การเคลื่อนไหวทางการศึกษาทั่วๆ ไป 2528-29

1. บทบาทของพระศาสนจักรทางการศึกษา

2. ข้อเสนอแนะของเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนในการจัดการ                 ศึกษาของโรงเรียนเอกชนให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

3. แนวโน้มทางการจัดการศึกษา ตามแผนพัฒนาการศึกษา ศาสนาและศิลปวัฒนธรรมระยะที่ 6                             (2530-2534)

1. บทบาทของพระศาสนจักรทางการศึกษา

พระศาสนจักรมีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษามาตั้งแต่ต้น นอกจากการให้การศึกษาอบรมเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนของศาสนาแล้วยังได้มีการจัดตั้งโรงเรียนให้ความรู้ทางด้านวิชาการอื่นๆ ควบคู่กับการสร้างวัด โดยเหตุนี้โรงเรียนของวัดจึงเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ นอกจากการให้การศึกษาควบคู่ไปกับวัดยังมีคณะนักบวชชาย-หญิงอีกเป็นจำนวนมากที่เห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาได้เข้ามามีบทบาทร่วมด้วย โรงเรียนหรือสถาบันของการศึกษาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่างก็ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระศาสนจักรทางการศึกษาที่สำคัญ

1. ภาระหน้าที่ที่จะต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ ก็คือ ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องให้แก่เยาวชน

2. การกำหนดแนวปฏิบัติ การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งสู่เป้าหมายเพื่อพัฒนาคนทั้งครบรู้จักรับผิดชอบ  ต่อตนเองและสังคม

3. อาศัยการร่วมมือทำงานอย่างจริงจังของทุกฝ่าย เพื่อให้การศึกษามีเอกภาพ มิใช่ต่างคนต่างทำ สถาบันการศึกษาใดที่มีความมั่นคงพร้อมแล้วด้านคุณภาพและเสถียรภาพควรให้ช่วย เหลือแบ่งปันกับสถานศึกษาที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ ด้วยสายสัมพันธ์แห่งความรักแบบโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ช่วยเหลือกันและกันด้านวิชาการ บุคลากร และงบประมาณ

4. บทบาทของพระสงฆ์ และนักบวช ทางการศึกษา ในส่วนที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน คือเป็นที่พึ่งทางใจเป็นผู้ชี้ทาง เป็นที่ปรึกษาปัญหาชีวิต เป็นผู้เสนอวิงวอนต่อพระเป็นเจ้า ทำตนให้เป็น สงฆ์หรือนักบวชที่น่ารัก น่าเคารพก็พอแล้ว สิ่งอื่นจะตามมาเอง  แต่ถ้าตรงข้าม แม้ปรากฏภายนอกแสดงว่าเก่ง ร่ำรวยใช้เทคโนโลยีดีสักเพียงใดก็คงจะไปไม่รอดและไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ใด หรือแก่บ้านเมืองมีแต่จะเป็นที่สะดุดฉุดให้สถาบันการศึกษาอื่นๆ และศาสนาพลอยเสื่อมไปด้วย

5. สิ่งที่สำคัญที่สุดในการให้การศึกษาแก่เยาวชน ควรจะมุ่งสอนให้รู้จักคิดเป็น คิดชอบ ทำเป็น ทำชอบ และแก้ปัญหาโดยวิธีที่ชอบด้วยตนเองตามอัตภาพ 

6. การจัดการศึกษา ควรมุ่งที่จะพัฒนา "คน" ไม่ใช่พัฒนาอาคารสถานที่เป็นเอก จนไม่มีเวลาไม่มีเงินมาพัฒนาคนน่าที่จะสนใจ ทุ่มเทปัจจัยที่มีเพื่อพัฒนาครูให้มีคุณภาพ ให้ความสนใจ รักเด็กและทุ่มเทให้กับตัวเด็กและเยาวชน ซึ่งสำคัญกว่าความสูงใหญ่ของตึกมากนัก

7. ให้ความสำคัญและเวลาในการให้การอบรม และสอนคำสอนให้แก่นักเรียนคาทอลิกอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นความต้องการ
ของพระศาสนจักรปัจจุบันเพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นคริสตชนที่เปี่ยมด้วยความเชื่อและความรู้ทางพระวรสารอย่างดีเพื่องานศาสนสัมพันธ์กับศาสนิกชนอื่น ในขณะเดียวกันก็มีความรับผิดชอบให้การอบรมแก่นักเรียนอื่นๆ ให้มีความเลื่อมใสศรัทธาในสัจธรรมของศาสนาของตน

2. ข้อเสนอแนะของเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนในการจัดการศึกษาในโรงเรียนเอกชนให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน

1. ให้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 เป็นอย่างดีเพื่อยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยเฉพาะในหัวข้อของการบริหารและการควบคุม โรงเรียนเอกชนในเรื่อง

               -  การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการของโรงเรียน ซึ่งจะต้องจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง

               -  บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานของกระทรวง หรือของจังหวัดซึ่งเราจะต้องประสานงาน เมื่อเกิดมีปัญหาที่เกี่ยวกับครู

              -  บทกำหนดโทษควรจะได้ศึกษาอย่างรอบคอบเพื่อที่จะได้เป็นแนวทางการทำงานป้องกันดีกว่าแก้โดยเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัด ที่ต้องเผชิญปัญหากับศึกษาธิการอำเภอหรือจังหวัด ที่หลายท่านปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตรงตามตัวอักษรที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.

2. กำหนดให้มีการวางแผนพัฒนาโรงเรียนทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวมีคณะกรรมการร่วมกันวางแผนการพัฒนาโรงเรียนกำหนดโครงการที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาโรงเรียนมีผู้รับผิดชอบร่วมกันให้ทุกคนในโรงเรียนได้รับรู้และมีส่วนเกี่ยวข้องทางฝ่ายสถานศึกษาเอกชนก็พร้อมที่จะออกไปช่วยวางแผนในโรงเรียน

3. ภาครัฐบาล มีการตื่นตัวและจัดการพัฒนาโรงเรียนอย่างมีแผน มีโครงการ จัดอบรมบุคลากร อบรมด้านวิชาการต่างๆ
จัดอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย มีการประกวดความดีเด่นของผลงานต่างๆ โดยเฉพาะในระดับมัธยม ที่เราจะเห็นได้เด่นชัดจำเป็นที่เราต้องติดตามและพัฒนาโรงเรียนของเราให้รุดหน้าให้ได้ มิฉะนั้นโรงเรียนเอกชนจะไปไม่รอด

4. ปรับปรุงอาคารสถานที่ให้สะอาด ร่มรื่น มีอุปกรณ์การเรียน การสอนอย่างเพียงพอปลูกต้นไม้ภายในบริเวณโรงเรียนทั้งไม้ประดับและไม้ยืนต้น มีอุปกรณ์ที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนอย่างเพียงพอ

5. การตรวจโรงเรียน ทาง ส.ช. ยึดเป็นแนวการตรวจ คือ 

           1. ความสะอาด ความร่มรื่น ความเป็นระเบียบเรียบร้อย

           2. การจ่ายเงินเดือนครู และการให้สวัสดิการครู

          3. คุณธรรมและค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ เน้นให้เด็กรู้จักพึ่งตนเอง ช่วยตัวเองได้ ลดความอิจฉาริษยาลง รู้จักประหยัดและทำงานร่วมเป็นหมู่คณะ เป็นประชาธิปไตย มีน้ำใจ มีความรับผิดชอบ และขยันเป็นต้น (ความมุ่งหวังของ ส.ช.)

6. โรงเรียนควรมีบทบาทในการให้บริการต่อสังคม จัดกิจกรรมให้แก่ชุมชน มีการประชาสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน เพื่อที่จะได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนเป็นอย่างดี มีการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐโดยใกล้ชิด มีผลงานปรากฏสู่สังคม เพื่อความเจริญ และความอยู่รอดของโรงเรียน

7. การเตรียมพร้อมเพื่อต้อนรับการวางแผนครอบครัวที่มีผลที่ทำให้ เด็ก-พลเมือง เกิดน้อยลง เด็กนักเรียนก็ต้องลดน้อยลงและรัฐบาลไม่ยอมลดการรับนักเรียน เป็นปัญหาแก่โรงเรียนในชนบท และโรงเรียนที่มีนักเรียนลดลงจำต้องแสวงหาลู่ทางร่วมกันเพื่อแก้ปัญหากันต่อไป

3. แนวโน้มทางการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาระยะที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) โดยสรุป

เน้นเรื่องการพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพ สามารถพัฒนาชีวิต สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพให้เยาวชนเป็นผู้มีศีลธรรม คุณธรรม ค่านิยมที่ดี ประพฤติตนตามหลักศาสนาและวัฒนธรรม มีความเข้าใจในปัญหาสังคมและแนวทางที่จะแก้ปัญหาพัฒนาสังคมร่วมกัน รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักแก้ปัญหา รู้จักปรับตัวให้ทันและสอดคล้องสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ทั้งกายและใจ ฯลฯ

กำหนดนโยบาย ส่งเสริมการเรียนการสอน ศาสนา ศีลธรรม และจริยศึกษาให้นักเรียนได้รู้หลักธรรมและแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง มุ่งพัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรม พื้นฐาน 4 ประการ ตามพระบรมราโชวาทของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ตามหลักธรรมของศาสนาโดยเฉพาะในเรื่องความกตัญญูกตเวที ความมีระเบียบวินัย ความสะอาด ความซื่อสัตย์ ความขยันหมั่นเพียร การพึ่งตนเอง การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ การประหยัด การใช้ชีวิตเรียบง่าย เป็นต้น

กำหนดมาตรการและเป้าหมายของการศึกษา เพื่อส่งเสริมจริยศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายด้วยการตั้งศูนย์วิจัย การเรียนการสอนศาสนา ด้านหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอนพร้อมทั้งฝึกอบรมครูด้วย ส่งเสริมกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ ในสถานศึกษา เช่น ลูกเสือ เนตรนารี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้ทำกิจกรรมตามหลักการ วิธีการของกิจกรรมเสริมหลักสูตรเหล่านั้น เพื่อให้มีผลต่อการสร้างคุณธรรม และค่านิยมที่เหมาะสมให้แก่เยาวชน

นอกจากนี้การจัดการศึกษา เราควรจะได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติงานของสถานศึกษาในปีการศึกษา 2529 ที่ปลัดกระทรวงสั่งถึงอธิบดีทุกคน กำชับให้สถานศึกษาทุกสังกัดทราบเพื่อปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน (ได้แนบแนวทางปฏิบัติงานของสถานศึกษามาพร้อมกับบทความนี้แล้ว) 


   *เป็นการบรรยายตอนหนึ่ง ในการสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิก วันที่ 20 สิงหาคม 2529