ภราดาประทีป ม. โกมลมาศ : สมบัติที่ผลัดกันชม* 

“Full many a Gem of purest Ray serene, The dark unfathom’d Caves of Ocean bear: Full many a Flower is born to blush unseen, And waste its Sweetness on the desert Air.”

“ดวงเอ๋ยดวงมณี มักจะลี้ลับอยู่ในภูผา หรือใต้ท้องห้องสมุทรสุดสายตา ก็เสื่อมซาสิ้นชมนิยมชน บุปผชาติชูสีและมีกลิ่น อยู่ในถิ่นที่ไกลเช่นไพรสณฑ์ ไม่มีใครได้เชยเลยสักคน ย่อมบานหล่นเปล่าดายมากมาย เอย.”
(ถอดความเป็นภาษาไทยโดย พระยาอุปกิตศิลปสาร)

บทกวีที่อ่านดูแปลกตาและฟังดูแปลกหูนี้ เป็นโคลงภาษาอังกฤษ ตอนที่ 14 ในทั้งหมด 30 ตอน จากเรื่อง “Elegy written in a Country Church-yard” หรือ “กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า” ของ Thomas Gray กวีชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง ซึ่งโคลงดังกล่าวตีพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มโปรดสุดหวงแหนของ ภราดาประทีป ม. โกมลมาศ หรือ “บราเดอร์มาร์ติน” อธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค (ABAC) ซึ่งเคยผ่านการสอนและบริหารโรงเรียนในเครืออัสสัมชัญมาหลายโรงเรียนนานถึง 36 ปี และมีลูกศิษย์ลูกหามากมายนับไม่ถ้วน

นอกจากนั้น ยังมีหนังสืออีกหลายเล่มทีเดียวที่นับเป็นหนังสือเล่มโปรดที่เก่าแก่และมีคุณค่าสูง เช่น พระคัมภีร์พระธรรมใหม่(Nouveau Testament) ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1972 ขณะที่บราเดอร์มาร์ตินยังเป็นนักศึกษา ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือดังกล่าวมีคุณค่ามากก็เพราะท่านมักจะพกหนังสือเล่มนี้ติดตัวไปด้วยตลอดเวลา       

“ตอนออกมาใหม่ๆ นักศึกษาต้องแย่งกันซื้อ แต่เขาเห็นเราไม่ใช่ฝรั่ง เลยทำท่าจะไม่ขายให้ เราก็เลยบอกว่าเรามาไกลนะ มาเข้าคิวซื้อ ไม่ขายให้ได้ยังไง ในแง่คุณค่าแล้วหนังสือเล่มนี้จึงดีที่สุดในความรู้สึกของผม หากหายไปไหนก็ต้องหา เพราะอ่านแล้วก็สบายใจดี บางครั้งคำพูดเพียงประโยคเดียวก็อธิบายความหมายไว้ยืดยาวมาก อ่านแล้วสามารถเข้าใจลึกซึ้งมากกว่าธรรมดา ทุกครั้งที่เปิดจึงเหมือนมีความรู้สึกใหม่ๆ ความเข้าใจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเป็นของชอบไหม ก็ตอบได้ว่าชอบมาก” บราเดอร์มาร์ตินเล่า


         

นอกจากหนังสือที่เป็นของรักแล้วบราเดอร์มาร์ตินยังมีของสะสมที่ทรงคุณค่าทางใจอยู่ไม่น้อย บางชิ้นไม่มีราคาค่างวดมากมาย แต่ทว่าสำคัญต่อจิตใจเป็นอย่างยิ่งในขณะที่บางชิ้นก็มีราคาสูงลิบลิ่ว อีกทั้งยังมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์แห่งการเป็นนักบวช หากแต่ไม่มีของสะสมราคาแพงชิ้นไหนเลย ที่บราเดอร์มาร์ตินจะถือครองเอาไว้เป็นทรัพย์สมบัติส่วนตนแต่เพียงผู้เดียว

ข้างหน้าห้องโถงที่ชื่อว่า “Bro. Martin’s Collection” ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือเอแบค(บางนา) “Was created at the suggestion of Mr. Somboon Phechsawasdee, an ACS alumnus, who wished to see the work of his teacher be remembered in perpetuity.” ซึ่งนี่แสดงถึงความตั้งใจของลูกศิษย์ผู้หนึ่งในหลายคนในอันที่จะสร้างความ ความจดจำในตัวอาจารย์ที่พวกเขาให้ความเคารพ

และเมื่ออย่างก้าวเข้ามาในห้อง เราได้สังเกตเห็นการเก็บรวมรวมข้าวของจิปาถะซึ่งมีความหลากหลายและมากมายด้วยจำนวนทั้งโมเดลจำลองสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยหนังสือเล่มใหญ่น้อยต่างๆ รายงานการประชุมโต๊ะเขียนหนังสือ เครื่องพิมพ์ดีดส่วนตัว ภาพถ่าย (ที่มีทั้งเพื่อเป็นเกียรติประวัติและเพื่อเตือนความจำ) เหรียญตราที่ระลึกสร้อยและลูกประคำ ฯลฯ

สิ่งของทั้งหมดอยู่ในสภาพดีเยี่ยมและถูกจัดเก็บไว้เป็นหมวดหมู่อย่างเรียบร้อยสวยงาม โดยส่วนมากแล้วข้าวของต่างๆ เหล่านี้ได้รับมาจากบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่เปี่ยมไปด้วยความเคารพศรัทธา หากว่ามีแขกไปใครมาก็นำมักจะนำมาฝากบราเดอร์อยู่เสมอๆ จึงได้มีการนำมาแสดงไว้ให้เป็นทรัพย์สมบัติของสาธารณะ ปราศจากการซ่อนเร้นเอาไว้จนกระทั่งไร้การยลโฉมจากผู้คนทั่วไป (เหมือนเหล่าทรัพย์สมบัติที่สวยงามเสียเปล่า ทว่าไร้การเชยชมดังเช่นที่โทมัส เกรย์นั้นเปรียบเปรยเอาไว้ในโคลงของเขา)

จะว่าเป็นกิเลสก็ใช่ที่ บางครั้งลูกศิษย์ให้ของมีค่าเช่น ทองคำ เพชรพลอย สิ่งนี้บราเดอร์มาร์ตินเห็นว่าสำหรับคนที่เป็นนักบวชนั้นไม่ควรมี แต่เพราะเป็นของที่ลูกศิษย์ซื้อหามาให้ด้วยเจตนาที่ดีมีคุณค่า เป็นที่ระลึกถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ ทั้งนี้การจะใส่เป็นของส่วนตัวนั้นถือว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสม เลยเก็บรักษาไว้ในห้องสมุด รอโอกาสสำคัญต่างๆ เช่นวันสงกรานต์ถึงจะเอามาใส่ครั้งหนึ่ง

“อย่างในนามของสมาคมศิษย์เก่าเซนคาเบรียลเขาก็ให้สร้อยทอง สร้อยทองคำขาวฝังอัญมณีและบลูแซฟไฟร์ หรือเพชร เราก็รับไว้ ส่วนอัสสัมชัญธนบุรีก็ให้กางเขนทองคำประดับด้วยเพชร มีศิษย์เก่าเซนคาเบรียลบางคนก็ให้กางเขนที่สวยงามมาก เพราะเขาเป็นช่างทำทองแล้วบังเอิญไปเจอมาก็รีบซื้อสร้อยเส้นนั้นมาจากนักท่องเที่ยวชาวอเมริกาใต้ เป็นศิลปะการใช้วัสดุและมีประเพณีการทำทองที่สวยงามมากลูกศิษย์คงมองในแง่ว่าเป็นของสูงมีคุณค่าเลยอยากให้อาจารย์ที่เขารักและเคารพมีแขวนไว้ก็รับมา” บราเดอร์มาร์ตินเล่าอย่างสำรวม

อันว่า “มหาบุญลาภจงมีแก่ผู้ที่เอาใจออกห่างจากทรัพย์สมบัติเหล่านั้น” ตามคำเทศน์ของพระเยซู ซึ่งพอเทียบเคียงได้กับคำว่า “Detachment” นั่นคือการไม่ยึดติด ไม่เสาะแสวงหา ไม่พยายามที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติต่างๆ หรือคำว่า “อโลภะ” ในพระพุทธศาสนาเองก็ตาม ล้วนทำให้บราเดอร์มาร์ตินเชื่อว่า นี่ต่างหากคือทางที่จะนำไปสู่การครอบครองทรัพย์สมบัติอันมีค่าอย่างแท้จริง นั่นคือความสุขจากการปล่อยวางและความอิ่มอกอิ่มใจซึ่งไม่มีวันหมด

          “บางทีของที่เก็บดูเหมือนไม่ค่อยมีค่าอะไร แต่ก็มีความหมายมาก เพราะเรามีความรู้สึกต่อมัน ทำให้รู้สึกว่ามีความสำคัญ”

  *วารสาร MBA (No.146 June 2011) หน้า 56-59