ศาสนธรรมและปรัชญา* 

อารัมภบท

ปรัชญาชีวิตของคริสตชนทุกคนขึ้นอยู่กับความเชื่อความศรัทธาในศาสนา ตามหลักคริสตธรรมนั้น ศาสนธรรม คือ เทวศาสตร์หรือเทววิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์หรือความรู้ที่เกี่ยวกับพระเจ้า ความสัมพันธ์ที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์และมนุษย์มีต่อพระเจ้า สิ่งเหล่านี้คือ ศาสนธรรมและปรัชญาชีวิตของคริสตชน

โดยนัยดังกล่าว การที่มีคำถามว่ามนุษย์เกิดมาทำไม มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร จึงเป็นคำถามที่มนุษย์จำนวนมากต้องการแสวงหาคำตอบ ซึ่งพิจารณาตามหลักคริสตธรรมแล้ว คำตอบก็คือมนุษย์เกิดมาเพื่อรู้จักรัก และปรนนิบัติพระเจ้า และจะเป็นสุขกับพระองค์ในที่สุดตลอดนิรันดร

ด้วยเหตุนี้ คริสตชนทุกคนจึงต้องรู้จักศึกษาศาสนธรรมหรือหลักคริสตธรรม และจะต้องนำไปใช้เป็นหลักปรัชญาของการดำเนินชีวิตมนุษย์ในโลกนี้ บิดามารดามีหน้าที่ๆ จะต้องให้ลูกของตนได้รับการศึกษาอบรมในเรื่องนี้ ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งความรอด (salvation)

บทบาทของนักปรัชญา และนักเทวศาสตร์

เป็นการยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการปฏิบัติศาสนกิจเป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธาที่มนุษย์จะยึดถือเป็นที่พึ่งทางใจ หรือเป็นหนทางแห่งความรอด (salvation) ที่ตนยึดถือเป็นปรัชญาชีวิต ดังนั้น การศึกษาเกี่ยวกับศาสนาจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน รวมทั้งนักปรัชญาและนักเทวศาสตร์ผู้มีบทบาทรับใช้ศาสนจักร และช่วยทำให้ความเชื่อทางศาสนาบริสุทธิ์อยู่ในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมจะเป็นวิถีชีวิตที่ผู้ปฏิบัติศาสนกิจจะพึ่งได้ การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องศาสนาเป็นกิจวัตรประจำสัปดาห์ของชุมชนคริสตชน ทั้งนี้ เพราะคริสตชนมีหน้าที่และความผูกพัน (obligation) ที่ต้องไปโบสถ์ทุกอาทิตย์ ตัวอย่างเช่น ข้อคิดของปรมาจารย์ Immanuel Kant ที่กล่าวไว้ว่า

        “Two things fill the mind with ever increasing wonder and awe, the more often and the more intensely the mind of thought is drawn to them : the starry heavens above me and the moral law within me.”

        ข้อคิดดังกล่าวของนักปรัชญา Immanuel Kant มีนัยสำคัญ 2 ประการ คือ

        1. สรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ได้เกิดขึ้นเองหรือโดยการบังเอิญ แต่มีองค์ปัญญาอยู่เบื้องหลังการเป็นมาของสิ่งเหล่านี้

        2. มนุษย์ทุกคนมีนโนธรรม อันเป็นคุณสมบัติเฉพาะของมนุษย์ผู้มีปัญญา

ข้อไตร่ตรองของนักปรัชญา Immanuel Kant อาจมีผลเชิงบวกหรือเชิงลบต่อผู้ที่ศึกษาก็ได้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ศึกษา รวมทั้งผู้ฟังเทศน์ในโบสถ์ทุกอาทิตย์ 

อย่างไรก็ตาม St. Thomas Aquinas นักปราชญ์คนสำคัญของศาสนจักรคาทอลิก และเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกตะวันตก ได้แสดงทรรศนะไว้ใน Summa Theologica ว่า

“เทวศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องมีศาสตร์ทางปรัชญาอาจช่วยทำให้เราเข้าใจเทวศาสตร์ดีขึ้น ทั้งนี้เพราะการพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีจริงหรรือไม่นั้น มีเหตุผลในตัวเอง หรือ self evident” แต่จะมีผู้คนนอกชุมชนคริสตชนสักกี่คนที่สามารถเข้าใจในเรื่องนี้ได้ถูกต้อง

ความจริงข้อเขียนและระบบการคิดของ St. Thomas Aquinas นั้น วางอยู่บนรากฐานความคิดของ Aristotle และบรรดานักปรัชญาทั้งหลายนั้นเอง

คำสอนของศาสนาจักรคาทอลิก สำหรับสัตบุรุษ

เพื่อช่วยให้คริสตชนทุกคนได้มีหนังสือคู่มือประจำครอบครัวในการศึกษาศาสนธรรมและการปฏิบัติศาสนกิจ ดังนั้น ในปี ค.ศ. 2006 สำนักวาติกันจึงได้ตีพิมพ์หนังสือคำสอนที่มีชื่อว่า compendium : Catechism of the Catholic Church ซึ่งได้มีการปรับปรุงมาจากคำสอนหลายศตวรรษมาแล้ว

หนังสือคำสอนเล่มนี้ บรรจุสาระเนื้อหาของศาสนธรรมตามหลักคริสตธรรมหรือเทวศาสตร์ทั้งครบฉบับย่อ จัดเป็นรูปคำถาม คำตอบ จำนวน 598 ข้อ

การปฏิบัติคุณธรรมจริยธรรมตามหลักคริสตธรรม

คริสตศาสนาเชื่อและถือเป็นหลักการว่า มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี (dignity) เพราะพระเจ้าทรงสร้างเขามาตามพระฉายาลักษณ์ (image) ของพระองค์ (No.358) ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงมีวิญญาณ (soul) เป็นจิตและเป็นอมตะ วิญญาณของมนุษย์ประกอบด้วย ปัญญาและอิสรภาพในการตัดสินใจ (free will) ความเป็นบุคคลของมนุษย์ (human person) ถูกกำหนดโดยพระเจ้าให้มีความสุข (beatitude) กับพระองค์ตลอดนิรันดรในภพหน้า มนุษย์จะบรรลุถึงบรมสุขกับพระเจ้าโดยอาศัยบุญบารมีและหรรษทานและการไถ่กู้ (redemption) ของพระเยชูคริสต์

ดังนั้น ในชีวิตประจำวันคริสตชนควรสำนึกในศักดิ์ศรีของตนและพึงปฏิบัติตนตามเสียงมโนโรรมของตนในการทำดีหนีชั่ว นอกจากนี้ พระเจ้าได้ทรงประทานเสรีภาพแก่มนุษย์ทุกคนที่จะเลือกทำหรือเลือกไม่ทำ อย่างไรก็ดีมนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน (No.364)

คุณธรรมจริยธรรม (moral virtues) คืออะไร?

คุณธรรมจริยธรรม คือ การทำความดีเป็นนิสัย โดยใช้สมรรถภาพทางปัญญาและปณิธาน (will) ควบคุมและชี้นำการกระทำหรือพฤติกรรมของตนอย่างสม่ำเสมอ ตามหลักการของเหตุผลและความเชื่อศรัทธา (No.377) 

ตามหลักคริสตธรรม คุณธรรมจริยธรรม (moral virtues) มี 2 ประเภท คือ 

        1. Human Virtues หรือ คุณธรรมจริยธรรมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีคุณธรรมจริยธรรมหลักสำคัญรวมกัน เรียกว่า Cardinal Virtues (No.379)

        2. Theological virtues (แต่ขออนุญาตที่จะไปอธิบาย ณ ที่นี้)

        สำหรับ Cardinal Virtues หรือ คุณธรรมจริยธรรมหลักสำคัญ ประกอบด้วย

        - Prudence

        - Justice

        - Fortitude และ

        - Temperance

Prudence คือ ความฉลาด สุขุมคัมภีรภาพ ไม่ประมาท รู้จักใช้สายตาของปัญญา (discern) ในทุกกรณี เพื่อแสวงหาความดีที่แท้จริง และรู้จักใช้วิธีการที่ถูกต้องที่จะบรรลุถึงความดีนั้น

St.Thomas Aquinas อ้างอิง Aristotle และให้ความเห็นว่า “Prudence is right reason in action.” และปราชญ์ท่านนี้ยังเสริมต่ออีกว่า เราต้องไม่สับสนกับคำ Timidity or fear หรือ Duplicity หรือ Dissimulation ซึ่งหมายถึง การเสแสร้งแกล้งทำไม่ตรงกับความรู้สึกในใจที่แท้จริง โดยมีเจตนาไม่บริสุทธิ์แฝงเร้น

Justice หรือ ความยุติธรรม คือ คุณธรรมจริยธรรม (moral virtues) ที่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิของผู้อื่น ยอมรับความเท่าเทียมกันและความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์อันจะก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม พระคัมภีร์กล่าวถึงผู้ที่มีความยุติธรรม (just man) ว่า “เจ้าต้องไม่มีความลำเอียง ปฏิบัติต่อคนจนแตกต่างจากปฏิบัติต่อเศรษฐี แต่เจ้าต้องใช้ความถูกต้องตัดสินเพื่อนบ้านของเจ้า” (LEV.19:15)

Fortitude หรือ ความพากเพียรอดทน คือ คุณธรรมจริยธรรม (moral virtues) ของผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ย่นย่อท้อถอยเมื่อพบอุปสรรค หรือความยากลำบากของชีวิต มีความมานะบากบั่นที่จะแสวงหาความดีตลอดไป ยึดหลักของความถูกต้อง ไม่หวั่นไหวเมื่อถูกกลั่นแกลัง แต่มั่นคงที่จะทำความดีต่อไป ทั้งนี้เพราะ “พระเจ้าคือ พลังและบทเพลงของข้าพเจ้า” (Ps 118:14) 

emperance หรือ ความอดกลั้น ความพอดี (moderation) หรือ “ทางสายกลาง” คือ คุณธรรมจริยธรรม (moral virtues) ที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้จักความพอดี สามารถควบคุมอารมณ์ และความอยากกระหาย สามารถใช้ will power ของตนอยู่เหนือสัญชาติญาณ 

คุณธรรมจริยธรรม (moral virtues) ทั้ง 4 ประการนี้เรียกว่า Cardinal Virtues ซึ่งเป็นคุณธรรมหลักของคุณธรรมอื่นๆ เช่น ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญ ความน่าเชื่อถือ ความจงรักภักดี ความน่าไว้ใจ ความเลื่อมใสศรัทธา (faithfulness) ความเมตตากรุณา (generosity) เป็นต้น

หลักของการปฏิบัติ คือ การให้การศึกษาอบรมด้านทัศนคติ เจตคติ หรือ อุปนิสัยและลักษณนิสัยของผู้ฝึกปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพ (human potential) ของความเป็นมนุษย์

ขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่า อะไรก็ตามที่เป็นข้อสั่งสอน และ “คำสอน” ในหนังสือดังกล่าวข้างต้น สิ่งนั้นจะช่วยพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม (moral virtues) ในตัวเรา และในชุมชนที่เราอาศัยอยู่

ภราดาประทีป ม. โกมลมาศ
อธิการบดีกิตติคุณมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
29 สิงหาคม 2551