การศึกษาและการวิเคราะห์สถานการณ์ของโลกในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอันมีผลสะท้อนต่ออนาคตของเยาวชนในศตวรรษนี้

รายงานที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาโดยสรุปจากการวิเคราะห์สถานการณ์ของโลกในเชิงเศรษฐกิจและสังคม อันมีผลสะท้อนต่ออนาคตของเยาวชนในทศวรรษนี้ (1980) โดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การยูเนสโก ข้อเท็จจริงและตัวเลขสำคัญเกี่ยวกับเยาวชนที่ใช้ประกอบในรายงานฉบับนี้ ได้มาจากหน่วยงานอื่นของสหประชาชาติ เช่น ESCAP, UNICEF, WHO รวมทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

เยาวชนหมายถึงใคร?

ประเทศส่วนมากมักให้คำจำกัดความเยาวชนว่า เป็นบุคคลที่มีอายุระหว่าง 15 ปีถึง 24 ปี

ตัวเลขสำคัญเกี่ยวกับเยาวชนที่ควรทราบคือ

ใน ค.ศ. 1980 มีเยาวชน (15-24 ปี) ทั้งโลกประมาณ 850 ล้านคน ในจำนวนนี้ 190 ล้านคนอยู่ในประเทศอุตสาหกรรม

โดยการคาดคะเน ใน ค.ศ. 1990 จะมีเยาวชน (15-24 ปี) ทั้งโลกประมาณ 1000 ล้านคน ในจำนวนนี้ 176 ล้านคนเป็นเยาวชนจากประเทศอุตสาหกรรม (โปรดสังเกตดูว่าจำนวนเยาวชนในประเทศอุตสาหกรรมของลดน้อยลง) นั่นคือจำนวนเยาวชนในปัจจุบันเท่ากับ 1 ใน 5 ของพลเมืองโลก

ส่วนในประเทศไทยเรานั้น ปรากฎว่าใน พ.ศ. 2520 มีเด็กและเยาวชน (1-24 ปี) 3,641,150 คน อยู่ในสังคมเมืองและ 24,248,200 คน ในชนบท

ในปี พ.ศ. 2523 จำนวนเด็ก (1-14 ปี) มีประมาณ 19,378,000 คน ซึ่งเท่ากับ 41.08% ของประชากรทั้งหมด เยาวชน (15-24 ปี) มีประมาณ 9,742,000 คน ซึ่งเท่ากับ 20.65% ของประชากรทั้งหมด และผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปมีประมาณ 18,053,000 คน ซึ่งเท่ากับ 38.27% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ

ถ้าเราพูดถึงเด็กและเยาวชนในวัยเรียน ตัวเลขที่น่าสนใจมีดังนี้

ใน พ.ศ. 2521 เด็กและเยาวชนในวัยเรียนมีถึง 22,540,855 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถาบันการศึกษารวมทุกระดับ (ประถม-อุดมศึกษา) เพียง 9,742,000 คน เท่านั้น ที่เหลืออีก 12,798,855 คน อยู่นอกระบบโรงเรียน ในปัจจุบัน พ.ศ. 2528 จำนวนเด็กและเยาวชนในสถาบันการศึกษาทุกระดับ (ไม่รวมมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) มีเพียง 10,917,000 คน

ความคิดเห็นทั่วไปของผู้ทำการวิจัยซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

  1. เยาวชนและการว่างงานหรือไม่มีงานทำ เป็นปัญหาของสังคมในทศวรรษนี้ (1980S)

  2. โอกาสที่เยาวชนจะมีงานทำและความปรารถนาที่จะได้งานทำในตลาดแรงงาน เป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศอุตสาหกรรมและประเทศที่กำลังพัฒนา

  3. ปัญหาการว่างงานของเยาวชน เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของสังคมทุกสังคม

  4. ปรากฏการณ์ที่เยาวชนไม่มีงานทำ ซึ่งดูเหมือนมีอยู่ทั่วไปและดูแต่ผิวเผินแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ความจริงนั้นปรากฎการณ์นี้เป็นเครื่องหมายชี้บอกถึงปัญหาที่สลับซับซ้อนกว่านี้ เป็นปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ลึกในสังคม และเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของสังคม เป็นต้น ในเรื่องของ “คุณค่า” หรือ “ค่านิยม” ซึ่งเป็นรากฐานของสังคม

  5. หลายคนเข้าใจว่าอุตสาหกรรมได้ขยายตัวมากขึ้น และพร้อมที่จะรอรับแรงงานของเยาวชนอยู่ แต่ความจริงนั้นก็คือ เราไม่มีผลงานวิจัยใดที่พิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือเยาวชนกำลังเป็นชนชั้นอีกชนชั้นหนึ่งที่สังคมต้องยอมรับและกำลังจะเป็นชนชั้นที่ว่างงาน

  6. ในปัจจุบันนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วมาก เร็วมากเสียจนว่าไม่มีใครจะใช้เวลาตลอดชีวิตเพื่อศึกษาวิถีการเปลี่ยนแปลงให้เสร็จในชีวิตนี้และวางแผนเพื่อประสานต่อได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในสังคมเร็วเสียจนเราไม่สามารถก้าวตามทันเสียด้วยซ้ำ ยิ่งกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีรูปแบบไม่เหมือนอดีต เพราะฉะนั้น บุคคลที่หวังจะเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตเพื่อมาแก้ปัญหาสังคมปัจจุบันจึงต้องประสบกับความผิดหวัง ทั้งนี้เพราะสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ต่างกันไม่เหมือนกันความคิดที่ว่าเราสามารถเรียนจากอดีตเพื่อนำบทเรียนนั้นมาแก้ปัญหา ปัจจุบัน กลับกลายเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาปัจจุบันเสียด้วยซ้ำ

  7. ทุกวันนี้ สังคมอุตสาหกรรมและสังคมเมือง พยายามพูดภาษา “วัยรุ่น” หรือภาษาเยาวชน แต่ความจริงนั้นสังคมพลาดไม่เข้าใจปัญหาแท้จริงของเยาวชนเลย ทั้งนี้ เพราะผู้ใหญ่ในสังคม นักวางแผนของสังคม มัวแต่คิดคำนวณแบบเหตุและผล ซึ่งเป็นตรรกวิทยาของสังคมที่เยาวชนเห็นว่า “ไม่มีเสน่ห์เหลืออยู่” (a world without enchantment)

  8. และการมองโลกคนละแง่นี้แหละ คือ มองแบบตรรกของสังคมที่มีเหตุและผลกับมองแบบสังคมที่เยาวชนมอง (แบบของวัยรุ่นคือใช้ความรู้สึกและอารมณ์ตามวัย) เป็นความยุ่งยากของสังคม มันเป็นเสมือนเกมส์กีฬาที่ทารุณโหดร้ายที่สุดที่จะต้องเล่นกันระหว่างผู้ใหญ่กับเยาวชน มันเป็นเกมส์กีฬาที่มีส่วนประกอบของอคติ และความไม่แน่นอนในความสัมพันธภาพระหว่างผู้ทรมานและผู้ถูกทรมาน

เยาวชนกับสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในศวรรษที่แล้ว (1968-1978)

ก่อนที่จะวิเคราะห์เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญขอเตือนเรา 2 ข้อ คือ

  1. ในทศวรรษนี้คือตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นไป เยาวชนในแทบทุกสังคมจะเปลี่ยนแปลงเป้าหมายในการหาประสบการณ์ของชีวิต การเปลี่ยนแปลงนี้มีแนวโน้มไปในทางที่ไม่ดี

  2. ผู้ใหญ่หรือผู้วางแผนจะต้องมีการประเมินผลกันใหม่ว่า ตนเองมีความเข้าใจเยาวชนถูกต้องเพียงใด ในแง่ที่ว่าเยาวชนนั้นกลายเป็นชนชั้นที่สำคัญของสังคมเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เวลาเราพูดถึงเยาวชนเรามักจะพูดถึง

  • การเผชิญหน้ากับผู้ใหญ่ (Confrontation)

  • การต่อต้านสถาบัน

  • การท้าทายอำนาจของผู้ใหญ่

  • การต่อต้านประเพณีและวัฒนธรรม (เช่น พวกฮิปปี้)

  • การสร้างวัฒนธรรมของตัวเอง (เช่น sub culture groups ต่างๆ เป็นต้น)

ในช่วง 10 ปีที่แล้ว กลุ่มวัยรุ่นที่ต่อต้านสังคมมักจะเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เป็นต้น ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และต่อมาก็ขึ้นในลาตินอเมริกาและเอเซีย (ในเมืองไทยเราก็มีการเดินขบวน เช่น ใน พ.ศ. 2516-18-19 หรือ ค.ศ. 1973-74-75 เป็นต้น)

แต่นักสังคมวิทยาทั้งหลายไม่เคยพูดถึงเยาวชนหรือวัยรุ่น คนหนุ่มสาวที่ไม่มีการศึกษา เยาวชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าพวกมีการศึกษาระดับสูง (ดูสถิติข้างต้น) การต่อต้านสังคมของเยาวชนในยุคนั้น ยังคงมีผลกระทบและมีอิทธิพลมาถึงสังคมปัจจุบันในยุคนั้นเยาวชนเน้นความจริงใจพูดตรงไปตรงมาไม่มีการเมืองแอบแฝง ไม่มีพิธีรีตองเป็นกันเอง มีความยุติธรรมในสังคม ฯลฯ สถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยและผู้บริหารถูกเยาวชนจับมาซับฟอก ในเรื่องของความถูกต้องที่สถาบันควรมีต่อสังคม แต่การเผชิญหน้ากับผู้ใหญ่ของเยาวชนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือการเดินขบวนต่อต้านสถาบันในอดีตไม่ได้ดลบันดาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบถาวรขึ้นในสังคม ทั้งนี้เพราะเยาวชนในยุคนั้นยังคงมีความคิดแบบชนชั้นกลาง พวกร่ำรวย (สำหรับในประเทศไทยนั้นการต่อต้านของเยาวชนดูจะมีผลกระทบที่อยู่ยืนนาน แล้วแต่จะมองกันไปในแง่ใด) การเดินขบวนและการต่อต้านของเยาวชนในยุคนั้นมีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่า โลกนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากมายและเศรษฐกิจของโลกจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขีดสุดที่ทุกคนมีกินใช้อย่างสุขสบาย 

สิ่งที่เยาวชนในยุคนั้นต้องการก็คือในสถาบันและสังคมยอมรับความคิดของเขา ให้สังคมเลิกพิธีรีตองมากมาย ให้สังคมให้ความเสมอภาคแก่ทุกคน (ในประเทศไทยนักเรียน นักศึกษาเสนอให้มีการผ่าตัดหลักสูตร เลิกใส่เครื่องแบบ ทำตัวแบบง่ายๆ เป็นกันเอง ฯลฯ) 

สรุปก็คือ เยาวชนยุคนั้นฝันว่าเขาสามารถปฏิรูปสังคมให้เป็นแบบ Utopia (เป็นโลกที่มีแต่ความสุขปราศจากทุกข์) ได้แต่นักศึกษาไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่เชื่อว่าโลกเรานี้มีความอุดมสมบูรณ์มากมาย ความคาดหวังว่าโลกนี้จะร่ำรวยขึ้นมีกินมีใช้กันทั่วหน้า มีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงไม่ได้กี่ปี มหาอำนาจครั้งนั้นเชื่อว่าตนเองจะรื้อฟื้นและสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นใหม่ให้รุ่งเรืองโลกจะมีสันติภาพถาวร ฉะนั้น พวกผู้ดีมีสกุล นักลงทุน มหาวิทยาลัย รัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศ ต่างก็มีความเชื่อเช่นนั้น คือ มนุษย์ทุกคนในโลกจะประสบความสมบูรณ์ทางวัตถุ แม้แต่ประเทศโลกที่สามก็มีแผนเศรษฐกิจที่ทำให้ประชากรของชาตินั้นๆ เชื่อในเรื่องการอยู่ดีกินดีภายในของชีวิตของตน        

เมื่อมองย้อนหลังไปดูเมื่อปีทศวรรษ 1960 นักเศรษฐกิจยืนยันว่ายุคนั้นเป็นยุคทองจริงๆ สำหรับเศรษฐกิจของโลก ซึ่งยุคทองนี้ดูเหมือนจะไม่กลับมาอีกแล้ว

ปรากฏการณ์การต่อต้านของเยาวชนในเกือบ 2 ทศวรรษที่แล้วในประเทศอุตสาหกรรมได้ถูกโหมกระพือข่าวโดยสื่อมวลชนไปยังทุกทิศานุทิศและต่อมาเยาวชนในโลกที่สามก็เริ่มไหวตัว รวมตัวกันขึ้นเป็นขบวนลูกโซ่ ทำการปฏิรูปสังคมที่ตนอาศัยอยู่

เป้าหมายของเยาวชนคืออะไร และผู้ใหญ่เข้าใจเขาหรือยัง        

การชะงักงันของเศรษฐกิจ ความขาดแคลน และเยาวชน (SCARCITY & YOUTH) ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นไป เราเริ่มเห็นค่อยๆ ชัดว่า

  1. การเคลื่อนไหวการต่อต้านของเยาวชนเหือดหายไป

  2. การคาดหวังว่าโลกจะร่ำรวยในทางเศรษฐกิจเริ่มเลือนรางไป

  3. ความเข้าใจของผู้ใหญ่ที่มีต่อเยาวชนเมื่อ 15 ปีมาแล้ว อาจจะทำให้ผู้ใหญ่ตาบอดเมื่อมองเยาวชนในทศวรรษนี้ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ต่างกันมากกับเมื่อ 15 ปีมาแล้ว นั่นคือ “ปัญหาการว่างงาน”

เมื่อทศวรรษที่แล้ว เวลาเราพูดถึงเยาวชนเรามักจะพูดว่า พวกต่อต้านสถาบัน ฯลฯ แต่ในทศวรรษนี้ 1980 เราจะพูดว่า พวกตกงาน เราจะพูดแต่เรื่องการขัดสน การไม่มีงานทำ การทำงานไม่ถูกกับความถนัดของตน การทำงานไม่เต็มเวลา ทำงานไม่พอกินพอใช้ เยาวชนยุคนี้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ

  • วัยเยาวชน เป็นวัยหนึ่งของชีวิตที่กำลังหาประสบการณ์ วัยที่มีศักยภาพสูง เพื่อเรียนรู้และเตรียมตัวรับผิดชอบในสังคมและเพื่อสังคม งานเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เยาวชนก้าวเข้าสู่สภาวะการเป็นผู้ใหญ่ มีส่วนร่วมรับผิดชอบในสังคมได้ แต่งานนี้เป็นสิ่งที่ขาดแคลนสำหรับเยาวชน

  • สิ่งที่ชี้บอก ในทุกแง่ของโลกก็คือ งานเป็นของหายาก แต่สังคมไม่มีงานที่ช่วยให้เยาวชนหาเลี้ยงชีพพอที่จะเตรียมตัวมีครอบครัว เตรียมตัวสร้างชีวิตแบบพลเมืองที่ต่างรับผิดชอบได้ เยาวชนทั้งที่มีการศึกษาและไม่มีการศึกษาจะว่างงาน ตลาดแรงงานไม่มีงานสำหรับเขา

  • สิ่งที่ขาดแคลนมาก มิใช่แต่เพียงพลังงานและการลงทุน แต่งานที่ทำให้เยาวชนสามารถก้าวเข้าสู่สังคมของผู้ใหญ่โดยการทำงาน

  • สำหรับเยาวชนจำนวนมาก เขาจะไม่ได้พบบทบาทที่ตัวเองจะก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ได้เลย บทบาทที่ทำให้เข้าสามารถแสดงออกเป็นตัวของตัวเองดูเหมือนยิ่งวันยิ่งน้อยลง

  • เป็นครั้งแรก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่โลกรู้สึกว่าเราเดินมาถึงยุคที่อนาคตไม่มีหวังเสียแล้ว อนาคตเศรษฐกิจมืดมน เมื่อก่อนใครๆ ก็มีความหวังคิดว่าฐานะเศรษฐกิจของทุกคนจะดีขึ้น แต่ในทศวรรษนี้ ความหวังเช่นว่านี้เลื่อนลอยไปเสียแล้ว

  • การที่เยาวชนต้องพึ่งครอบครัว พึ่งพ่อแม่โดยไม่ทราบว่าเมื่อไรตนจะพบอิสรภาพในทางเศรษฐกิจ จะทำให้เขาผิดหวังกันอยู่เรื่อยไป เขารู้สึกว่าตนเองไม่ได้ผลิตอะไร ความรู้สึกว่าตนเองคล้ายเป็นกาฝากของสังคม จะเป็นปัญหาด้านจิตใจสำหรับเขา

  • สำหรับเยาวชนในเอเชียและลาตินอเมริกาและอาฟริกา ทั้งในสังคมเมืองและชนบท เยาวชนเหล่านี่จะรู้สึกว่าวิกฤตการณ์ของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกระบวนการของความสัมพันธ์ระหว่างการค้า การลงทุน และการสร้างเครดิต กระบวนการนี้ยิ่งหยุดชะงักงันนานเท่าใดยิ่งทำให้เยาวชนในระดับอื่นๆ ขาดประโยชน์ทางการศึกษามากขึ้นเท่านั้น (การจะได้เรียนฟรีและโอกาสที่จะมีการศึกษาสูงขึ้นย่อมหมดไปด้วย)

  • ยิ่งกว่านั้นในประเทศโลกที่สามเวลานี้มีการรณรงค์เรื่อง การรักษาเอกลักษณ์ของชาติ การรักษาวัฒนธรรมและค่านิยมของชาติ แต่กระบวนการเช่นว่านี้ จะต้องหยุดชะงักงันเมื่อปัญหาขาดแคลนทางเศรษฐกิจสร้างความเจ็บปวดให้แก่ประชาชน อย่าลืมว่าเรื่องปากเรื่องท้องจะต้องเป็นที่สนใจเป็นปัญหาแรกที่ต้องแก้ไขก่อนการสร้างอุดมการณ์ใดๆ

  • จุดอ่อนของเยาวชนต่อวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อปัญหาการว่างงานเป็นระยะต่อเนื่อง ก็คือเยาวชนที่เป็นหญิงซึ่งเพิ่มมีสิทธิเท่าเทียมชายในการรับจ้างทำงานเยาวชนหญิง อาจจะต้องประสบเคราะห์กรรมเมื่อต้องแย่งงานทำกับเยาวชนชาย ฝ่ายหญิงจะเสียเปรียบเป็นเรื่องเศร้า แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่ว่า หญิงจะต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดไปในสังคมที่ชายได้เปรียบกว่า

การเคลื่อนไหวของเยาวชนในทศวรรษนี้        

ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญชของ UNESCO เยาวชนในทศวรรษนี้จะหมดความเชื่อถือ ความไว้ใจในตัวรัฐบาล สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง (แม้แต่สถาบันศาสนา) เพราะเห็นว่าสถาบันเหล่านี้จะช่วยอะไรเขาไม่ได้ ถ้าประเทศใดมีบรรยากาศเงินเฟ้อ และการว่างงานมากเนิ่นนานเท่าใดประเทศนั้นอาจจะต้องเผชิญกับการท้าทาย การเดินขบวนของเยาวชนทุกกลุ่ม เมื่อ 15 ปีก่อนการเดินขบวนของเยาวชนมีขึ้นในระหว่างนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น แต่ในทศวรรษนี้ ถ้าหากมีการเดินขบวนเกิดขึ้นเยาวชนทุกกลุ่มเหล่าจะรวมตัวกัน

เครื่องหมายของกาลเวลาบอกว่าเยาวชนกลุ่มต่างๆ เริ่มเคลื่อนไหวรวมตัวกันก็คือ การต่อต้านรัฐบาลในบางประเทศในเรื่องภาวะแวดล้อมและการต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียในสงคราม เป็นต้น

ความจำเป็นสำหรับผู้ใหญ่และผู้บริหารที่ต้องศึกษาเรื่องเยาวชน

สังคมในสมัยก่อนไม่ได้ให้ความสำคัญแก่เยาวชนมากนัก ทุกๆ คนใช้ชีวิตผ่านระยะนี้ไปโดยความสงบราบคาบตามประเพณี มาในสมัยนี้วัยระหว่าง 15-24 มีความหมายต่อสังคมมากและผู้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงอายุดังกล่าวรู้สึกนึกถึงพลังของตน 

ในทศวรรษนี้ มีเครื่องหมายหลายอย่างที่บอกให้ทราบว่า การให้คำจำกัดความเรื่องเยาวชนว่าควรจะอยู่ที่อายุระหว่าง 15-25 ปี นั้นคงไม่พอเสียแล้ว ทั้งนี้เพราะในหลายประเทศเด็กอายุ 11-12 ปี ในชนบทก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานกันแล้ว ในขณะเดียวกัน นักศึกษาที่มีอายุ 30-35 ปี แต่ยังหางานทำไม่ได้ ต้องพึ่งพ่อแม่อยู่ตลอดไปอาจจะถูกขนานนามเป็นเยาวชนก็ได้ 

อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ อาจจะทำให้สังคมเสนอนิยามเยาวชนกันใหม่        

เราต้องไม่ลืมว่าจำนวนของเยาวชนในวันนี้ก็คือลูกของเยาวชนเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้วที่เคยเดินขบวนต่อต้านสังคม และเยาวชนในวันนี้ไม่ช้าก็จะเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต แต่เยาวชนในวันนี้จะประสบปัญหาการสร้างครอบครัวเพราะการไม่มีงานทำ ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นว่านี้เด็กๆ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ในสภาวะเศรษฐกิจชะงักงันเยาวชนต้องอาศัยอยู่ในที่แออัดไม่สามารถหาเลี้ยงชีพพอกินได้ ขาดอิสรภาพ ขาดความสุขขั้นมูลฐานของชีวิต เยาวชนกลุ่มเช่นว่านี้จะสร้างสังคมใหม่ได้อย่างไร? อนาคตดูช่างมืดมนสำหรับเยาวชนในทศวรรษนี้เสียจริง

บทบาทของการศึกษาและเยาวชน 

ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า ในทศวรรษนี้การศึกษาจะประสบความตึงเครียดและจะต้องมีการประเมินผลระบบการศึกษาใหม่ การศึกษาทุกระดับเป็นต้น ระดับมหาวิทยาลัย จะถูกซักฟอกว่าทำไมบัณฑิตจึงหางานทำไม่ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยจะถูกซักฟอกว่าทำไมหลักสูตรยังคงห่างไกลจากความเป็นจริงของชีวิต ในการเตรียมเยาวชนเพื่อชีวิต เพราะฉะนั้นโรงเรียน วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอาจจะกลายเป็นจุดระเบิดของการเผชิญหน้า การท้าทายระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ใน 10 ปีข้างหน้า เมื่อการว่างงานมีมากขึ้นเป็นลำดับ

ในการประชุมรัฐมนตรีศึกษาธิการและผู้รับผิดชอบการวางแผนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 5 (ซึ่งกำลังประชุมกันอยู่ในขณะนี้ 4-11 มี.ค. 2528) ขององค์การ UNESCO ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ให้เห็นปัญหาของการศึกษาระดับอุดมศึกษาในภาคพื้นเอเชีย และแปซิฟิกว่า ประเทศส่วนมากในภาคนี้จะไม่สามารถรับปัญหาการมีจำนวนนักศึกษามากมายได้ ยิ่งกว่านั้นยังมีอีก 2 ปัจจัย ซึ่งทำให้ปัญหานี้เกิดความสับสนยิ่งขึ้นคือ

  1. การไม่มีหลักสูตรระยะสั้นพอ ทั้งนี้เนื่องมาจากโครงสร้างของมหาวิทยาลัยเอง และ

  2. หลักสูตรส่วนใหญ่นั้นหนักไปทางศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ ทำให้เกิดการผลิตบัณฑิตเกินความต้องการในสาขาเหล่านี้มากมาย

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเยาวชน        

ทั้งในประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนา เยาวชนโดยทั่วไปดูจะมีทัศนคติและความคิดเห็นสอดคล้องกันมากคือ มีความสำนึกในเรื่องภาวะแวดล้อม และจะพยายามต่อต้านการพัฒนาใดๆ ที่อาจทำให้สภาวะแวดล้อมเสียความสมดุล ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิต 

ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อาจจะทำให้เยาวชนว่างงานมากขึ้น 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยูเนสโก (4-11 มีนาคม 2528) ที่อ้างถึงสักครู่นี้ มีมติให้ทุกประเทศในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิกจัดหลักสูตรการศึกษาวิทยาศาสตร์สำหรับทุกคน (Science for All) ตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ ทั้งในระบบโรงเรียนและผู้ที่อยู่นอกโรงเรียนอีกด้วย        

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีบทบาทยิ่งวันยิ่งมากขึ้นต่อชีวิตประจำวันของเยาวชนและคนทั่วไป ไม่ว่าเราจะมองในทางลบสักเท่าไรหรือวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางไม่ดีก็ตาม เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้นเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์มาถึงตัวเราแล้ว และจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเยาวชนยุคใหม่ไปอีกนาน

สื่อมวลชน การใช้เวลาว่าง และเยาวชน        

ในวิกฤตการณ์แห่งการขาดแคลน สื่อมวลชนอาจเป็นแหล่งที่เยาวชนหนีไปพักพิงจากความจริงของชีวิต ในเวลาเดียวกันสื่อมวลชนก็จะถูกใช้ไปในทางการระบายความระทมใจ และลัทธิใดพรรคการเมืองใดสถาบันใดที่พร้อมจะให้ความสำคัญต่อเสียงเรียกร้องของเยาวชนจะได้รับการสนับสนุนจากเยาวชน นั่นคือ เยาวชนจะมีบทบาทในวิถีการเมืองมากขึ้น        

การหนีความจริงของชีวิตโดยวิธีการใช้ยาเสพติดและการทำอัตวินิบาตกรรม เป็น escapism วิธีหนึ่งของเยาวชนในทศวรรษนี้เหมือนเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

ความเห็นของนักสังคมศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ของประเทศอาเซียน        

เมื่อไม่นานมานี้ มีการประชุมระดับนานาชาติระหว่างประเทศอาเซียนและผู้เชี่ยวชาญจากยุโรป ณ โรงแรมฮิลตันอินเตอร์เนชั่นแนลกรุงเทพฯ ผู้เชี่ยวชาญภาคอาเซียและยุโรปมีความเห็นว่า

  • อนาคตของประเทศกลุ่มอาเซียน ในเชิงเศรษฐกิจจะรุ่งเรือง รวมทั้งของประเทศฟิลิปปินส์ด้วย (น่าสงสัยมากสำหรับประเทศฟิลิปปินส์?)

  • ปัญหาการว่างงานของเยาวชน เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ง่ายทั้งนี้ เพราะสังคมของประเทศเหล่านี้มีความผูกพันธ์กับครอบครัวมาก

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญประเทสอาเซียนและยุโรป ดูจะตรงกันกับการรายงานของเลขาธิการสภาเศรษฐกิจและพัฒนาสังคมแห่งชาติของประเทศไทย ซึ่งแถลงแก่สมาคม นายธนาคาร และนักธุรกิจฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส ว่าเศรษฐกิจของเราจะขยายตัวถึง 6 เปอร์เซ็นต์ในแผน 6 และในปลายปีของแผนประเทศเราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ และในปลายทศวรรษนี้คือ 1990 ประเทศไทยจะมีฐานะเศรษฐกิจมั่งคง แต่สภาพชะงักงันของเศรษฐกิจ จะเกิดขึ้นจริงสำหรับประเทศไทยเราหรือไม่? และถ้าเกิดขึ้นแล้วจะมีสภาพเนิ่นนานแค่ไหน เป็นสิ่งที่เราไม่ควรประมาท ลองพิจารณาดูสภาพการตลาดในต่างประเทศของเรากับจำหน่ายผลผลิตทางเกษตรกรรม เช่น ข้าว ข้าวโพด ฯลฯ ดูบ้าง แล้วเราจะพอเข้าใจว่าผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกมองโลกไปในแง่ร้ายหรือไม่?      

ถ้าคำทำนายของนักเศรษฐศาสตร์ประเทศอาเซียนเป็นความจริงสำหรับประเทศไทยแล้วก็นับว่าประเทศของเรามีโชคดีที่สุดในทศวรรษนี้

สถาบันการศึกษาของศาสนาและเยาวชน   

ในสภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและความไม่แน่นอนในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าสถาบันการศึกษาของศาสนา เป็นต้น สถาบันของคริสตชน (Christian Institutions) นอกจากจะเน้นการศึกษาเพิ่อพัฒนาวุฒิภาวะทางจริงธรรมของเยาวชน เพื่อช่วยให้เขารู้จักเผชิญความยากลำบากของชีวิตอย่างผู้มีปัญญามีหลักธรรมยึดมั่นแล้วยังควรเพิ่ม “ปรัชญาการทำงาน” หรือ “จรรยาบรรณของการทำงาน” เพิ่มเสริมสร้างหลักสูตร การงานอาชีพพื้นฐานที่มีสอนกันอยู่ในทุกโรงเรียน ความจริงนั้นปรัชญาหรือจรรยาบรรณของการทำงานควรรวมอยู่ในจริยศึกษาด้วยซ้ำไป 

ถ้าเราพินิจพิเคราะห์ให้ดี จะเห็นว่าคนจำนวนมากเหลือเกินมีทัศนคติไม่ถูกต้องต่อการทำงาน หลายคนมุ่งที่จะหางานสบายทำ มากกว่าหางานที่ท้าทายต่อศักยภาพของตนทำคนบางคนเชื่อว่าการเลี่ยงงานได้มากเท่าใดโดยได้รับเงินเดือนเต็มที่เป็นกำไรของชีวิตคนประเภทนี้ไม่ได้ให้อะไรแก่สังคมที่ตนทำงานอยู่ เขาไม่ได้สร้างสรรค์ ผลเสียที่ร้ายที่สุด คือคนประเภทนี้ค่อยๆ ทำลายศักยภาพในตัวเองโดยการไม่ทำงานให้เต็มที่ และทำลายบุคลิกภาพของตนเองในที่สุด

เทวศาสตร์ว่าด้วยการทำงาน       

“สำหรับโรงเรียนคาทอลิกทั้งหลาย เราจะต้องสร้างทัศนคติอันถูกต้องเกี่ยวกับการทำงานให้อยู่บนรากฐานอันมั่นคง ซึ่งไม่มีรากฐานใดจะมั่นคงกว่าความเชื่อศรัทธาและพระคัมภีร์” (Ramon Salinas O.P.)

การทำงานเป็นสิ่งสร้างสรรค์       

“งาน คือมูลฐานธรรมชาติของมนุษย์ และชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้จะไม่สามารถคาดคิดได้ว่าจะเป็นอย่างไรหากปราศจากการทำงาน เมื่อทำงานมนุษย์ทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ บรรลุความครบถ้วนสมบูรณ์และแสดงความหมายของตนเองออกมา เสมือนว่าตนเองกำลังมีส่วนที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างบรรลุถึงความครบถ้วนสมบูรณ์ในการสร้างสรรค์ของพระเจ้า        

โดยนัยนี้ เราสามารถกล่าวได้ว่างานสร้างโลกของพระเจ้ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ พระองค์ทรงตั้งพระทัยเชื้อเชิญมนุษย์ให้ร่วมมือกับพระองค์ทำงานสร้างสรรค์ของพระองค์ให้สำเร็จสมบูรณ์ กล่าวคือ มนุษย์จะต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมกับพระเจ้าโดยตระหนักแน่ในแผนการของพระองค์ ซึ่งทำให้พระประสงค์ของพระองค์บรรลุผล อาศัยการทำงานมนุษย์ก็มีส่วนทำให้งานสร้างสรรค์ขั้นสุดท้ายนี้สำเร็จไป มนุษย์เป็นผู้แก้ไขและตกแต่งงานสร้างสรรค์นี้” (Carlo Carretto)       

“เมื่อได้เห็นแจ่มแจ้งทางด้านเทวศาสตร์ว่า การทำงานมีความหมายสูงส่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้มนุษย์พบความหมายของชีวิตเมื่อเขาทำงานแทนที่จะไม่ชอบทำงานหรือบางครั้งเกลียดการทำงาน อันเนื่องมาจากความยากลำบากที่ต้องประสบ” (Ramon Salinas O.P.)

การทำงานเป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์หลุดพ้น (Work has redemptive values)        

“เจ้าจะมีข้าวกิน ก็ด้วยน้ำเหงื่อจากหน้า” (ชาดก 3:19)        

“ก่อนที่บาปจะนำความยุ่งยากมาให้ การทำงานเป็นความชื่นชมยินดีอย่างหนึ่ง แต่บาปทำให้เกิดความบากบั่น ความทุกข์และความเหนื่อยยาก นับแต่นั้นมา การทำงานจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนรอดพ้นความทุกข์ ช่วยคนพาตนเองให้พ้นจากความเลวร้าย ชดใช้หนี้สินของตนด้วยความยุติธรรม ทำให้ตนเองรู้จักความรับผิดชอบและทำตนให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อตนเองจะได้บรรลุถึงความหลุดพ้น” (Ramon Salinas O.P.)

การทำงานเป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับคนเรา        

การทำงานไม่ใช่จะดีแต่ในความหมายที่ว่า เป็นสิ่งที่มีประโยชน์หรือเป็นสิ่งที่เราชื่นชมเท่านั้น การทำงานยังดีในฐานะที่เป็นสิ่งอันมีลักษณะตรงกันกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งแสดงออกให้เห็นศักดิ์ศรีอันนี้และเพิ่มพูนศักดิ์ศรีขึ้น การทำงานเป็นสิ่งที่ดีสำหรับมนุษย์เป็นสิ่งที่ดีสำหรับมนุษยชาติ เพราะว่าอาศัยการทำงานคนเราไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนธรรมชาติ โดยปรับปรุงมันให้เข้ากับความต้องการของตนเอง แต่คนเรายังสามารถทำให้สำเร็จไปได้ในฐานะที่เป็นมนุษย์ และที่จริงอาจจะกล่าวได้ว่า “ยิ่งกว่าที่เป็นมนุษย์”

(พระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ว่าด้วยการทำงานของคนเรา No.9)        

พื้นฐานเบื้องต้นของค่านิยมแห่งการทำงานก็คือ ตัวมนุษย์นั่นเองเป็นผู้กระทบ อันนี้จะนำไปสู่ข้อสรุปอันสำคัญยิ่งข้อหนึ่งซึ่งกล่าวถึงลักษณะตามหลักศีลธรรม คือ ถึงอย่างไรก็ตามมันอาจเป็นจริงที่ว่า มนุษย์เราถูกมุ่งหมายไว้เพื่อทำงานและ        

พื้นฐานเบื้องต้นของค่านิยมแห่งการทำงานก็คือ ตัวมนุษย์นั่นเองเป็นผู้กระทำ อันนี้จะนำไปสู่ข้อสรุปอันสำคัญยิ่งข้อหนึ่งซึ่งกล่าวถึงลักษณะตามหลักศีลธรรม คือ ถึงอย่างไรก็ตามมันอาจเป็นจริงที่ว่า มนุษย์เราถูกมุ่งหมายไว้เพื่อทำงานและถูกเรียกร้องให้ทำงานประการแรกคือ งานมีไว้ “สำหรับคน” ไม่ใช่ “คนมีไว้สำหรับงาน”

(.... ว่าด้วย การทำงานของคนเรา No.6)        

ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า เทวศาสตร์ว่าด้วยการทำงานเป็นคำสอนที่เอื้อต่อการสร้างทัศนคติอันถูกต้องต่อการทำงาน        

โดยนัยนี้ การผลิตบัณฑิตกับการมีงานทำจึงไม่ควรเป็นปัญหาสังคมทั้งนี้ก็เพราะว่าบัณฑิตควรจะเป็นผู้ที่รู้จักสร้างสรรค์ สร้างงานเป็น ไม่ใช่ผู้ที่คอยรับจ้างทำงานอยู่ฝ่ายเดียว  

ยิ่งกว่านั้น งานสุจริตทุกประเภทมีศักดิ์ศรี มีงานสุจริตทำหรือการประกอบสัมมาชีพเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ สังคมควรตระหนักถึงคุณค่าของบุคคลประเภทดังกล่าว เขาเหล่านี้คือความมั่นคงของสังคม !

REFERENCES

Report on the Proceedings of the Eighth Regional Conference for Asia & Oceania.

Youth in the 1980s (UNESCO Press, 1981)

Situation of youth in the 1980s (Report of the Secretary-General, ESCAP first regular session of 1983)

Youth Related Indicators (Report of a Regional Workshop organized by UNESCO in collaboration with Asia-Pacific Centre of the Commonwealth Youth Programme and National Youth Services of Sri Lanka, 10-14 January 1983) Regional Plan of Action for the International Youth Year and Beyound (ESCAP Regional Preparatory Meeting for IYY, Bangkok, 26-30 July 1983)

Report of the Second AD HOC Meeting of Agencies and NGO’s Concerned with Youth Development in the Region, Bangkok, 23-26 November 1982. (ESCAP)

Report of the Technical Meeting of Youth Experts on the IYY Chiang Mai, Thailand, 29 November-5 December 1982. (ESCAP)

Education and Social Change (Fifth ASEAN Council of Teachers, Singapore, 26-29 November 1993-opening address by Mr. Lawrence Sin)

Thailand: Current Growth Prospects by the Secretary General, The National Economic and Social Development Board.


 *สมาคมเกียรตินิยมการศึกษา (มิถุนายน 2529).    *ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ