล้วบุตรหลานย่อมมีโอกาสติดยาเสพติดได้ทุกเมื่อ ภายในบ้านของเยาวชนเองก็เปรียบเสมือนโรงเรียนฝึกการเสพอบายมุข โดยตรงจากการศึกษาของ ดร. เสริน ปุณณหิตานนท์ พบว่า บิดามารดาของนักเรียนที่ติดยาเสพติดส่วนใหญ่ติดยาสูบหรือติดสุรา นักเรียนที่ติดยาสูบหรือติดสุรามาก่อน นักเรียนเหล่านี้มีความรู้สึกว่าตนได้รับความรักจากบิดามารดาน้อยกว่าเพื่อน ๆ

        2. การเลียนแบบเพื่อฝูง เมื่อที่บ้านมีปัญหาเยาวชนจึงไม่สามารถหาความอบอุ่นที่บ้านได้ สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และเพื่อนจึงเข้ามาแทนที่ ดังจะเห็นได้จากนักเรียนที่ติดยาเมื่อมีปัญหา มักที่จะปรึกษาเพื่อนมากกว่ามารดา และครูอาจารย์ และนักเรียนเหล่านั้นส่วนใหญ่รู้เรื่องยาเสพติดจากโรงเรียนและเพื่อน จากสื่อสารมวลชน และได้รับยาจากเพื่อน (ฝน แสงสิงห์แก้ว และคณะ 1974 หน้า 1-2) โดยจะเห็นได้จากสาเหตุของการเสพกัญชาเป็นครั้งแรกเกิดจาก การเลียนแบบเพื่อนมากที่สุด (นิรมล เปลี่ยนจรูญ 2530 หน้า 90) และสาเหตุของการไปเที่ยวโสเภณีของนักศึกษาชายเกิดจาก "เพื่อนชวนไป" และ "อยากลองมีประสบการณ์ทางเพศ" มากที่สุด (รัตนา ธนาพรสังข์สุทธิ์ 2528 หน้า 178) ทั้งนี้ทั้งนั้นย่อมเกิดจากคำบอกเล่าของเพื่อนเป็นสำคัญ อิทธิพลของเพื่อนมีมากถึงขนาดที่ว่า เยาวชนอาจก่ออาชญากรรมเพราะคำชักชวนของเพื่อน ทั้งนี้เกิดจากเยาวชนประสบปัญหาครอบครัวเหมือน ๆ กันจึงเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน จนกระทั่งร่วมมือกันในการต่อต้านสภาพความขัดแย้งในครอบครัว (อนันต์ชัย เขื่อนธรรม และคณะหน้า 32) อิทธิพลของเพื่อนจึงเป็นเหตุผลเดียวกันในการอธิบายปัญหาการเสพอบายมุขด้านอื่น ๆ ของเยาวชน เช่น การเที่ยวสถานบริการ หรือมั่วสุมตามร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ศูนย์การค้า และการก่อเหตุวิวาทกันของนักเรียน เป็นต้น

      3. สภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนปัจจุบันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เยาวชนหันไปหาอบายมุข เนื่องจากโรงเรียนในปัจจุบันมุ่งสอนให้เยาวชนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ทั้งนี้เพื่อชื่อเสียงของโรงเรียนเป็นสำคัญ ในอีกด้านหนึ่งนักเรียนจำเป็นต้องเร่งตัวเองแข่งขันเพื่อชนะเพื่อน ๆ ในห้อง การเรียนเป็นเรื่องของการแข่งขันมากกว่าแสวงหาความรู้ หรืออบรมบ่มนิสัยให้เยาวชนมีค่านิยมอันดีงาม ผลการวิจัยพบว่า ระบบการเรียนการสอนที่แข่งขันกันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เยาวชนหันไปพึ่งยาเสพติด เพราะนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้อาจมีปัญหาในการศึกษา เช่น การเรียนไม่ทันเพื่อน เบื่อโรงเรียน เบื่อครู ปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นเพราะข้อจำกัดในเรื่องสติปัญญา ความสามารถในทางร่างกายหรือทางสมอง สุขภาพและสาเหตุอื่น ซึ่งพบว่า นักเรียนในระดับชั้นมัธยมปลายมีการเสพยาเสพติดถึงร้อยละ 55.08 ของจำนวนนักเรียนที่มีการเสพยาเสพติดทุกชั้นเรียน (ดร. ดิเรก ศรีสุโข 2520 หน้า 104) นักเรียนในชั้นเรียนดังกล่าวต้องเร่งตัวเองเพื่อเอาชนะเพื่อนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยและคณะที่ดีที่สุด หางานทำง่ายที่สุด ทางออกคือเสพยาเสพติดเพื่อให้ดูหนังสือได้งาน ไม่ง่วง หลังจากการสอบเสร็จ นักเรียน นักศึกษาเหล่านั้นก็จะไปเที่ยวสถานบริการเพื่อหาความสำราญหลังจากต้องเครียดเหน็ดเหนื่อยมานานและเป็นการเฉลิมฉลองการสอบเสร็จหรือปิดเทอม เป็นต้น เยาวชนคาทอลิกที่ได้ทำการสำรวจการเที่ยวสถานบริการก็ได้ให้เหตุผลเดียวกันนี้ กล่าวคือ เพื่อการพักผ่อน และการฉลองต่าง ๆ โดยเยาวชนหารู้ไม่ว่าการเฉลิมฉลองนำไปสู่บ่วงบาศแห่งความตกต่ำ

และเนื่องจากว่าเยาวชนไว้วางใจเพื่อนมากกว่าครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่งบิดามารดา เรื่องที่น่าเศร้าจึงเกิดขึ้นที่ว่าบุคคลเหล่านี้ ไม่มีผลต่อการยับยั้งพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดได้กลุ่มบุคคลดังกล่าวส่วนมากไม่เคยมีการรับรู้เกี่ยวกับการใช้ยาเสพติดของนักเรียน (นิรมล เปลี่ยนจรูญ 2530 หน้า 111) บิดามารดาอาจกำลังลุ่มหลงกับอบายมุขอย่างใดอย่างหนึ่งหรือต้องทำมาหากิจจนลืมลูกหลานตนเอง ในขณะที่ครูบาอาจารย์อาจมีชั่วโมงสอนมากเกินไป หรือไม่ก็พะวงกับการหารายได้พิเศษเพื่อจุนเจือเงินเดือนที่ชักหน้าไม่ถึงหลังนี้เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงสถาบันครอบครัวและโรงเรียนที่แตกสลายลง

ปัจจัยใหญ่ ๆ ที่ทำให้นักเรียนเสพอบายมุขไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาระบบการเรียนการสอนในโรงเรียน ชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมสลายในสถาบันดังกล่าว นักเรียนไม่สามารถได้ค่านิยมที่ถูกต้องทั้งจากทางบ้านและทางโรงเรียนได้ สถาบันอื่น ๆ จึงเข้ามาแทนที่ นั่นคือเพื่อนและสื่อมวลชน ซึ่งอาจชักนำนักเรียนอย่างไร้ทิศทางปัญหาสังคมอันเกิดจากเยาวชนจึงปรากฏขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน เมื่อเยาวชนเหล่านี้โตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นแบบอย่างให้เยาวชนรุ่นต่อไปเอาอย่างอย่างไม่จบสิ้น

      4. ข้อสังเกตนักเรียนติดอบายมุข ในที่นี้จะมุ่งเน้นที่ปัญหายาเสพติดให้โทษ ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสถานศึกษา ร่วมกับปัญหาการเสพอบายมุขชนิดอื่น แม้ว่าอบายมุข อย่างอื่นจะเป็นปัญหาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ายาเสพติดให้โทษก็ตาม แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องย้อนกลับมาสู่ปัญหายาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้เพราะอบายมุขอย่างอื่น ๆ มักจะส่งผลให้มีแนวโน้มการเสพยาเสพติดเป็นสำคัญ เพราะผู้ใดหรือเมื่อใดก็ตามที่ตกเป็นทาสของมันแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะถอนตัวออกมาได้

นายแพทย์ดุสิต สิยะวนิช ได้ให้ข้อสังเกตถึงพฤติกรรมของนักเรียนที่ติดยาเสพติดไว้ดังนี้ คือ
        1) สุขภาพทรุดโทรม ผอมซีด ริมฝีปากเขียวคล้ำ เล็บมือนิ้วมีคราบเหลืองของบุหรี่
        2) ไม่สนใจต่อกิจวัตรประจำวันของตัวเอง แต่งกายสกปรกไม่เรียบร้อย
        3) ไม่เอาใจใส่ในการเรียน เบื่อหน่ายขาดเรียนบ่อย ๆ นั่งหลับในชั้นเรียน
        4) อารมณ์ฉุนเฉียวผิดปกติ
        5) มักทำตนเป็นคนลึกลับ มีลับลมคมใน แยกตัวกับเพื่อนฝูง
        6) ใช้เงินเปลืองมากผิดปกติ และมีการขอยืมเงินเพื่อน ๆ บ่อยขึ้น (เพื่อนำไปซื้อยา)
        7) มีเข็มฉีดยา หรืออุปกรณ์ที่ใช้เสพยาตลอดจนเม็ดยา
        8) พูดปด
        9) คบหาสมาคมกับผู้ติดยาเสพติด
        10) มีรอยเข็มฉีดยาตามแขนขา

        เมื่อพิจารณาถึงข้อสังเกตทั้ง 10 ประการดังกล่าวนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าเราอาจนำหลักการดังกล่าวเพื่อประยุกต์กับการเสพอบายมุขชนิดอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะผู้ติดยาเสพติดหรือผู้มีแนวโน้มที่จะติดยาเสพติด มักที่จะมีการเสพอบายมุขหลาย ๆ อย่างพร้อมกันไปยกตัวอย่าง เช่น มาสายบ่อยครั้งโดยเฉพาะวันจันทร์ (เพราะดิสโก้เธคเลิกดึก และมักมีรายการพิเศษในวันหยุด) หยุดเรียนโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่งตัวแปลก ๆ ไม่สนใจเรียนชอบเกี้ยวพาราสีหญิงสาว หรือนอนหลับในชั้นเรียน รวมกลุ่มกับเพื่อนนอกสถาบันศึกษาเป็นประจำทุกเย็น ย่อมเป็นที่สันนิษฐานได้ว่านักเรียนเหล่านั้น ไม่อยากกลับบ้านเพราะไม่อยากพบปัญหาในครอบครัว จึงใช้เวลาหลังเลิกเรียนเที่ยวสถานบริการ หรือรวมกลุ่มเพื่อฝูงชวนกันไปกินเหล้า เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้ย่อมส่อเค้าให้เห็นถึงแนวโน้มว่านักเรียนนั้น ๆ อาจติดยาเสพติดให้โทษไม่วันใดก็วันหนึ่ง ถ้ายังคงมีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ต่อไป

แนวทางแก้ไข

        เนื่องจากปัญหาการเสพอบายมุขของนักเรียนเกิดจากปัญหาครอบครัว และปัญหาในโรงเรียนเป็นสำคัญ จึงทำให้สภาพแวดล้อมอย่างอื่นเข้ามามีอิทธิพลต่อเยาวชน เช่น กลุ่มเพื่อน และสถานเริงรมณ์ต่าง ๆ ซึ่งเข้ามาชักชวน เย้ายวนให้เยาวชนหลงมัวเมากับอบายมุขเหล่านั้น ซึ่งเราไม่อาจห้ามมิให้เยาวชนพบกับสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดก็คือการให้ภูมิต้านทานแก่นักเรียน ซึ่งแท้จริงแล้วทั้งทั้งครอบครัวและโรงเรียนต่างก็มีหน้าที่สร้างภูมิต้านทานนี้แก่นักเรียนโดยตรงอยู่แล้ว และยังไม่สายเกิดไปที่จะกลับคืนสู่บทบาทดังกล่าวนี้อีกครั้งหนึ่ง โรงเรียนจึงมีหน้าที่ต้องให้ความกระจ่างในการแก้ปัญหาอบายมุขแก่ผู้ปกครองในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา และเป็นแหล่งวิทยาการความรู้บริการแก่สังคม ดังนั้นการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอบายมุขที่ดึงครอบครัวเข้ามาเกี่ยวข้องจึงเพื่อการแก้ไขปัญหาอบายมุขประสบผลดี

   1. ครอบครัว จากรายงานวิจัยเรื่อง "บทบาทของครอบครัวในการป้องกันการติดยาเสพติด" ของ ผศ. ดร. ลาดทองใบ ภูอภิรมณ์ แห่งสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ได้ให้ข้อเสนอแนะในการสร้างภูมิต้านทางยาเสพติดให้แก่นักเรียน โดยการศึกษานักเรียน ม.1 และ ม.3 รวม 667 คนไว้อย่างน่าสนใจคือ

1.1 เยาวชนไทยยังไม่ได้รับความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดอย่างถูกต้อง และมากพอที่จะรู้สึกหวาดกลัวต่อพิษภัยของยาเสพติด

1.2 บิดามารดา ผู้ปกครอง ครู และผู้เกี่ยวข้องกับเยาวชน เป็นบุคคลสำคัญที่ควรจะมีความรับผิดชอบในการป้องกันยาเสพติดในเยาวชนร่วมกัน ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงควรจะมีความรับผิดชอบในการป้องกันยาเสพติดในเยาวชนร่วมกัน ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงควรได้รับความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดทุกแง่ทุกมุม เพื่อจะได้ดูแลเยาวชนอย่างใกล้ชิดและสามารถช่วยแก้ไขปัญหาของเยาวชนเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษได้ทันท่วงที

1.3 บทบาทของบิดามารดาเกี่ยวกับอบรมเลี้ยงดูเด็ก ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดภายในครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการสร้างภูมิต้านทานการเสพติดของเด็ก จากการศึกษาพบว่าเด็กที่รายงานว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน และใช้เหตุผลมากเท่าใดเด็กจะมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติด และต้านอิทธิพลจากการชักจูงของเพื่อนมากเท่านั้น แต่ถ้าเด็กรายงานว่าได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนน้อยและใช้เหตุผลน้อย เด็กก็จะมีความใกล้ชิดกับยาเสพติดมาก ทั้งนี้แสดงว่าการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมากและใช้เหตุผลมาก มีส่วนสำคัญในการสร้างภูมิต้านทานการเสพติดในเด็กอย่างมีประสิทธิผล

การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เป็นวิธีอบรมเลี้ยงดูที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ส่วนการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุน มีความสำคัญเป็นอันดับรองซึ่งการอบรมเลี้ยงดูทั้งสองแบบ พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภูมิต้านทานการเสพติดของเด็ก บิดามารดาควรใช้การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ตั้งแต่บุตรยังอยู่ในวัยเด็ก แต่โดยธรรมชาติเด็กมักจะลืมง่าย ผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องหมั่นชี้แจงเหตุผลแก่เด็กอยู่เป็นนิจเพื่อเป็นการเตือนความจำของเด็กให้รู้จักควบคุมพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้นจนถึงวัยรุ่นตอนกลาง เด็กมีความพร้อมทางด้านสติปัญญา สามารถใช้ความคิด และแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเสรียิ่งกว่านั้นเด็กยังสามารถแสดงความคิดเห็นร่วมหรือไม่เห็นร่วมกับผู้อื่นได้ สำหรับการเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนเป็นการปฏิบัติของบิดามารดาต่อบุตร ด้วยการให้ความรักและยกย่องลูกตลอดทั้งแสดงให้ลูกรู้สึกว่าตนเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ นอกจากนี้บิดามารดายังให้ความเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุข และสนใจทำกิจกรรมร่วมกับบุตรด้วย และในการอบรมเลี้ยงดูเด็กทั้งสองแบบ ดังกล่าว หากมีการให้รางวัลหรือลงโทษ บิดามารดาควรกระทำให้เหมาะสมกับเหตุผลตามพฤติกรรมของเด็ก ฉะนั้นบิดามารดาควรจะตระหนักว่าหลักในการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่สำคัญยิ่งคือ การอบรมเลี้ยงดูเด็กแบบใช้เหตุผลมาก และรักสนับสนุนมาก

1.4 เสริมสร้างทัศนคติที่ดีของเด็กต่อการควบคุมสื่อมวลชนของผู้ปกครอง โดยการชี้แนะให้ ให้เด็กเห็นคุณประโยชน์ของการรับสื่อมวลชนที่มีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความพอใจที่บิดามารดาให้ความเอาใจใส่ต่อตนในการรับสื่อมวลชน และในที่สุดเด็กก็พร้อมที่จะรับฟังคำแนะนำของบิดามารดาและปฏิบัติตาม

1.5 กลุ่มเยาวชนที่ควรได้รับการเสริมสร้างภูมิต้านทานการเสพติด 3 ด้าน ซึ่งได้แก่ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการเสพติด การปฏิเสธการชักจูงจากเพื่อน และความสามารถในการที่จะไม่เอาตัวเข้าไปใกล้ชิดกับยาเสพติด มีดังนี้

1.5.1 เด็กที่บิดามีการศึกษาต่ำ ควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมากและใช้เหตุผลมากจากบิดามารดา จึงจะช่วยให้เด็กมีภูมิต้านทานการเสพติดทั้ง 3 ด้านสูง

1.5.2 เด็กจากครอบครัวขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมาก และใช้เหตุผลมาก พร้อมทั้งควรได้รับการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีต่อการควบคุมสื่อมวลชนของผู้ปกครองจึงจะช่วยให้เด็กมีภูมิต้านทานการเสพติดทั้ง 3 ด้านสูง

1.5.3 เด็กที่อาศัยอยู่กับบิดามารดา ควรได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบรักสนับสนุนมากจึงจะช่วยให้เด็กมีภูมิต้านทานการเสพติดทั้ง 3 ด้านสูง และถ้าบิดามารดาใช้การอบรมเลี้ยงดูแบบใช้เหตุผลสูง ก็จะช่วยให้เด็กสามารถต้านต่ออิทธิพลการชักจูงจากเพื่อนได้มาก

   2. ฝ่ายโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา

ปัจจุบันโรงเรียนเป็นสถานที่รับการผลักภาระการเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครองที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน โรงเรียนจึงเป็นที่รวมของเยาวชนซึ่งนับได้ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของโครงการนี้ การที่สังฆมณฑลดูแลทั้งโรงเรียน และชุมชน จึงเอื้ออำนวยต่อโครงการนี้อยู่มาก

2.1 สมาคมครู-ผู้ปกครองตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมมือกันพัฒนาเยาวชนระหว่างครอบครัวและโรงเรียนทุกครั้งที่มีการประชุมร่วมกัน ควรอย่างยิ่งที่จะหยิบยกปัญหาอบายมุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหายาเสพติดขึ้นมาพิจารณาหาทางแก้ไข

2.2 ในวันประชุมผู้ปกครอง ควรให้มีการอบรมผู้ปกครองให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว และสถาบันการศึกษา ว่ามีส่วนรับผิดชอบร่วมกันอย่างไร ชี้แนะถึงวิธีเลี้ยงดูบุตรอย่างถูกวิธี (โดยการเชิญวิทยากรจากภายนอก) มิใช่เป็นเพียงร่วมมือกันด้านการเรียนการสอนเท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาเยาวชนทั้งครบอีกด้วย

2.3 ให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีนักเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น

2.4 ให้ครูสอดส่องพฤติกรรมของนักเรียน ซึ่งมีท่าทีว่าประสบปัญหาครอบครัวหรือปัญหายาเสพติด หรืออบายมุขรูปแบบอื่น ๆ ให้รีบทำการบำบัดรักษา โดยปกปิดเป็นความลับโรงเรียนควรหาวิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้นักเรียนเหล่านี้รวมกลุ่มกันเพื่อลดอบายมุขเช่น บุหรี่ สถานบริการ เหล้า เป็นต้น จำไว้เสมอว่า ผู้เสพยาเสพติดไม่ใช่อาชญากร ตราบใดที่เขายังมิได้ก่ออาชญากรรม

2.5 ครูที่ปรึกษา (นักสังคมสงเคราะห์) และครูแนะแนว และในบางวิชา เช่น วิชาศีลธรรม และสุขศึกษา มีบทบาทอย่างมากหรือโดยตรงต่อการต่อต้าน ให้คำปรึกษาแก่นักเรียนในปัญหาอบายมุขและควรมีอย่างเพียงพอ

2.6 ให้ผู้บริหารโรงเรียนสนับสนุนกลุ่มสนใจ หรือกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนมากขึ้น เพื่อมุ่งให้เยาวชนใช้เวลาว่างในทางสร้างสรรค์ และให้มีการต่อต้านอบายมุขอย่างกว้างขวาง

2.7 ให้การศึกษาเรื่องอบายมุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานบริการ และยาเสพติดให้ครูอาจารย์ เยาวชนได้รู้เท่าทัน โดยอาจจัดเป็นนิทรรศการร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ

2.8 ให้มีการอบรมนักเรียนเป็นประจำทุกเดือน ในเรื่องปัญหาอบายมุข โดยการจัดหาสไลด์ภาพยนตร์ หรือการบรรยายพิเศษจากวิทยากรชำนาญการภายนอก

2.9 กวดขันระเบียบวินัยของครูให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักเรียน และควรเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาบรรจุครูเข้าสอน

2.10 ให้กำหนดเขตปลอดอบายมุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุหรี่ในโรงเรียน กวดขันสินค้าที่เข้ามาจำหน่ายในโรงเรียน ซึ่งมักมีการ์ตูนลามก หรือหนังส่องครั้งละบาทซึ่งมักจะมีภาพลามกอยู่ในนั้นด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้เยาวชนทดลองเสพอบายมุขมากขึ้น

2.11 ควรมีรางวัลให้แก่นักเรียนที่ประกอบคุณงามความดีในแง่ศีลธรรม โดยประกาศให้เป็นที่รู้ทั่วกันเพื่อเป็นแบบอย่าง และยังความภาคภูมิใจแก่ผู้ปกครองในการเลี้ยงดูบุตรหลาน

2.12 ควรให้มีการเข้าเงียบ หรืออบรมฟื้นฟูจิตใจนักเรียน ตามคำสอนศาสนาของเยาวชนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

2.13 ในการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวทั้งหมด จะต้องเรียกประชุมครูเพื่อร่วมปรึกษาวางแผนเชิงปฏิบัติการในทุกระดับ กล่าวคือ ตั้งแต่แนวคิดจนกระทั่งถึงวิธีการ ขั้นตอนปฏิบัติ จำไว้เสมอว่า จะต้องให้ครูตระหนักถึงปัญหานี้ และให้ร่วมมือกันด้วยความสมัครใจ


*เป็นการบรรยายตอนหนึ่ง ในการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิก วันที่ 29 สิงหาคม 2531.
*ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ