โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในกรุงศรีอยุธยา*

ภราดาประทีป ม.โกมลมาศ อธิการบดี
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
31 ตุลาคม 2544

Archbishop Luigi Bressan สมณฑูตแห่งนครวาติกันประจำประเทศไทย (1993-1999) ได้เขียนหนังสือ “A Meeting of Worlds: The Interaction of Christian Missionaries and Thai Culture (2000)” และได้กล่าวว่า “ปี ค.ศ. 1655 ข้าหลวงผู้ปกครองนิคมโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาได้เขียนจดหมายถึงอธิการเจ้าคณะเยสุอิต ที่เมืองมาเก๊า ว่า “ขอให้ส่งนักบวชเยสุอิตเข้ามายังประเทศสยามเพื่อดูแลงานพัฒนาด้านจิตวิญญาณ และให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่เด็กชายในนิคม” ต่อมาในปีเดียวกัน คุณพ่อ Thomas de VALGUARNERA แห่งคณะเยสุอิต จากเกาะชิชีลีในอิตาลี ได้เข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในฐานะวิศวกรแห่งราชอาณาจักรสยาม (Engineer of the Crown) ท่านสมณฑูต Luigi Bressan ยังกล่าวต่ออีกว่า จากจดหมายลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1656 ของคุณพ่อ De VALGUARNERA ส่งไปถึงข้าหลวงผู้ปกครองนิคมโปรตุเกสได้พูดถึงกิจกรรมที่ท่านทำคือ การดูแลสัตบุรุษและการให้การศึกษาแก่เด็กคริสตัง ซึ่งท่านสมณฑูตถือว่าปี ค.ศ. 1656 คือ หลักฐานการจัดตั้งโรงเรียนแห่งแรกของคณะเยสุอิตและโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในกรุงสยาม จากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ทำให้เราทราบว่าภารกิจหลักของคุณพ่อ De VALGUARNERA ในกรุงศรีอยุธยา คือ การควบคุมการก่อสร้างป้อมปราการในกรุงศรีอยุธยา คือ การควบคุมการก่อสร้างป้อมปราการในกรุงศรีอยุธยา ลพบุรี และบางกอก

ท่านสมณฑูต Luigi Bressan (2000:65) ยังได้กล่าวอีกว่าโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกนี้สันนิษฐานว่าคงอยู่ในส่วนหนึ่งของบ้านพักนักบวช ต่อมา Mr. Andrew de PONTE ผู้ลี้ภัยจากเมืองมาเก๊าได้เข้ามาพักพิงอยู่ในกรุงศรีอยุธยาและได้บริจากเงินจำนวยมากให้แก่คุณพ่อ De VALGUARNERA เพื่อสร้างบ้านพักนักบวชเยสุอิตและโรงเรียน ซึ่งสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1675 ตามรายงานที่ปรากฏใน Annual Report เกี่ยวกับกิจการของคณะฯ ในกรุงสยาม นอกจากนี้ ยังมีเขียนบันทึกไว้ ในหนังสือ “A Meeting of Worlds” ว่า มีนักบวชคณะโดมินิกันและฟรังซิสกันเข้ามาแพร่ธรรมในประเทศสยามก่อนคณะเยสุอิต ซึ่งคณะนักบวชเหล่านั้นอาจจะมีการให้การศึกษาพร้อมไปกับการแพร่ธรรมก็เป็นได้

ท่านสมณฑูต Luigi Bressan (2000:10) ได้กล่าวว่าสมเด็จพระสันตปาปา Clement ที่ IX ได้มีสมณสาส์น “In Excelsa” ลงวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1658 ถึงมิชชันนารีที่ทำงานแพร่ธรรมในเอเชีย ทรงขอให้มีการสอนหลักความเชื่อของคริสตศาสนา และวิชามนุษยศาสตร์อื่นๆ อีกด้วย

ตามหลักฐานบันทึกใน“Histoire de la Mission de Siam โดย A. Launay” ในปี ค.ศ. 1662 มิชชันนารีขาวฝรั่งเศส (Missionnaires Etrangeres de Paris) ชุดแรกได้เข้ามาในประเทศสยามและปี ค.ศ. 1665 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงพระราชทานที่ดินแก่มิชชันนารี ณ ตำบล “บางปลาเห็ด” (ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดพุทไธสวรรค์ในปัจจุบัน) เพื่อสร้างโรงเรียนสอนเด็กชาววังและคนทั่วไป

ท่านสมณทูต Luigi Bressan (2000:11:25) ได้กล่าวไว้ว่า Bishop Lambert de la MOTTE ได้เขียนรายงานลงวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1666 ว่า นอกจากการแพร่ธรรมแล้ว มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสยังได้ดำเนินกิจกรรมทางการศึกษาด้วย โดยจัดตั้งสถาบันชื่อว่า College General อันประกอบด้วย

  • บ้านเณรสำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระสงฆ์

  • โรงเรียนสอน Moral Theology แก่คริสตัง และครูสอน คำสอน

  • โรงเรียนสำหรับนักเรียนที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมอบหมายให้มารับการศึกษา

  • โรงเรียนประถมสำหรับคนทั่วไป

  • เปิดหลักสูตรสำหรับผู้ที่เตรียมตัวเป็นคริสตัง

  • โรงเลี้ยงเด็กกำพร้า

ท่านสมณฑูต (2000:11) ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า งานทางการศึกษาของมิชชันนารีจากกรุงปารีสเป็นงานสมบูรณ์แบบ

จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้น สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย จึงได้ถือเอา ปี ค.ศ. 1665 เป็นปีเริ่มต้นการศึกษาคาทอลิกอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพราะเป็นปีที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงพระราชทานที่ดินแก่มิชชันนารี เพื่อสร้างโรงเรียน ณ บางปลาเห็ด และยังได้ทรงอนุญาตให้ลูกหลานชาววังไปเรียน ณ ที่นั้นในปีดังกล่าวด้วย

ดังนั้น ปี ค.ศ. 2001 จึงเป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ 336 ปี ของการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2002 ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับการฉลองครบรอบ 50 ปี ของการจัดตั้งองค์การการศึกษาคาทอลิกนานาชาติ หรือ O.I.E.C. อันมีสถานภาพรับรองโดยศาสนจักร และองค์การ UNESCO แห่งสหประชาชาติด้วย

ภราดาประทีป ม. โกมลมาศ อธิการบดี และ Young-Gil Kim, President, Handong Global University of Korea, Korea ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบัน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2545 ณ King's Room อาคาร Cathedral of Learning วิทยาเขตบางนา

 * จุลสาร วิทยาลัยอัสสัมชัญ ABAC NEWSLETTER ปีที่ 13 ฉบับที่ 126 เดือนมีนาคม-เมษายน 2545 หน้า 3-1