โรงเรียนเอกชนในประเทศฝรั่งเศส*

ความเป็นมา 

การศึกษาเอกชนในประเทศฝรั่งเศส มีประวัติอันยาวนานกว่า 300 ปี จากหนังสือ "Histoire de Liberte d' Enseignement en France" แต่งโดย Louis Grimaud เล่ม 1 เราทราบว่า นักการศึกษาในยุคนั้นมีความเห็นว่ารัฐไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดโรงเรียน แต่เป็นองค์ การศาสนา และชุมชมที่รักการศึกษาต่างหากที่ตั้งโรงเรียนขึ้นมา เพื่อสอนกุลบุตรกุลธิดา ของผู้มีอันจะกินและผู้ยากไร้ให้รู้จักอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือเป็น ทั้งนี้เพื่อจะได้รู้จัก ศาสนา ต่อมาก็มีการสอนให้คิดเลขเป็นอีกด้วย

ศาสนามีอิทธิพลต่อการศึกษาและระบบการศึกษามาเป็นเวลานาน จนกระทั่งถึง การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 หลังจากปฏิวัติเเล้ว อิทธิพลของศาสนาที่มีต่อการศึกษา เริ่มลดน้อยลง รัฐเริ่มอ้างสิทธิในการจัดการศึกษาเพื่ออบรมพลเมืองของรัฐนับตั้งแต่นั้น เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาเป็นต้นในระดับประถมและมัธยมได้กลายเป็น hot issue ระหว่างรัฐกับศาสนา ซึ่งรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยรวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันของประธานาธิบดี Mitterand มักเรียกปัญหานี้ว่า "แผลเก่า" และต่อมาศาสนจักรก็ถูกแยกออกจากรัฐโดยสิ้นเชิง

ในประเทศฝรั่งเศสนั้น ไม่มีการสอนศาสนาในโรงเรียนของรัฐ ส่วนในโรงเรียนเอกชนนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขององค์การศาสนามีการสอนและปฏิบัติศาสนา ความช่วยเหลือที่รัฐพึงให้แก่โรงเรียนเอกชนนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองในยุคของประธานาธิบดี Charles De Gaulle ได้มีการออกกฎหมายใหม่ว่าด้วยการศึกษาของโรงเรียนเอกชน กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1959 ซึ่งยังคงมีผลใช้บังคับจนถึงทุกวันนี้

สภาพโรงเรียนเอกชนในปัจจุบัน

สรุปกฎหมายฉบับใหม่ 1959 ว่าด้วยโรงเรียน

โรงเรียนประถม

สำหรับโรงเรียนประถมศึกษา มีทางเลือก 2 ทาง คือ

        1. แบบ "สัญญาส่วนตัว" (ของเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชุมชน)

        2. แบบ "สัญญาเป็นรูปคณะกรรมการ" (ของมูลนิธิ องค์การศาสนาเป็นต้น)

โรงเรียนจะได้รับอนุญาตให้ทำสัญญากับรัฐบาลได้ต้องถือตามเงื่อนไขต่อไปนี้

        - ได้เปิดทำการมาแล้ว 5 ปี (นั่นคือ 5 ปีก่อนปี ค.ศ. 1959)

        - มีครูที่มีคุณวุฒิเหมือนครูในโรงเรียนของรัฐ

        - มีสถานที่ถูกสุขลักษณะพร้อมด้วยอุปกรณ์

        - มีจำนานนักเรียนอย่างต่ำตามจำนวนที่รัฐกำหนด

           1. โรงเรียนใดทำ "สัญญาแบบส่วนตัว" รัฐจะเป็นผู้จ่ายเงินเดือนครู ตามวุฒิและตามอัตราของครูรัฐบาล ค่าใช้จ่ายอื่นๆ นั้นเจ้าของต้องเป็นผู้จัดการเอง นั่นคือโรงเรียนเก็บค่าเล่าเรียน

       2. โรงเรียนประถมที่ทำสัญญาแบบ "สัญญาเป็นรูปคณะกรรมการ" ให้เทศบาลท้องถิ่นเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆ  เช่น เจ้าหน้าที่ ภารโรง คนงาน ค่า maintenance ทุกอย่าง ส่วนเงินเดือนครูนั้นรัฐเป็นผู้จ่าย

        ส่วนเรื่องการพัฒนาโรงเรียน (ต่อเติม สร้างตึก) ทั้งรัฐและเทศบาลไม่รับผิดชอบ

โรงเรียนมัธยม

สำหรับโรงเรียนมัธยมนั้นยังคงมีทางเลือก 2 ทาง คือ "Contrat simple" และ "Contrat d' association" แต่ทางเลือกนี้จะลิ้นสุดลงในปี 1980

เพราะฉะนั้นโรงเรียนส่วนมากจะค่อยหันมาทำสัญญา "Contrat d' association" คือแบบรูปมูลนิธิ หรือกลุ่มคณะกรรมการ หรือขององค์การศาสนา

ในโรงเรียนมัธยมรัฐเป็นผู้จ่ายเงินเดือนครูทั้งหมด ตามวุฒิ

ยิ่งกว่านั้นรัฐเป็นผู้จ่ายค่าดำเนินการ (เช่น เจ้าหน้าที่ คณะบริหาร ค่ารับรองแขก) เป็นจำนวนเงินก้อนใหญ่ ส่วนค่าลงทุนทุกอย่างนั้น มูลนิธิ หรือคณะบริหารเป็นผู้รับผิดชอบ

ในทุกกรณี ทั้งโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยม (สัญญาทั้งสองแบบ) รัฐเป็นผู้ออกเงินเดือนครู พร้อมด้วยสวัสดิการทุกประการ ส่วนครูนั้นต้องเสียภาษีหรือเงินสะสมเหมือนกันทุกคน จึงจะมีสิทธิได้สวัสดิการต่าง ๆ

บทบาทของรัฐมีอะไรบ้างในการควบคุมโรงเรียนราษฎร์? รัฐมีสิทธิในการควบคุมโรงเรียน (ที่ทำสัญญากับรัฐ) และครูที่สอน ควบคุมหลักสูตร เวลาเรียน แต่คณะผู้บริหารโรงเรียนก็อาจขอยกเว้นในบางเรื่องได้เหมือนกันเป็นต้น เรื่องการเรียนการสอนโรงเรียนประเภท Contrat Simple มีเสรีภาพในการดำเนินการมากกว่าโรงเรียนประเภทอื่นๆ

นอกจากนี้แล้วยังมีโรงเรียนราษฎร์อีกประเภทหนึ่ง คือ ประเภทที่มีอิสระบริบูรณ์ ไม่ทำสัญญาอะไรเลยกับรัฐบาล อย่างไรก็ดี ถ้าโรงเรียนประเภทนี้มีครูตามวุฒิ มีนักเรียนตามที่รัฐกำหนด ก็อาจจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐได้เหมือนกัน

โรงเรียนเอกชนในอนาคต

สถานภาพของโรงเรียนเอกชนในรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดี Francois Mitterrand

ในการเลือกตั้งรอบแรกนั้น Mitterrand ได้ออกหาเสียงโดยประกาศว่า จะโอนกิจการธนาคารและการอุตสาหกรรมบางอย่างและการศึกษาเอกชนมาเป็นของรัฐ ผลของการเลือกตั้งรอบแรกปรากฏว่า ประธานาธิบดี Giscard D' Estaing มีคะแนนนำ คะแนนรองลงมาได้แก่พรรคสังคมนิยม ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์นั้น พ่ายแพ้อย่างยับเยิน

ในการเลือกตั้งตัดสินชี้ขาดรอบสองนั้น Mitterrand ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดโดยความช่วยเหลือจากพรรคคอมมิวนิสต์

ก่อนจะมีการแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประธานาธิบดี ได้ออกแถลงการณ์ทางทีวีว่า ถ้าได้เสียงข้างมากในรัฐสภา จะไม่โอนกิจการการศึกษาเอกชนเป็นของรัฐและจะยังคงให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนอีกต่อไป

ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปรากฏว่า พรรคของประธานาธิบดี Mitterrand ได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาดในรัฐสภา

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 1981 รัฐบาลของประธานาธิบดี Mitterrand ได้ให้สัมภาษณ์ในเรื่องว่าด้วยการศึกษาเอกชนว่า รัฐมีนโยบายที่จะให้การสนับสนุนโรงเรียนเอกชนต่อไปยกเว้นการสนับสนุนทางการเงิน

บรรดาผู้ปกครองและครูที่ได้ดูทีวีคืนนั้นต่างก็ตกอกตกใจถ้ารัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายเช่นว่านี้ก็หมายความว่าโรงเรียนเอกชนจะต้องปิดตัวเองลง เพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเงินเดือนครูได้ ในปัจจุบันนี้รัฐเป็นผู้รับภาระในการจ่ายเงินเดือนครู โรงเรียนเอกชนจึงไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียนมากไปกว่าโรงเรียนของรัฐ

หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่มีการสัมภาษณ์ทางทีวี ได้มีการหยั่งเสียงประชามติทั่วประเทศว่าด้วยการศึกษาเอกชน ผลปรากฏดังนี้คือ

"ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้รัฐให้การสนับสนุนโรงเรียนเอกชนในเรื่องการเงิน?"

        1. ประชาชนโดยทั่วไป เห็นด้วย 68 เปอร์เซ็นต์

        2. ผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชน เห็นด้วย 81 เปอร์เซ็นต์

ทำไมคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่มีความเห็นว่ารัฐควรให้การสนับสนุนการศึกษาเอกชน

        1. คนฝรั่งเศสมีความเห็นว่าชาวฝรั่งเศสทุกคนเสียภาษีให้แก่รัฐเหมือนๆ กัน

        2. คนฝรั่งเศสส่วนมากยังยึดหลักปรัชญาในเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาและเสรีภาพในทางการศึกษา

ทำไมผู้ปกครองบางกลุ่มนิยมส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนเอกชน ?

เหตุผลที่ยังมีผู้ปกครองบางกลุ่มนิยมส่งลูกไปโรงเรียนเอกชน ก็คือ

        1. มีการสอนศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจในโรงเรียน

        2. มีระเบียบวินัย และมีการเรียนการสอนดีกว่า

        3. มีผลการสอบไล่ดีกว่า

รัฐบาลสังคมนิยมของประธานาธิบดี Mitterrand จะยึดนโยบายตามคำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีศึกษาธิการหรือไม่ยังเป็นปริศนา ทุกคนกำลังรอคอยดูอยู่ ส่วนองค์การศาสนานั้น มีความเห็นแตกแยกในเรื่องนี้ 


   *จุลสาร สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ฉบับปฐมฤกษ์ (ตุลาคม 2524).
   *ครู อาจารย์ นักบริหารการศึกษา และนักบริหารการพัฒนา : ภราดา ดร. ประทีป ม.โกมลมาศ