จากความเป็นเลิศด้าน “ภาษา” สู่การเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของ “เอแบค”* 

สถานการณ์การแข่งขันของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยในขณะนี้ถือว่ารุนแรงไม่ใช่เล่น จะเห็นได้จากการที่หลายต่อหลายสถาบันพยายามที่จะแสดงจุดเด่นต่างๆ เพื่อสร้างความดึงดูดแก่ผู้ที่จะเข้ามาศึกษา ไม่ว่าจะเป็นคณะสาขาวิชาที่ได้มีการพัฒนาหลักสูตรมาเป็นอย่างดี คณะครูอาจารย์ที่มีดีกรี หรือเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดากลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน ที่ต่างก็แข่งขันกันในเรื่องดังกล่าวชนิดถึงพริกถึงขิงจนอาจกล่าวได้ว่าคุณภาพของแต่ละแห่งนั้นเริ่มมีความใกล้เคียงกันมากขึ้นเข้าไปทุกที 

ธุรกิจการศึกษาเอง ก็ไม่ต่างจากธุรกิจประเภทอื่นๆ นั่นคือ ในเรื่องของความคล้ายคลึงของตัว Product แต่ละแบรนด์ที่ออกตามกันมา เมื่อมีแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งได้ออก Product ใหม่ๆ ที่มีความน่าสนใจและดึงดูดแก่ผู้บริโภคได้ แบรนด์อื่นๆ ก็สามารถสร้าง Product ที่มีคุณสมบัติแทบจะไม่แตกต่างกันตามมาได้เช่นกัน

“First Mover” ในธุรกิจการศึกษาอาจไม่ใช่ผู้ที่มีอิทธิพลเสมอไปในวงการนี้ หากสถาบันนั้นขาดสิ่งที่เรียกว่า “Identity” 

“Identity” ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างขึ้นมาง่ายๆ หรือปุบปับจะเกิดขึ้น มันต้องใช้ระยะเวลาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จนทำให้สังคมนั้นเกิดการยอมรับ

มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ อาจเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดีในฐานะที่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยของไทยเพียงไม่กี่แห่งที่มี “Identity” เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร 

“Educating Intelligences and Active Mind to Change the World คือภารกิจและพันธกิจที่สำคัญของ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญในการสร้างนักศึกษาให้มีคุณภาพ” ประทีบ ม. โกมลมาศ อธิการบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าว

เมื่อเอ่ยถึงชื่อ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แล้วภาพ ในหัวของหลายๆ คนอาจนึกถึงตึก และอาคารที่ดูอลังการภายในมหาวิทยาลัย นักศึกษาแต่ละคนที่ขับรถราคาแพง มีวิถีชีวิตที่โก้เก๋ ภาพลักษณ์ดังกล่าวล้วนแล้วแต่คือ Perception ที่คนส่วนใหญ่มีต่อเอแบค

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ “Perception” หาใช่ “Identity” ไม่ ทางเอแบคเชื่อว่า ภาษาอังกฤษนั้นจะเป็นกุญแจสำคัญ ในการเข้าถึงความรู้ต่างๆ บนโลกใบนี้ ถ้าไม่แตกฉานเรื่องภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงวิชาความรู้ 

เพราะฉะนั้น “Identity” ที่มีความเฉพาะตัวของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญคือนักศึกษาของสถาบันแห่งนี้ต้องมีความสามารถทางด้านภาษาที่เป็นเลิศนอกจากความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการ

“Identity” ดังกล่าวได้กลายเป็น จุดแข็งและจุดเด่นที่เอแบคมีมาช้านาน แต่กระนั้นก็ตามทางเอแบคก็ยอมรับว่าสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้วงการศึกษาไทยนั้นก้าวไปได้ช้ากว่าที่เคย อันเป็นเหตุให้หลายๆ สถาบันต้องใช้บุคลากรที่มีอยู่ของตนให้คุ้มค่ามากที่สุด

“ระยะ 2-3 ปีมานี้การเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองมีผลต่อระบบการศึกษาและธุรกิจการศึกษาพอสมควร นั่นคือความแน่ชัดในเรื่องของทิศทาง เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ของสถาบันการศึกษานั้นๆ ต้องมาสาละวนกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารสถาบันแต่เพียงอย่างเดียว” ประทีบ ม. โกมลมาศ แสดงทัศนะถึงสถานการณ์ภาพรวมของวงการศึกษาในประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้การคัดเลือกบุคลากรของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่หลากหลาย สามารถร่วมกันพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาและมหาวิทยาลัยไปพร้อมๆ กันได้ เพราะนอกจากนักศึกษาไทยแล้ว เอแบคก็จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาของไทยที่มีชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่น้อย

ในความเห็นของประทีบ ม. โกมลมาศนั้นการที่มีนักศึกษาต่างชาติ เข้ามาศึกษาด้วย นอกจากจะเป็นการบ่งบอกถึงความนิยมในตัวสถาบันยังจะช่วยให้นักศึกษาไทยได้เกิดการพัฒนาในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้จากคนในสังคมต่างๆ เรียนรู้ในสิ่งที่ดีๆ ของพวกเขาแล้วนำมาใช้

ถึงวันนี้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือที่เรียกติดปากกันว่า “เอแบค” ยังคงยืนหยัดเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยได้อย่างสง่าผ่าเผย วงการธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรม มีหลายต่อหลายแบรนด์ที่มีคุณลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว สำหรับธุรกิจการศึกษาแล้ว “เอแบค” ก็น่าจะถูกจัดอยู่ในแบรนด์ที่มีคุณลักษณะดังกล่าวอย่างไม่ต้องสงสัย... 

*วารสาร BrandAge (เดือนพฤศจิกายน 2551) หน้า 32