มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่สวยที่สุดในประเทศ* 

“เนื่องจากวิทยาเขตหัวหมากคับแคบมากไม่พอที่จะให้บริการแก่นักศึกษาได้อย่างพอเพียงขาดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของการเป็นมหาวิทยาลัยที่ดี ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจึงได้ขยายวิทยาเขตไปยังบางนาหรือที่เราเรียกว่าวิทยาเขตสุวรรณภูมิ”

ภราดา ดร.ประทีป ม.โกมลมาศ หรือบราเดอร์มาร์ติน ของเหล่านักศึกษาได้กล่าวออกมาอย่างภาคภูมิใจในวิทยาเขตแห่งที่สองของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่สวยที่สุดในประเทศ และยังเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเอกชนที่ใช้เป็นที่เลี้ยงรับรองแขกบ้านแขกเมืองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนนับตั้งแต่วันที่เปิดทำการ เป็นที่เชิดหน้าชูตา และสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติบ่อยครั้ง

เมื่อย้อนไปยังอดีต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือ AU เริ่มตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1969 ภายใต้โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ หรือ Assumption Commercial College(ACC) เพื่อเป็นสาขาหนึ่งให้กับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

จากเนื้อที่เพียง 13 ไร่ของวิทยาเขตหัวหมากมาเป็น 360 กว่าไร่ของวิทยาเขตบางนา และจากเพียง 1 คณะที่ได้เปิดทำการ (School of Business) ซึ่งในอดีตนั้นเปิดสอนเพียงแค่สองวิชาคือการตลาด และการบริหาร มาเป็น 10 คณะในปัจจุบัน (School of Management, School of Arts, School of Biotechnology, School of Nursing Sciences, School of Law, School of Engineering, School of Architecture, School of Communication Arts, School of Music และ School of Sciences and Technology) ซึ่งภายใต้แต่ละคณะก็จะแบ่งย่อยเป็นอีกหลายสาขา กลายมาเป็นคำว่า Schools within a School.

“สถาบันต้องมีการดลใจ ต้องมี inspiration ม.อัสสัมชัญอาจจะไม่มีเนื้อที่เป็นพันไร่เหมือนกับมหาวิทยาลัยบางที่ แต่เราก็เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคนอยากเข้ามาเรียนมากที่สุด ก็เพราะเรามีความสมดุลมีความลงตัว และมีความพอดี สถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างอยู่บนพื้นที่นี้ได้ถูกคำนวณและจัดวางอย่างลงตัวเป็นสัดส่วน ซึ่งนับตั้งแต่ตอนที่ขับรถเข้ามาทางประตูใหญ่ ก็สามารถมองเห็นอาคารเรียน Catherdal of Learning ตั้งตระหง่านอยู่ในใจกลางเมือง ทำให้รู้สึกถึงความขลัง ทำให้หลงใหลและอยากที่จะเข้ามาสัมผัสเป็นบรรยากาศแห่งการอยากเรียนรู้ เราต้องยอมรับว่านักศึกษาในวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า หากเราไปเน้นบังคับให้เอาแต่เรียน เขาก็จะเบื่อหรือไม่ก็เกลียดการเรียนไปเลย บราเดอร์เข้าใจ nature ของเด็ก และจะเปรียบเด็กของเราเสมอว่าพวกเขาเหมือนกับม้าป่าที่ชอบออกวิ่งกันอย่างเป็นอิสระ Like wild horses running free into the world. จึงได้สร้างรูปปั้นจำลองเป็นม้า 5 ตัววิ่งกลางทะเลสาบของมหาวิทยาลัย ตามความเชื่อของชาวจีนจะนิยมให้ปั้นม้า 4 ตัว หรือ 8 ตัว ซึ่งจำนวนพวกนี้จะเป็นลักษณะของม้าเทียมรถ แต่ม้าของที่นี่มีจำนวน 5 ตัว เพราะเราเป็น wild horses ม้าจึงกลายมาเป็น mascot หรือสัญลักษณ์ประจำ ม.อัสสัมชัญ บราเดอร์อยากเห็นนักศึกษาที่จบมีอิสระทางความคิด กล้าที่จะคิดแตกต่าง ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบ ถามว่าดีไหม บราเดอร์ก็คิดว่าดีเพราะเราจะได้รับ feedback ทางด้านบวกจากองค์กร และบริษัทต่างๆ ว่าเด็ก AU นั้นมีความคิดแปลกกล้าคิดและกล้าทำ ไม่เหมือนกับคนอื่น จึงทำให้เด็กที่จบจากที่นี่โดดเด่น ในเชิงธุรกิจหากคิดจะแข่งขันกับใคร เราต้องแตกต่างจากคนอื่น Difference is better ดังนนั้นเราจะไปบังคับเขาอย่างเดียวไม่ได้ เราจะต้องให้อิสระเขาทั้งในความคิดและการกระทำ

สถาปัตยกรรมของวิทยาเขตบางนานั้นได้นำเอาแนวความคิดและวัฒนธรรมของทางกรีกและโรมันโบราณมาเป็นต้นแบบ บราเดอร์ชอบยุโรป โดยเฉพาะเมืองปารีส เวลาเห็นสถาปัตยกรรมของกรีกและโรมันโบราณแล้วดูขลังและมีเสน่ห์มากสิ่งก่อสร้างของพวกเขาสร้างออกมาอย่างสวยงาม และได้สัดส่วนจนหาที่ติไม่ได้ ทำให้เรานึกสงสัยว่าคนในยุคอดีตทำไมถึงเก่งอย่างนี้ เขาไม่มีเครื่องคิดเลขหรือคอมพิวเตอร์ใช้คำนวนไม่มีรถแทรกเตอร์ รถเครน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งหรือก่อสร้างปติมากรรมพวกนี้ แต่เขาสามารถสร้างเสาใหญ่ โบสถ์ อาคาร และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสิ่งก่อสร้างที่มีอายุเป็นร้อยเป็นพันปีนี้ก็ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่มากมายในทวีปยุโรป กลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชาตินั้นไปแล้ว”

“สมัยที่อยู่ในปารีส ชอบเข้าไปนั่งในโบสถ์ อาคาร วิหารของเขา มันช่างอลังการเหลือเกิน ไปนั่งแล้วก็ทำให้เกิดความสงบ จิตใจสบายและเมื่อจิตสงบแล้วก็เกิดปัญญาและสมาธิ จึงเอาความรู้สึกนี้มาประยุกต์ใช้ในการก่อสร้างวิทยาเขตแห่งนี้เพื่อประโยชน์กับนักศึกษาที่เข้ามาเรียน”

ถึงแม้จะนำเอาสถาปัตยกรรมของกรีกและโรมันโบราณมาเป็นต้นแบบในการก่อสร้างวิทยาเขตบางนา สถาบันก็ไม่ได้ละทิ้งความเป็นไทย “การที่เราเป็นสถาบันเอกชนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษในทุกวิชา ยกเว้นวิชากฎหมาย ทำให้เราเป็นมหาวิทยาลัยสากลที่มีชื่อเสียง ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ในต่างประเทศด้วย มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนและจบจาก ม.อัสสัมชัญหลายประเทศ และกลับไปสร้างชื่อเสียงในประเทศของตนอยู่หลายคน ทำให้เรากลายเป็นสากลไปโดยปริยาย แต่กระนั้นเราก็ไม่ต้องการให้เด็กลืมความเป็นไทย ลืมความอบอุ่นของชีวิตครอบครัวคนไทย จึงได้สร้างศาลาไทยที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อบ่งบอกความเป็นไทยของเรา ศาลาไทยกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะไทยที่โดดเด่น ปลูกตั้งตระหง่านท่ามกลางความเป็นสากล เสมือน AU นั้นเป็นเพชรเม็ดงามที่ถูกห้อมล้อมไปด้วยพลอยหลากสี”

“ส่วนลวดลายที่ระบายลงบนผนังตามอาคารนั้นจะอิงมาจากลวดลายทางฝั่งสเปนเพราะดูกลมกลืน มีค่าและอ่อนช้อย พวกสเปนโบราณจะเป็นนักล่าสมบัติ นักล่าทองคำ ลวดลายจึงมีสีทองแต้มอยู่เสมอ ประกอบกับ ม.อัสสัมชัญ นั้นหากเรียกชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษคือ AU และในภาษาเคมี Au หรือ Aurum แปลว่าทองก็เลยเอาความหมายนี้มาทำเป็นก้อนหินสีทองก้อนใหญ่ติดคำว่า “Au” ชื่อย่อของสถาบันวางตั้งอยู่หน้าทางเข้าเพื่อรับแขก ให้ดูแปลกตา และให้คนที่มาเยือนทราบว่าสถาบันของเรานั้นผลิตนักศึกษาออกมาล้ำค้ำเยี่ยงทองคำ”

“การที่จะสร้างคนใหม่สมบูรณ์ขึ้นมาซักคนหนึ่งจะต้องให้เงินและเวลาลงทุนมหาศาล แต่การลงทุนนี้ก็คุ้มค่าอยู่เสมอ เพราะวิชาความรู้นั้นไม่มีวันตายและสามารถนำมาใช้พัฒนาประเทศชาติให้เจริญได้ มันกลายมาเป็นความรู้สึกและภาคภูมิใจอย่างสูงในชีวิตที่ได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพออกมา”

 

* ABACA Profile (Issue : 1/2008)